พบซูเปอร์เอิร์ทนอกระบบสุริยะ ร่องรอยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
พบ "ซูเปอร์เอิร์ท" นอกระบบสุริยะ ร่องรอยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2550 07:54 น
ดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกของเรามากที่สุด
ซึ่งมีอุณหภูมิที่ทำให้นำอยู่ในสถานะของเหลว
และยังเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต
บีบีซีนิวส์/เอเยนซี/เอพี – วงการดาราศาสตร์ตื่นเต้น
หลังพบดาวเคราะห์ดวงใหม่มีปัจจัยคล้ายโลกมากที่สุด แต่มีขนาดใหญ่กว่า
และน่าเชื่อได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เพราะมีน้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้
เร่งสำรวจก๊าซในชั้นบรรยากาศ
หวังพบเครื่องหมายแสดงว่ามีรงควัตถุสำคัญเช่นเดียวกับในพืชบนโลก
นักดาราศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์ยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory)
ในลาซิญญา ชิลี (La Silla, Chile)
รายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายกับโลกของเรามากที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ
คืออุณหภูมิบนดาวเคราะห์ดวงนั้นสามารถทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้
และอาจเป็นแหล่งของสิ่งมีชีวิตนอกพิภพ
ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.6 เมตรของหอสังเกตการณ์ยุโรปตอนใต้
มีอุปกรณ์พิเศษในการแยกแสงเพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของความยาวคลื่น
ซึ่งอาจเปิดเผยถึงการมีอยู่ของโลกอื่นๆ
ดาวเคราะห์ดวงที่ว่านี้เป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์ Gliese 581
ซึ่งเป็นดาวแคระแดงขนาดพอๆ กับดาวเนปจูน แต่เล็กกว่า ให้แสงสว่างน้อยกว่า
และเย็นกว่าดวงอาทิตย์ และอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra)
แต่ดาวเคราะห์ดวงใหม่อาจไม่หมุนรอบตัวเอง อยู่ห่างออกไป 20.5 ล้านปีแสง (120
ล้านล้านไมล์) ถือเป็นดาว 1 ใน 100 ดวงที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด
มีแรงโน้มถ่วงสูงกว่าโลก 1.6 เท่า มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 0-45 องศาเซลเซียส
ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่น้ำอยู่ในสถานะของเหลว
“ยิ่งไปกว่านั้น ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกเรียกว่า 581 c หนักกว่าโลก 5 เท่า
มีรัศมีเป็น 1.5 เท่าของโลก
ซึ่งสามารถทำนายได้ว่าดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หินเช่นเดียวกับโลกของเรา
หรืออาจจะถูกปกคลุมไปด้วยมหาสมุทรก็เป็นได้” สตีเฟน อูดรี (Stephane Udry)
นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวเจนีวา (Geneva Observatory)
สวิตเซอร์แลนด์นักเขียนหลักของรายงานการค้นพบครั้งนี้ตั้งข้อสังเกต
ทางด้านมิเชล เมเยอร์ (Michel Mayor) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเจนีวา
(University of Geneva) ซึ่งเป็น 1 ใน 11 นักวิจัยยุโรปในทีมที่ค้นพบดาวดวงนี้
บอกว่านี่เป็นก้าวย่างสำคัญในการค้นหาสิ่งมีชีวิตในจักรวาล
แต่ยอมรับว่ายังมีอีกหลายคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบ
เมเยอร์เสริมว่า ตามทฤษฎี 581 c มีชั้นบรรยากาศ แต่ยังไม่รู้ชัดว่าเป็นแบบใด
ซึ่งหากหนาเกินไปก็จะทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีอุณหภูมิสูงเกินไป กระนั้น
ทีมนักวิจัยเชื่อว่า อุณหภูมิเฉลี่ยน่าจะอยู่ระหว่าง 0-40 องศาเซลเซียส
หมายความว่าอาจมีน้ำ และสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
ซาเวียร์ เดลฟอสซี (Xavier Delfosse) สมาชิกทีมจากมหาวิทยาลัยเกรอน็อบ ฝรั่งเศส
เชื่อว่าดาวเคราะห์ดวงใหม่อาจเป็นเป้าหมายสำคัญมากสำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคตเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของหอดูดาวพยายามวิเคราะห์หาร่องรอยของก๊าซสำคัญในชั้นบรรยากาศ
เช่น ก๊าซมีเทน หรือแม้แต่การหาสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นสารคลอโรฟิลล์
(Chlorophyll) ซึ่งเป็นรงควัตถุสำคัญในการสร้างอาหารของพืชบนโลกมนุษย์
คริส แมกเคย์ (Christ McClay)
ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวดาราศาสตร์จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ
ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในทีมนี้ บอกว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก
แม้ไม่ได้หมายความว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บน 581 c
แต่หมายความว่าดาวเคราะห์ดวงนี้คล้ายโลกในแง่ความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
กระนั้น นักดาราศาสตร์หลายคนท้วงว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า 581 c
มีน้ำอยู่หรือไม่
ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์สองกลุ่มๆ หนึ่งจากยุโรป และอีกกลุ่มจากสหรัฐฯ
แข่งขันกันเพื่อให้ได้เป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์แบบเดียวกับ 581 c
นอกระบบสุริยะจักรวาลรายแรก
ซาเวียร์ บอนฟิลส์ จากหอสังเกตการณ์ลิสบอน โปรตุเกส ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ค้นพบ 581
c เผยว่า ทีมของยุโรปใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า HARPS
หรืออุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วเชิงรัศมีที่มีความแม่นยำสูงเพื่อการค้นหาดาวเคราะห์
โดยเน้นดาวเคราะห์ที่เหมือนดวงอาทิตย์
เพื่อหาดาวบริวารที่อยู่ห่างดาวแม่ในระยะที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ทีมจากยุโรปจะพบ 581 c เมื่อต้นเดือน
รายงานฉบับหนึ่งในวารสารแอสโทรไบโอโลจี (Astrobiology) กล่าวอ้างว่า
ดาวแคระแดงเป็นตัวเลือกที่ดีในการค้นหาดาวฤกษ์ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่นอกระบบสุริยะ (exoplanet)
เป็นดาวเคราะห์ดวงเล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา โคจรรอบดาวฤกษ์แม่โดยใช้เวลาเพียง 13
วัน และอยู่ใกล้หมู่ดาวฤกษ์แม่มากกว่าที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ 14 เท่า
อย่างไรก็ตาม ดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์ดวงที่คล้ายกับโลกดวงนี้เป็นดาวบริวาร
เป็นดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ และส่องสว่างน้อยกว่า และไม่ใช่เพียงแต่ดาวเคราะห์เท่านั้นที่เข้าข่ายมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
(habitable zone)
บริเวณรอบๆดาวฤกษ์ดวงนี้ยังสามารถทำให้น้ำเป็นของเหลวได้ด้วยเช่นกัน
การค้นพบครั้งนี้นับว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก และนักดาราศาสตร์ได้เรียกบริเวณที่ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรอยู่ว่า
"'เขตแดนโกลดิล็อกส์" (Goldilocks Zone)
ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต