เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล 1
เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล [1]
น.ต.มนัส จารุภา
เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป. บทประพันธ์โดย
น.ต.มนัส จารุภา
เป็นการเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ทางด้านการเมืองในอดีต
ที่จะทำให้ทราบเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองและการปฏิวัติรัฐประหารของบ้านเมือง
ซึ่งส่งผลต่อความคิดและความเห็นของคนทั้งประเทศ
และยังได้นำเสนอภาพของผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องหลบหนีคดีบ้านเมือง
ซึ่งจะเป็นการเล่าประสบการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
|
ก่อนจะถึง 29 มิถุนายน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่แล้ว
ประเทศไทยได้ประสบกับความยากลำบากนานาประการในด้านการครองชีพโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องอุปโภคบริโภค
และเวชภัณฑ์ต่างๆ เมื่อสงครามสิ้นสุดลง
เราก็มุ่งหวังว่าจะได้กลับไปสู่สภาพความเป็นอยู่ที่สงบสุข และราบรื่นเช่นกาลก่อน
ในระยะนั้น ความผันผวนในทางการเมืองก็ยังไม่มีเค้าปรากฏขึ้น เรามีรัฐบาลคณะต่างๆ
บริหารกิจการบ้านเมืองสืบต่อจากที่นายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล
คณะรัฐบาล มาดังนี้คือ นายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายปรีดี พนมยงค์
แล้วก็ถึง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลตามลำดับ
|
|
|
นาย ควง
อภัยวงศ์ |
นาย ทวี บุญยเกตุ |
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช |
|
|
นายปรีดี พนมยงค์
(หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) |
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
(หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) |
รัฐบาลคณะหลังนี้ได้บริหารงานของประเทศชาติต่อเนื่องด้วยความเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด
มีงบประมาณการจ่ายเงินฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
มีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นหลายอย่างด้วยกัน
มีตัวอย่างให้เห็นประจักษ์ เช่น การสั่งซื้อรถบูอิคมาประดับเกียรติพวกรัฐมนตรีทั้งหลาย
ความล้มเหลวของ องค์การสรรพาหาร การกินจอบกินเสียม ฯลฯ เป็นต้น
และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการปล้นท้องของประชาชน
โดยเอาข้าวออกนอกประเทศด้วยวิธีทุจริตที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย
สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ผู้มีอำนาจอิทธิพล
นับแต่ตัวรัฐมนตรีลงไปถึงสมุนบริวารและพวกพ้อง เมื่อมีเรื่องฉาวโฉ่แดงโล่ออกมา
ก็สามารถวิ่งเต้นระงับเรื่องราวให้สงบลงได้ประชาชนเกิดความไม่พึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
มีเสียงประณามและครหานินทาอยู่ทั่วๆไป
ในระยะเวลานี้ ข้าพเจ้ารับราชการในตำแหน่ง “นายธง”
(นายทหารคนสนิทของผู้บังคับบัญชาที่มียศชั้นนายพลเรือ) ของนายพลเรือโทผัน นาวาวิจิต
(ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองเรือรบไปขณะนั้น
ได้มีโอกาสทราบถึงความทุจริตเหลวแหลกต่างๆ จากตัวท่านโดยตรง
และจากบรรดาท่านผู้ใหญ่ที่ติดต่อไปมาหาสู่ท่าน ผ.บ. กองเรือรบเป็นนิจสิน
จึงในวันหนึ่งสบโอกาสเหมาะ ได้เรียนกับท่านอย่างเปิดอกว่า
รัฐบาลที่บริหารประเทศไปสู่ความหายนะเช่นนั้น ไม่สมควรที่จะให้คงอยู่ต่อไป
