Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

โลกพระวิญญาณ “เสด็จเตี่ย” เฮี้ยน !!

โลกพระวิญญาณ “เสด็จเตี่ย” เฮี้ยน !!


โดยหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ 15 ธันวาคม 2549 16:49 น

ปกติ ในแต่ละปีจะกำหนดแต่ละวันสำคัญให้มีเพียง 1 วันเท่านั้น แม้ “วันอาภากร”จะเป็นวันเฉพาะกิจที่ปฏิทินไม่ได้ระบุไว้ แต่มี 2 วันในรอบปีคือ 19 พฤษภาคม (วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์) ทางกองทัพเรือกำหนดให้เป็นวันอาภากรตั้งแต่ปี 2535 ในฐานะ “องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย” และ 19 ธันวาคม (วันคล้ายวันประสูติ) หรือวันคืนสู่เหย้าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ก็เรียก วันอาภากร เช่นเดียวกัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร เป็นพื้นที่วังเดิม ทรงประทับสมัยดำรงพระชนมชีพ

ปีนี้ ... 30 ปีแห่งการเสด็จพระราชดำเนินเปิดพระอนุสาวรีย์ 60 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ

เมื่อเข็มแห่งกาลเวลาย่ำนาทีแรกเคลื่อนเวลาเข้าสู่วันที่ 19 ธันวาคม บทเพลงแห่งราชนาวีที่ดังกระหึ่มผ่านเครื่องขยายเสียงประกาศพระนาม “อาภากร” อันเกริกไกรเหนือท้องทะเล 1,500 ไมล์ ณ บริเวณพระอนุสาวรีย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร นางเลิ้ง บทเพลงนี้เสมือนอาณัติสัญญาณให้ผู้มีศรัทธาเหนียวแน่นกลุ่มแรกได้เริ่มต้นจุดธูป เทียน พร้อมดอกกุหลาบสีแดงเพื่อสักการบูชา “เตี่ยของลูก”

กลิ่นธูป ควันเทียน และดอกกุหลาบที่วางเรียงรายจากฐานพระอนุสารีย์ล้นท่วมถึงพระบาท ผู้คนทั้งหลายที่ทยอยกันว่ายืนยันเพื่อตอกย้ำ ความภักดีมิเสื่อมคลายจวบถึงค่ำคืนของวันที่ 19 ธันวาคม ...

คุณเชื่อเรื่องโลกวิญญาณมั้ย !!

ไม่ว่าคุณจะอยู่แห่งหน ตำบลใด เมื่อถึงเวลาอันควร เราจะรู้จักกัน รักใคร่ สามัคคีและผูกพันกันอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่ไม่ใช่ญาติ !! หากมีศรัทธาอย่างมั่นคงแล้ว ย่อมสามารถสื่อกับพระองค์ท่านได้ทุกคนเป็นสัญลักษณ์พิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการถาม “ร่างทรง” ดังนั้น .... คนนับถือ เสด็จเตี่ยจึงเด็ดเดี่ยวด้วยศรัทธาอันกล้าแข็ง ไม่ใช่แค่ยกมือหรือจุดธูปไหว้พระองค์ท่านเท่านั้น หากแต่มีรายละเอียด เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญาณอันลึกซึ้งเกินกว่าจะกล่าวพรรนาได้

19 ธันวาคม วันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ METRO LIFE ชวนสัมผัสประสบการณ์ด้วยประสบการณ์อันเร้นลับที่แตกต่างกันไป

รูปรอยสักเสด็จเตี่ย

เสด็จเตี่ย – พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสักยันต์ทั้งพระองค์ตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม รูปสักมีดังนี้ หนุมาน, ลิงลม(บริเวณพระชงฆ์ เพื่อเดินเร็ว), มังกร (เลื่อยพันบริเวณแขน), อักขระ(บริเวณข้อนิ้ว เพื่อชกต่อยหนัก)

บริเวณอุระสัก “ร.ศ. 112 ตราด” เพื่อจำไม่ลืมกับการบุกรุกของกองเรือรบฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา หลังเหตุการณ์นี้ไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพื่อแลกกับอธิปไตยของไทยโดยรวม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มตระหนักว่า การว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นเรื่องไม่น่าวางใจ และทรงริเริ่มฝึกนายทหารเรือเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อพระองค์เจ้าอาภากรยังทรงพระเยาว์เพียง 13 ชันษาเท่านั้น เหตุนี้จึงทำให้พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการศึกษาวิชาทหารเรือเพื่อกลับมารับใช้บ้านเมือง

หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาของเสด็จในกรมฯมีบันทึกยืนยันว่า ทรงสักทั้งองค์ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ เล่ากันต่อมาว่า เมื่อหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบจะสักอาคมเพิ่มเติมให้ปรากฏว่าพระวรกายไม่มีที่ว่าง จึงได้อักขระ “นะ” คำเดียวที่บริเวณกัณฐมณี (ลูกกระเดือก) เท่านั้น

การที่เสด็จเตี่ยกราบเกจิอาจารย์ขอเป็นศิษย์กับทุกอาจารย์ที่ได้พบนั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นศิษย์หลายครู ครูบาอาจารย์ของพระองค์นั้นมีดังนี้ หลวงปู่ดำ ภูเก็ต, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ, หลวงปู่ศุข วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า (ปัจจุบันเรียก วัดมะขามเฒ่า), หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงพ่อจร วัดดอนรวบ, หลวงพ่อเจียม ชลบุรี, หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก,หลวงพ่อเขียว วัดเครือวัลย์, หลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ ฯลฯ

แต่ที่พระองค์ท่านผูกพันจริงๆ ใกล้ชิดเป็นพิเศษมีเพียง 3 รูปคือ หลวงปู่ศุข,หลวงพ่อเงินและหลวงพ่อพริ้งเท่านั้น

เรื่อง “ช้าง” บริวารกรมหลวงชุมพรฯ

ข่าวยังร้อนอยู่เลย !! ไม่เกี่ยวกับเสด็จเตี่ย แต่เป็นเรื่องของบริวารเฮี้ยน !! ภารโรงที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนครสังเวยไป 2 ศพ ด้วยอาการเดียวกัน …

เนื่องจากมีผู้มาถวายช้างใหญ่เชือกหนึ่ง ซึ่งพื้นที่บริเวณพระอนุสาวรีย์มีจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องเคลียร์ของเก่าออก หลักการเคลียร์ที่ถูกต้องคือ ต้องนำช้างใหม่มาเทียบแล้วขออัญเชิญญาณจากช้างตัวเก่าประจุในช้างใหม่ แต่ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ปรากฏว่า ภารโรงบางคนจุดธูปบอกกล่าว บางคนแค่ยกมือบอกกล่าวเฉยๆ จากนั้นก็ทำการเลื่อยให้สะดวกต่อการขนย้าย เนื่องจากช้างเดิมนั้นตัวใหญ่และน้ำหนักมาก ภารโรง 2 ใน 5 คน ชายคนหนึ่ง หญิงคนหนึ่ง มีเหตุให้เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการเดียวกันคือ ไม่รู้สึกตัวและเสียชีวิตต่อมาในวันที่ใกล้เคียงกัน ภารโรงอีก 3 คนที่เหลือถึงกับผวา !! ลงขันจัดเครื่องบูชา อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังได้อัญเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อแก้อาถรรพณ์อีกด้วย

