Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Advertising in marinerthai.net MarinerThai 2004 Co., Ltd.

อนุรักษ์ "โลมา" อ่าวไทย สัตว์ในสมเด็จพระราชินีนาถ

อนุรักษ์ "โลมา" อ่าวไทย สัตว์ในสมเด็จพระราชินีนาถ


หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10447

ชมพูนุท นำภา

เวลาสองสามปีที่ผ่านมาคนไทยหลายคนเพิ่งได้มีโอกาสยลโฉมเจ้าโลมาฝูงใหญ่ที่ออกมาปรากฏกายดำผุดดำว่ายที่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง และบริเวณอ่าวไทยตอนใน

เหตุที่หลายคนเพิ่งมีโอกาสได้เห็นก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มีการนำเที่ยวดูโลมาอย่างจริงจัง หรือบางคนคิดว่าโลมาต้องอยู่ในน้ำทะเลลึกเท่านั้น จึงมีเพียงคนพื้นที่ และนักวิชาการเท่านั้นที่รู้จักและคุ้นเคย

ด้วยท่าทางที่เป็นมิตร และเสียงร้องอู๊ดอี๊ดของเหล่าโลมาที่วนอยู่รอบเรือทำเอาคนไปเที่ยวชมอดยิ้มให้กับความน่ารักน่าชังของมันไม่ได้

สำหรับประชากรโลมาที่เข้ามาในบริเวณอ่าวไทยตอนใน หรือปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำกร่อยนั้น จากการสำรวจพบว่ามี "โลมาอิรวดี" "โลมาเผือกหลังโหนก" และ "โลมาหัวบาตรหลังเรียบ" โลมาเหล่านี้มักจะเข้ามาหากินบริเวณอ่าวไทยตอนใน-ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

ซึ่งการมาของโลมานั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าแหล่งน้ำตรงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก

อ่าวไทยตอนใน มีแนวชายฝั่งทะเลระยะทางประมาณ 112 กิโลเมตร อ่าวมีลักษณะแคบคล้ายรูปตัว ก ไก่ เป็นแหล่งรวมดินตะกอนสะสมจากป่าต้นน้ำตอนในของประเทศ มาจากแม่น้ำ 5 สายไหลออกสู่ทะเล

ประกอบด้วย แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี เป็นทะเลที่มีระดับน้ำตื้น มีสันดอนและเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์

ท่ามกลางการชื่นชมความน่ารักของโลมา หลายคนไม่รู้ว่าประชากรโลมากำลังลดลงด้วยน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

โลมาอิรวดีน้ำจืด

โดยเฉพาะโลมาอิรวดีน้ำจืด ที่บริเวณแม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี และทะเลสาบสงขลา นั้นได้เข้าขั้นวิกฤต ถึงขนาดที่ "สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์" (IUCN) จัดให้โลมาอิรวดีอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

ส่วนกฎหมายไทย โลมาอิรวดี ได้รับการจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 138 คือ ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง หรือห้ามเพาะพันธุ์เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

นอกจากนี้โลมาอิรวดียังเป็นสัตว์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เพราะมีพระราชประสงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์หายากชนิดนี้ไว้อีกด้วย

เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกการอนุรักษ์ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา WWF ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก จำกัด (มหาชน) จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "โครงการอนุรักษ์โลมาในอ่าวไทยตอนใน" ขึ้น

*โรเบิร์ต มาร์เธอร์* ผู้จัดการอาวุโส WWF Greater Mekong Programme เล่าถึงโครงการว่า ส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่ง บริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนการเงินให้ WWF เป็นจำนวนเงิน 8 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปีแรกของโครงการ จากนั้นจะมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องการที่จะให้เจ้าหน้าที่ของบริษัท กัลฟ์ อิเลคตริก เข้ามาเรียนรู้ศึกษาด้วยตนเอง และเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี และความจำเป็นในการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนในต่อไปในอนาคต

"เราเชื่อว่าลำพังเอ็นจีโออย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ถ้าไม่มีความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และบริษัทเอกชน" โรเบิร์ตบอก

ด้าน "ชวลิต วิทยานนท์" ดอกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแหล่งน้ำจืดและทะเล อธิบายว่า สาเหตุหลักที่จะทำให้โลมาจำนวนลดลง

อันดับแรกคือเรื่อง *มลภาวะ* ที่นับวันแนวโน้มจะมากขึ้น ทั้งในชุมชนและโรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำโดยไม่ใส่ใจเรื่องสารพิษเท่าที่ควร เช่น แคดเมียม ตะกั่ว ตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ อีกทั้งการบำบัดน้ำเสียของชุมชนในอ่าวไทยตอนล่าง ทั้งหมดยังไม่มีประสิทธิภาพพอ

