ยาจากทะเล
ยาจากทะเล
โดย. ดร.อนุชิต พลับรู้การ
ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อเราพูดถึงสมุนไพรและยาที่ได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
เรามักจะนึกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นบนบก หรือถ้าเป็นพืชน้ำ
ก็มักเป็นพืชที่สามารถเก็บได้โดยง่ายจากแหล่งน้ำจืด แต่น้อยคนที่จะคิดเลยไปถึงว่า
อันที่จริงแล้วนั้น สมุนไพร
มีความหมายครอบคลุมรวมไปถึงสิ่งที่นำมาใช้เป็นยาที่ได้จากทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ
และได้มาจากทุกแหล่งที่สามารถหาได้ ซึ่งรวมไปถึงท้องทะเลด้วยเช่นกัน
ในความเป็นจริงแล้ว
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกในเลยที่เราจะสามารถนำสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลมาพัฒนาเพื่อค้นหายาใหม่ได้
ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเป็นพืชหรือสัตว์ทะเล
เพราะท้องทะเลจัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตบนโลก
คาดกันว่าไม่น้อยกว่า 95% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ อาศัยอยู่ในทะเล
และเนื่องจากระบบนิเวศน์ของท้องทะเลมีความหลากหลายสูงอย่างยิ่ง ดังนั้น
สิ่งมีชีวิตที่เป็นสมาชิกของระบบนิเวศน์นี้
จึงต้องมีวิวัฒนาการเพื่อปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้สามารถอยู่รอดในระบบนิเวศน์นั้นๆ
ได้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างสารเคมีใหม่ๆ
ที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยพบมาก่อนในพืชและสัตว์ที่เราพบบนบก
ปัจจุบันนี้ มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่หันมาให้ความสนใจกับสิ่งมีชีวิตในทะเล
โดยเฉพาะกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และพบว่าสัตว์ทะเลเหล่านี้
มีศักยภาพในการเป็นแหล่งยาใหม่ที่น่าสนใจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเล โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มฟองน้ำ
เพรียงหัวหอม และมอสทะเล (สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง
อาศัยรวมเป็นกลุ่มเคลือบพื้นผิวเช่นก้อนหิน ลักษณะคล้ายตะไคร่น้ำ)
เข้ามามีบทบาทในฐานะของแหล่งที่มาของยาใหม่ ในลักษณะเดียวกับพืชสมุนไพรนั้น
อาจมีปัจจัยที่เกิดจากสภาพการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านี้
ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับสัตว์ส่วนใหญ่
ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม และมอสทะเล
เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่ดำรงชีพแบบเกาะติดอยู่กับที่
กินอาหารโดยอาศัยการกรองน้ำทะเลผ่านช่องว่างในตัว แล้วดักจับแพลงตอนเล็กๆ
ที่ติดมากับน้ำทะเลนั้นเป็นอาหาร
การที่สัตว์เหล่านี้ใช้ชีวิตแบบเกาะติดกับที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้
กลายเป็นจุดอ่อน เนื่องจากสัตว์เหล่านี้
ไม่สามารถเคลื่อนที่หลบหนีสัตว์อื่นที่เป็นผู้ล่าและเคลื่อนไหวได้
เช่นปลาและสัตว์พวกหอยหลายชนิด นอกจากนี้ ทั้งฟองน้ำ เพรียงหัวหอม
และมอสทะเลยังมีร่างกายที่อ่อนนุ่ม ไม่มีโครงแข็งป้องกันตัวจากภายนอก
วิธีการหนึ่งที่สัตว์เหล่านี้สร้างขึ้นระหว่างขั้นตอนวัฒนาการ คือ
การสร้างสารเคมีเพื่อใช้ป้องกันตัว สารเคมีที่สร้างขึ้น อาจมีผลต่อรสชาติ
หรืออาจมีผลขับไล่สัตว์อื่น และที่สำคัญ
คืออาจมีผลต่อกระบวนการทางสรีรวิทยาของสัตว์อื่น ทำให้ชา บาดเจ็บ หรือตายได้
สารเคมีที่สัตว์เหล่านี้สร้างขึ้นนี่เอง
ที่กลายมาเป็นจุดสนใจของนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวกับการค้นหายาใหม่ ทั้งนี้
โดยอาศัยสมมติฐานว่า ในขณะที่ยาทุกชนิดย่อมทำให้เกิดอาการพิษ
ถ้าเราใช้ในขนาดที่มากเกินกว่าที่ใช้เป็นยาได้
หรือถ้าเราดัดแปลงสูตรโครงสร้างทางเคมีในบางตำแหน่งไปแม้แต่เพียงเล็กน้อย ดังนั้น
