Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Cho.Charoen Maritime Instruments TOP Engineering Group - UAV Thailand

พลูโต-โดนโหวตออก ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง

“พลูโต” โดนโหวตออก ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง


หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 สิงหาคม 2549 04:51 น

ประชุมสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลจัดขึ้น 3 ปีครั้ง และครั้งนับเป็นครั้งที่ 26 ที่มีประเด็นให้ผู้เข้าประชุมได้ระดมความคิด ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนิยามใหม่ของวัตถุบนท้องฟ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของพลูโต ที่ถกกันมานานกว่าสัปดาห์ และในวันสุดท้ายเหล่านักดาราศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุมก็ต้องร่วมกันโหวตสถานภาพของดาวพลูโต

เอเจนซี/บีบีซีนิวส์/เอพี/ไอเอยู – นักดาราศาสตร์ลงมติถอด “พลูโต” ออกจากสถานภาพ “ดาวเคราะห์” และจัดชั้นให้เป็น “ดาวเคราะห์แคระ” ส่งผลให้ต้องปรับตำราดาราศาสตร์กันใหม่ทั้งโลก ต่อไปนี้ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์เพียงแค่ 8 ดวงเท่านั้น อีกทั้งยังมีการนิยามและจัดประเภทวัตถุบนท้องฟ้าใหม่

ที่ประชุม สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู (International Astronomical Union's : IAU) ซึ่งมีนักดาราศาสตร์จาก 75 ประเทศร่วมประชุมอยู่ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชค ได้ลงมติถอดยศ “ดาวพลูโต” ออกจาก หมู่ “ดาวเคราะห์ชั้นเอก” แห่งระบบสุริยะ เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) โดยได้ผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คนได้โหวตด้วยการยกบัตรสีเหลืองเพื่อแสดงความเห็นด้วยในประเด็นต่างๆ หลังจากถกถึงนิยามของดาวเคราะห์ และสถานะของ “พลูโต” กันอย่างถึงพริกถึงขิงมานานกว่าสัปดาห์

สมาชิกที่ร่วมประชุมกำลังโหวตกำหนดสถานะของพลูโต และจัดระเบียบนิยามของวัตถุบนท้องฟ้ากันเสียใหม่

“พูลโต” ถูกค้นพบโดยไคลด์ ทอมแบจ (Clyde Tombaugh) แห่ง หอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) ในปี 1930 และได้รับการพิจารณาให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะจักรวาล นับเป็นดาวเคราะห์ในกลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ตลอดเวลาก็ได้รับการถกเถียงว่าดาวดวงนี้เหมาะที่จะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่

เพราะ “พลูโต” มีลักษณะต่างจากดาวเคราะห์อีก 8 ดวงที่อยู่ในระบบมาก ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์และมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์อีก 8 ดวง และตั้งแต่หลังช่วงปี 1990 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ก็เริ่มค้นพบวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกับพลูโตที่แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) วงแหวนวัตถุน้ำแข็งบริเวณดาวเคราะห์ชั้นนอก ทำให้สถานภาพของพลูโตสั่นคลอนเข้าไปอีก

ก่อนจะมีการโหวตตัดสินชะตากรรมของดาวพลูโตในครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ที่มาร่วมประชุมตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันนิยามความหมายของ “ดาวเคราะห์” กันใหม่ให้ชัดเจน โดยได้ข้อสรุปว่า “ดาวเคราะห์” (planet) ต้องมีคุณสมบัติ คือ

1.เป็นวัตถุบนท้องฟ้าที่โคจรรอบดาวฤกษ์ แต่ตัวเองต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์

2.มีมวลมากพอที่จะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดตัวเองให้อยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium) และ

3. มีวงโคจรที่ชัดเจนและสอดคล้องกับดาวข้างเคียง

ตำแหน่งของดวงดาวในระบบสุริยะ โดยดาวเคราะห์จะเริ่มจากดาวพุธไปจนถึงเนปจูน ส่วน พลูโต คือดาวเคราะห์แคระ (ภาพ IAU)

เมื่อไอเอยูนิยามลักษณะดาวเคราะห์ออกมาเช่นนี้ก็ทำให้ “พลูโต” หลุดออกจากข่ายทันที เพราะมีวงโคจรเป็นวงรีที่ทับซ้อนกับดาวเนปจูน ส่วนดาวเคราะห์ที่เหลืออีก 8 ดวง อันได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, ดาวโลก, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัส, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน นั้นให้ระบุลงไปด้วยว่า เป็น “ดาวเคราะห์ชั้นเอก” (classical planet)

พลูโตและจันทร์บริวารอีก 3 ดวง (ภาพ IAU)

นอกจากนี้ ก็มีการนิยามประเภทของดาวขึ้นมาใหม่อีกนั่นคือ “ดาวเคราะห์แคระ” (dwarf planets) ซึ่งคล้าย กับดาวเคราะห์น้อย (minor planets) ดาวเคราะห์แคระมีคุณสมบัติคล้ายๆ กับดาวเคราะห์ แต่ต่างกันตรงที่วงโคจรนั้นสามารถทับซ้อนกับดาวใกล้เคียงได้และไม่ได้เป็นจันทร์บริวารของดาวใด

อีกทั้งยังมีการนิยามถึงวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยระบุให้เป็น “วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ” (Small Solar System Bodies) ซึ่งในชั้นนี้หมายรวมถึงดาวเคราะห์น้อย (asteroids), ดาวหาง (comets), วัตถุขนาดใหญ่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Objects-TNO) และวัตถุขนาดเล็กอื่นๆ

ดาวเคราะห์ทั้ง 8 จากบนลงล่าง พุธ, ศุกร์, โลก (ดวงจันทร์อยู่ข้างๆ), อังคาร, พฤหัส, เสาร์, ยูเรนัส และเนปจูน (ภาพ NASA)

ด้วยนิยามนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าคงจะมีการค้นพบดาวเคราะห์แคระเพิ่มขึ้นอีกมากมายภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่ ณ ปัจจุบันนับจากนี้ไปตำราวิชาดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียนและระดับอุดมศึกษาก็จะต้องลบชื่อดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะออกไป ส่วนพลูโตก็กลายเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ

นอกจาก สถานภาพของ “พลูโต” แล้ว ในการประชุม ไอเอยูได้สเนอญัตติที่จะเลื่อนขั้นดาวอีก 3 ดวงให้เข้าข่าย “ดาวเคราะห์” ซึ่งดาวทั้ง 3 ได้แก่ ดาวเคราะห์น้อยซีรีส (Ceres), ดวงจันทร์คารอน (Charon) จันทร์บริวารดวงใหญ่ที่สุดของพลูโตและ 2003 ยูบี313 (2003 UB313) หรือซีนา ที่มีขนาดใหญ่กว่าพลูโต แต่ที่ประชุมยังคงคัดค้าน

ขนาดของพลูโต สีส้มๆ ด้านบน เมื่อเทียบกับโลกดาวสีฟ้าในสเกลเดียวกัน

โรบิน แคชโพล (Robin Catchpole) สถาบันดาราศาสตร์ในแคมบริดจ์ (Institute of Astronomy in Cambridge) สหราชอาณาจักร เผยความคิดส่วนตัวว่า ควรจะปล่อยพลูโตให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เขามีโอกาสพบไคลด์ (เสียชีวิตไปเมื่อปี 1997) และรู้สึกดีที่ได้จับมือกับผู้ที่ค้นพบดาวเคราะห์

“แต่เมื่อไอเอยูนำประเด็นดาวเคราะห์ดวงใหม่หลายดวงมาเสนอ ผมก็คัดค้าน มันจะทำให้เกิดความสับสนเข้าไปอีก ทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือถ้าจะลดระดับพลูโต ก็ปล่อยให้ดาวเคราะห์หลักยังคงเป็นไปตามเดิม นับเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่า จะเพิ่มดาวเคราะห์เข้าไปอีก” แคชโพลกล่าว

ทางด้านหลุยส์ ฟรีดแมน (Louis Friedman) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมระบบดาวเคราะห์ ในแคลิฟอร์เนีย (Planetary Society in California) แสดงความเห็นว่า การแบ่งชั้นหรือจัดลำดับดาวต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทั้งพลูโตและวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะล้วนเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ มนุษย์เราต้องพยายามสำรวจและทำความเข้าใจ

จอยซ์ลีน เบลล์ เบอร์เนลล ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวนิวตรอน จากไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งไม่ออกถอดพลูโตออกจากดาวเคราะห์ พยายามอธิบายให้ผู้เช้าประชุมฟัง พร้อมทั้งนำร่มมากางเป็นขอบเขตของดาวเคราะห์ และให้เจ้าหมาพลูโตจากวอล์ตดิสนีย์ แทนดาวพลูโต ว่าถึงแม้เป็นดาวเคราะห์แคระ แต่ก็สามารถอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์ได้เช่นกัน (ภาพ - IAU/Lars Holm Nielsen)

แต่ไม่ว่าพลูโตจะเป็นวัตถุบนท้องฟ้าประเภทไหนก็ตาม ยานอวกาศไร้มนุษย์ “นิว ฮอไรซอนส์” (New Horizons) ของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในอวกาศมีกำหนดถึงดาวพลูโตและแถบไคเปอร์ในปี 2015 เพื่อเก็บข้อมูลอดีตดาวเคราะห์และวัตถุอื่นในระบบสุริยะ


"พลูโต" กับโหราศาสตร์

หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10398

 

ในวงการโหราศาสตร์นั้นอิทธิพลของดวงดาวมีความสำคัญอย่างยิ่ง "พลูโต" เป็นหนึ่งในดาวนพเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนายโชคชะตาราศีในแบบเดิม แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับดาวเคราะห์ดวงนอกสุดของสมาชิกนพเคราะห์ จะส่งผลเช่นไร?

