Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Cho.Charoen Maritime Instruments

Advertising in marinerthai.net MarinerThai 2004 Co., Ltd.

เหมือนทะเลมีเจ้าของ

เหมือนทะเลมีเจ้าของ 


หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันที่ 7 กันยายน 2549

เรื่อง - กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องวรรณกรรม ไม่ได้ข้องเกี่ยวอะไรกับรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด

แต่ ‘เหมือนทะเลมีเจ้าของ’ เป็นชื่อที่มีความหมายตรงไปตรงมาที่สุดสำหรับเรื่องราวต่อไปนี้

ทะเลจะมีเจ้าของได้อย่างไร? ใครจะมาเป็นเจ้าของทะเล? เป็นไปไม่ได้หรอก!!

ก็นั่นน่ะสิ ทะเลจะมีเจ้าของได้ยังไง แต่ว่า...ทะเลกำลังจะมีเจ้าของจริงๆ และคนแรกที่กำลังจะฮุบทะเลเหมือนกับที่เคยฮุบทรัพยากรทุกอย่างในประเทศ ตั้งแต่ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ จากชาวบ้านที่อยู่กินกับธรรมชาติมานานนับนานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้เล่นตัวโตตัวเดิมที่ไม่เคยมีใครทำอะไรได้ เขาคือ ‘รัฐ’

ทะเลกำลังจะมีเจ้าของ

-1-

หลายคนคงได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุนกันเป็นอย่างดี ซึ่งเรียกว่าเป็นนโยบายอันโดดเด่นของรัฐบาลชุดนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวบวกกับเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอโครงการซีฟูดแบงก์ (Sea Food Bank) เข้าสู่คณะรัฐมนตรี และแน่นอนโครงการนี้ได้รับมติเห็นชอบในหลักการอย่างไม่ยากเย็น

อย่างรวบรัดที่สุด หลักการของโครงการที่ว่าคือการนำท้องทะเลสีครามเข้ามาเป็นของรัฐ จากนั้นรัฐจะเป็นผู้แจกจ่ายพื้นที่ทางทะเลให้แก่เกษตรกรที่ต้องการที่ทำกินด้านการประมงที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ หรือเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าการออก ‘โฉนดทะเล’ ก็คงจะไม่ผิด

ทะเลสาบสงขลายังสวยงาม แต่ชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่นี่กำลังย่ำแย่

ทีนี้ขั้นต่อไปก็คือเกษตรกรผู้ที่ได้โฉนดทะเลไป สามารถนำเอกสารสิทธิไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับแหล่งทุนได้ แล้วนำทุนที่ได้มาจัดหาและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ (อีกเช่นกัน รัฐผู้ชาญฉลาดก็คิดไว้ให้หมดแล้วว่าต้องเลี้ยงอะไรบ้าง) ทั้งหมด 5 ชนิดได้แก่ หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม ปลากะรังหรือปลาเก๋า และปลากะพงขาว หอย 3 ชนิดแรกหาอาหารได้เองตามธรรมชาติ ส่วนปลา 2 ชนิดหลังจะต้องใช้อาหารที่ผลิตจากฟาร์มเพาะเลี้ยงในพื้นที่โครงการ

นอกจากชาวบ้านจะหายยากจนเป็นปลิดทิ้งแล้ว ตัวโครงการยังบอกอีกด้วยว่าจะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับคืนมา เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะช่วยทดแทนการจับจากธรรมชาติได้

มองโลกในแง่ดีได้ว่า เมื่อชาวบ้านซึ่งเป็นชาวประมงขนาดเล็กหันมาเลี้ยงแทนการจับ บรรดาเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็จะจับสัตว์น้ำน้อยลง

โครงการดีๆ ขนาดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คิดจะต้องมีมุมมองต่อโลกในแง่ดีอย่างที่สุด อาทิ จะมีตลาดใหญ่โตรองรับผลผลิต ผู้เลี้ยงได้กำไรจุนเจือครอบครัว ไม่มีคำว่าขาดทุน จะไม่มีผู้มั่งมีรายได้มาฮุบเอกสารสิทธิทางทะเลเหมือนที่เคยเกิดกับส.ป.ก.4-01 และนายทุนเรือประมงขนาดใหญ่จับสัตว์น้ำน้อยลงเพื่อเห็นแก่สิ่งแวดล้อม.....