ปัญหาอีกอย่างคือ การทำการประมงของชาวประมง ที่ตอนนี้มีการใช้ "อวนรุน" หรืออวนลากที่บริเวณหน้าดินอ่าวไทยตอนในค่อนข้างมาก จับปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นอาหารของโลมาไปส่งโรงงานปลาป่น ซึ่งการประมงที่มากเกินไปอาจจะมีผลให้อาหารของโลมาน้อยลง

"ส่วนโลมาน้ำจืดแถบประเทศกัมพูชา พม่า หรือทะเลสาบสงขลา ส่วนมากจะโดนเครื่องมือประมงตาย พวกอวนลอยจับปลา เรื่องโลหะหนัก หรือสารพิษจากอาวุธสงคราม ก็ทำให้มันตายอยู่เรื่อยๆ อย่างโลมาในแม่น้ำโขงก็ถูกยิงบ้าง ถูกล่าโดยตรงบ้าง เขมรแดงเขาล่าเอาน้ำมัน และกินเป็นอาหาร" ดร.ชวลิตเล่าเสริม

ดร.ชวลิตบอกว่า แม้ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าโลมาในอ่าวไทยตอนในจะลดน้อยมากแค่ไหน แต่แนวโน้มมันก็มีโอกาสที่จะลดลง และได้เริ่มสำรวจในปีถึงสองปีมาแล้ว

"การที่โลมาเข้ามาที่บริเวณปากแม่น้ำในช่วงเดือนตุลาคม ถึงต้นมกราคม เพราะเป็นช่วงที่ปากแม่น้ำมีความสมบูรณ์ หน้าดินชุกชุมไปด้วยปู และเคย ปลาเล็กปลาน้อย แล้วโลมาจะเข้ามาหากินปลาดุกทะเล ปลากดทะเล เป็นเหมือนห่วงโซ่อาหาร และถ้าห่วงโซ่อาหารตัวใดตัวหนึ่งเริ่มหายไป โลมาก็จะหายไปด้วย ดังนั้น โลมาจึงเป็นอีกหนึ่งดัชชีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี"

นอกจากจะทำงานวิจัยแล้ว ดร.ชวลิตยังมีโอกาสได้ร่วมลงไปทำงานกับชาวประมงในพื้นที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการไปดูโลมาที่ถูกวิธีด้วย

"การมาเที่ยวดูโลมาก็สำคัญ คนเรือต้องเรียนรู้มากที่สุด เพราะถ้าเจอฝูงโลมาแล้วเอาเรือวิ่งเข้าใส่ก็จะไม่เหมาะสม เราต้องลอยเรือตามน้ำมาเฉยๆ หรือไม่ก็ดับเครื่องยนต์ไม่ให้รบกวน โลมาอาจจะว่ายมาใกล้ๆ เรือเป็นครั้งคราว ส่วนมากจะเห็นโลมาเผือก กับโลมาหัวบาตร" ดร.ชวลิตกล่าว

"โลมาอิระวดี" (พบครั้งแรกในลุ่มน้ำอิระวดี ประเทศพม่า) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า 'โลมาหัวบาตร' ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียงโลมาอิระวดีมีครีบหลังแต่โลมาหัวบาตรไม่มี ในปัจจุบันสามารถพบโลมาชนิดนี้ในทะเลสาบน้ำจืด และน้ำกร่อยได้เพียง 2 แห่งในโลกเท่านั้น คือในทะเลสาบชิลก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลา ในประเทศไทย

บริเวณที่เจ้าหัวหมอนจะออกมาให้พบเห็นบ่อยๆ คือ บริเวณตรงร่องกลางทะเลสาบที่มีความลึกประมาณ 2.4-4 เมตร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะใหญ่ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านลำปำ ตรงบริเวณที่เรียกว่า 'ลับห้า' คือ ตรงที่เกาะใหญ่บดบังเกาะสี่เกาะห้ามิดพอดี

โลมาหัวบาตร มีลำตัวสีเทาอมฟ้า บางตัวสีดำอมเทา ส่วนท้องจะมีสีจาง เจ้าหัวบาตรเป็นสัตว์น้ำที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์บก มันจึงใช้ปอดในการหายใจ และมีรูจมูกอยู่บนหัวที่กลมทุยคล้ายบาตรพระของมัน

สำหรับช่วงดูโลมาจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม ส่วนช่วงที่โลมาเข้ามาบ่อย คือต้นธันวาคมถึงมกราคม มีตั้งแต่ฝูงละ 5-6 ตัว จนถึงฝูงเป็นสิบตัว ส่วนมากมักจะอยู่กระจาย ไม่เป็นฝูงใหญ่