ขนาดช้างบริวารยังเฮี้ยนขนาดนี้ เรื่องอย่างนี้ไม่เจอเข้ากับตัวไม่รู้หรอกว่าเรื่องเฮี้ยนๆอย่างนี้ยังวนเวียนอยู่กับสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


30 ปีแห่งความทรงจำ

ฉลุยไม่น่าเชื่อ

เมื่อพระอนุสาวรีย์สร้างเสร็จใหม่ๆ เช้าวันหนึ่งมีการบวงสรวงเสด็จพ่อ อาจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิชผู้อำนวยการฯปรารภกับอาจารย์เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูร ว่าอยากอัญเชิญในหลวงเสด็จเปิดพระอนุสาวรีย์ อาจารย์เพิ่มศักดิ์นั้นคุ้นเคยอยู่กับสำนักพระราชวัง เพราะเคยพานักเรียนไปทัศนศึกษาบ่อย เช้าสายวันนั้นเขาจึงไปปรึกษากับไกด์ชื่อ เกรียงไกร ไกด์ผู้นี้เป็นคนพาอาจารย์เพิ่มศักดิ์ไปที่สำนักราชเลขาธิการ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวอย่างหนังสือมาให้ดู เขาคัดลอกตัวอย่าง แล้วกลับวิทยาลัยพิมพ์และเดินทางกลับไปยื่นที่สำนักราชเลขาธิการในบ่ายวันเดียวกัน หนึ่งเดือนครึ่งผ่านไป ทางสำนักราชเลขาธิการมีหนังสือด่วนที่สุดถึงโรงเรียนให้ส่งตัวแทนมาพบ และแจ้งว่า ทางวิทยาลัยต้องดำเนินการประสานงานกับสำนักพระราชวัง, ตำรวจท้องที่,กรมโยธาธิการ เป็น 4 หน่วยงานเพื่อจัดเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จฯ เพิ่มเติมอีกหน่วยหนึ่งคือ เทศบาล เนื่องจากเส้นถนนด้านหน้าอนุสาวรีย์ไม่สวย

“ไปเทศบาลก็เจอกับลูกศิษย์คนหนึ่งที่ผมเคยฝากเรียนอยู่แผนกนี้พอดี ผมบอกว่าช่วยหน่อย พรุ่งนี้มาทำให้เลย” อาจารย์เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูรว่า

วันเสด็จ ... ผู้คนและนักเรียนล้นหลามจนต้องประชุมเด็กเพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล

“ ผมขออนุญาตอาจารย์ธรรมนูญว่าขอเรียกประชุมที่หน้าเวทีกลางแจ้ง ผมบอกว่า งานจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่พวกเธอทุกคน ไม่ได้อยู่ที่ครู หรือว่าคนแต่งกายชุดขาวที่พวกเธอเห็น พวกเราเกือบ 5 พันคน ข้างนอกอีกเท่าไหร่ เวลาที่ในหลวงท่านเสด็จ ถ้าเธอเฮกันเข้าไปอะไรจะเกิดขึ้น ตำรวจก็จะเอาไม่อยู่ อาจารย์เข้าใจว่าทุกคนอยากจะชื่นชมบารมีท่านใกล้ๆ แต่อยากจะขอร้องพวกเธอกับเหล่าคณาจารย์สักครั้ง ขอให้ไปเข้าแถวทั้ง 2 ฟากฝั่งตั้งแต่แยกถนนราชดำเนินไล่มาถึงโรงเรียน เวลาที่รถยนต์พระที่นั่งผ่าน ผู้ชายให้ถวายคำนับ ผู้หญิงให้ถอนสายบัว และอยู่ที่นั่นจนกว่าในหลวงจะเสด็จกลับ ไม่มีใครมาเลยครับ ไม่มีการซักซ้อมกันมาก่อน รุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงชมเชยว่า เป็นภาพที่สวยงามมาก ทุกอย่างที่ดำเนินงานเรียบร้อยอย่างน่าอัศจรรย์”

มีคนบอกให้มา เขาต้องมา

ความรายละเอียดทั้งหมดปรากฏอยู่ในหนังสือ “นาวิกศาสตร์” อยากอ่านละเอียดดูที่ http://www.navy.mi.th/newwww/document/navic/nv0002.html เล่าความโดยประไพศรี เลิศบรรณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอฟ.เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2531 “น้องป้อ” ลูกชายวัย 8 ขวบที่กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนอัญสัมชัญ กรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ ( APLASTIC ANEMLA) อันหมายถึงไขกระดูกไม่ผลิตเลือดมาเลี้ยงร่างกาย โรคนี้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และต้องระวังโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะการติดเชื้อ ตามขั้นตอนต้องเปลี่ยนและถ่ายเลือดสม่ำเสมอ น้องป้อ เลือดกรุ๊ป B RH+ ซึ่งเป็นเลือดกรุ๊ปที่หายาก ต่อมาน้องป้อติดเชื้อบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด อาการน่าเป็นห่วงจนต้องเข้าห้องไอ.ซี.ยู. วันหนึ่งระหว่างเฝ้าไข้น้องป้อ ประไพศรีผู้เป็นแม่และลูกสาวอีกคนได้ยินเสียงดนตรีไทย อีกทั้งน้องป้อก็เพ้อว่า “คุณแม่ เครื่องสาย ดนตรีไทยมารับน้องป้อแล้ว คุณแม่มานั่งทับน้องป้อทำไม” ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯเธอจึงวิ่งไปสักการะท่าน เพราะนับถืออยู่เดิม อีกทั้งระหว่างที่น้องป้ออยู่โรงพยาบาล เธอได้นำเหรียญเสด็จพ่อไว้ที่ใต้หมอนน้องป้อ

“เสด็จพ่อฯ ลูกสื่อความหมายกับคนที่มารับลูกชายไม่ได้ ลูกขอให้เสด็จพ่อช่วยบอกเค้าด้วยว่า ลูกไม่ให้เค้าเอาลูกชายไป ลูกจะทำทุกอย่างที่เค้าต้องการ ลูกจะบวชชีให้ และลูกจะเป็นคนดีอบรมลูกชายเป็นคนดี ลูกชายยังเล็กอยู่ ถ้าลูกชายหายแล้วพออายุ 20 ปีลูกจะให้ลูกชายบวชให้เจ้ากรรมนายเวรและทำบุญกุศลต่อไป”

ว่าแล้วก็ตักน้ำมนต์ในตุ่มเล็กๆข้างศาลและนำไปสาดไล่สิ่งอัปมงคลให้ออกนอกหน้าต่างที่ห้องพยาบาลของลูก