-2-

แต่ขอทำตัวเป็นคนมองโลกแง่ร้ายเล็กน้อย มาไล่เรียงกันทีละจุดว่ามีตรงไหนบ้างของโครงการดีๆ โครงการนี้ที่น่าหวั่นวิตก

พูดถึงความยากจนของชาวบ้านริมฝั่งทะเล สาวกันให้ถึงต้นตอ ความจนของชาวบ้านไม่ได้เกิดจากการมีเงินน้อย แต่ข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของ ‘ชาวประมงพื้นบ้าน’ พวกเขาพึ่งพิงทะเลอย่างมีความสุขและพออยู่พอกินมาช้านาน ตราบจนกระทั่งเกิดอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ เรืออวนลาน อวนรุนที่สามารถกวาดต้อนสิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยใต้ท้องทะเลขึ้นสู่ความตายบนเรือได้ โดยที่รัฐไม่ได้ใส่ใจกำหนดกฎเกณฑ์อย่างแน่นหนาเพียงพอแต่อย่างใด การปล่อยปละละเลยนำมาซึ่งความเสียหายของทรัพยากรทางทะเลจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ย่อยยับ

อ่าวไทย พ.ศ.2504 สามารถจับสัตว์น้ำได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม แต่ พ.ศ.2542 ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เหลือแค่ชั่วโมงละ 3 กิโลกรัม (นี่ไม่ใช่การพิมพ์ผิด เหลือแค่ชั่วโมงละ 3 กิโลกรัมจริงๆ)

ตรรกะพื้นๆ ของคำตอบง่ายๆ ที่ได้ก็คือเมื่อปลาสาบสูญไปจากทะเล แล้วชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือลำเล็กๆ เครื่องไม้เครื่องมือธรรมดา กับภูมิปัญญาในการฟังเสียงปลา เสียงลม จะเอาปลาที่ไหนมาเลี้ยงชีพ เมื่อไม่มีปลาจึงเป็นการง่ายนิดเดียวที่พวกเขาจะถูกต้อนเข้าสู่สารบบคนจนของรัฐ

“สมัยก่อนเป็นวิถีชีวิตที่น่าอยู่มาก ทั้งด้านอาชีพและวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ‘เลสาบตอนผมยังเล็กๆ เราหากินกันแบบธรรมดา ไม่ใช้เครื่องมือทันสมัยแบบเดี๋ยวนี้ เราทอดแห วางอวน ใช้ไม้พายพายเรือ ใช้เรือใบ ชาวประมงเราจะรู้ว่าปลาอยู่ตรงไหน ไม่ต้องใช้เรดาร์ ดาวเทียม ดูลมเอา ว่าถ้าลมนี้มา สัตว์น้ำชนิดไหนจะขึ้นมา”

คำบอกเล่าอดีตของ น้อย แก่นแท่น ลูก ‘เลสาบสงขลา แต่อดีตก็คืออดีต ทุกวันนี้น้อยและชาวประมงคนอื่นๆ จับปลาได้น้อยลง ปลาที่จับได้ก็ตัวเล็กลงเหมือนเป็นโรคขาดสารอาหาร

ส่วนประเด็นที่ว่าโครงการซีฟูดแบงก์จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลกลับฟื้นฟูขึ้น ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลับเห็นว่าเป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิดของภาครัฐ

“สมมติฐานที่ส่งเสริมการเลี้ยงปลานี่มันผิด คือกรมประมงตั้งสมมติฐานว่าทะเลเสื่อมโทรม ปลาน้อยลง มีชาวประมงมากขึ้น ก็เลยต้องเปลี่ยนชาวประมงมาเป็นผู้เพาะเลี้ยง เพื่อผลผลิตทางทะเลด้วยการเพาะเลี้ยง แต่ถ้าเราดูจริงๆ จะพบว่าชาวประมงที่ออกหาปลาไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ชาวประมงที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เพาะเลี้ยงซึ่งคนเหล่านี้เดิมไม่ได้มีอาชีพประมง แต่เป็นพ่อค้า ข้าราชการ ทำสวนยาง พอมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงคนเหล่านี้จึงสร้างฐานเศรษฐกิจอีกขาหนึ่งขึ้นมา ดังนั้น เรื่องโฉนดทะเลเอาเข้าจริงๆ มันจะไม่ได้เปลี่ยนจากชาวประมงมาเพาะเลี้ยง แต่จะเป็นการเพิ่มผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่เข้าไป ซึ่งก็จะทำให้ทะเลมีปัญหาการเสื่อมโทรมมากขึ้น

“ประการต่อมาคืออาหารหลักของปลาที่เพาะเลี้ยงมันเป็นปลาเป็ด ปลาไก่ ทั้งนั้น หรือแม้แต่อาหารสำเร็จรูปที่เราซื้อมาเลี้ยงปลา โปรตีนสำคัญก็เอามาจากปลาเป็ด ปลาไก่ ซึ่งทุกวันนี้เราหาได้ไม่พอ ยังต้องมีกองเรือไปล่าปลาเล็กปลาน้อยอยู่ที่อินเดีย และศรีลังกา ฉะนั้น การเพาะเลี้ยงถ้าไม่ดูให้ดีมันจะยิ่งกลับไปทำลายทะเล”

ทะเลอ่อนล้า ฝูงปลาร้องไห้...