ควรที่ท่าน ผ.บ. กองเรือรบจะได้รวบรวมกำลังทำการขับไล่ออกไปเสีย
แล้วจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ ท่าน ผ.บ. กองเรือรบกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า
ที่ข้าพเจ้าพูดขึ้นนั้นก็ถูกต้องแล้ว ท่านจะทำก็ทำได้ ไม่ยากอะไร
เพราะคณะรัฐบาลคณะชุดหลวงธำรงฯ นั้น
เปรียบเหมือนผลไม้ที่สุกงอมคาต้นเพียงแต่เอามือเขย่าต้นเบาๆ ก็จะร่วงลงมาเอง
แต่ท่านไม่อยากจะทำเพราะทำไปแล้วมือก็จะพลอยเปื้อน
เหมือนกับที่เคยเปื้อนมาแล้วในคราวที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475
ล้างเท่าไรก็ไม่หายสกปรก ปล่อยให้คนอื่นเขาจัดการดูบ้างแล้วกัน
ข้าพเจ้ารับฟังท่านด้วยความเห็นใจ
เพราะท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญคนหนึ่งในคณะผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475
เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ
ไม่เคยมีประวัติเสียหายด่างพร้อยในทางทุจริตใดๆตลอดชีวิตของท่านไม่เคยร่ำรวยเหมือนกับผู้ก่อการรุ่นเดียวกัน
คนอื่นๆ ที่ต่างละทิ้งอุดมคติและสัจวาจาที่ได้ให้ไว้แก่ประชาชน
มุ่งหน้ากอบโกยผลประโยชน์สู่ตนและวงศาคณาญาติมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขขึ้นชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
การที่ท่าน ผ.บ. กองเรือรบเปรียบรัฐบาลชุดหลวงธำรงฯ ไว้เช่นนั้น
มิได้ผิดไปจากความที่เป็นจริงเลย
เพราะในระยะต่อมาไม่นานนักก็เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490
ภายใต้การนำของ พ.อ.ผิน ชุณหะวัน และ ผ.อ.กาจ กาจสงคราม
ซึ่งสำเร็จอย่าง่ายดายและประชาชนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ในระยะแรกคณะรัฐประหารได้เชิญนายควง อภัยวงศ์
มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็จี้ให้ออกไป และเชิญจอมพล
ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งแทน การกลับมาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในครั้งนั้น
ประชาชนส่วนมากก็ยังคิดว่า จะเป็นการกลับมาด้วยดี โดยหวังว่าระยะเวลาที่จอมพล
ป.พิบูลสงคราม ต้องไปพักผ่อนสมองอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นั้น
คงจะทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับบทเรียนที่ดี
ไปพิจารณาปรับปรุงตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนแล้ว
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่ประชาชนกลับต้องพลกับความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปกว่าเก่า รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พยายามสร้าง
“อำนาจ” ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเกราะคุ้มภัย และเป็นหนักค้ำจุนฐานะของรัฐบาล
และอำนาจจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหว่านกันด้วยเงิน ด้วยตำแหน่งการงาน ดังนั้น
จึงเกิดระบบอภิสิทธิ์ต่างๆ ขึ้น ตั้งแต่บุคคลในคณะรัฐบาลเอง
ตลอดไปจนกระทั่งบุตรภรรยาญาติพี่น้องพวกพ้องและบริวาร
การคอรัปชั่นเริ่มแทรกซึมไปในกิจการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดเรื่องใหญ่ๆ เช่น
การแลกเงินรูปี การซื้อรถเบรนกันแครี่เออร์ นอกจากนั้นยังหมุนเวียนของประเทศมาใช้
เพื่อพวกพ้องของตนเองหลายต่อหลายราย
กิจกรรมใดที่เห็นเป็นประโยชน์ก็กันไว้สำหรับพรรคพวก ฯลฯ
รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศชาติโดยใช้อำนาจไม่เป็นธรรมตลอดมา
พวกรัฐประหารส่วนมากร่ำรวยขึ้นผิดหูผิดตา แต่ประชาชนยิ่งยากจนลงไปทุกวันๆ