แต่เหตุประหลาดก็ปรากฏขึ้นต่อมาว่า นายสิบทหารบกท่านหนึ่งชื่อ พีรยุทธ์ บุญเกษม มาจากจังหวัดนครนายกเพื่อขอพบเธอว่าจะมาให้เลือดน้องป้อ เพราะเขามีเลือดกรุ๊ปเดียวกัน ความสงสัยได้คำตอบเพียงว่า “มีคนบอกให้มา เขาต้องมา”

การให้เลือดครั้งนี้ให้แบบปกติไม่ได้ ต้องให้พลาสมาคือ ให้เกล็ดเลือด โดยการดูดเลือดจากแขนข้างหนึ่งแล้วเอาแต่เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว แล้วคืนเม็ดเลือดแดงกลับเข้าแขนอีกข้าง วิธีการนี้ใช่ว่าทุกคนที่มีประสงค์จะให้เลือดจะทำได้ แต่พีรยุทธ์สามารถทำได้ เสร็จกิจแล้วก็กลับไม่รับเงินค่าตอบแทนใดๆ เพียงแต่บอกว่าขอดูหน้าเด็กมีบุญหน่อยเท่านั้นเอง ล่วงเลยจนถึงปี 2542 ถึงได้พบกันอีกครั้ง เพราะเธอพยายามสืบคนผู้มีพระคุณจนเจอ คำตอบเดิม “มีคนบอกให้มา ผมต้องมา” แต่ครั้งนี้เขาบอกว่า หน้าที่เขายังไม่หมด ยังมีหน้าที่ต้องมาพบเธออีกครั้ง ปี 2543 พีรยุทธ์กลับมาอีกครั้งและมอบสิ่งหนึ่งให้

เหรียญกรมหลวงชุมพร รุ่นข้าวหลามตัดที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อปี 2466 ที่ท้องสนามหลวง !! ครั้งนี้เขาบอกว่า “หมดหน้าที่แล้ว”

คำตอบชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย ...

สัจวาจาที่ประไพศรี เลิศบรรณพงษ์ให้ไว้ที่ศาลเสด็จเตี่ยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำครบถ้วน เธอบวชชี รักษาศีล 8 ที่วัดรามโกมุท บางแสน จ.ชลบุรี และลูกชายเมื่อจบปริญญาตรีแล้วบวชที่วัดยาง ซอยอ่อนนุช พระโขนง กรุงเทพฯ ปฏิบัติตัวตัวเป็นคนดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวประสบการณ์ของประไพศรี เลิศบรรณพงษ์จบเพียงเท่านี้ แต่บังเอิญว่ามีภาคสอง !! เมื่อกิรณา พิชิตมโนธรรม ซึ่งมีแม่เป็นโรคเดียวกับน้องป้อโทร.ไปปรึกษา ... เพราะสืบค้นข้อมูลใน Google แล้วเจอเรื่องนี้

เมื่อแม่อยู่ในอาการโคม่า กิรณาได้รับคำแนะนำจากประไพศรีว่าให้ลองบอกกล่าวกับเสด็จเตี่ยด้วยการจุดธูปกลางแจ้งดู ผลปรากฏว่า ทุกวันนี้ ... แม่เธออาการดีขึ้น และเธอเองก็ไม่ได้ขนาดวิตกกังวลเหมือนช่วงแรกๆ แม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เห็นใครก็ไม่รู้จัก นุ่งโจงกระเบน หน้าตอบ จมูกโด่งมาเป่าพรวดๆที่เข่า 3 ครั้ง แม่เล่าให้คนแถวบ้านฟัง คนแถวบ้านว่า กรมหลวงชุมพรฯ !! แม่อาการดีขึ้น เธอโทร.ไปหาประไพศรีสอบถามว่า จะไปบูชาเสด็จเตี่ยได้ที่ไหน เมื่อแรกคิดว่าต้องไปถึงปากน้ำ คนขับรถบอกว่าไม่ต้องไปไกลหรอก ศาลที่ผมขับรถผ่านทุกวัน ห่างจากบ้านนิดเดียว “นั่นแหละศาลเสด็จเตี่ย นายทหารเรือท่านหนึ่งมาสร้างไว้ “ ทุกเสาร์ กิรณา พิชิตมโนธรรมต้องมาไหว้เสด็จเตี่ยเป็นประจำไม่ได้ขาด


เขาเปิดทางแล้ว อ่านลายเซ็นเลย

โสภณ ชูวัฒน์สวัสดิ์ อาจารย์พิเศษสอนวิชา การวางแผนทางการเงินอยู่ที่มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร และทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คนนี้แหละอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านโหราศาสตร์ให้กับติ๊ก กลิ่นสี

เมื่อปี 2526 – 27 หลังสอนหนังสือที่พณิชยการพระนครแล้วก็เดินไปไหว้ที่อนุสาวรีย์ตามปกติ บอกท่านว่า อยากจะทำอะไรสักอย่างให้กับคนทั่วๆไปเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับท่าน ระหว่างที่ก้มกราบ ปรากฏว่า บัตรข้าราชการครูหล่น ก้มเก็บหยิบขึ้นมาพิจารณาก็เห็นลายเซ็น คิดว่าน่าศึกษาจึงขอความร่วมมืองานสารบรรณของสถาบัน ช่วยถ่ายเอกสารลายเซ็นของอาจารย์แต่ละท่าน จากหนังสือเวียนแต่ละฉบับ จำนวน 20 ก๊อบปี้ เพื่อดูความเหมือนที่ต่างกัน เมื่อ 20 ลายเซ็นเท่ากับ 100 % เซ็นเพี้ยนไป 1 ครั้งย่อมเท่ากับ 5 % แล้วคุยกับอาจารย์ท่านนั้นๆประกอบเพื่อให้เห็นถึงจังหวะชีวิตที่สัมพันธ์กับลายเซ็น ลายเซ็นคณาจารย์เหล่านี้ถือเป็นครูคนที่สอง เพราะโสภณถือว่า ลายเซ็นพระนาม “อาภากร” ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ คือ ครูคนแรก

ลายเซ็นพระนามอาภากร จะเหมือนกับตัว M หรือ W ซ้อนกันอยู่ เรียกว่า “โอเมก้าลดรูป”

“ลักษณะของลายเซ็นชนิดนี้หมายถึงศักยภาพเจรจา และอำนาจการต่อรองสูง ใต้พระนามอาภากรมีท่านขีดเส้นเส้นประ โดยมีจุดระหว่างกลาง (--- . ---) เส้นหมายถึงภาระที่หนักอึ้ง จุดคือ ความมั่นใจในพระองค์ ไม่ว่าอักษร อ. อ่าง ท่านจะจงใจตัดตัว อ. หรือไม่ก็ตาม ตัวนี้ทำให้ท่านมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ และเป็นผลให้ท่านสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชันษาไม่มาก”

วันหนึ่ง เมื่อมีคนลองวิชาถึงที่ ลายเซ็นถูกปิด ถึงเวลาที่อาจารย์ต้องช่วย !!