-3-

เมื่อรู้ต้นเหตุของความยากจนแล้วก็กลับมาดูตัวโครงการของรัฐ ซึ่งไม่ได้เข้าไปคลายเงื่อนปมของสาเหตุแต่อย่างใด ยังคงปล่อยให้มีการจับปลาของเรือประมงขนาดใหญ่ต่อไป ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านก็ทำได้แค่ทิ้งเรือไว้บนหาดและทิ้งบ้านไว้ข้างหลัง อพยพไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง

แล้วโฉนดทะเลจะเยียวยาความบอบช้ำนี้ได้จริงหรือ?

ภาคภูมิอธิบายว่า

“เรื่องโครงการอาหารทะเลมีการถกเถียงเป็น 2 ประเด็นคือ เรื่องการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกับการออกโฉนดทะเล ในประเด็นแรกนั้นไม่มีใครคัดค้าน เว้นแต่ตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศของพื้นที่ด้วย เพราะถ้าเลี้ยงมากเกินไปจนเกินขีดที่ระบบนิเวศจะซึมซับของเสียได้ก็อาจจะเกิดผลกระทบ

“แต่ที่มีปัญหามากคือการออกโฉนดทะเล เพราะทั้งชาวประมง ทั้งนักท่องเที่ยวต่างเห็นว่าทะเลเป็นทรัพย์สาธารณะไม่ควรยกให้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล มันเคยมีตัวอย่างมาก่อนแล้วที่อ่าวบ้านดอนและอ่าวปัตตานีที่มีการอนุญาตให้เลี้ยงหอยในทะเล มีใบอนุญาตเป็นปีๆ แรกๆ ก็เป็นเกษตรกรรายย่อย แต่พอเลี้ยงไปสักพักหนึ่งผู้เลี้ยงรายย่อยก็ประสบภาวะขาดทุน จึงเริ่มมีการขายสิทธิ์ของตัวเอง ตอนนี้ที่อ่าวบ้านดอนและอ่าวปัตตานีแม้ชื่อจะยังเป็นของรายย่อย แต่เจ้าของตัวจริงเป็นของนายทุนใหญ่ซึ่งบางคนครองพื้นที่ทะเลถึง 5 พันไร่”

วสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วสันต์ พานิช หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด กล่าวเพิ่มเติมในกรณีการออกโฉนดทะเลว่า

“การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้มันยังโยงไปถึงเรื่องอาหารปลอดภัย ก็คือถ้าสัตว์น้ำที่ได้ไม่กรรมวิธีการเลี้ยงในกระชัง ชาวบ้านจะไม่มีสิทธิส่งออกสัตว์น้ำไปยังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ยังอีกแนวความคิดหนึ่งกำกับเข้ามาด้วยก็คือ Contact Farming มันเป็นสัญญาในการทำเกษตร ผลปรากฏว่าต่อไปนี้จะมีบริษัทด้านเกษตรเอาพันธุ์สัตว์น้ำมาขาย ซึ่งจะโยงถึงอาหารของสัตว์น้ำและยา แปลว่าชาวประมงผู้เลี้ยงจะต้องซื้อทุกอย่างจากบริษัทเหล่านี้ รวมตลอดถึงกลไกการตลาดคือจะมีห้องเย็นมารับซื้อเอง มันก็เหมือนกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำหรือไก่ที่ชาวบ้านเป็นคนลงทุนเอง แต่กลไกทั้งหมดถูกควบคุมโดยระบบทุน

“ดังนั้น จะเห็นว่าคนที่รับเคราะห์จริงๆ ก็คือชาวบ้าน เพราะเมื่อยึดทรัพย์สินของชุมชนมาเป็นของปัจเจก ถ้าเกิดปัญหาขึ้นชาวบ้านก็จะถูกยึดที่ในทะเลไปอยู่ในมือของทุน แทนที่จะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ใครก็สามารถจับปลาได้”

-4-

กล่าวในเชิงสิทธิ ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 46 ระบุว่าชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรของตน การออกโฉนดทะเลกลับเป็นความพยายามฉีกขาดสิทธิชุมชนให้เหลือเพียงสิทธิเชิงปัจเจก โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่าโครงการนี้ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านหรือเปล่า และชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่

เพราะความอันตรายร้ายแรงประการสำคัญของการออกโฉนดทะเล คือการกัดกร่อนความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน

ทำไม?