การปกครองของประเทศไทยสมัยนั้น เป็นประชาธิปไตยเพียงแต่ชื่อ
แท้จริงแล้วเราควรจะเรียกว่า “คณาธิปไตย” จึงจะเหมาะสมกว่า
และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด
เมื่อครั้งเกิดกรณี 26 กุมภาพันธ์ 2492
ซึ่งเรียกกันว่าจลาจลวังหลวงนั้น กำลังฝ่ายทหารเรือหน่วยนาวิกโยธิน
ได้ปะทะสู้รบกำลังฝ่ายทหารบกและตำรวจที่บริเวณประตูน้ำสระประทุมและจุดอื่นๆ บางแห่ง
ฝ่ายทหารเรือจะได้ร่วมรู้กับฝ่ายพลเรือนที่เข้ายึดพระบรมมหาราชวัง
ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ หรือไม่ นายทหารชั้นผู้น้อยไม่สามารถจะล่วงรู้ได้
เมื่อเหตุการณ์สงบลงด้วย
การเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐประหารกับผู้ใหญ่ฝ่ายทหารเรือแล้ว ก็มีการประกาศว่า
เป็นการเข้าใจผิดจึงเกิดการปะทะสู้รบกันขึ้นเรื่องจึงเป็นอันเลิกแล้วต่อกันไป
คงมีแต่การจับกุมตัวฝ่ายพลเรือนที่ดำเนินการในวังหลวงไปดำเนินคดี
และทางกระทรวงกลาโหมสั่งย้ายพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน
ไปสำรองราชการกรมเสนาธิการทหารเรือ
เหตุการณ์ก็ดูจะสงบราบเรียบดี
แต่นั้นเป็นเรื่องที่มองดูกันแต่เพียงผิวเผินเพราะหลังจากนั้นแล้วก็มีการคุมเชิงกันในระหว่างผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐประหารกับผู้ใหญ่ฝ่ายทหารเรือ
ยังผลให้ที่บริเวณกองเรือรบมีการเตรียมพร้อมอย่างไม่เป็นทางการอยู่ประมาณสมเดือน
มีการจัดตั้งกำลังหมู่รบจากกำลังทางเรือ ฝึกซ้อมทำการรบบนบกอยู่ตลอดเวลา
การที่ต้องมาแกร่วเตรียมพร้อมอยู่วันแล้ววันเล่า
พวกเราซึ่งมีนายทหารหนุ่มหลายคนได้มีโอกาสพบปะพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์เหลวแหลกต่างๆ
ของรัฐบาลในระยะนั้นอยู่เสมอ ผสมกับความเบื่อหน่ายต่อการคุมเชิงคาราคาซัง
อยากให้แตกหัก ลงไปอย่างเด็ดขาดเพราะพวกเราเชื่อมั่นในความสามัคคีรักหมู่รักคณะ
ซึ่งได้แสดงให้เห็นประจักษ์มาแล้วในกรณี 26 กุมภาพันธ์
แต่เรายังไม่สามารถจะดำเนินการใด ๆ
ได้ในขณะนั้นเพราะเรายังไม่มีการรวบรวมกันให้เป็นกลุ่มก้อนจึงได้แต่เฝ้าดูสภาพการณ์ที่เลวร้ายเรื่อยๆ
มา
จนกระทั่ง
น.อ.อานนท์เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชากำลังหมู่รบ
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้คลุกคลีใกล้ชิดมากกว่าเดิม
และเมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อๆ มาก็รู้สึกว่า
ตรงกันในอันที่จะต้องดำเนินการล้มล้างรัฐบาลชุดจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสีย
และเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องรวบรวมกำลังคนขึ้นกระทำการดังที่คิด
ด้วยมูลเหตุทั้งหลายดังได้กล่าวมาแล้ว
งานของเราก็เริ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เพื่อให้มั่นคง และเพื่อป้องกันตัวมิให้พลาด
เราไม่มีบัญชีหางว่าวแสดงชื่อใด ๆ
พยายามคัดเลือกคนร่วมงานที่คิดว่าจะไว้วางใจได้อย่างดีที่สุด
เพื่อมิให้ความลับรั่วไหล สายงานของเราขยายไปตามหน่วยต่างๆ
หน่วยสำคัญที่สุดที่เราต้องการก็คือหน่วยนาวิกโยธินทุกหน่วยซึ่งในที่สุดเราก็ได้
น.ต.สุภัทร ตันตยาภรณ์ และ น.ต. ประกาย พุทธารี
นายทหารพรรคนาวิกโยธินเป็นหัวหน้าสายด้านนั้น
และเนื่องจากบุคคลทั้งสองสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
จึงทำให้เราสามารถขยายสายงานต่อไปถึง พ.ต. วีระศักดิ์ และบุคคลอื่นๆ
ในกองทัพบกและกองทัพอากาศ
เราเริ่มเตรียมวางแผนดำเนินการครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.