ในทางกลับกัน
สารที่มีฤทธิ์ต่อระบบทางสรีรวิทยาและมีคุณสมบัติเป็นสารพิษในขนาดหนึ่งก็อาจนำมาใช้เป็นยาได้
ถ้าเราสามารถปรับขนาดการใช้ยา
หรือปรับปรุงสูตรโครงสร้างทางเคมีให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้ยานั้นๆ
มีสารเคมีและยาหลายชนิดที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากท้องทะเล เช่น
- ambergris หรืออำพันขี้ปลา ซึ่งได้จากสำรอกของปลาวาฬ
และใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตน้ำหอมและในเครื่องสำอางหลายชนิด
อำพันขี้ปลา ซึ่งได้จากสำรอกของปลาวาฬ
- spermaceti หรือไขปลาวาฬ เป็นไขที่พบในส่วนหัวของปลาวาฬสเปิร์ม
ใช้เป็นส่วนประกอบในการเตรียมตำหรับยาครีม โลชั่น และยาขี้ผึ้ง
spermaceti
หรือไขปลาวาฬ
- วุ้นและกรดอัลจินิก ได้จากสาหร่ายทะเล
ใช้เป็นสารเพิ่มความหนืดในตำรับยาแขวนตะกอนและยาอิมัลชั่น
สาหร่ายทะเล
- กรดไคนิก ได้จากสาหร่ายสีแดง มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิ
สาหร่ายสีแดง
นอกเหนือจากนี้ ในปัจจุบัน ยังมีการพัฒนายาใหม่หลายชนิด ที่ได้มาจากท้องทะเลเช่นกัน
ยาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นยาต้านมะเร็ง ยาที่มีใช้ในโรงพยาบาลโดยทั่วไปแล้ว
ได้แก่ยาที่มีชื่อว่า cytarabine ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษามะเร็งในเม็ดเลือดขาว
(Leukemia)
และเป็นยาที่พัฒนาและปรับปรุงสูตรโครงสร้างมาจากสารที่ได้จากฟองน้ำชนิดหนึ่ง
นอกเหนือจากนี้
ยังมีสารเคมีที่สกัดได้จากสัตว์และพืชทะเลอีกหลายชนิดที่มีฤทธิ์คล้ายๆ กัน
คือมีแนวโน้มที่จะใช้เป็นยาต้านมะเร็งได้ เช่น ecteinascidin 743
ซึ่งได้จากเพรียงหัวหอมชนิดหนึ่ง aplidine ซึ่งได้จากเพรียงหัวหอมเช่นกัน และ
dolastatin 10 ซึ่งได้จากทากทะเล ขณะนี้
สารเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นการทดลองในทางคลินิก
ถึงแม้ว่า สารเคมีที่ได้เอ่ยชื่อมาแล้วส่วนใหญ่
ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นยาที่นำมาใช้ได้จริง
และคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 20-30 ปี
กว่าที่ยาเหล่านี้จะผ่านการทดลองจนแน่ใจว่าสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโดยทั่วไปได้
แต่อย่างน้อย สารเคมีเหล่านี้
ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เราเห็นถึงศักยภาพของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลในฐานะของยาใหม่
และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เราได้เห็นคุณค่าและความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ของท้องทะเล
และคงช่วยทำให้เราได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากทะเล
และใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างรู้ซึ้งถึงคุณค่า
เพื่อให้ท้องทะเลนั้นยังคงอยู่และเป็นประโยชน์ต่อพวกเราตลอดไป
เอกสารอ้างอิง
- วีณา จิรัจฉริยากูล (บรรณาธิการ). 2534.
ยาและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ . ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพ.
- Munro, M.H.G., Blunt, J.W., Dumdei, E.J., Hickfort, S.J.H.,
Lill, R.E., Li, S., Battershill, C.N., and Duckworth, A.R. 1999. The
discovery and development of marine compounds with pharmaceutical potential,
J. Biotechnol., 70: 15-25.
- Scheuer, P.J. 1990. Some marine ecological phenomena: Chemical
basis and biomedical potential. Science , 254: 173-177.
- Ireland, C.M., Copp, B.R., Foster, M.R., McDonald, L.A., Radisky,
D.C., and Swersey, J.C. 1993. Biomedical potential of marine natural products ,
In Attaway, D.H. and Zaborsky, O.R. (eds) Marine biotechnology Volume 1:
Pharmaceutical and bioactive natural products, Plenum Press, New York: 1-44.