Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

การปราบโจรสลัดเมื่อครั้งอดีต

การปราบโจรสลัดเมื่อครั้งอดีต 


โดย แอนดรูว์ ไซม่อน 19 มิถุนายน 2550 23:58 น.

สิงคโปร์ และกูชิง, ซาราวัก – ความเกี่ยวพันกันระหว่างเหตุการณ์ในหนังฮอลลีวู๊ดเรื่อง ‘โจรสลัดแห่งหมู่เกาะแคริบเบี้ยน’ (Pirates of the Caribbean) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 กับน่านน้ำที่ยังคงอุดมไปด้วยโจรสลัดรอบ ๆ สิงคโปร์ยุคใหม่ในปัจจุบันนี้ หาได้เป็นแค่จินตนาการของนักเขียนบทหนังชาวอเมริกันเท่านั้นไม่

หากมองกันในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นเหมือนกับการเลียนแบบความตั้งใจของสหรัฐในปัจจุบัน ที่หมายมั่นจะแผ่อิทธิพลเข้ามาในร่องน้ำทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแห่งนี้

ในตอนท้าย ๆ ของท้องเรื่อง ผู้ชมจะได้เห็นกัปตันบาร์บารอสซา (และลูกสมุนสิงคโปร์คือกัปตันเส่าเฟ็ง) มองหาแผนที่กับเรือที่จะแล่นไปให้สุดโลก หลบหลีกทางการอังกฤษ เพื่อไปช่วยชีวิตแจ๊ค สแปร์โรว์ สหายรัก ให้หลุดออกมาจาก ‘อีกด้านหนึ่ง’ (คล้าย ๆ ยมโลก) แจ๊คจะไปถึงหรือไม่ และเหตุการณ์หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ไกลเกินวิสัยของบทความเรื่องนี้จะตามไปสาธกได้

แต่ข้อเท็จจริงที่อังกฤษอยากจะกวาดล้างโจรสลัดในหมู่เกาะแคริบเบี้ยนให้สิ้นซาก กับการที่จักรวรรดิอังกฤษแผ่อิทธิพลเข้ามาในสิงคโปร์ หมู่เกาะรีออ (Riau islands*) และตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ในปี 1819 จนโทมัส สแตมฟอร์ด รัฟเฟิล ผู้บริหารคนหนึ่งในบริษัทอีสอินเดียสถาปนาสิงคโปร์สมัยใหม่ขึ้นมา ก็มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด

(*หมู่เกาะรีออในปัจจุบันประกอบด้วย 3 หมู่เกาะใหญ่ 2 แห่งอยู่ทางตอนใต้ของสิงคโปร์ แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในทะเลทางตอนเหนือของหมู่เกาะบอร์เนียว ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในอินโดนีเซีย ถือกันว่าภาษามาเลย์ถือกำเนิดขึ้นในเขตนี้)

ในตอนนั้น กฎหมายอังกฤษมอบอำนาจให้ราชนาวีอังกฤษจัดการปราบปรามคนอย่างแจ๊ค สแปร์โรว์และบาร์บารอสซาในหมู่เกาะแคริบเบี้ยน แต่กฎหมายก็ไม่มีการกำหนดขอบเขตทางภูมิศาสตร์เอาไว้ให้แน่ชัด ดังนั้นอำนาจดังกล่าวจึงมีมาไกลจนถึงทะเลรอบ ๆ สิงคโปร์

ตอนนั้น กิจการอันเป็นโจรสลัดแผ่สะพัด จนถึงขั้นขัดขวางการค้าในแถบทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา วิลเลี่ยม ฟาร์กูฮาร์ ชาวอังกฤษคนแรกที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในสิงคโปร์ พอย่างเท้าขึ้นไปบนเกาะเมื่อเดือนกันยายน 1819 ที่ตอนนี้เป็นสวนสาธารณะลาบราดอร์ ปาร์ก ชายฝั่งตอนในทางตะวันตกเฉียงใต้ ก็ได้รับการต้อนรับด้วยหัวกะโหลกคน ซึ่งเป็นของที่ระลึกของโจรสลัดจากรีออ เรียงกันเป็นแถว

ไม่นานพ่อค้าในสิงคโปร์ก็ฎีกาเข้าไปขอความคุ้มครองจากราชนาวีอังกฤษ ที่แต่เดิมได้รับอำนาจให้ปราบปรามโจรสลัดที่แคริบเบี้ยน แต่สินเชลยที่ได้ก็ให้นับหัวโจรสลัดที่ถูกจับหรือถูกฆ่า ควบรวมไปกับทะเลจีนใต้อยู่แล้ว ดังนั้นพอกัปตันในราชนาวีที่อยู่ไกลปืนเที่ยง (เกือบจะบังคับบัญชาไม่ได้) ได้ยินเรื่องที่จะให้ไปปราบโจรสลัด อันจะนำมาซึ่งสินเชลยมหาศาลเช่นนี้ ต่างก็พากันยินดีปรีดาที่จะได้มาช่วย

กัปตันผู้บัญชาการเรือในกองเรือราชนาวีที่โด่งดังที่สุดในตอนนั้นคือเฮนรี่ เคปเปล (ชื่อที่ตั้งตามกัปตันผู้นี้ก็ยังหลงเหลือมาในสิงคโปร์ในปัจจุบันเช่น กลุ่มบริษัทเคปเปล ท่าเรือเคปเปล ถนนเคปเปล เป็นต้น) ความจริงเคปเปลก็เป็นสลัดอยู่หน่อย ๆ คนท้องถิ่นขนานนามให้ว่า ‘ราชาลูอัต’ (Rajah Laut) แปลว่า ‘ราชาแห่งท้องทะเล’ เคปเปลได้ขึ้นเป็นนายพลเรือ และได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นอัศวินโดยพระนางเจ้าวิคตอเรีย และเป็นที่โปรดปรานผู้หนึ่ง

ทุกวันนี้ มองจากตะวันออกสุดของสวนลาบราดอร์ ปาร์ก ออกไปยังหมู่เกาะเซนโตซา และปากทางเข้าท่าเรือเคปเปล ก็ยังเห็นป้ายจารึกเตือนให้รำลึกถึงความหลังครั้งอดีตอันเลวร้าย ตั้งโดดเด่นอยู่

‘ตั้งแต่เริ่มแรก พวกโจรสลัดในน่านน้ำเหล่านี้พากันปล้นสะดมเรือพ่อค้ามาตลอด พวกมันยกโขยงกันมาหลายลำเรือ ติดอาวุธขนาดหนัก บางครั้งยามฟ้ากระจ่าง เราสามารถมองเห็นได้จากในตัวอ่าว พอปล้นเสร็จพวกมันก็รีบหนีหาย กระจายกันไปตามเกาะเล็กเกาะน้อย ที่เป็นเสมือนเขาวงกตอย่างรวดเร็ว พอมาถึงทศวรรษที่ 1830s สถานการณ์เลวร้ายลงถึงที่สุด เชื่อว่ามันจะทำลายการค้าในเอเซียไปจนหมดสิ้น ขณะที่เคปเปลมีหน้าที่ที่ต้องแสดงแสนยานุภาพของอังกฤษออกไปให้ทั่วทะเลทั้งเจ็ด* แต่ขณะที่อยู่ที่สิงคโปร์ มรดกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาก็คือหนุนช่วย เจมส์ บรูก (James Brooke) นักผจญภัยชาวอังกฤษ ในการขึ้นครองดินแดนซาราวัก ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ในฐานะ ‘ราชาผิวขาว’

(*แนวคิดเรื่องทะเลก่อนศตวรรษที่ 15 ที่ถือว่า ‘เจ็ด’ แปลว่า ‘หลาย’)