2493 ซึ่งเป็นวันส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลีครั้งแรก
ที่บริเวณท่าเรือคลองเตย คือ เข้าควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี
และบรรดาผู้มีอำนาจสั่งการในกำลังทัพทั้งสามตลอดจนตำรวจด้วย ในระหว่างกระทำพิธี
ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีผู้คนไปส่งมากมายอาจก่อให้เกิดความตระหนกตกใจขึ้นได้
แต่เราก็จะจู่โจมเข้าควบคุมตัวโดยฉับพลันทางด้านหลัง ไม่ให้เอิกเกริก
ส่วนทางด้านหน้าก็จะใช้กำลังทหารที่จะเดินทางไปเกาหลี
ซึ่งสายงานของเราได้ติดต่อตกลงกันไว้เรียบร้อยนั่นเองเข้าสกัดกั้นไว้ทางด้านริมแม่น้ำ
เรามีกำลังจากเรือรบซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ในบริเวณนั้น พร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้วย
และเมื่อได้ตัวผู้ที่เราต้องการแล้วก็จะนำไปควบคุมไว้ที่กองสัญญาณทหารเรือ
กำลังทหารนาวิกโยธิน ณ
ที่นั้นก็จะเคลื่อนออกไปรักษาการณ์ตามจุดที่ได้รับมองหมายประสานงานกับกำลังนาวิกโยธินที่จะเคลื่อนมาจากฝั่งธนบุรี
ต่อจากนั้นก็ได้กระจายคำสั่งออกอากาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียง 2 ร.น.
ห้ามหน่วยทหารบางหน่วยเคลื่อนย้ายกำลังออกจากที่ตั้ง แล้วจะได้ดำเนินการตามแผนต่อไป
เราประชุมกันอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ณ ตำบลเพลินจิตตั้งแต่เวลา 20.00
น. วันที่ 21 ตุลาคม จนกระทั่งเวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม จึงได้รับทราบจาก
น.ต.ประกายว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าจะนำกำลังทหารพรรคนาวิกโยธินที่ 4 และ 5
ออกมาได้ตามที่แจ้งไว้ ทำให้ที่ประชุมไม่พอใจ น.ต. ประกายเป็นอย่างอยิ่ง
เพราะจะหาโอกาสอย่างนั้นได้ยากมาก เราจึงจำเป็นต้องระงับแผนการของเราด้วยเสียดาย
เวลา 18.00 น. ของวันที่ 22 ตุลาคม
เราต้องพากันไปที่ท่าเรือคลองเตยเสมือนกับว่าเราไปร่วมงานพิธีนั้นตามปกติ เมือรถจี๊ปของเราผ่านแยกวิทยุไปแลเห็นหน่วยกำลังสารวัตรทหารเรือถืออาวุธเรียงรายจังก้าอยู่ตามจุดต่างๆ
หนาตาผิดปกติ เราจอดรถใกล้ที่ชุมนุมทำพิธี แล้วก็เดินลัดเลาะเรื่อยๆ ไป
จนได้อยู่ทางด้านหลังของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
และบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่มีใครทำท่าทีว่าจะสนใจพวกเราเลย
เรายืนอยู่ห่างจากตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประมาณสิบเมตร
ต่างคนมิได้พูดจาอะไรได้แต่มองดูตากัน
ทุกคนต้องรู้สึกเสียดายโอกาสอันงามนั้นเป็นอย่างยิ่ง
เราดูอยู่จนเสร็จพิธีแล้วก็ขึ้นรถกลับ
ในวันนั้นเองได้ทราบจากสายงานของเรา
การที่สารวัตรทหารเรือไปรักษาการณ์มากเป็นพิเศษนั้น
เนื่องจากความลับของเราเกิดรั่วขึ้น
นายทหารคนหนึ่งในสังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือนำความไปบอกกับนายทหารผู้ใหญ่คนหนึ่งว่า
อาจเกิดเหตุร้ายขึ้นในระหว่างพิธีในวันนั้น
นายทหารผู้ใหญ่ผู้นั้นจึงนำความไปเรียนท่านผู้บังคับบัญชาการทหารเรือ
ท่านจึงสั่งให้เตรียมป้องกันดังกล่าว
พวกเรายังคลางแคลงต่อข่าวนั้น
เพราะสันนิษฐานดูว่าถ้าท่านผู้บัญชาการทหารเรือทราบ
ท่านก็ย่อมจะสืบสวนเอาความให้กระจ่างชัด และเรียกตัวพวกเราไปควบคุมตัวไว้ได้
แต่ที่ท่านมิได้ทำเช่นนั้น เราคาดคะเนว่าท่านคงจะยังไม่เชื่อแน่
จึงเตรียมป้องกันไว้ก่อน แล้วสอบสวนในภายหลัง และเนื่องจากข่าวนี้
เพื่อเป็นการไม่ประมาทเราเห็นร่วมกันให้เลิกติดต่อกับนายทหารประจำกรมสรรพาวุธผู้นั้นเป็นการตัดต้นไฟ
หลังจากวันนั้นแล้วเราก็วางตนสงบเรียบร้อยเพื่อรอโอกาสต่อไป
การติดต่อระหว่างกันเป็นไปด้วยความระมัดระวังยิ่งขึ้น และก็ยังไม่มีวี่แววว่า
ผู้ใหญ่จะจัดการกับพวกเราเลย
ในระยะต่อมา
ก็มีการกำหนดแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมกองทัพบกกับทีมกองทัพเรือ
ที่สถานกรีฑาแห่งชาติ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2493
ในงานนี้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสามกองทัพได้รับเชิญไปชม
และโดยปกติจะต้องไปกันอย่างคับคั่งแน่นอน เพราะถือเป็นวันแข่งขันที่สำคัญวันหนึ่ง
เราวางแผนจู่โจมควบคุมตัวเช่นครั้งก่อน กำหนดจุดต่าง ๆ
ที่จะดำเนินการในบริเวณสนามกีฬาไว้อย่างเรียบร้อย ตอนสายของวันนั้น
สายงานทุกสายได้รับการนัดพร้อมกันหมดทุกจุด
แต่พอถึงเวลาประมาณ 14.00 น.
