จากดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส ถึงสนธิสัญญาปกป้องโลก
จากดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส ถึงสนธิสัญญาปกป้องโลก
โดย
มติชน วันที่
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10577
คอลัมน์ โลกสามมมิติ
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
ภาพวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (Apophis) ในเส้นสีแดง
วันที่ 13 เมษายน 2036 โลกอาจจะประสบหายนะอย่างใหญ่หลวงจากดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (Apophis)
หรือ 2004 MN4 ชนโลก ณ
ที่ใดที่หนึ่งในบริเวณตั้งแต่ทางตะวันออกของไซบีเรียจนถึงแนวชายฝั่งทางตะวันตกของแอฟริกา
ก่อนถึงปี 2036 ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสจะโคจรเฉียดโลกที่ระยะห่างเพียง 36,350
กิโลเมตร ในปี 2029
ดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาดาวเคราะห์น้อยอันตรายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 250 เมตร
ดวงนี้จะบอกว่า มีโอกาสเพียง 1 ใน 45,000 เท่านั้น ที่มันจะชนโลกในปี 2036
แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็ยังหวั่นไหว เพราะปัจจุบันโลกยังไม่มีมาตรการใดๆ
ที่จะรับมือกับดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางเลย
ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยอันตรายถูกค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่ากลัว
ภาพแสดงเส้นทางที่อาจเกิดภัยพิบัติ "Path of Riak" จากดาวเคราะห์น้อยอโพฟิสในปี
2036
นอกจากนั้นแล้วการตรวจจับดาวเคราะห์น้อยที่ผ่านมาก็ยังมีขีดจำกัด
ถึงวันนี้โครงการค้นหาเทหวัตถุใกล้โลกขององค์การนาซา (NASA"s Near Earth Object
programme) ขึ้นบัญชีดาวเคราะห์น้อยอันตรายขนาดใหญ่เพียงจำนวน 127 ดวง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันมีมากกว่านั้นหลายเท่าโดยคาดว่าเมื่อถึงปี 2020
จะพบเพิ่มอีกเป็นพันดวง
ดาวเคราะห์น้อยอันตรายไม่ใช่มีเพียงแค่ดวงใหญ่ๆ เท่านั้น
แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่า 500 เมตร
ก็สามารถถล่มเมืองขนาดใหญ่ทั้งเมืองให้ราบเป็นหน้ากลองได้และอาจอันตรายยิ่งกว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่
เพราะกล้องโทรทรรศน์ที่มีอยู่สามารถตรวจจับมันได้ล่วงหน้าเพียงไม่กี่ปีก่อนที่มันจะชนโลก
หรือตรวจจับไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้สภาคองเกรสของสหรัฐจึงได้มอบหมายให้นาซากำหนดแผนที่จะตรวจจับตำแหน่ง
ความเร็ว วิถีโคจร ของเทหวัตถุใกล้โลกขนาด 140 เมตรขึ้นไปซึ่งสลัวๆ
ให้แล้วเสร็จภายในปี 2020
ดร. สตีเวน เชสลีย์ นักวิทยาศาสตร์ของนาซาบอกว่า
สภาคองเกรสของสหรัฐเห็นว่าการตรวจจับดาวเคราะห์น้อยของนาซาที่ผ่านมายังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคาม
และขอให้นาซาทำการสำรวจอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
กล้องโทรทรรศน์ Large Synoptic Survey Telescope (LSST)
ตอนนี้นาซาจึงปรับเปลี่ยนเป้าหมายใหม่จากการตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง
700 เมตรขึ้นไปมาเป็น 70 เมตรขึ้นไป
โดยมีแผนที่จะสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูงคือ Large Synoptic Survey
Telescope (LSST) หรืออาจจะเป็นกล้อง Panoramic Survey Telescope & Rapid Response
System (Pan-Starrs) ซึ่งนาซาคาดว่าจะสามารถค้นพบดาวเคราะห์น้อยอันตรายได้มากถึง
20,000 ดวงเลยทีเดียว
กล้อง Panoramic Survey Telescope & Rapid Response
System (Pan-Starrs)
ด้านชุมชนดาราศาสตร์ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันแล้ว
โดยในการประชุมใหญ่ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union