“เห็นแต่กระดาษเปล่าๆ ทายอะไรไม่ได้ ... “โสภณ ชูวัฒน์สวัสดิ์ บอกกับ METRO LIFE

“ผมอธิษฐานบอกว่า ถ้าเสด็จพ่อไม่ช่วยผมในฐานะอาจารย์ ผมคงจะต้องขายหน้าแน่”

ว่าแล้วก็มีเหตุดลใจให้โสภณ ชูวัฒน์สวัสดิ์พลิกกระดาษไปมา แล้วถามว่ามีลายเซ็นอื่นอีกมั้ย พอเค้าเซ็นก็มีเสียงกระซิบข้างหูผมว่า เข้าไปเลย เขาเปิดทางแล้ว” จากนั้น...ก็ทำนายทายทักได้อย่างแม่นยำทุกประการ ภายหลังมีการสารภาพว่าต้องการเทสต์ เหตุที่เชื่อว่า เขามีวิชาเหมือนกันคือ สามารถบอกบางสิ่งที่เขาไม่เคยเปิดเผยให้ใครรู้ เขามียันต์ที่กระหม่อม หน้าผาก และลิ้น ซึ่งหลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตรเป็นผู้ลงอาคมให้ตั้งแต่สมัยหนุ่ม และยังบอกว่า ระหว่างที่ดูลายเซ็นนั้น ผู้มีวิชาสัมผัสเห็น 3 สิ่งข้างกายคือ ช้าง (พระพิฆเนศ),คนชุดขาวแบบตะวันออกกลาง และนายทหาร (กรมหลวงชุมพรฯ) ไม่เห็นหน้า เพราะหันหลังให้

วิชาหนึ่งที่กรมหลวงชุมพรฯเล่าเรียนและเขียนเป็นตำรา ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้คือ โหราศาสตร์ เพราะต้นฉบับตำรานับ 10 เล่มนั้นเป็นสมบัติของหม่อมเจ้าหญิง จารุพัตรา อาภากร ส่วนสำเนาต้นฉบับโสภณ ชูวัฒน์สวัสดิ์ได้มาจากนายทหารเรือท่านหนึ่ง บอกว่า “แบ่งกันเรียนรู้” เป็นของหวงที่สุด ไม่เคยให้ใครแม้แต่ถ่ายสำเนาเอกสาร

เลือดแช่น้ำตาล

ครั้งหนึ่งโกสิน เทียมสุวรรณ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 857 ก่อนเข้าโรงพยาบาล 3 วันเขาแวะเวียนไปกราบไหว้เสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯ 3 วันติดต่อกันและเอาเหรียญรูปพระองค์ท่านมาห้อยคอ ระดับน้ำตาลขึ้นสูงจนเกิดอาการเบลอต้องเข้าโรงพยาบาล

“ ซึ่งไม่น่าจะรอด ถ้าน้ำตาลสูงมากขนาดนี้ หมอจะถามตลอดเวลาว่าปวดหัวมั้ย เจ็บหน้าอกมั้ย ถ้าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ผมช็อกแน่ อาจจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หมอยังบอกเลยว่า คราวหน้าอาจจะไม่โชคดี ไม่มีโอกาสเหมือนครั้งนี้ แต่คราวนี้ผมไม่รู้ว่ามันเกิดจากเหตุอะไรที่ทำให้ผมไม่เป็นอะไรมาก หรือว่าการที่ผมไหว้ท่าน 3 วันติดต่อกัน ท่านจะช่วยปัดเป่าให้” โกสิน เทียมสุวรรณเล่าให้ METRO LIFE ฟัง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องรอดตายอุบัติเหตุหวุดหวิดถึง 2 ครั้ง ที่พัทยาและบริเวณโค้ง 100 ศพที่ถนนรัชดาฯ

“ประสบอุบัติเหตุเมื่อประมาณ ตี 2-3 มารู้สึกตัวอีกทีเมื่อตอน 9 โมงเช้ากว่า ไม่มีใครมาปลุกเลย ที่รถผมแขวนเสด็จพ่อไว้ตลอดเหมือนกัน”

วิ่งแก้บน

ณัฐวุฒิ เพิ่มพูลสุขยิ่ง เจ้าหน้าที่ธนาคาร UOB เล่าให้ฟังว่า สมัยที่เรียนหนังสือเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล ก่อนแข่งทุกครั้งจะแวะเวียนมาไหว้เสด็จเตี่ยเป็นประจำเพื่อให้ท่านได้ช่วยเหลือในการเข้าแข่งขันทุกครั้ง และแมตช์หนึ่งเข้ารอบชิงชนะเลิศ เขามาบอกกล่าวกับเสด็จเตี่ย บอกสัจวาจาว่า

“ถ้าชนะเลิศจะวิ่งจากสนามศุภชลาศัยมาที่ศาลเสด็จเตี่ยที่พณิชยการพระนคร แล้วก็ได้ตามที่ผมบอกกล่าวไว้” ณัฐวุฒิ เพิ่มพูลสุขยิ่ง กล่าว และทุกครั้งที่มีเรื่องไม่สบายใจ เขามักจะมานั่งนิ่งสงบจิตใจที่นี่

สอบติดมหาวิทยาลัย

ธนิดา เพชรแสงใสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า นับถือกรมหลวงชุมพรฯมาประมาณ 2 ปีแล้ว เคยมาขอท่านให้สอบติดมหาวิทยาลัยก็สมปรารถนาตามที่หวังไว้

“ทุกวันนี้จะมากราบไหว้กับคุณพ่อ คุณแม่เป็นประจำ ถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดจะพกเหรียญของท่านติดตัวไว้ตลอดเวลา” ธนิดา เพชรแสงใสกุลกล่าว

สอบติดสำนักราชเลขาธิการ

กัญญาภัทธิ์ เคยพุดซา เจ้าพนักงานธุรการ 2 สำนักราชเลขาธิการ บอกว่าก่อนออกจากบ้านทุกครั้งเธอจะท่องพระคาถาเสด็จเตี่ย เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองดูแล เมื่อต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดจะต้องมากราบไหว้ที่ศาลของท่านก่อนกลับเกือบทุกครั้ง

“ประสบการณ์ที่เจอกับตัวเองคือ มาอธิษฐานขอให้สอบเข้าทำงานที่สำนักราชเลขาธิการได้ ได้นำดอกกุหลาบมาแก้บน 99 ดอก ทุกวันนี้รู้สึกภาคภูมิใจมากที่เคารพนับถือกรมหลวงชุมพรฯเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”


4 + 2 แหล่งควรแวะสักการะ

ความจริง อนุสาวรีย์และศาลของเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯนั้นมีเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่พลเรือตรีกรีฑา พรรธนะแพทย์ สามารถเก็บรวบรวมเป็นหนังสือได้ 1 เล่ม เพราะครอบคลุมอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย METRO LIFE แนะนำ 5 แหล่งที่ควรแวะสักการบูชา

สิ่งสักการะ ธูป 9 ดอก (หรือ 19 ดอก), เทียน 1 คู่ , ดอกกุหลาบสีแดง (จำนวนเดียวกับธูป)หรือพวงมาลัยที่มีกลิ่นหอม ดอกมะลิ หรือ ดอกเขี้ยวกระแต ก็ได้

พระคาถาบูชา (นโม 3 จบ) โอม ชุมพรจุตติ อิทธิการะนัง สุโข นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะกะสะ มะอะอุ

พระอนุสาวรีย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร

เมื่อปี 2513 – 2514 ร.อ. สุวิทย์ ทัดพิทักษ์กุล ศิษย์เก่าพณิชยการพระนคร (บิดาของฮาร์ท – สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล) ได้ริเริ่มหารือกับศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการพระนครเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ประดิษฐานไว้ที่หน้าวิทยาเขตเพื่อเป็นอนุสรณ์

อัศวิน พิชญโยธิน สถาปนิกออกแบบทั่วไป

อาจารย์สนั่น ศิลากร แห่งกรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระรูป

ถวิล ศรีอินทร์คำ ช่างหล่อพระรูป

พิธีเททองพระอนุสาวรีย์ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515, พิธีประดิษฐานชั่วคราว ณ หน้ามุข อาคารเรียน 1 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2516 , พิธีประดิษฐาน ณ แท่นหน้าวิทยาลัย วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่โรงเรียนพณิชยการพระนคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2519 ปีนี้ 2549 ครบ 30 ปีแห่งการเสด็จพระราชดำเนินเปิดพระอนุสาวรีย์ฯแห่งนี้ ปัจจุบันได้บูรณะพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์จนสวยงาม และสมพระเกียรติ

วิหารคด วัดโพธิ์

บริเวณสะพานเทวกรรม ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของตำหนักนางเลิ้ง เคยเป็นที่ตั้งศาลแห่งหนึ่ง ศาลแห่งนี้มีนายเทียบ อุทัยเวช ผู้เป็นน้องชายของหม่อมเมี้ยนและหม่อมแจ่มเป็นผู้ดูแล เป็นศาลเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยที่เสด็จเตี่ยยังทรงพระชนมชีพอยู่ ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนผ่าน ศาลแห่งนี้จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่วิหารคด วัดโพธิ์ ท่าเตียน

บางนา บางพลี ปากน้ำ

คนย่านนี้ไม่อยากเดินทางเข้าเมือง มีพระอนุสาวรีย์เสด็จเตี่ยให้เลือกสักการะได้

พระอนุสาวรีย์ โรงเรียนนายเรือ

ปัจจุบันโรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่ 204 ถนนสุขุมวิท ต.ปากน้ำ สมุทรปราการ สืบเนื่องจากเมื่อรศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า “การที่ต้องจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือและป้อมนั้นไม่เป็นที่มั่นคงที่จะรักษาประเทศได้ จะต้องมีการศึกษาและฝึกหัดให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้” และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ได้ศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ นักเรียนนายร้อยทหารเรือรุ่นแรกๆเมื่อปี พ.ศ. 2411 โปรดเกล้าฯให้ใช้เรือพระที่นั่งจักรีและร.ล.มูรธาวสิตสวัสดิ์เป็นสถานที่เรียน ใช้ ร.ล.พาลีรั่งทวีปและร.ล.สุครีพครองเมืองเป็นที่พัก พ.ศ. 2443 ย้ายมาเรียนที่วังนันทอุทยาน ธนบุรี พ.ศ. 2446 จากนั้นย้ายมาที่พระตำหนักสุนันทาลัย ปากคลองตลาดและย้ายมาเรียนที่พระราชวังเดิม วันที่ 20 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดโรงเรียนนายเรืออย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2448 กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานปรับปรุงหลักสูตร ปี พ.ศ. 2449 – 2454 ทรงอำนวยการการศึกษาและเป็นพระอาจารย์ พ.ศ. 2486 พระนครถูกโจมตีจากภัยทางอากาศ โรงเรียนนายเรือได้ย้ายจากพระราชวังเดิมไปอยู่ที่อ่าวเกล็ดแก้ว อ.สัตหีบ ชลบุรี ต่อมาเกิดไข้มาลาเรียระบาด ครู นักเรียนไม่สามารถสอนและเรียนได้จึงย้ายมาที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ จ. สมุทรปราการจนถึงทุกวันนี้

โรงเรียนนายเรือนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นรากแก้วแห่งกองทัพเรือ อีกทั้งพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นปูชนียบุคคลสำคัญในการผลักดันแต่แรก ดังนั้นพระอนุสาวรีย์ของโรงเรียนนายเรือถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ไม่เป็นรองที่อื่นใด เป็นที่เคารพและนับถือของเหล่าลูกประดู่และประชาชนโดยทั่วไป

พระอนุสาวรีย์ วังนันทอุทยาน

พระอนุสาวรีย์ฯที่แห่งนี้ องค์พระรูปยืน ทรงมาลา พระหัตถ์ทั้งสองวางบนโกร่งกระบี่ ความสูง 1.9 เท่าขององค์จริง โดยใช้ความสูงของพระองค์จริง 1.72 เมตร จะได้ความสูงของพระรูป 3,268 เมตร รวมตัวเลข 3+2+6+8 จะได้เท่ากับ 19 ตั้งอยู่บนแท่นความสูง 4 เมตร 80 เซนติเมตร วางศิลาฤกษ์เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เวลา 09.19 น. โดย พล.ร.อ.สุวัชชัย เกษมศุข ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี พิธีลงอักขระ ระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายน 2541 พิธีเททอง วันที่ 3 กันยายน 2541 เวลา 15.00 น. ณ โรงหล่อพระพุทธรูปบุญชู พุทธมณฑลสาย 2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ ฐานทัพเรือกรุงเทพ วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯเมื่อวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2542

ศาลกรมหลวงชุมพรฯ  สวนลุมไนท์บาซาร์

สวนลุมไนท์บาซาร์ทุกวันนี้ เป็นพื้นที่เดิมของกองสัญญาณทหารเรือ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อโรงเรียนย้ายไปอยู่ที่นครนายก ศาลแห่งนี้มิได้โยกย้ายไปด้วย แต่มีการตั้งศาลกรมหลวงชุมพรฯใหม่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร จังหวัดนครนายก

ศาลเดิมเป็นเพียงศาลไม้ขนาดเล็กและมีสภาพทรุดโทรมลง ตั้งอยู่ตรงบริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของโรงเรียน ด้านถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ปี 2529 ได้มีการบูรณะศาลแห่งนี้ใหม่ ในสมัยที่พลตรี ธีรวัฒน์ เอมะสุวรรณเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหาร ใช้รูปทรงเดียวกับศาลกรมหลวงชุมพรฯที่แหลมปู่เจ้า อ.สัตหีบ จ. ชลบุรี

