1 แสน 1 หมื่นไร่ แผ่นดินไทยที่หายไป
1 แสน 1 หมื่นไร่ แผ่นดินไทยที่หายไป
โดยหนังสือพิมพ์
มติชน วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10546
ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ
ไม่ใช่เรื่องของการเสียดินแดน
ไม่ใช่เรื่องของการสู้รบปักปันดินแดนให้แก่ใคร
แต่เป็นเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ

พื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ
ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์รายวันได้เสนอข่าวใหญ่ถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะหายไปเป็นบริเวณกว้าง
แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครตระหนักถึงความรุนแรง ไม่เห็นถึงความสำคัญ
ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ
สุดท้ายก็จะมานั่งถามกันว่าแล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน
น่าตกใจที่ชั่วเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ในประเทศไทยหายไปแล้วกว่าแสนไร่
เท่ากับพื้นที่หายไปกว่าครึ่งค่อนของพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

หลักเขตบางขุนเทียนอยู่กลางทะเล
ที่อันตรายมากที่สุดและอยู่ใกล้เมืองคือที่ จังหวัดสมุทรปราการ และที่บางขุนเทียน
กรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราการกัดเซาะกว่า 25 เมตรต่อปี และ 20-25 เมตรต่อปี ตามลำดับ
ตัวเลขเหล่านี้ รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจวิจัยมานานกว่า 10 ปี
และได้เขียนรายงานไว้อย่างละเอียด
รศ.ดร.ธนวัฒน์เล่าว่า
ไม่เพียงชายฝั่งทะเลทั้งที่สมุทรปราการและบางขุนเทียนจะมีอัตราการกัดเซาะมากขึ้นเรื่อยๆ
เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ชายฝั่งร่นเข้ามาทุกขณะ เช่น ชลบุรี ระยอง
ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ฯลฯ
ซึ่งการกัดเซาะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายอำเภอในแต่ละจังหวัด

แผนที่ภูมิศาสตร์โบราณเมื่อ 18.000 ปีที่แล้ว
แม้จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาดำเนินการ แต่ไม่ได้เป็นไปในภาพรวม
เพราะการทำเครื่องกีดขวางเพื่อลดกระแสความรุนแรงของคลื่นในที่หนึ่ง
อาจส่งผลกระทบในอีกที่หนึ่ง การไม่ประสานงานร่วมกัน จึงย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
รศ.ดร.ธนวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า ประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 2,667 กิโลเมตร
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เกิดขึ้นในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล
ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันทั้ง 23 จังหวัด
ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจากจังหวัดตราด
จนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลชายแดนภาคใต้จังหวัดนราธิวาส
ซึ่งมีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น 1,653 กิโลเมตร ในช่วง 30
ปีที่ผ่านมาพบว่ามีจุดวิกฤตด้านการกัดเซาะ 22 จุด รวมเป็นพื้นที่ 180.9 กิโลเมตร
ในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะประมาณ 56,531 ไร่
สำหรับชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน พบการกัดเซาะชายฝั่งทะเลขั้นรุนแรง 8 จุด
เป็นพื้นที่ 23 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะทั้งสิ้นประมาณ 7,187 ไร่
นั่นคือ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่ถูกกัดเซาะไปทั้งสิ้น 113,042 ไร่
"จุดกัดเซาะที่อันตรายที่สุด คือจังหวัดสมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียน กทม.
สองจุดนี้หนักที่สุด บางแห่งถูกกัดเซาะ 1 กิโลเมตร
หรืออย่างพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงปากแม่น้ำแม่กลองระยะทางประมาณ 120
กิโลเมตรถูกกัดเซาะไป 82 กิโลเมตร พื้นที่หายไป 18,000 ไร่"
สาเหตุที่พื้นที่ชายฝั่งถูกกัดกร่อนไปเรื่อยๆ นั้น นอกจากแรงปะทะของคลื่นแล้ว
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ ปริมาณตะกอนบริเวณปากแม่น้ำลดลง
ปัญหาแผ่นดินทรุดบริเวณชายฝั่งทะเล ทำให้อัตราการกัดเซาะมีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน
ป่าชายเลนซึ่งเป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลตามธรรมชาติถูกทำลายอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งการขุดทรายชายฝั่งทะเล
ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีความรุนแรงมากขึ้น

ชายหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในอดีต มีหาดทรายสวยงาม

ชายหาด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในปัจจุบันถูกกัดเซาะไม่มีหาดให้เห็น
ฉะนั้น พื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตเร่งด่วน
เป็นพื้นที่ที่ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะ
การมีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น (1-3 ปี)
และทำควบคู่พร้อมกับการมีมาตรการแก้ไขในระยะยาว (3-5 ปี)
เท่าที่ทำการสำรวจ พบว่าพื้นที่วิกฤตที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่
บริเวณตะวันตกบ้านคลองสีล้ง อำเภอบ้านบ่อ-บ้านบาง สำราญ อำเภอเมือง
จังหวัดสมุทรปราการ, บ้านแหลมสิงห์-ปากคลองขุนราชพินิตใจ อำเภอพระสมุทรเจดีย์
จังหวัดสมุทรปราการ และปากคลองขุนราชพินิตใจ-บ้านท่าตะโก เขตบางขุนเทียน
กรุงเทพมหานคร
วิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระยะยาว
ที่ควรทำหลังหรือทำควบคู่กับมาตรการแก้ไขระยะสั้น
คือการผสมผสานวิธีการแก้ไขปัญหาแบบอ่อนและแบบแข็งเข้าด้วยกัน
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่มากที่สุด

แนวป้องกันชายหาด บ้านไทรย้อย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่ทำให้ชายหาดเสียหายรุนแรง
"แนวทางการป้องกันในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วนมีการกัดเซาะรุนแรง
ต้องใส่โครงสร้างเพื่อช่วยธรรมชาติที่ไม่สามารถฟื้นของมันเองได้
ซึ่งทางทีมวิจัยได้รับเงินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และได้ทำการทดลองจุดแรกที่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ
ด้วยการทำแท่งคอนกรีตรูปสามเหลี่ยม นำไปปักห่างจากทะเลประมาณ 500 เมตร
โดยปักเป็นสามแถว เพื่อช่วยลดแรงปะทะของคลื่น
"งบประมาณที่ใช้ในการทดลองประมาณ 12 ล้านบาท โดยระดมนักวิจัยประมาณ 20 คน
มาร่วมกันวิจัย และเก็บข้อมูลเรื่องคลื่น เรื่องตะกอน เราคาดหวังว่า
ถ้าโครงการประสบความสำเร็จ ก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลในรูปแบบการป้องกัน
ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะกับพื้นที่บริเวณอ่าวไทยตอนบน
ซึ่งมาถึงตอนนี้นับว่าวิกฤตที่สุดแล้ว"
รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ถ้าไม่รีบป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเสียตั้งแต่ตอนนี้
ประเทศไทยจะเสียพื้นที่ให้กับการกัดเซาะอีกเยอะแน่นอน
"การกัดเซาะเป็นภัยพิบัติเงียบ แม้ว่าหลายหน่วยงานจะให้ความสนใจ
แต่ผลที่ตามมาเราพบว่ายังคงเกิดการกัดเซาะที่รุนแรง
ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการแก้ปัญหาการกัดเซาะเป็นจุดๆ ไม่มีการมองในภาพรวม
ซึ่งบางทีการสร้างเขื่อนดักตะกอนเพื่อแก้ปัญหาจุดหนึ่งได้ก็จริง
แต่หารู้ไม่ว่ากลับส่งผลกระทบทำให้พื้นที่อื่นเกิดการกัดเซาะเร็วขึ้นและมากกว่าเดิม
"ที่ผมวิตกคือ จากนี้ไปหน่วยงานเทศบาล อบต.จะนำงบประมาณไปป้องกัน
ซึ่งยิ่งจะทำให้ชายฝั่งเละเทะและเสียหายมากขึ้น
ทางที่ถูกคือน่าจะมีหน่วยงานมาทำหน้าที่ดูแล
และนำเชิงวิชาการเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน" อาจารย์ธนวัฒน์แสดงความเป็นห่วง

