ฉลามวาฬเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ฉลามวาฬเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น
หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10444
คอลัมน์ โลกสามมิติ
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
ฉลามวาฬ (Whale shark)
ในท้องทะเลออสเตรเลียมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหายนอกจากนั้น
พวกมันยังมีขนาดเล็กลงอีกด้วย ขณะเดียวกันฉลามสีเทา (Grey Nurse Shark)
ฉลามหายากก็มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน
นักชีววิทยากำลังกังวลว่าพวกมันมีโอกาสจะสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ฉลามวาฬ
ปลาขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นปลายอดนิยมของนักดำน้ำมีจำนวนลดน้อยลง
เกิดจากการล่าของเรือประมง
เพราะหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะประเทศไต้หวันนิยมบริโภคเนื้อของมัน นอกจากนั้น
ครีบและหางของฉลามวาฬใช้ทำ "หูฉลาม"
ตับยังใช้ทำน้ำมันตับปลาและกระดูกอ่อนใช้ทำยาจีนแผนโบราณอีกด้วย
ฉลามวาฬ (Whale shark)
ฉลามสีเทา (Grey Nurse Shark)
ที่อุทยานทะเลนิงกาลู (Ningaloo Marine Park)
นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทะเลเชิงนิเวศ
มีบริษัทท่องเที่ยวจัดโปรแกรมนำนักท่องเที่ยวชมฉลามวาฬและดำน้ำไปกับพวกมันด้วย
นักวิจัยอาศัยข้อมูลของฉลามวาฬจากที่นี่ ทั้งจำนวน
ขนาดและการผสมพันธุ์ของฉลามวาฬทุกๆ ตัวเพื่อศึกษาชีวิตของพวกมัน
อุทยานทะเลนิงกาลู (Ningaloo Marine Park)
นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย
นักวิจัยพบว่า ปัจจุบันฉลามวาฬมีขนาดเล็กลงกว่าเมื่อ 10
ปีที่ผ่านมา จากขนาดเฉลี่ย 7 เมตร เหลือเพียง 5 เมตรเท่านั้น
ซึ่งเป็นไปได้ว่าฉลามวาฬขนาดใหญ่ถูกจับไปจำนวนมากจนเหลือเพียงฉลามวาฬขนาดเล็ก
หลักฐานอย่างหนึ่งคือฉลามวาฬซึ่งเดินทางมายังน่านน้ำออสเตรเลียมีจำนวนน้อยลง
ขนาดที่เล็กลงของฉลามวาฬมีผลโดยตรงต่อจำนวนของพวกมันด้วย
เพราะฉลามวาฬจะผสมพันธุ์เมื่อมันมีความยาว 6-7 เมตรหรือโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ปัจจุบันสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (Australian
Institute of Marine Science -Aims) มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือฉลามวาฬ
สถาบันมีโปรแกรมติดตามฉลามวาฬโดยการติดเครื่องส่งสัญญาณที่ตัวฉลามวาฬเพื่อหาตำแหน่งที่พวกมันอพยพระหว่างทะเลออสเตรเลีย
ทะเลเอเชีย และทะเลทางฝั่งตะวันออกของแอฟริกา
นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเชื่อว่าการรู้เส้นทางอพยพของฉลามวาฬจะช่วยให้รู้ว่าบริเวณใดบ้างที่พวกมันถูกจับไป
ครั้งหนึ่งการติดตามพบว่าฉลามวาฬในทะเลออสเตรเลียได้เดินทางไปยังทะเลเอเชียและอีกไม่กี่วันต่อมาพบสัญญาณที่ประเทศอินโดนีเซียทว่าสัญญาณบ่งชี้ว่ามันอยู่บนบก
นักวิจัยเชื่อว่าฉลามวาฬตัวนี้ถูกชาวประมงจับไป
คอลลัม โรเบิร์ตส์ นักวิจัยฉลามวาฬ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค
สหราชอาณาจักร ซึ่งทำการวิจัยฉลามวาฬในทะเลแคริบเบียนมายาวนาน บอกว่า
ฉลามวาฬเป็นสัตว์ทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงเช่นเดียวกับฉลามบางสปีซีส์
เพราะการที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากพวกมันเกินความจำเป็น
ขณะที่พวกมันมีชีวิตยืนยาวและมีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำ
มาร์ค มีแคน
จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลียเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการล่าฉลามวาฬอย่างน่าสนใจ
เขาบอกว่า ส่วนใหญ่ของชาวประมงเป็นชาวประมงพื้นบ้านซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นๆ ดังนั้น
