โครงการ ปตท. - โอมานถึงแอฟริกา
โครงการ ปตท. - โอมานถึงแอฟริกา
โดย หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 เม.ย. 50


ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ไปร่วมเปิดแหล่งก๊าซธรรมชาติชามส์ โครงการโอมาน 44 อย่างเป็นทางการ ณ
รัฐสุลต่านโอมาน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

โครงการโอมาน 44 เป็นโครงการแรกของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
หรือ ปตท.สผ. ขยายการลงทุนไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง
ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์


ข้อมูลพื้นฐาน แปลงสัมปทานแห่งนี้ มีพื้นที่ 1,162 ตารางกิโลเมตร
ตั้งอยู่ในทะเลทราย เขตชูไนน่า ห่างจากเมืองหลวง กรุงมัสกัตไปทางตะวันตก 300
กิโลเมตร
ประเมินกันว่า...ระยะแรก แหล่งพลังงานชามส์ จะผลิตก๊าซธรรมชาติได้วันละ 50
ล้านลูกบาศก์ฟุต ผลิตคอนเดนเสทหรือน้ำมันคุณภาพสูงได้ 4,000 บาร์เรล
ก๊าซที่ผลิตได้ทั้งหมด จะขายให้กับกระทรวงน้ำมันและก๊าซแห่งโอมาน
ส่วนคอนเดนเสทจะขายให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ดร.ปิยสวัสดิ์
บอกว่าน้ำมันและก๊าซที่ผลิตได้จะมีการปรับคุณสมบัติตามที่รัฐบาลโอมานกำหนด
และป้อนเข้าสู่ระบบท่อส่งหลักของประเทศโอมาน
“น้ำมันคุณภาพสูง...คอนเดนเสทก็จะถูกป้อนเข้าระบบไปด้วย ปตท.จะรับเข้ามาทางอ้อม
โดยการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศโอมาน”
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันวันละ 1.2 แสนบาร์เรล น้ำมันที่ผลิตได้เองวันละ 2,000-3,000
บาร์เรล จากโอมานก็เป็นส่วนหนึ่ง

หลายคนอาจจะมองว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันวันละเป็นแสนบาร์เรล...ผลิตได้เองแค่ไม่กี่พันลิตร
จะคุ้มกับการลงทุนหรือ?
“เท่าที่วิเคราะห์กันไว้ เราลงทุนที่แหล่งชามส์ ประเทศโอมาน 400 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ
จะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์”
ถามว่าคุ้มไหม...ดร.ปิยสวัสดิ์ คิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
สำหรับแหล่งก๊าซ...น้ำมันที่ไม่ใหญ่ แต่มีความสลับซับซ้อน
คุ้มค่าในแง่การยอมรับ คุ้มค่าในด้านเทคนิคการดำเนินการ
ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการสัมปทานในอนาคต
ปตท.สผ.พิสูจน์ให้รัฐบาลโอมานได้เห็นว่า บริษัทน้ำมันที่ไม่ใหญ่ในระดับโลก
ไม่ได้มีประวัติประสบการณ์ยาวนานในการขุดเจาะสำรวจน้ำมัน สามารถประสบความสำเร็จได้
จนกลายเป็นจุดแข็ง
วันนี้...ถึงจะได้ก๊าซและคอนเดนเสทน้อย แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ ศักยภาพของคนไทย
ประสบการณ์จากธรณีวิทยาที่สลับซับซ้อนในประเทศไทย ทำให้ ปตท.สผ.มีประสบการณ์ในการพัฒนาแหล่งน้ำมัน
แหล่งก๊าซที่มีความสลับซับซ้อนได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก
สิ่งที่คาดหวังในตอนนี้ ประเทศโอมานอาจมีแหล่งน้ำมันอื่น
ที่บริษัทใหญ่ๆไม่สนใจแล้วคืนรัฐบาล ปตท.สผ.ก็สามารถรับมาสัมปทานต่อได้
ข้อมูลจากปาก ดร.ปิยสวัสดิ์ เป้าหมายต่อไป...โครงการโอมาน 58
อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ 2,264 ตารางกิโลเมตร
เป็นอีกหนึ่งโครงการปิโตรเลียมบนบก ที่ ปตท.สผ.กำลังจะเริ่มสำรวจ

อนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์และพัฒนา องค์กร บริษัท
ปตท.จำกัด (มหาชน) เสริมว่า วันนี้ทั่วโลก...ปริมาณสำรอง
ก๊าซธรรมชาติมีมากกว่าน้ำมัน
น้ำมันทั้งโลกมีอยู่ 1 ล้านล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติมี 5,000 พิลเลี่ยน
ค่อนข้างเป็นปริมาณที่มากมโหฬาร และใช้ได้ไปอีกนาน
แหล่งสำรองใหญ่ที่สุดอยู่ในตะวันออกกลาง อิหร่าน กาตาร์
ในรัสเซียก็มีเยอะ แถบเอเชียก็มีที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนใหญ่
พัฒนาไปค่อนข้างมาก จนถึงจุดอิ่มตัว
หลายประเทศเริ่มซื้ออนาคตทางด้านพลังงาน วางระบบท่อส่งก๊าซ
ทำสัญญาระยะยาวเพื่อสร้างโอกาสที่จะนำพลังงานสำรองเหล่านี้มาใช้
ประเทศไทยหากไม่เริ่ม...วันข้างหน้าลำบาก
บ่อน้ำมันในประเทศไม่มี...จะทำอย่างไร?
ปตท.สผ.เปรียบเหมือนแขนขาของประเทศไทย มีนโยบายลงทุนจัดหาทรัพยากรแหล่งก๊าซ
แหล่งน้ำมัน
“ปตท.สผ.ไม่ได้คิดแปลกออกไป” อนนต์ ว่า
“วันนี้...ประเทศอื่น จีน อินเดีย ก็ไปเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันนอกประเทศ ...เกาหลีไปถึงแคนาดา
ซื้อบ่อทรายน้ำมันมาบีบเอาน้ำมันกันแล้ว”
ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรมาก และยังต้องนำเข้าพลังงาน ต้องเดินนโยบาย
พยายามเข้าไปแสวงหาทรัพยากรนอกบ้าน
แหล่งน้ำมันในโอมาน ถึงจะปริมาณไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
อนาคตจะได้แปลงสัมปทานเพิ่มอีก 1 แปลง ก็ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลโอมาน
แปลงสัมปทานอื่นในประเทศอิหร่าน โครงการอิหร่าน ซาเว่ห์, ประเทศแอลจีเรีย แปลง
433 เอ และ 416 บี ก็เป็นการขยายการลงทุนไปสู่ทวีปแอฟริกา ใกล้แหล่งน้ำมันขนาดใหญ่
การลงทุนโครงการนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนในประเทศแอลจีเรีย
และภูมิภาคแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก
ใครที่กลัวว่า ปตท.จะเอาเงินไปลงทุนแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ อนนต์ ยืนยันว่า
ระยะเริ่มต้นยังใช้เงินไม่มาก เราจะค่อยๆวิ่งไปหาประสบ-การณ์
แต่ก็จะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
การที่ ปตท.จะไปยืนบนเวทีโลกได้ ต้องการหลายๆอย่าง อันดับแรก คือต้องมีทุน
อันดับต่อมา ก็ต้องมีทรัพยากรบุคคลที่เก่ง
อันดับสาม...ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับสี่...ต้องมีความน่าเชื่อถือ

สำคัญที่สุด อันดับสุดท้าย...จะต้องได้รับกำลังใจจากคนไทย
สิ่งที่ ปตท.ทำ ก็ทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยและคนไทยทุกคน
ผู้ที่ถือหุ้น ปตท.ทั้งทางตรง ทางอ้อม ร้อยละ 80 เป็นคนไทย ถือผ่านกองทุนวายุภักษ์
กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสถาบันต่างๆ
ทั้งทางตรงทางอ้อม
หลายเสียงที่เคยพูดเป็นคลื่นแทรก...จะพยายามทำให้ ปตท.กลับไปสู่สภาพรัฐวิสาหกิจ
อนนต์บอกว่า ไม่สร้างสรรค์
แม้ว่าจะเข้าใจเรื่องตัวบทกฎหมาย แต่ก็ต้องถามกลับไปว่า...ประชาชนกว่า 60 ล้านคน
จะอยู่กันอย่างไร ทุกคนต้องอยู่ต้องกิน บ้านเมืองก็ต้องเติบโตต่อไป

ทุกวันนี้ ปตท.ก็อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้อยู่อย่างมีฐานะ เกินเลย
หรือไปทำอะไรที่เกินตัว พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่
นำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อสร้างขีดความสามารถของตัวเอง
“การก้าวไปข้างหน้า ปตท.ไม่ได้ก้าวแบบตะกละตะกลาม
แต่ไปทำหน้าที่ให้คนไทยทั้งประเทศอยู่ได้อย่างสุขสบาย บนฐานของความพอดี พอเพียง”
พอพูดกันถึงความพอดีพอเพียง ไม่ใช่มองมุมเดียว...เฉพาะด้านเศรษฐกิจ
แต่หมายความว่าเราต้องเก่งขึ้นและทันโลก.