บ้านชาวบ้าน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะ
ส่วนแนวทางการแก้ไขของจังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
กิตติพันธ์ เพชรชู หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช
เล่าถึงสภาพของชายฝั่งทะเลแถบนครศรีธรรมราชว่า อำเภอที่ได้รับผลกระทบคือ ขนอม สิชล
ท่าศาลา ปากพนังบางส่วน และหัวไทร ระยะประมาณ 225 กิโลเมตร
ปัจจุบันน้ำทะเลได้หนุนให้คลื่นสูงขึ้น และพัดเข้ามาบริเวณที่พักอาศัยของชาวบ้าน
ก่อให้เกิดความเสียหายมาก รวมทั้งทำให้ถนนเลียบชายทะเลได้รับความเสียหายด้วย
ส่วนที่แหลมตะลุมพุกได้รับผลกระทบเช่นกัน
โชคดีที่บริเวณที่น้ำขึ้นไม่มีประชาชนอาศัยอยู่
"กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบเกี่ยวการกัดเซาะชายฝั่งที่ปากพนังและอำเภอหัวไทร
เพื่อจัดทำเป็นโครงการนำเสนอ โดยอำเภอปากพนังจะได้งบประมาณ 360 ล้านบาท ต่อ 1 ปี
จะทำเป็น 3 ระยะ ปี 2550-2553
"ตอนนี้ได้งบฯ ซีอีโอ ของจังหวัดช่วยเยียวยาชายฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบในระยะทาง 1
กิโลเมตร ซึ่งยังไม่เพียงพอ ในส่วนของจังหวัดจะแก้ไขเฉพาะหน้าก่อน" กิตติพันธ์บอก
ส่วนที่ชาวบ้าน 50 ครัวเรือน บริเวณหมู่ที่ 2
ที่อาศัยอยู่ป่าชายเลนที่แหลมตะลุมพุกมาเรียกร้องนั้น กิตติพันธ์ว่า
ในเบื้องต้นใช้งบฯฉุกเฉินช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ายังมองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขเสียแต่ตอนนี้
สุดท้ายพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เรายังเห็นๆ
กันอยู่ในวันนี้คงจะมีสภาพไม่ต่างจากหลักกิโลเมตรกลางน้ำที่โผล่ให้เห็นอยู่ลิบๆ
เหมือนที่บางขุนเทียนก็เป็นได้
5 จุดวิกฤตชายฝั่งทะเลไทย
1. ชายฝั่งทะเลบ้านแหลมสิงห์ - ปากคลองขุนราชพินิตใจ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางประมาณ
12.5 กิโลเมตร ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งถอยร่นเข้ามาประมาณ 700-800 เมตร บางแห่ง เช่น
บ้านขุนสมุทรจีน หมู่ 9 พื้นที่ถูกกัดเซาะหายไปประมาณ 1 กิโลเมตร ในช่วง 28 ปี
ด้วยอัตราการกัดเซาะมากกว่า 25 เมตรต่อปี
2. ชายฝั่งทะเลปากคลองราชพินิจใจ - บ้านท่าตะโก เขตบางขุนเทียน กทม. ระยะทางประมาณ 5.5
กิโลเมตร มีอัตราการกัดเซาะ 20-25 เมตรต่อปี ช่วง 28 ปีที่ผ่านมาพื้นที่หายไป
400-800 เมตร
3. ชายฝั่งทะเลบ้านเคียนดำ - บ้านบ่อนนท์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
พื้นที่ถูกกัดเซาะประมาณ 8 กิโลเมตร
4. ชายฝั่งทะเลบ้านแหลมตะลุมพุก - บ้านบางบ่อ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
มีอัตราการกัดเซาะประมาณ 8 เมตรต่อปี
5. ชายฝั่งบ้านเกาะทัง - บ้านหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช ความยาวทั้งหมดประมาณ 23
กิโลเมตรตลอดความยาวชายฝั่งทะเลนี้มีการกัดเซาะขั้นรุนแรง ทำให้ถนนพัง
ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่บริเวณอื่น อัตราการกัดเซาะประมาณ 12 เมตรต่อปี
สาเหตุเพราะแนวชายหาดที่เปิดโล่งวางตัวในทิศทางเกือบเหนือ-ใต้
ทำให้ได้รับแรงกระแทกของคลื่นขนาดใหญ่ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เคลื่อนเข้าหาฝั่งในทิศทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือโดยตรง