เรือตรวจการณ์พอเพียงกรมอู่สร้างเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
เรือตรวจการณ์พอเพียงกรมอู่สร้างเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
โดยหนังสือพิมพ์
เดลินิวส์ วันที่ 9 มกราคม 2550
ทีมวาไรตี้
เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง
กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมแลสร้างได้เอง
ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว
ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม”
พระราชกระแสรับสั่งของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อ
ผู้บังคับหมู่เรืออารักขาที่เข้าเฝ้า ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 15
เมษายน พ.ศ. 2545 และเป็นที่มาของโครงการสร้าง
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา หรือ เรือ ต.991 ของกองทัพเรือ โดย
กรมอู่ทหารเรือ หน่วยงานเก่าแก่ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจาก “อู่หลวง”
และเปรียบได้ดังสัญลักษณ์หนึ่งของฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ซึ่งจะครบรอบ 117 ปีในวันที่
9 ม.ค. ปีนี้
โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา หรือ
เรือ ต.991 กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2546
เพื่อเตรียมการรองรับการที่กองทัพเรือมีแผนที่จะสร้างเรือตรวจการณ์ชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนเรือตรวจการณ์ชุดเรือ
ต.11
ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ที่กองทัพเรือได้รับความช่วยเหลือจาก
สหรัฐอเมริกาเมื่อหลายสิบปีก่อน และจะต้องปลดประจำการหลังจาก ใช้ราชการมานาน
ต่อมาในพิธีเข้าเฝ้าฯถวาย พระพรเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง กล่าวถึง “เศรษฐกิจพอเพียง”
โดยยกตัวอย่างเรือ ต.91 ที่กองทัพเรือโดย กรมอู่ทหารเรือต่อขึ้น
มีความบางตอนว่า “แม้จะเป็นกองทัพก็ต้องพอเพียง
แต่กองทัพทำอะไรพอเพียงเยอะแยะ ทำโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยแล้ว ก็ที่สมควรที่จะ ทำแล้ว
ก็ทำได้ ถ้าเรือทหารเรือ เรือ ต.91 นั้น เศรษฐกิจพอเพียง”
พระราชกระแสในวันนั้นนำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่กองทัพเรือเป็นล้นพ้น
เมื่อได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงจดจำการสร้างเรือ ต.91
ซึ่งมีที่มาจากพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ. 2503
หลังจากที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปและทรงมีโอกาสได้เยี่ยมชมกิจการอู่เรือของเยอรมนี
ซึ่งมีการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งอยู่ในขณะนั้น
ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือควรต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้บ้าง
เพื่อเป็นการประหยัดและพัฒนาขีดความสามารถในด้านการต่อเรือ
ซึ่งกองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือก็ได้สนองพระราชดำริดังกล่าวด้วยการสร้างเรือ ต.91-
ต.99 จำนวน 9 ลำ ในห้วงเวลา 25 ปี นับจาก พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา
จากความเป็นมาข้างต้นกองทัพเรือจึงขออนุมัติจากรัฐบาล ในการจัดทำ
โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา และได้รับความเห็นชอบ
ให้ดำเนินการสร้างจำนวน 3 ลำ
เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการเรือ ต.91
กรมอู่ทหารเรือจึงวางแผนที่จะดัดแปลงและขยายแบบที่เคยใช้ใน การสร้างเรือ ต.91
ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นประมาณร้อยละ 10 เพื่อใช้ในการสร้างเรือตรวจการณ์ชุดใหม่
ในการนี้กองทัพเรือได้กำหนดชื่อและหมายเลขของเรือชุดใหม่นี้ว่า
