ฉลามวาฬ ในประเทศไทย
ฉลามวาฬ ในประเทศไทย
โดยหนังสือพิมพ์
ข่าวสด วันที่
19 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5695
คอลัมน์ คอลัมน์ที่13
ฉลามวาฬเป็นสัตว์หายาก
เมื่อโผล่เข้ามาหากินที่ชายฝั่งทะเลระยองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
จึงเป็นข่าวสร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิชาการและผู้สนใจ
ฉลามวาฬ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rhincodon typus ชื่อทั่วไป
Whale Shark
เป็นสัตว์เลือดเย็นจำพวกปลากระดูกอ่อน เช่น เดียวกับปลาฉลาม ใช้เหงือกหายใจ
หางอยู่ในแนวตั้งฉาก โบกจากด้านหนึ่ง ไปยังอีกด้านหนึ่ง
จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สถิติที่บันทึกไว้ถึงตัวยาวถึง 21 เมตร
ลักษณะของฉลามวาฬที่แตกต่างจากฉลามทั่วไป มีอยู่ 2 ประการ
1.ขนาดของหัว โตมาก
เมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว
2.ช่องปาก อยู่ด้านหน้า แทนที่จะอยู่ด้านล่าง
ฉลามวาฬกินแพลงตอน (Plankton) โดยว่ายน้ำไปเรื่อยๆ อ้าปากที่มีขนาดกว้างใหญ่
ให้น้ำและแพลงตอนที่ลอยอยู่ในน้ำ ไหลผ่านเข้าไปในปาก
ที่มีอวัยวะคล้ายหวีหรือขนแปรงถี่ๆ สำหรับกรองแพลงตอนไว้
แล้วปล่อยน้ำออกทางช่องเหงือกข้างลำตัว ฉลามวาฬจึงไม่ใช่สัตว์ที่ดุร้าย
ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือแม้แต่ฝูงปลารอบข้าง
ฉลามวาฬจะมีอายุยืนมากกว่าหนึ่งร้อยปี เริ่มสืบพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 30
ปีในทะเลลึก
เพราะกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่เคยได้รับรายงานว่ามีผู้ใดเคยเห็นการผสมพันธุ์ของฉลามวาฬ
ดูเผินๆ ปลาฉลามวาฬทุกตัวจะเหมือนกันไปหมด แต่ความจริง
ฉลามวาฬแต่ละตัวมีลักษณะจำเพาะของตัวเอง คือ
1.ลวดลายและจุดบริเวณหลังช่องเหงือก ฉลามวาฬมีช่องเหงือก ตั้งฉากกับลำตัว จำนวน 5
ช่อง จุดและลวดลาย ต่อจากเหงือกช่องที่ 5 ของฉลามวาฬแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน
2.ขนาด รอยขีดข่วน หรือแผลเป็นที่เกิดขึ้นตามลำตัว
ก็สามารถใช้จำแนกฉลามวาฬแต่ละตัวได้เช่นกัน
เพศดูได้จากครีบที่ก้น ถ้ามีแท่งยาวๆ ยื่นออกมาจากครีบก้น 2 แท่ง (Clasper)
ถือว่าเป็นตัวผู้ อีกจุดสำคัญ คือลายลำตัวฉลามวาฬหลังช่องเหงือกช่องสุดท้าย
(ช่องที่ 5) รวมถึงการสังเกตตำหนิตามลำตัว
ในประเทศไทย ล่าสุดมีพบฉลามวาฬว่ายน้ำเข้ามาหากินชายฝั่งมากขึ้น โดยเฉพาะชายทะเลแถบ
จ.ระยอง โดยมีรายงานว่าพบฉลามวาฬถึง 2 ตัวด้วยกันในระยะห่างกันไม่ถึง 6 เดือน
ตัวแรกมีขนาดใหญ่ พบเมื่อเดือน ต.ค. 2549 ล่าสุดตัวเล็ก ขนาดเพียง 4 เมตร
ว่ายเข้ามาหากินใกล้กับท่าเรือขนส่งสินค้า ในเขต จ.ระยอง
สาเหตุการเข้ามาหากินในเขตน้ำตื้นของปลาฉลามวาฬทั้งสองตัว
นักวิชาการด้านสัตว์หายากทางทะเล สันนิษฐานว่า ถ้าไม่หลงทางเข้ามา อาจเป็นได้ว่า
ชายฝั่งอ่าวไทยขณะนี้มีความอุดมสมบูรณ์กว่าเดิม
ทำให้ปลาฉลามวาฬว่ายเข้ามาหาอาหารมากขึ้น
หรือถ้ามองในแง่ร้าย ก็อาจจะบอกได้ว่า ในน้ำลึกของอ่าวไทย
ไม่มีอาหารของฉลามวาฬมากนัก ทำให้พวกมันต้องมาหากินชายฝั่งมากขึ้น
ฉลามวาฬ ( Whale shark - Rhincodon typus
) เป็นสัตว์เลือดเย็นในพวกปลากระดูกอ่อน กลุ่มปลาฉลาม เป็นชนิดเดียวใน
Family Rhincodontidae และอยู่ใน Order Orectolobiformes ร่วมกับฉลามเสือดาว (
leopard shark - Stegostoma fasciatum ) และ ฉลามขี้เซา ( Nurse shark - Nebrius
ferrugineus )
ฉลามวาฬ ใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง มีครีบอก 2 อัน
ครีบหาง 2 อัน และครีบก้น(หาง) 1 อัน หางของฉลามวาฬ อยู่ในแนวตั้งฉาก
และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา
แตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเลที่หางอยู่ในแนวขนานและหายใจด้วยปอด อาทิ วาฬ โลมา
พะยูน เป็นต้น
ฉลามวาฬเป็นปลาและสัตว์เลือดเย็นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กิน
plankton เป็นอาหารเช่นเดียว กับกระเบนราหู ( Manta ray - Manta brevirostris )
แต่มีวิธีการกินที่แตกต่างกันออกไป โดยฉลามวาฬจะว่ายเข้าหาฝูง plankton
แล้วอ้าปากหุบน้ำ เข้าไปจากนั้นก็จะใช้ซี่เหงือกกรอง plankton ไว้ ขณะที่ manta
จะอ้าปากให้น้ำผ่านตลอดเวลา
ลักษณะของฉลามวาฬที่แตกต่างจากฉลามที่เรารู้จักกันคือ
หัวที่ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว และปากที่อยู่ด้านหน้าแทนที่จะอยู่ด้านล่าง
ลักษณะการกินอาหารไม่ใช่ปัจจัยที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ่งฉลามวาฬออกจากฉลามตัวอื่นๆ
เนื่องจากยังมีฉลามอีก 2 ชนิดที่ กิน plankton เป็นอาหารแต่อยู่คนละ order
กับฉลามวาฬ
วงจรชีวิต ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตลึกลับ
เท่าที่มีรายงานทราบว่าฉลามวาฬมีอายุยืนมาก
จากรายงานของประเทศออสเตรเลียพบว่าฉลามวาฬจะเริ่มสืบพันธุ์ เมื่ออายุ 30 ปี
หากเปรียบเทียบช่วงอายุการสืบพันธุ์กับฉลามอื่นใน Order เดียวกันแล้ว
พบว่าฉลามวาฬอาจมีอายุถึง 100 ปี ไม่เคยมีใครเห็นฉลามวาฬผสมพันธุ์ในน้ำ
แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทะเลลึกนอกจากนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดฉลามวาฬออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่