ก่อนหน้าการแข่งขันเพียงสองชั่วโมงเท่านั้นมีข่าวแจ้งทางโทรศัพท์มาที่กองเรือรบ
ว่าหน่วยกำลังด้านโรงเรียนตำรวจที่ปทุมวันมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ
ข้าพเจ้าจึงรีบขับรถยนต์ไปพร้อมกับเพื่อนผู้ร่วมงานเพื่อสังเกตการณ์นั้น
ที่สี่แยกราชประสงค์ได้เห็นหน่วยกำลังตำรวจประมาณสองกาองร้อยมีอาวุธพร้อมเคลื่อนตัวไปตามถนนเพลินจิต
แล้วเลี้ยวเข้าไปในบริเวณถนนหลังสวน
สันนิษฐานว่าตำรวจอาจจะได้ข่าวระแคะระคายและเตรียมการป้องกันไว้
เราจึงรีบกลับมาที่กองเรือรบปรึกษาหารือกันแล้ว ตกลงให้ระงับแผนการคราวนี้ไว้อีก
เพราะถ้าเป็นความจริงขึ้นว่าความลับของเรารั่วไหลอีกแล้ว
ถึงเราจะปฏิบัติการไปก็ไร้ผล
เพราะประการหนึ่งบรรดาผู้ใหญ่ที่รู้ล่วงหน้าก็จะไม่มาปรากฏตัว
และอีกประการหนึ่งก็อาจจะมีการปะทะกันขึ้นได้
ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งสองประการสู้ระงับไว้รอคอยโอกาสที่เหมาะสมในเวลาข้างหน้าจะดีกว่า
การพลาดทั้งสองคราวนี้ก่อให้เกิดความท้อแท้กังวลใจอย่างหนักแก่ผู้ร่วมงานของเรา
บางคนหวาดเกรงว่าจะต้องถูกจับกุมตัว ต้องปลุกปลอบใจกันว่า ในสภาพที่เป็นอยู่นั้น
ทางฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีหลักฐานอันใดที่จะมากล่าวหาเราได้ แต่อาจจะสงสัยและเฝ้าสอดแนม
ฉะนั้นพวกเราจะต้องระมัดระวังตัว
และปกปิดความลับอย่าให้มีการรั่วไหลเกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด
ระยะต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2394 โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนดจะทำพิธีแจกเข็มเสนาธิปัตย์
และประกาศนียบัตร ณ ห้องประชุมกระทรวงกลาโหม งานจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็นประธานในพิธี
นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพทั้งสาม
รวมทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จะต้องมาร่วมเป็นเกียรติในงานนี้ด้วยหากไม่ติดราชการจำเป็น
เพราะโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมิได้รับแต่เฉพาะนายทหารในสังกัดกองทัพบกแต่ส่วนเดียวเท่านั้น
ยังรับฝายนายทหารอากาศ นายตำรวจ และนายทหารเรือเหล่านาวิกโยธินเข้าร่วมเรียนด้วย
เมื่อสำเร็จการเรียนแล้วทางการจะประกอบพิธีแจกเข็มและประกาศนียบัตรให้อย่างมีเกียรติยิ่ง
ซึ่งโดยปกติจะต้องกราบบังคมทูลเชิญองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประทับเป็นประธาน
แต่สำหรับในปี 2494 นั้น เนื่องจากพระองค์ท่านเสด็จไปประทับอยู่ ณ
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงกระทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีนั้น
ในครั้งนั้นตกลงกันว่า เรื่องการควบคุมตัวภายในกระทรวงกลาโหม
มองให้เป็นหน้าที่ของสายงานฝ่ายทหารบก
กำลังทหารเรือจากกองเรือรบจะจู่โจมเข้าจัดการปลดอาวุธหน่วยทหารรักษาการณ์ที่หน้ากระทรวงกลาโหมภายใต้การนำของข้าพเจ้าสายงานฝ่ายทหารบกอีกส่วนหนึ่งจะเคลื่อนกำลังจาก