"เวลานำเที่ยวดูโลมา เขาจะมีเรือหลายลำออกไป เมื่อเจอแล้วเขาจะโทรศัพท์หากัน คือคนเรือเขาจะรู้ว่าช่วงเช้า หรือช่วงคลื่นแบบไหน โลมาจะอยู่บริเวณปากแม่น้ำ หรือเข้ามาข้างใน เขาจะวิ่งเรือไล่ตั้งแต่ตอนในออกไปเรื่อยๆ พอเจอเมื่อไหร่ก็หยุด พอเจอฝูงก็จอดนิ่งๆ ดู ไปเรื่อยๆ เราจะเห็นฝูงโลมาออกมาหากิน จะเห็นพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อย่างเช่น เวลาว่ายเป็นฝูงจะมีการกระโดด มีการเล่นกัน หรือช่วงที่เขาจับปลาขึ้นมากิน อย่างโลมาเผือกจะจับปลามาโยนขึ้นเหนือน้ำกินเป็นอาหาร"

โลมาเผือก หรือ White Dophin

ดร.ชวลิตบอกว่า ตอนนี้ประเมินแล้วทั้งโลกมีโลมา 3,000-4,000 ตัว ออสเตรเลีย มีประมาณ 2,000 ตัวไปแล้ว แต่โลมาที่ออสเตรเลียกับประเทศไทยเป็นคนละชนิดกัน สำหรับโลมาที่อยู่บริเวณอ่าวไทยตอนใน ประเมินสูงสุดมีประมาณ 200 ตัว

"จำนวนทั้งหมดนี้ เรานับตั้งแต่จังหวัดชลบุรี แถวแหลมแท่น บางแสน มาจนถึงเพชรบุรี"

ด้าน *ปรีชา สุวรรณ์* ผู้นำชาวประมงท้องถิ่น ปากน้ำบางปะกง เล่าว่า ความจริงโลมามีตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเด็กนักเรียน โลมาจะมาบ่อยกว่าปัจจุบัน เพราะสมัยนั้นน้ำในอ่าวแม่น้ำบางปะกงสะอาดกว่าสมัยนี้

"การเที่ยวดูโลมาเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2543 ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 5 ธันวาคม ผมเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แล้วลูกสาวทำงานสาธารณสุข เราไปถวายพระพรในหลวงที่อำเภอ เสร็จแล้วก็พาไปเที่ยวทะเล พวกที่ไม่เคยเห็นเจอโลมาฝูงใหญ่มาว่ายวนเล่นที่เรือ ก็ตื่นเต้น แล้วนำไปเล่าต่อ จากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์มาทำข่าวมากขึ้นจนคนมาเที่ยวมากอย่างทุกวันนี้" ปรีชาเล่า

นอกจากจะเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์แล้ว ปรีชายังเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวดูโลมาเจ้าแรกๆ ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยั่งยืนอีกด้วย

"ผมเป็นคนที่รณรงค์อยากจะให้น้ำใสสะอาด ไม่มีมลภาวะ หรือพวกขยะ ถ้าเราทิ้งลงน้ำมันจะลอยไปทั่ว บางครั้งมันลงไปอยู่หน้าดินจะทำให้กุ้งปลาตาย ผมรณรงค์เขียนป้ายติดหน้าบ้านว่า ทิ้งขยะลงน้ำเท่ากับไม่รักประเทศชาติ แต่พวกที่อายุมากๆ ตอบมาว่าเขาทิ้งมาตั้งสามสี่สิบปีแล้ว เขาเลิกไม่ได้ ผมบอกว่าคุณทำชั่วมาตั้งสามสิบสี่สิบปี แล้วคุณจะอยู่อีกกี่ปี จะหันมาทำดีไม่ได้เหรอ" เสียงกระแทกแรงด้วยความรู้สึกอัดอั้นในฐานะผู้ที่อาสานำเที่ยวคนหนึ่ง

ปรีชาบอกว่า เคยพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมโลมา บางครั้งอายเขาเพราะมีขยะจำนวนมากลอยเกลื่อนในแม่น้ำ

แม้วันนี้โลมาจะยังมีอยู่ แต่หากผู้คนขาดจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติแล้ว และรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำและทะเล

*วันหนึ่งข้างหน้าสิ่งที่สูญหายไปอาจไม่ใช่แค่โลมาในอ่าวไทยเท่านั้น*

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   6183

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

นิทานชาวเรือ Photos from Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network