เรือ ต.991 โดยมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือดำเนินการสร้างเรือ ต.991 ณ
อู่ทหารเรือธนบุรี ภายใต้การดำเนินและกำกับดูแลโดยวิศวกรคนไทย
ซึ่งเป็นนายทหารเรือของกรมอู่ทหารเรือทั้งสิ้น
ส่วนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งอีกสองลำคือ เรือ ต.992 และ ต.993
กองทัพเรือได้ว่าจ้างอู่เอกชน ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้าง
เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือภายในประเทศ
การสร้างเรือทั้งสามลำ มีกำหนดจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 นี้
เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสสำคัญดังที่กล่าวมา
สำหรับการสร้างตัวเรือนั้น โดย ทั่วไปสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีคือ
การสร้างโดย การวางกระดูกงูก่อนแล้วจึงขึ้นรูปตัวเรือ วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิม (Conventional
Construction) กับอีกวิธีหนึ่ง
เป็นการสร้างโดยวิธีการแบ่งส่วนของตัวเรือออกเป็นบล็อก (Block Construction)
แล้วนำแต่ละบล็อกมาต่อเรียงกันเป็นลำเรือ
เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการสร้างเรืออยู่ในปัจจุบัน
เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน ได้คุณภาพงานที่ดี
การบริหารแรงงานทำได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ
และสามารถใช้สถานที่ที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
กรมอู่ทหารเรือได้เลือกวิธีที่สองในการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่นี้
โดยใช้อู่แห้งของอู่ทหารเรือธนบุรี บริเวณฝั่งตรงข้ามท่า ราชวรดิฐ
เป็นพื้นที่ในการสร้าง โดยแบ่งตัวเรือออกเป็น 4 บล็อก ส่วน การสร้างเก๋งเรือ (Superstructure
Construction) จะแบ่งเก๋งออกเป็น 4 บล็อกเช่นกัน
เมื่อแต่ละบล็อกสร้างแล้วเสร็จจะนำลงไปประกอบในอู่แห้งตามลำดับ
งานสร้างเรือ ต.991 ได้เริ่ม ต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 9
กันยายน 2548
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จฯ
มาทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
ด้วยพระองค์เองและทรงมีรับสั่งกับเจ้ากรมอู่ทหารเรือว่า
“ดีใจที่ได้มาประกอบพิธีและดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าของการสร้างเรือที่ดีขึ้นของกรมอู่ทหารเรือในปัจจุบัน”
ปัจจุบันงานสร้างเรือ ต.991 ลุล่วงไปมากกว่าร้อยละ 50
โดยในเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา
กรมอู่ทหารเรือได้ทำการยกเครื่องจักรใหญ่ลงประกอบติดตั้งในเรือ
ซึ่งตามแผนการที่กำหนดไว้ กรมอู่ทหารเรือจะปล่อยเรือลงน้ำในเดือนพฤษภาคม 2550
โดยกองทัพเรือจะกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถเสด็จฯมาเป็นองค์ประธานในพิธี ซึ่ง
จะเป็นอีกวาระหนึ่งที่สมเด็จพระนาง เจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะได้เสด็จฯมา
ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำหลังจากที่ได้เคยเสด็จฯมากระทำพิธีดังกล่าว เมื่อวันที่ 9
พฤษภาคม 2511 โดย เป็นการปล่อยเรือ ต.91 ลงน้ำ
จึงอาจกล่าวได้ว่าการสร้างเรือ ต.991
นับเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของกรมอู่ทหารเรือในปีนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
อีกทั้งยังได้เป็นการสืบทอดมรดก และดำรงรักษาภูมิปัญญาทางด้านงานซ่อมสร้างเรือ
ที่มีมาแต่ครั้งอดีตให้คงอยู่สืบไป.
ความยาวตลอดลำ |
38.70 เมตร |
ความกว้าง |
6.94 เมตร |
ความลึกกลางลำ |
3.80 เมตร |
กินน้ำลึกเต็มที่ |
1.80 เมตร |
ระวางขับน้ำเต็มที่ประมาณ |
186 ตัน |
ความเร็วสูงสุด |
27 นอต |
ระยะปฏิบัติการ |
1,500 ไมล์ทะเล |
สามารถปฏิบัติงานในท้องทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 7
วัน |