ประกอบพิธีหล่อพระรูป พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ขนาดเท่าพระองค์จริง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ณ วัดหนองไทร อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี วันที่ 19 ธันวาคม 2529 วันคล้ายวันประสูติของเสด็จในกรมฯได้ประกอบพิธีบวงสรวง อัญเชิญดวงวิญญาณกรมหลวงชุมพรฯเข้าสถิตในองค์พระรูป และอัญเชิญพระรูปประดิษฐานในศาล

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงเป็นองค์ประธานเป็นศาลหลังใหม่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2530

พระอนุสาวรีย์ วัดทุ่งเศรษฐี

วัดทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านทุ่งเศรษฐี ตำบลดอกไม้ ประเวศ กรุงเทพมหานคร จำง่ายๆไม่ซับซ้อนคือ รามฯ 2 หลวงพ่อเจ้าอาวาสคือ หลวงพ่อเณร เป็นผู้สืบทอดวิชาเป่ายันต์เกราะเพชรมาจากอาจารย์คือ หลวงพ่อช่อ (หลวงพ่อฤษีลิงขาว) ส่วนหลวงพ่อช่อนั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางโคนมอีกทอดหนึ่ง วัดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องพระหัตฐาธาตุพระพุทธเจ้าห้าองค์ ที่มีลักษณะคล้ายมือ ซ้อนกัน 5 ชั้นสีน้ำตาลเท่ากับมือคน มีกลิ่นมะลิหอมตลอดเวลา และมีพระธาตุเสด็จมาเกาะที่องค์พระธาตุอยู่เสมอ วัดแห่งนี้มีคนแวะเวียนไปกราบไหว้บูชาตลอด อีกทั้งวัดแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์รวมเทพเป็นจำนวนมาก

โดดเด่นมากคือ พระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พิเศษกว่าที่อื่นตรงที่จุดประทัดได้ !!

การเดินทางมาสักการะ หมอชิต -ลาดพร้าว- ศรีนครินทร์ นั่งสาย 182 (ราม2 หมอชิต2), จันทรเกษม อนุสาวรีย์ชัยฯ สุขุมวิทฯ นั่งสาย 38, อนุสาวรีย์ชัย ฯ ทางด่วน สาย139 ปอ.139, พระราม3 คลองเตย ทางด่วน สาย182, พระราม4 นั่งสาย46, สุขุมวิท สนามหลวง นั่งสาย 48, เดอะมอลล์บางกะปิ นั่งรถตู้สายมอเตอร์เวย์

เดอะมอลล์งามวงศ์วานและสายใต้ นั่งรถตู้ทางด่วนได้เลย

เมื่อลงที่มหาวิทยาลัยราม2 วิทยาเขตบางนา แล้วนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกว่าไปวัดทุ่งเศรษฐี

ทำอย่างไรไม่ให้กลัวผี !?

“คืนวันหนึ่งพ่อเสด็จไปที่โรงเรียนนายเรือตามปกติ บรรดาครูอาจารย์ทั้งชั้นสูงชั้นต่ำเข้าเฝ้ากันอย่างพร้อมมูล พ่อสั่งให้เป่าแตรรวมพลโดยด่วนอยู่ในภาวะฉุกเฉิน นักเรียนที่อยู่ในเรือก็วิ่งกันโกลาหล ชั้นแรกนึกกันว่าเกิดเพลิงไหม้ เช่นที่เป่าแตรครั้งก่อนๆ ได้ความที่หลังว่า ขณะที่ประทับอยู่ในท้องพระโรง รับสั่งให้นักเรียนนายเรือนายหนึ่งเข้าไปนำสมุดแฟ้มของพระองค์ที่อยู่ในห้องบัญชาการออกมาถวาย นักเรียนคนนั้นกราบทูลว่า เข้าไม่ได้ พ่อรับสั่งถามว่า “ทำไม” นักเรียนคนนั้นทูลว่า “กลัวผี” ทำให้กริ้วมากเรียกประชุมนักเรียนด่วน เมื่อมาพร้อมกันแล้ว รับสั่งถามว่า นักเรียนคนไหนบ้างที่กลัวผีให้ออกมานอกแถว ๓ ก้าว ฉับพลันก็มีนักเรียนผู้ใหญ่ก้าวออกมาจากแถวหนึ่งท่าน และต่อจากนั้นนักเรียนชั้นต้นราว ๒๐ คนก็ก้าวตามออกมา ทรงกริ้วขนานใหญ่ รับสั่งว่า ถ้ากลัวผีก็เป็นทหารไม่ได้ รับสั่งให้นายทหารเวรไปเอาผ้าถุงมาให้นักเรียนนุ่งอยู่เวรและให้ดับไฟให้อยู่กันมืดๆตลอดคืน”

“เสด็จพ่อไม่โปรดคนขี้ขลาดตาขาว พอลูกๆโตขึ้น อายุราว ๑๐ ขวบ ก็ทรงหัดไม่ให้กลัวผี…คืนหนึ่งทรงหัดลูกๆไม่ให้กลัวผี แจกกระดาษคนละ ๔ แผ่น ทุกคนจะต้องเขียนชื่อของตัวเองไว้ทั้ง ๔ แผ่น เสวยอาหารค่ำก็เริ่มพิธีออกเดินทีละคน แต่ละคนจะมีนกหวีดคล้องคอไปด้วย แต่ห้ามเป่าเล่นเด็ดขาด หากกลัวจริงหรือมีเหตุการณ์อันตรายอะไรเกิดขึ้นก็ให้เป่าได้ จะได้มีคนไปช่วย ใครอายุมากออกไปก่อน ไปที่ศาลาดำ จะมีกะลาคว่ำอยู่กลางศาลา จะต้องยกกะลาขึ้นครอบกระดาษใบที่ ๑ เซ็นชื่อแล้วเดินต่อไป ทำดังนี้อีกไป ณ ศาลาที่ ๒ ต่อไปถึงศาลาที่ ๓ แล้วเดินต่อไปวนกลับมาศาลาที่ ๔ แล้วกลับมารายงานเป็นการเสร็จการ ทุกศาลาจุดไฟไว้ริบหรี่ให้น่ากลัวเล่นอย่างนั้นแหละ ข้าพเจ้าเป็นคนที่ ๒ (ต่อจากท่านขรัว) ถึงเวรก็ออกเดิน กำนกหวีดมือหนึ่ง กระดาษมือหนึ่ง ใจเต้นอย่างกับตีกลอง ศาลาแรกก็ร้าย เพราะรู้อยู่ว่าเคยตั้งศพ ผ่านศาลาที่ ๒ ยังดี ถึงศาลาที่ 3 ต้องยกหัวกะโหลกมือสั่น กลัวหัวกะโหลกจะงับมือ เสร็จแล้วออกเดินไปที่ศาลาที่ ๔ ยกกะลาครอบกระดาษเสร็จ ออกเดินแน่บอย่างเร็ว ไม่เหลียวหลัง เกรงจะเห็นใครเดินตามมา จะวิ่งก็กลัวหกล้ม หัวใจหยุดแน่ รวมระยะทางที่ต้องเดินทั้งหมดยาว ๔๐๐ เมตรเศษ เสด็จพ่อรับสั่งถามว่า ทำไมมาเร็วนักล่ะ ครบ ๔ ศาลาหรือเปล่า เหนื่อยจนพูดไม่ออก พอคนที่ ๓ ที่ ๔ ครบแล้ว เสด็จออกตรวจเองได้กระดาษทั้ง ๔ ใบทุกแห่ง ทรงพอพระทัย ซึ่งความจริงแล้วในตอนเด็กนั้น ข้าพเจ้ากลัวผีมาก แต่ก็กลัวเสด็จพ่อมากกว่า รุ่งขึ้นพาไปเที่ยวหาซื้อขนมปังช็อกโกแลตเป็นรางวัล”

หน้าผากแม่นาคพระโขนง

หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก ไปมาหาสู่ระหว่างวัดกับวังนางเลิ้งเสมอ โอรสเสด็จในกรมฯพระองค์หนึ่งคือ หม่อมเจ้าคำแดงฤทธิ์ เคยประชวรหนัก รักษาทั้งยาฝรั่ง ยาไทย เวทมนตร์คาถาก็ไม่หาย เสด็จในกรมฯเลยรับสั่งให้บนบวช 10 วัน ปรากฏว่าได้ผล หายประชวร ทั้งครอบครัวเลยต้องไปจำศีลอยู่ที่วัดบางประกอกเกือบเดือน

หน้าผากแม่นาคพระโขนงนั้นตกทอดเป็นลำดับจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาถึงหม่อมเจ้าพระพุทธปาธปิลันทร์ และหลวงพ่อพริ้ง

เล่ากันสืบมาว่า สมัยนั้นแม่นาคอาละวาดผู้คน ชาวบ้าน พระ เณรแถบย่านคุ้งน้ำพระโขนงจนได้รับความเดือดร้อน สมเด็จโตจึงต้องเดินทางไปปราบด้วยพุทธคุณ เจาะกะโหลกแม่นาค ขนาดความกว้างประมาณ นิ้วครึ่ง – 2 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว (โดยประมาณ) มาขัดมัน ลงอักขระ ปิดทองและติดย่ามไปไหนด้วยเสมอ แม้ว่าแม่นาคจะซาบซึ้งในรสธรรม แต่ก็ยังคงมีนิสัยชอบหยอกล้อสามเณรอยู่เหมือนเดิม ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อครั้นที่มาบวชเป็นสามเณรที่วัดระฆัง ก็โดนการหยอกล้อจนสมเด็จโตต้องล้วงกะโหลกแม่นาคออกจากย่ามแล้วบอกว่า โยมนาค อย่าไปกวนสามเณรเลย เมื่อกะโหลกแม่นาคตกทอดมาถึงพระพุทธปาธปิลันทร์ก็มีการกล่าวตักเตือนกันอีก หลังจากที่หลวงพ่อพริ้งส่งมอบกะโหลกแม่นาคให้กรมหลวงชุมพรฯ พระองค์ท่านทรงเอามาเจาะรูทำเป็นปั้นเหน่งรัดบั้นพระองค์ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อประทับอยู่ในตำหนักจะใส่พานวางไว้ที่ห้องพระ และทรงบอกเล่าให้หม่อมทุกคนได้ฟังเพื่อให้รับรู้ถึงความสำคัญ กระนั้นแม่นาคก็เคยปรากฏกลิ่นถึง 2 ครั้งที่ตำหนักนางเลิ้ง

หม่อมแจ่ม หรือหม่อมองค์น้อยนั้นเป็นคนกล้าหาญ ไม่ค่อยเกรงกลัวใคร นอกเหนือจากเสด็จในกรมฯเท่านั้น วันหนึ่งเพื่อนๆของหม่อมได้แวะมาเยี่ยมเยือน การสนทนาวันนั้นได้วกเข้าหาเรื่องแม่นาค จนเกิดการท้ากันว่า หากหม่อมไม่กลัวก็ให้เดินเข้าห้องพระ เมื่อหม่อมแจ่มเดินเข้าห้องพระ ปรากฏว่ามีกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปหมดจนต้องเผ่นหนีออกมาจากห้องพระ

เสด็จในกรมฯตรัสว่า คนที่แม่นาคไม่พอใจจะเห็นร่างของแม่นาคในแบบที่น่ากลัว มีกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงไม่ควรไปท้าเขา กลัวหรือไม่กลัวก็เฉยๆ ซะ ส่วนคนที่แม่นาคพอใจจะมาหยอกล้อด้วยแบบที่สวยงาม กลิ่นหอมชื่นใจ

อีกคราวหนึ่ง ขณะกำลังเสวยพระกระยาหารอยู่นั้น พระองค์ได้ตรัสกับบรรดาหม่อมทั้งหลายว่า ใครอยากจะคุยกับแม่นาคก็ได้ หม่อมแจ่มอีกนั่นแหละที่ขอทดสอบ เสด็จในกรมฯจึงส่งหน้าผากแม่นาคให้ เมื่อถึงเวลาเข้านอน หม่อมแจ่มได้อธิษฐานขอให้แม่นาคมาอย่างงดงาม สักครู่ใหญ่ๆจึงได้กลิ่นเหม็นไหม้ ยิ่งนานก็ยิ่งอบอวลหนักขึ้น หม่อมแจ่มจึงรีบนำเอากะโหลกหน้าผากแม่นากไปคืนเสด็จฯทันที พร้อมกับทูลถึงเรื่องที่เจอมา พระองค์ทรงพระสรวลและตรัสว่า รออีกสักประเดี๋ยวก็เห็นแล้ว หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าลองของอีก

กระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างอยู่ที่โต๊ะเสวย เสด็จเตี่ยได้ตรัสว่า แม่นาคเขาลาไปเกิดแล้ว

เมื่อสิ้นเสด็จในกรมฯ สมบัติชิ้นนี้ได้ตกทอดอยู่ในการดูแลของนายเทียบ อุทัยเวช น้องชายของหม่อมแจ่ม ซึ่งเป็นมหาดเล็กคู่พระทัย ในตำแหน่งพลทหารเรือ ฝ่ายเสนารักษ์ หลังออกจากราชการ ได้ทำหน้าที่ดูแลศาลเสด็จเตี่ยเชิงสะพานเทวกรรม นางเลิ้ง ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของตำหนัก ปั้นเหน่งแม่นากเคยเก็บไว้ที่ศาลแห่งนี้ จนเมื่อมีการตัดถนนจึงได้โยกย้ายศาลดังกล่าวไปที่วัดโพธิ์ ปรากฏต่อมาว่า ของชิ้นนี้สูญหายไป

เนื่องจากเสด็จในกรมฯมีพระอาจารย์หลายท่าน ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า วิชาของท่านที่ร่ำเรียนมานั้นน่าจะมากกว่านี้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางไสยเวทของกรมหลวงชุมพรฯที่มีการบันทึกไว้เป็นเกร็ดโดย หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง พระธิดาของเสด็จในกรมฯ เท่านั้น


รักหนังสือดั่งดวงใจ

METRO LIFE ไถ่ถามแฟนพันธุ์แท้ “เสด็จเตี่ย” อีกคนหนึ่งออกตัวไว้แต่แรกว่า ไม่ต้องการเปิดเผยนาม แต่เมื่อไถ่ถามถึงประสบการณ์บอกเพียงว่านับไม่ถ้วน !! แต่ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง อยากเก็บไว้เป็นความลับ ความประทับใจส่วนตัว แต่ได้มอบหนังสือจำนวนหนึ่งซึ่งหายากในท้องตลาดให้ METRO LIFE เพื่อถ่ายรูปประกาศพระนามของเสด็จในกรมฯ ถือเป็นของสะสมส่วนตัว

“บางเล่ม แม้แต่ในตลาดหนังสือเก่าก็ยังหายาก”

แฟนพันธุ์แท้ท่านนี้ว่า ประทับใจในความเป็น”สุภาพบุรุษลูกผู้ชายของเสด็จเตี่ย”

ในโลกวิญญาณเขาว่า

“ท่านหวงคนของท่านมาก บริวารเยอะ ใครที่เกี่ยวพันกับท่านจะด้วยชาติภพ ด้วยสัจจวาจา ด้วยบุญ ท่านจะมีเหตุดลใจให้กับมานับถือท่าน อีกอย่างคนที่นับถือเสด็จเตี่ยแล้ว ในโลกวิญญาณแล้ว เจ้าพระองค์อื่นจะไม่กล้ายุ่ง จะด้วยเกรงใจในพระบารมีหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าศึกษาจากประวัติของท่านสมัยที่ยังดำรงพระชนมชีพก็มีความเป็นไปได้ เพราะท่านรักทหารเรือเหมือนลูก ใครว่าทหารเรือไม่ดีไม่ได้ ถ้าทหารเรือทำผิดจะไม่ส่งไปให้คนหรือว่าหน่วยอื่นๆลงโทษ จะว่ากล่าวตักเตือนและลงโทษเอง การนับถือเสด็จเตี่ยเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่แค่ยกมือไหว้ แต่เหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนยังมีพระองค์บนโลกไม่ใช่แค่วิญญาณธาตุ มีคนทำหน้าที่เพื่อท่านเป็นจำนวนมากทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย ”

หนังสือเหล่านี้ ...เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เก็บสะสมไว้ เป็นของหวง และรักยิ่ง

เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร (ปกแข็ง – 2504) โดย ทานตะวัน จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย โอเดียนสโตร์

ทหารเสือกรมหลวงชุมพร (นวนิยายโดยสุวัฒน์ วรดิลก - ปกแข็ง ) จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย รวมสาส์น

หนังสือที่ระลึกพระราชพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม 2519) วิทยาลัยพณิชยการพระนคร

อนุสรณ์ท่านหญิงเริง (2536) - หนังสืองานศพ หม่อมเจ้าเริงจิตรแจรง พระธิดาในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

อาภากร (ปกแข็ง – 2544 ) กองทัพเรือ จัดทำเพื่อเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ภาพชุดศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (2544) รวบรวมโดยพลเรือตรีกรีฑา พรรธนะแพทย์

พลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เทพบิดรของทหารเรือไทย (2544)รวบรวมและเรียบเรียงโดย ธรรมรัตน์ ทองเรือง สำนักพิมพ์ ธารบัวแก้ว

พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (2544) หนังสือในโครงการ 108 เทพแห่งสรวงสวรรค์

อาภากร (2545) อนุสรณ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร์ วรศรี

หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ (ปกแข็ง - 2546) เขียนและเรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร

อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช (2546) เล่มนี้มีประวัติเสด็จในกรมฯ พิมพ์แยกต่างหาก

พระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ไม่ระบุปีที่พิมพ์) จำได้ว่า ซื้อมาจากศาลเสด็จเตี่ยที่หาดทรายรี

นิตยสาร สารคดี เล่มนี้ขายดีมาก ไม่เหลือแล้ว

เสด็จเตี่ย “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่เมื่อเป็น” โดย ศรัณย์ ทองปาน (2549) สำนักพิมพ์สารคดี


เหรียญกรมหลวงชุมพรฯ

เหรียญกรมหลวงชุมพรฯนับวันยิ่งหายาก นักสะสมที่นับถือเสด็จเตี่ยเมื่อได้เหรียญมาไม่นิยมปล่อยส่วนมากจะเก็บไว้บูชา จึงทำให้ตลาดพระเครื่องไม่ค่อยมีเหรียญเสด็จเตี่ยให้เช่ากันสักเท่าไหร่

“เหรียญเสด็จเตี้ยได้รับความนิยมมานาน มีพุทธคุณรอบด้านถ้าใครนับถือท่านอย่างจริงจังจะเห็นผลเกือบทุกราย แต่ในปัจจุบันเหรียญรุ่นเก่าหายาก ส่วนมากจะเป็นเหรียญที่ทำขึ้นมาใหม่ ราคาเช่าก็ขึ้นอยู่กับสภาพและการรักษา ยิ่งรักษาดีราคาเช่ายิ่งแพง”ตือ เจ้าของแผงพระเครื่องที่ท่าพระจันทร์ บอกผ่านเมโทรไลฟ์

เหรียญที่ผู้นับถือนิยมเล่น

- เหรียญแปดเหลี่ยม รุ่นแรก พ.ศ.2500 อ.เมืองชุมพร สร้าง ราคาเช่า 3,500- 5,000 บาทขึ้นอยู่กับสภาพ

- เหรียญรูปไข่ กรมหลวงชุมพรฯ ล.พ. สงฆ์ พ.ศ. 2519 ราคาเช่า 1,000 บาท

- เหรียญรุ่นยกช่อฟ้า พ.ศ. 2511 วัดโพธิการาม กรมหลวงชุมพร ราคาเช่า 1,500 บาท

- เหรียญรุ่นหลักเมือง พ.ศ.2535 พิมพ์ใหญ่ เนื้อนวโลหะ ราคาเช่า 1,700 บาท

- เหรียญรุ่นฝังลูกนิมิตร พ.ศ.2513 วัดโพธิการาม ราคาเช่า1,500 บาท

หมายเหตุ ภาพถ่ายจากหนังสือ “รวมพระหลวงพ่อทวด และชุดสุดยอดพระเครื่อง 14 เมืองใต้”

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   18977

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group นิทานชาวเรือ

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network