ตามที่หนังสือ ‘ราชาผิวขาวแห่งซาราวัก : ราชวงศ์ในบอร์เนียว’ (The White Rajahs of Sarawak: A Borneo Dynasty) ของบ๊อบ รีช นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย บรูกเกิดในอินเดียขณะที่บิดาของเขาทำงานเป็นผู้พิพากษาผู้หนึ่งให้กับบริษัทอีสอินเดีย เขาเป็นลูกผสมระหว่างคนช่างฝันและ ‘จักรพรรดินิยมอิสระ’ (freelance imperialist) เขาใช้เรือใบเสาเดี่ยวชื่อ the Royalist มาขึ้นบกที่ซาราวัก ในขณะที่สุลต่านแห่งบรูไน(ในตอนนั้น ยังมีอำนาจครอบครองไปทั้งตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว) สุลต่านฯ กำลังเผชิญหน้ากับการขบถของชาวมาเลย์และเผ่าบิดายู (Malay and Bidayu tribes) รอบ ๆ เมืองกูชิงในสมัยนั้น

ราชา มูดา ฮุสเซน ผู้สำเร็จราชการในองค์สุลต่านฯ ได้เกณฑ์บรูกเข้าร่วมรบ บรูกใช้ปืนเรือของเขาข่มขู่ฝ่ายขบถจนยอมแพ้ และได้รับการตอบแทนโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘ราชา’ ของกูชิงในปี 1841 มีหน้าที่เก็บส่วยประจำปีส่งไปถวายสุลต่านฯ และเริ่มต้นการปกครองโดยราชาผิวขาว เป็นเอกเทศจากอังกฤษ มา 3 ชั่วรุ่นเป็นเวลา 100 ปี*

(*มีบางตำราว่าการปราบขบถของเขาเริ่มในปี 1838 แต่เขาได้รับตำแหน่ง ‘ราชา’ อย่างเป็นทางการในปี 1841 และมอบอำนาจปกครองซาราวักให้อังกฤษในปี 1946 หลังจากการยึดครองชั่วคราวของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง)

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรียกว่า Pax Brookania* จะเกิดขึ้นไม่ได้โดยไม่ได้รับการหนุนช่วยจากปากกระบอกปืนแห่งราชนาวีอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนองเลือดที่มาในนามของ ‘การปราบปรามโจรสลัด’ เพราะแนวรบทางตะวันออก มีผู้นำมาเลย์จำนวนมากที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักล่าหัวมนุษย์เผ่าอีบัน นอกจากนั้น ก็ยังมีชนเผ่าชาวเล ‘อีลานูน’ จากตอนใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์เข้ามาผสมโรงด้วย

(*แปลตรงตัวว่า ‘สันติภาพในดินแดนของบรูก’ อนุโลมให้เรียกว่า ‘อาณาจักรบรูก’ หรือ ‘ราชวงศ์บรูก’)

เคปเปลให้การช่วยเหลือบรูกในระหว่างปี 1843-44 คือเมื่อได้รับการสนับสนุนจากพวกมาเลย์และอีบันที่อยู่ฝ่ายเดียวกับบรูก เรือ HMS Dido ของเคปเปลก็ออกแล่นเรียบไปตามชายฝั่งตอนเหนือของบอร์เนียว ขึ้นล่องไปตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ระดมยิง และเผาทำลายที่มั่นทุกแห่งของข้าศึก ตอนที่เคปเปลส่งรายงานชื่อ ‘การบุกเกาะบอร์เนียวของเรือเฮชเอ็มเอส.ดีโด้ เพื่อปราบปรามโจรสลัด’ (The Expedition to Borneo of HMS Dido for the Suppression of Piracy) และได้รับการตีพิมพ์ในลอนดอนปี 1846 รายงานชิ้นนี้ของเขาก็เป็นที่โจษจันกันไปทั้งเมือง :

‘การทำโทษที่เราลงมือไปนั้นรุนแรงนัก แต่ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับอาชญากรรมที่ไอ้พวกโจรสลัด ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังก่อขึ้น พวกดายักผู้ช่วยของเราเก็บหัวพวกมันไปเป็นของที่ระลึกนิดหน่อย ... ความพินาศย่อยยับของสถานที่เหล่านี้ทำให้ทั้งประเทศสะพรึงกลัวเหลือที่จะบรรยาย’

แน่นอนว่า ในศัตรูพวกนั้นจะเป็น ‘โจรสลัด’ จำนวนสักกี่มากน้อย เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบ พวกอีบันกับอีลานูนที่น่าสะพรึงกลัว ออกไล่ล่าหาทาส และปล้นสะดมไปไกลถึงเกาะชวาและสุมาตรา แต่ก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าคนจำนวนมากที่ถูกฆ่าตาย ความจริงก็เป็นเพียงแค่คนที่ไม่ลงด้วยกับบรูกและธงอังกฤษเท่านั้น

รายงานการฆ่าฟันที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า Illustrated London News กระพือความวิตกกังวลไปทั่วกรุงลอนดอน นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นที่สิงคโปร์ในปี 1853 ขณะที่การกระทำของบรูกและราชนาวีได้รับอภัยโทษ พวกเขามีผู้สนับสนุนที่สำคัญคือพ่อค้าสิงคโปร์ (ในจำนวนนี้มีสัญชาติเป็นคนอังกฤษมากแค่ไหนไม่แจ้ง-ผู้แปล) ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ทำให้สินเชลยของพวกโจรสลัด ที่แต่ก่อนเคยตกเป็นสมบัติของเรือที่เข้าปฏิบัติการในยุทธการนั้น ๆ เป็นอันสิ้นสุดลง

มาบัดนี้เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ล่วงเลยมาถึง 150 ปีแล้ว แต่ยุทธศาสตร์ ‘ตีโจรสลัดให้ถึงรัง’ แบบเก่า ๆ ของตะวันตก ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกใน ‘ยุทธการปราบปรามผู้ก่อการร้าย’ ที่สหรัฐและอังกฤษนำอยู่ในเวลานี้ ในช่วงหลายปีมานี้ วอชิงตันได้ออกมาเตือนเสมอ ๆ ว่า กลุ่มก่อการร้ายอิสลามอาจจะหยุดยั้งกระแสการค้าโลกให้ขาดตอนได้ โดยโจมตีท่าเรือสำคัญ ๆ รวมทั้งแผนการที่จะพุ่งเรือบรรทุกระเบิดเข้าใส่สิงคโปร์ ที่ระบุว่าล้มเหลวไปแล้วด้วย

ในปี 2005 โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐในตอนนั้น ยกตัวเลขทางการพาณิชย์และความมั่นคงขึ้นมาอ้าง โดยเสนอให้กองทัพเรือสหรัฐ มีสิทธิออกไล่ล่าผู้ก่อการร้ายที่แอบแฝงมาในรูปโจรสลัด ตามช่องแคบมะละกาและบริเวณโดยรอบ เขาอ้างว่าช่องแคบแห่งนั้นเป็นเส้นทางเดินสมุทรของน้ำมันกว่า 70% ที่จีนนำเข้า และหากในอนาคตสหรัฐจะต้องรบกับจีน ช่องแคบแห่งนั้นก็อาจจะตันได้

ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัมสเฟลด์ครั้งนั้นเป็นบางส่วน แต่มาเลเซียและอินโดนีเซียรีบปฏิเสธทันควัน ในกรณีที่ต้องมีการเรียกร้องให้กองเรือตะวันตก เข้ามาช่วยปราบปรามโจรสลัดในย่านนี้ บางทีพวกเขาอาจจะระลึกถึงประวัติศาสตร์ ของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับความมั่นคงและบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศ หรือของย่านนั้น ๆ ก็ได้

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3535

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Articles from our members Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network