"เก่งกาจ จงใจพระ" นักโหราศาสตร์ชื่อดัง อธิบายให้ฟัง ว่าสำหรับโหราศาสตร์ไทยแล้วไม่กระทบอะไรมากนัก เพราะโหราศาสตร์ไทยไม่ได้อิงกับโหราศาสตร์สากล ตำราโหราศาสตร์ไทยแบบเก่าที่เรียกว่าระบบราศีจักร จะใช้ดาว 8 ดวงทำนายเท่านั้น คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ และ ราหู ระบบนี้มีดาว 4 ดวงที่คร่อม 2 ราศี โหราศาสตร์บางระบบจะมีดาวเกตุ (หางของราหู) และดาวมฤตยู (ดาวยูเรนัส) เพิ่มเข้ามา

"ดาวพลูโตจะอยู่ในส่วนของโหราศาสตร์สากล ซึ่งมีดาวเนปจูนและดาวพลูโตเพิ่มเข้าไปอีกเป็น 12 ดวง

"ดาวพลูโตที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เรียกในทางโหราศาสตร์ว่า ดาวพระยม โหราศาสตร์ไทยไม่ค่อยนำมาใช้เท่าไหร่ เพราะมีขนาดเล็กและอยู่ไกล อยู่ราศีละ 20 ปี ต่างจากดาวจันทร์ อังคาร และศุกร์ ที่อยู่ใกล้โลก มีผลในการคำนวนมากกว่า มีสเปคตรัม มีสนามแม่เหล็กที่ส่งพลังมาถึง อย่างไรก็ตาม ดาวพลูโตก็เหมาะจะนำมาทำนายสถานการณ์บ้านเมือง"

แต่ถ้าเป็นโหราศาสตร์สากล ดาวพลูโตจะมีบทบาทในการคำนวนเห็นชัดกว่าทางโหราศาสตร์ไทย

"เรื่องที่จะถอดดาวพลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์นั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสั่นคลอนโหราศาสตร์แบบไทยเลย เพราะไม่ค่อยได้นำมาใช้ในการคำนวณ เราก็คำนวนของเราไป และคิดว่าไม่ส่งผลไปถึงโหราศาสตร์แบบสากลด้วย เพราะถึงจะจัดให้ดาวพลูโตเป็นดาวประเภทอื่นที่ไม่ใช่ดาวเคราะห์ แต่ดาวพลูโตก็ยังอยู่ ตรงนี้สำคัญกว่า"

สรุปแล้วไม่เกี่ยวกับการคำนวณทางโหราศาสตร์ไทยไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น

ด้าน "บุศรินทร์ ปัทมาคม" นักโหราศาสตร์คนดังอีกคน มีความเห็นคล้ายกัน โดยบอกว่า โหราศาสตร์ไทยมีดวงดาวหลักอยู่ 10 ดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ราหู เกตุ และมฤตยู ส่วนดาวพลูโตหลุดจากการเป็นดาวเคราะห์ ไม่น่าจะส่งผลต่อวงการโหราศาสตร์ไทยแต่อย่างใด

ขณะที่ "ศุภลักษณ์ เชตตรีฤทธิ์ ปิลไล" นักโหราศาสตร์สากล (ยูเรเนี่ยน) บอกว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุด อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นอันดับ 8 ช่วงต้นๆ ที่มีการค้นพบดาวดวงนี้ มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นมาก เช่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2472 (ค.ศ.1929) เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประธานาธิบดีฮูเวอร์ แห่งพรรครีพับริกัน ต้องพ่ายแพ้แก่นายรูสเวลท์ คู่แข่งแห่งพรรคเดโมแครต

พลูโตกับสมาชิกดาวเคราะห์แคระ

"ดาวพลูโต มีอิทธิพลทางโหราศาสตร์ เกี่ยวกับสังคมของมนุษยชาติ การเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่การเกิดการตายของวัฒนธรรมต่างๆ โรคภัยใหม่ๆ อำนาจใหม่ๆ (ปรมาณู) คลื่นรังสี ไม่มีขอบเขต ดาวพลูโตเหมือนกับภูเขาไฟใต้ดิน เมื่อระเบิดจะมีพลังทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก ไม่มีการอ่อน ดาวพลูโตเป็นดาวเกษตรของราศีพิจิก ครองร่วมกับดาวอังคารและเป็นเรือนมรณะของโลก เป็นเรือนตายเป็นวัฏจักร

"ในทางโหราศาสตร์สากล วิเคราะห์ได้ว่าหากดาวพลูโตถูกลบชื่อออกจากวงโคจรของระบบสุริยะ ก็จะไม่เป็นปัญหาและไม่มีผลกระทบอะไร เป็นเพียงแค่เปลี่ยนสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระเพียงแค่นั้นเอง เพราะดวงดาวยังอยู่ ไม่ได้สลายเป็นจุลหรือผุยผง ก็ยังสามารถนำมาประกอบการดูดวงของมนุษย์ในโหราศาสตร์ได้ แต่การจะใช้ดาวพลูโตนำมาประกอบกับการดูดวงของมนุษย์นั้นก็ขึ้นอยู่กับศาสตร์แต่ละศาสตร์อีกเช่นกัน ว่าศาสตร์ไหนมีความจำเป็นต้องใช้ เพราะศาสตร์โหราศาสตร์มีหลากหลาย"

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   8291

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network