เราน่าจะเสนอทางเลือกอื่นซึ่งให้กำไรงามแก่พวกเขา นั่นคือ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเช่นที่ อุทยานทางทะเล นิงกาลู
ซึ่งสามารถทำรายได้ถึง 70 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (50 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ต่อปีซึ่งมากพอสำหรับคนทั้งเมือง
การล่าฉลามวาฬของชาวประมงพื้นบ้าน
ฉลามวาฬมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhincodon typus
เป็นสัตว์เลือดเย็นพวกปลากระดูกอ่อน กลุ่มปลาฉลาม อยู่ในออร์เดอร์ Orectolobiformes
แฟมิลี Rhincodontidae จีนัส Rhincodon และสปีซีส์ R. typus
ลักษณะเด่นของฉลามวาฬคือ ลำตัวสีเทาประด้วยจุดสีขาวและเหลืองอ่อน
มีหัวที่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ปากอาจกว้างถึง1.5 เมตร
มีฟันละเอียดเรียงรายอยู่ถึง 300 แถว มันกินสิ่งมีชีวิตในทะเลขนาดเล็กเช่นแพลงก์ตอนพืช,
สาหร่ายและ คริล โดยใช้ซี่เหงือกกรองอาหาร
ฉลามวาฬใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง มีครีบอก 2 อัน
ครีบหาง 2 อัน และครีบก้นหางอีก 1 อัน หางของฉลามวาฬอยู่ในแนวตั้งฉาก
และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา
แตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเลที่หางจะอยู่ในแนวขนานและหายใจด้วยปอด อาทิ วาฬ โลมา
พะยูน เป็นต้น
นอกจากเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
(ฉลามวาฬที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ 12 เมตร)
มันยังเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวมากกว่า 150 ปี และจะผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 30
ปี
ฉลามวาฬอาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและมหาสมุทรน้ำอุ่นเท่านั้น
เป็นสัตว์ที่นิยมความสันโดษ แต่ในบางฤดูกาลอาจอยู่รวมกันเป็นฝูงเพื่อหาอาหารเช่นที่
แนวหินโสโครกนิงกาลู
ในทะเลไทยก็มีฉลามวาฬ ส่วนใหญ่อยู่ตามกองหินใต้น้ำในบริเวณทะเลเปิด
ซึ่งมีความลึกมากกว่า 30 เมตร แหล่งที่พบบ่อยคือ หมู่เกาะสุรินทร์ และสิมิลัน
นอกจากฉลามวาฬแล้ว
ยังมีฉลามในท้องทะเลออสเตรเลียอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีจำนวนลดลงจนน่ากังวลคือ ฉลามสีเทา
(Grey Nurse Shark) หรือฉลามเสือก้นทะเล ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Carcharias
taurus อยู่ในออร์เดอร์ Lamniformes แฟมิลี Odontaspididae จีนัส Carcharias และสปีซีส์
C. taurus
ฉลามชนิดนี้มีสีน้ำตาลเทา ใต้ท้องสีขาวหม่น ตัวผู้มีขนาด 2.1 เมตร
ตัวเมีย 2.2 เมตรและอาจยาวถึง 3.6 เมตร อาศัยอยู่บริเวณก้นทะเล โพรงหิน
หรือแนวปะการัง ในเขตน้ำตื้น
สมัยก่อนเคยเชื่อกันว่ามันเป็นฉลามอันตรายและกินเนื้อมนุษย์
แต่ปัจจุบันนักชีววิทยารู้จักมันดีขึ้น มันเป็นฉลามที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์
หากไม่ไปรบกวนมัน และอาหารของมันคือปลา ฉลามอื่นๆ ปลาหมึก และปูเท่านั้น
แม้ว่าฉลามชนิดนี้จะได้รับการคุ้มครองมาตั้งแต่ปี 1984
โดยเป็นฉลามชนิดแรกของโลกที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ทว่า
จำนวนของพวกมันก็ยังคงลดลง ซึ่งขณะนี้หลายๆ
ฝ่ายทั้งนักการเมืองและนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากำลังรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหานี้กันอยู่
ภัยคุกคามของฉลามสีเทาคือเบ็ดราวของชาวประมงที่ไม่ได้ตั้งใจจะตกมัน
ปัจจุบันนักชีววิทยาเชื่อว่ามีฉลามสีเทาในท้องทะเลออสเตรเลียน้อยกว่า 500
ตัวและส่วนใหญ่อยู่ในทะเลทางฝั่งตะวันออก
ฉลามทั่วโลกมีมากกว่า 370 สปีซีส์ อาศัยอยู่ในทะเลออสเตรเลียจำนวน
166 สปีซีส์
ฉลามสีเทา (Grey Nurse Shark)
หรือฉลามเสือก้นทะเล