“ปกติสิทธิของชาวประมงในการเลี้ยงปลาหรือการทำประมงทะเล ถ้าเป็นชาวมุสลิม ทุกคนจะยืนยันร่วมกันว่าทะเลเป็นของพระผู้เป็นเจ้า แปลง่ายๆ คือทะเลเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ควรจะเอามาเป็นสมบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้น สิทธิในการเป็นเจ้าของทะเลของเขาโดยวัฒนธรรมจะไม่มี มันจะมีสิทธิเฉพาะตอนที่เลี้ยง เมื่อคุณเลิกเลี้ยงทะเลก็จะกลับเป็นของสาธารณะ แต่ทีนี้โฉนดทะเลจะทำให้สิทธินี้ยังคงอยู่แม้จะไม่เลี้ยงปลา” ภาคภูมิอธิบาย

ด้านวสันต์มองว่าโฉนดทะเลจะทำให้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านถูกทำลาย

“เมื่อทะเลซึ่งเป็นที่สาธารณะกลายเป็นของบุคคล ทะเลหน้าบ้านที่เคยใช้หากินร่วมกัน พอเอามาแปลงเป็นของปัจเจก ออกโฉนดให้แต่ละรายๆ ต่อไปนี้ทะเลหน้าบ้านจะไม่มีแล้ว ชาวประมงก็ต้องออกไปหากินที่อื่นที่ไกลออกไป กลายเป็นว่าความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้นมันไปทำลายวิถีชีวิตของชุมชนที่เคยอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอเพียง”

เรือหาปลาของชาวบ้านที่เคยล่องไปทั่วอาจทำไม่ได้อีกต่อไปเพราะทะเลกำลังจะมีเจ้าของ

ในสายตาของน้อย ลูกเลสาบสงขลา โฉนดทะเลมีแต่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับชุมชน และระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเองอย่างรุนแรง

“ถ้าไอ้โครงการซีฟูดแบงก์ลงไปจะเกิดผลกระทบระหว่างชุมชนกับชุมชนอย่างแรง เพราะจะเกิดการแย่งพื้นที่จับจองกัน เพราะโดยปกติชาวประมงเราสามารถหากินได้ไม่จำกัดพื้นที่ จะไปหากินตรงไหนก็ได้ แต่โครงการนี้จะทำให้เราทะเลาะกัน หน้าบ้านใครคนนั้นก็จับจอง คนอื่นจะเข้าไปหาปลาไม่ได้”

เหตุนี้ข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้านในการฟื้นฟูความแข็งแรงให้ทะเลและฟื้นฟูความอยู่ดีกินดี จึงไม่ใช่การทำให้ทะเลมีเจ้าของ แต่จะต้องมีการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน มีการควบคุมเครื่องมือประมง ไม่ให้มีเครื่องมือประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง หากทำได้ทะเลก็จะเพียงพอสำหรับทุกคน

อันที่จริงนับจากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้พูดไว้ชัดเจนถึงการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ท้องถิ่น ปัญหาก็คือภาครัฐให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหนกับการกระจายอำนาจที่ว่า เพราะการยินยอมกระทำตามรัฐธรรมนูญอาจก่อให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างอำนาจรัฐ

บทบาทการนิยามและการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่รัฐเคยกุมมาตลอดจะถูกเปลี่ยนมือ แล้วใครที่ไหนจะยอม

“ความต้องการของทุกคนคืออยากจะมีสิทธิในทุกๆ เรื่อง” น้อยกล่าวทิ้งท้าย

-5-

โดยไม่ต้องอาศัยระดับสติปัญญาที่สลับซับซ้อนมากมาย ความรู้สึกสามัญที่สุดของทุกคนน่าจะมีคำตอบคล้ายคลึงกันอยู่ในใจ

คงเป็นเรื่องแปลกพิลึก เมื่อวันหนึ่งก่อนที่เราจะกางแขนรับสายลมเย็นๆ เรากลับต้องถามใครต่อใครก่อนว่าอากาศตรงนี้เป็นของใคร? หรือเมื่อวันหนึ่งก่อนที่เราจะกระโดดลงทะเลเขียวคราม กลับมีคนตะโกนบอกว่าทะเลตรงนี้มีคนซื้อไปแล้ว

...เหมือนทะเลมีเจ้าของ

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3671

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group Nathalin Group

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network