ร.พัน 1 รักษาพระองค์ เข้าตรึงพื้นที่รอบ ๆ กระทรวงกลาโหม
งานจะเริ่มในตอนบ่ายประมาณ 14.30 น. จึงตกลงนัดสายงานทุกหน่วยพร้อมกันในเวลา 14.00
น. ตรง
การตกลงจะทำการครั้งนี้ ได้มีเวลาตระเตรียมล่วงหน้าหลายวัน
เพื่อความสะดวกในการติดต่อปฏิบัติงาน
ได้จัดการทำปลอกแขนสีแดงไว้แจกจ่ายแก่สายผู้ปฏิบัติงานในวันดังกล่าว
การที่เลือกทำปลอกแขนสีแดงนี้ ก็เพื่อจะให้ละม้ายคล้ายคลึงกับหน่วยทหารสารวัตร
ซึ่งรักษาการณ์อยู่ภายในตัวกระทรวงกลาโหมด้วย เวลาที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายทหารบกเข้าไป
โดยมีอาวุธไปด้วยก็จะได้ไม่เป็นที่ผิดสังเกตแต่อย่างใด
ครั้นถึงวันและเวลากำหนดนัดหมาย แผนการต่างๆ ก็ล้มเหลวหมด
เพราะหัวหน้าสายทหารบกได้แจ้งแก่ผู้ติดต่อว่า
ผู้ปฏิบัติการในสายของตนที่จะเข้าทำการภายในกระทรวงกลาโหมมาไม่พร้อมเพียงกัน
ฝ่ายเราที่กองเรือรบจึงสั่งระงับการปฏิบัติงานทันที อย่างไรก็ดี
ข้าพเจ้าได้นั่งรถออกสำรวจดูที่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม
แล้วเลยไปทางหน้ากระทรวงการต่างประเทศ ได้แลเห็นทหารบกประมาณสองหมวด
กำลังทำการฝึกซ้อมการใช้ปืนกลหนักอยู่
กำลังทหารบกส่วนนี้แหละคือกลังที่ทางสายงานทหารบกอีกสายหนึ่งจะนำเข้าปฏิบัติการตรึงพื้นที่รอบบริเวณกระทรวงกลาโหม
ข้าพเจ้าจอดรถอยู่ที่ประตูวัดพระเชตุพน
แล้วเข้าไปข้างในวัดกับเพื่อนร่วมงานเพื่อพบกับผู้ปฏิบัติงานสายทหารบก
ได้ต่อว่าในเรื่องที่ไม่ปฏิบัติงานตามนัด ก็ได้รับคำขอโทษและชี้แจงว่า
นายทหารบกชั้นนายพันผู้จะเป็นหัวแรงดำเนินการภายในกระทรวงไม่มาตามนัด
ทำให้บุคคลอื่นๆ เสียกำลังใจไม่กล้าเสี่ยงกระทำการ
เราทราบในระยะต่อมาว่า การระงับการปฏิบัติการครั้งนี้
เป็นผลให้ผู้บังคับบัญชากำลังทหารส่วนที่กล่าวแล้วได้รับความลำบากมากเพราะในการฝึกซ้อมครั้งนั้นได้ขนเอาลูกปืนจริงออกมาฝึก
จึงเป็นเหตุให้ถูกสงสัยและเพ่งเล็งในระยะหลังเรื่อยมา
นอกจากนั้นยังได้ทราบอีกว่านายทหารบกผู้ไม่มาตามนัดเกิดการลังเลใจ
เกรงจะปฏิบัติงานไม่สำเร็จ พลาดพลั้งไปก็จะลำบาก เพราะเคยพลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง
ในกรณีกบฏ 1 ตุลาคม 2491 เราจึงปรึกษาตกลงกันว่า ไม่ติดต่อกับนายทหารผู้นั้นต่อไป
จากนั้นเราก็เฝ้าหาโอกาสที่จะมีคนสำคัญ
ซึ่งมีอำนาจสั่งการได้ทั้งสามกองทัพมารวมอยู่ ณ จุด ๆ
เดียวกันดังกล่าวแล้วมาเรื่อยๆ แต่ทั้ง ๆ ที่พยายามสับเสาะก็ยังพลาดโอกาสไปอีกครั้ง
คือในระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งจำวันที่ไม่ได้
ทางราชการจัดส่งกำลังทหารไปประเทศเกาหลีอีก กระทำพิธีที่ท่าเรือคลองเตยดังเช่นเคย
ในการนี้ทางราชการจัด ร.ล. อ่างทอง เป็นพาหนะรับทหารไปถ่ายลงเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง
เรารู้เฉพาะการเตรียมเรือ แต่ไม่ทราบกำหนดเวลาที่แน่นอน
กว่าจะได้ทราบข่าวแน่ชัดจากกรมเสนาธิการทหารเรือ
ก็ตกเอาตอนเที่ยงของวันนั้นว่าพิธีจะกระทำในตอนบ่าย 15.00 น.
จึงทำให้เราไม่สามารถจะตระเตรียมการได้ทันท่วงที จำต้องปล่อยให้ผ่านไป
แต่เพื่อมิให้เป็นการเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ
ฝ่ายเราได้จัดคนไปคอยสังเกตการณ์ซึ่งข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งในจำนวนหกนาย
เราไปถึงบริเวณที่ทำพิธีเมื่อประมาณ 14.30 น. ได้เห็นบรรดาผู้ไปส่งมีจำนวนน้อยมาก
ทั้งนี้ก็เนื่องจากไม่มีข่าวประกาศแจ้งล่วงหน้านั่นเอง
มีสารวัตรทหารเรือยืนรักษาการณ์อยู่จำนวนหนึ่ง
ไม่หนาแน่นผิดตาและคึกคักเช่นครั้งก่อน
นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งสามกองทัพเริ่มทยอยมาเรื่อยๆ
จนคับคั่งรวมตลอดทั้งผู้บัญชาการของทหารทั้งสามเหล่าด้วย ข้าพเจ้ามองสำรวจไปรอบ
ๆแล้ว เห็นว่าคนสำคัญที่มีอำนาจสั่งการมารวมกันอยู่เกือบหมดทุกคน
จะขาดก็แต่อธิบดีและรองอธิบดีกรมตำรวจเท่านั้นเอง
เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกระซิบบอกข้าพเจ้าเบาๆ ว่า โอกาสเหมาะๆ อย่างนี้หาได้ยากนักหนา
ควรจะรีบกลับไปกองสัญญาณทหารเรือ เอากำลังออกมาจัดการควบคุมตัวไว้ในเรือเสียก่อน
ข้าพเจ้าบอกว่าติดต่อสายงานทางด้านกองสัญญาณฯ ไม่ทันเสียแล้ว
โดยเฉพาะรถกึ่งสายพานก็ยังไม่ได้เตรียมน้ำมันมาใส่
จำเป็นต้องอดใจไว้ก่อนเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งใจร้อน
ต้องการเข้าควบคุมตัวด้วยกำลังพวกเราเพียงหกนายเท่านั้น
เพราะในขณะนั้นเรามีปืนกลมือแมดเสนออยู่ในรถครบตามจำนวนคน
ข้าพเจ้าบอกว่ายังทำไม่ได้เพราะไม่มีกำลังมากพอ ขืนทำก็ต้องใช้วิธีรุ่นแรง
ก็ไม่มีการเข้าควบคุมตัวต้องยิงกันให้แหลกกันลงไปเลย
ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการที่จะนำมาปฏิบัติ
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ให้โอวาทเหล่าทหารผู้จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วก็จะมีการประพรมน้ำพุทธมนต์ให้แก่ทหารเหล่านั้นก่อนขึ้นสะพานที่ทอดลงมาจากเรือ
เมื่อทหารขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ก้าวเท้าตามขึ้นไป
ผู้บัญชาการทหารทั้งสามเหล่า และนายทหารขั้นผู้ใหญ่ส่วนมากก็ติดตามขึ้นไปด้วย
ภาพที่ข้าพเจ้ายังจำได้เสมอ พลเอกผิน ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น)
ผู้มีร่างกายทรุดโทรมก็พยายามไต่เต้าขึ้นไปตามสะพานที่ทอดชัน เพราะความสูงของเรือ
ข้าพเจ้าคิดในใจว่าจัดการในตอนนี้ได้ ก็เท่ากับต้อนหมูเข้าเล้าอย่างไม่มีปัญหา
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว
เรากลับมาที่กองเรือรบพบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ รวมทั้ง น.อ.อานนท์ ด้วย
แจ้งข่าวให้ทราบโดยละเอียด ทุกคนต่างบ่นเสียดดายโอกาสอันงามไปตามๆ กัน
ข้าพเจ้าได้กล่าวในตอนก่อนแล้วว่า
ทางด้านกองเรือรบมีการจัดหมู่รบขึ้นมาฝึกประสบการณ์อยู่ตลอดเวลานั้น
ยังมิได้แจ้งให้ทราบชัดเจนว่าในเวลากลางคืนได้มีการตั้งเครื่องกีดขวางปิดถนนมหาราช
ตอนปากทางเข้าท่าราชวรดิษฐ์ และตอนใกล้ท่าโรงโม่ด้วย
ทั้งมีการตรวจค้นผู้ที่สงสัยว่าจะมีอาวุธติดตัวมา
จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาการณ์ตามปกติ
และที่ตั้งใจจะเข้าไปลองเชิงดู ดังเช่นในคืนวันหนึ่งเป็นคืนเดือนหงาย
แสงเดือนกระจ่างสว่างขาวโพลนทั่วไปหมด ดึกแล้วประมาณ 01.00 น.
มีรถจักรยานยนต์พ่วงข้างของตำรวจแล่นมาทางด้านท่าช้าง
มีตำรวจแต่งเครื่องแบบอยู่บนรถสามนาย รถแล่นมาหยุดอยู่ที่งาแซงปิดกั้นถนน
นายร้อยตำรวจเอกผู้ควบคุมรถขอผ่านเข้าไป ทหารที่รักษาการณ์ไม่ยอมให้ผ่าน
นายตำรวจผู้นั้นจึงถามหาตัวผู้บังคับบัญชาและขอพบ พลทหารที่รักษาการณ์แจ้งว่า น.อ.
อานนท์เป็นผู้บังคับบัญชาและเข้านอนแล้ว ตนไม่อาจไปปลุกมาได้
นายตำรวจผู้นั้นก็ยืนกรานจะขอพบผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งการได้ในระยะเวลานั้นคนใดคนหนึ่งรองลงมา
ชุรอยพลทหารผู้นั้นจะรู้สึกรำคาญว่าเป็นการเซ้าซี้มากเกินไป
จึงชี้ไปที่โคนต้นมะขามปากทางเข้าท่าราชวรดิษฐ์ว่า
ผู้บังคับยัญชาอยู่ที่ใต้ต้นมะขามขั้นแหละให้เข้าไปพลเอง
นาตำรวจผู้นั้นหลงกลหันไปดูตามที่บอกก็เห็นถนัดเพราะแสงเดือนกระจ่าง ว่า ณ
โคนต้นมะขามนั้นหาได้มีผู้บังคับบัญชาคนใดคนหนึ่งไม่ หากเป็นปืนแมดเสน ขนาด 20 มม.
ติดตั้งอยู่บนล้อวางจังก้าอยู่หนึ่งกระบอก
นายตำรวจผู้นั้นไม่พูดจาประการใดสะบัดหน้าพรืด
สั่งนายสิบตำรวจผู้ขับขี่นำรถเลี้ยวกลับไปตามทางเก่าที่เข้ามา
การกระทบกระทั้งทำนองนี้มีอยู่บ่อยๆ ทำให้ น.อ. อานนท์ถูก
พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ (ยศในขณะนั้น)
รองอธิบดีกรมตำรวจมีหนังสือฟ้องร้องมาที่กองเรือรบหลายครั้งหลายหน
แต่ท่านผู้ใหญ่ทางฝ่ายกองเรือรบก็ไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกการรักษาการณ์หรือการตรวจค้นแต่อย่างใด
น.อ.อานนท์ก็สั่งปฏิบัติการไปตามปกติ ทางการกรมตำรวจจะรู้สึกอย่างไรในตัว
น.อ.อานนท์นั้นก็เหลือจะเดาได้ แต่ผลปรากฏว่าที่บ้านของ น.อ.อานนท์
ตำบลสี่แยกราชวิถี มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปเมียงมองอยู่เสมอ