- IAU) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็กเมื่อวันที่ 14-25 สิงหาคม 2006
ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องภัยคุกคามจากดาวหางและดาวเคราะห์น้อยประเภท "เทหวัตถุใกล้โลก"
(Near-Earth Objects -NEOs) มาพิจารณากันด้วย ซึ่งไอเอยูแถลงว่า
ได้จัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาศึกษาภัยคุกคามจากเทหวัตถุใกล้โลกอย่างละเอียดและกว้างขวางยิ่งขึ้น
ล่าสุด สมาคมนักสำรวจอวกาศ (Association of Space Explorers) องค์กรวิชาชีพของนักบินอวกาศและมนุษย์อวกาศกำลังเตรียมร่างสนธิสัญญาว่าด้วยการจัดการกับภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยเสนอต่อองค์การสหประชาชาติเพื่อให้มีกระบวนการตัดสินใจระดับโลกในการประเมินผลกระทบและการปฏิบัติซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบายว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการผลักดาวเคราะห์น้อยให้พ้นจากวิถีโคจรที่จะชนโลก
ดร.รัสเซลล์ ชไวการ์ท อดีตมนุษย์อวกาศยานอพอลโล 9
ผู้ก่อตั้งสมาคมนักสำรวจอวกาศบอกว่าพวกเขาเชื่อว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการตัดสินใจในการจัดการกับปัญหานี้และนำไปใช้โดยสหประชาชาติ
เขายังอธิบายว่า
ภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่หมดไปจากการเฝ้าติดตามศึกษาซึ่งพบวิถีโคจรที่แน่นอนของมัน
ทว่าในบางกรณีต้องใช้เวลานานมาก
"ถ้าคุณรอคอยความแน่นอน มันอาจจะสายเกินไป " เขาบอก
สมาคมนักสำรวจอวกาศ จะจัดประชุมครั้งแรกในเดือนเมษายน 2007 นี้
และจะรับฟังข้อเสนอจากนักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการทูต
รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย
และคาดว่าจะเสนอร่างสนธิสัญญาต่อคณะกรรมาธิการการใช้อวกาศเพื่อสันติของสหประชาติในปี
2009
การกำหนดวิธีการจัดการกับดาวเคราะห์น้อยก็เป็นหนึ่งในร่างสนธิสัญญา
นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเคยเสนอวิธีการไว้หลายวิธี อาทิ
ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายอย่างในภาพยนตร์เรื่องอมาเกดดอน
การใช้ฝูงยานอวกาศซึ่งมีสว่านเจาะลงใต้พื้นผิวและดันมันออกไป
และการใช้กระจกรับแสงอาทิตย์จากยานอวกาศส่องไปยังพื้นผิวเพื่อให้เกิดความร้อนสูง
ซึ่งจะทำให้มันเปลี่ยนวิถีโคจรได้
ปัจจุบันมีวิธีการใหม่ซึ่งเสนอโดย ดร.เอ็ดเวิร์ด ลู
นักวิทยาศาสตร์และมนุษย์อวกาศของนาซา
คือการใช้แรงโน้มถ่วงของยานอวกาศขนาดใหญ่ดึงให้ดาวเคราะห์น้อยเปลี่ยนวิถีโคจร
แต่วิธีนี้ก็มีข้อยุ่งยากคือต้องใช้ยานอวกาศขนาดใหญ่และยานจะต้องเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยมากด้วยจึงจะเกิดผล
ตัวอย่างเช่น ยานอวกาศต้องมีน้ำหนักถึง 20 ตัน
และยานต้องอยู่ใกล้ดาวเคราะห์น้อยเพียง 50 เมตรนานนับปี
จึงจะดึงดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 เมตร ให้เปลี่ยนวิถีโคจรได้
อย่างไรก็ตาม การสร้างยานอวกาศขนาดใหญ่ก็มีความเป็นไปได้
นาซาเคยมีโครงการโพรมีธีอุส
ยานสำรวจขนาดใหญ่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสำรวจขอบระบบสุริยะ
แต่โครงการถูกเลื่อนออกไปก่อน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่ว่าจะยุ่งยากอย่างไรก็ตาม
การปรากฏตัวของดาวเคราะห์น้อยอันตรายที่มากขึ้นๆ
จะกดดันให้นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองต้องเตรียมการป้องกันโลกมากกว่าที่แล้วๆ มา
ดร.รัสเซลล์ ชไวการ์ท กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า เราไม่สามารถป้องกันพายุเฮอร์ริเคนได้
แต่เราสามารถป้องกันดาวเคราะห์น้อยชนโลกได้โดยการเปลี่ยนรูปร่างของระบบสุริยะเพียงเล็กน้อยเพื่อประกันความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลก