Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Cho.Charoen Maritime Instruments

Cho.Charoen Maritime Instruments FB MarinerThai News

สิ่งมีชีวิตใต้ภูเขาน้ำแข็ง แอนตาร์กติกา

สิ่งมีชีวิตใต้ภูเขาน้ำแข็ง แอนตาร์กติกา 


โดย หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10703

โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th  

ภูเขาน้ำแข็งกำลังละลาย

เมื่อแผ่นน้ำแข็งชายฝั่งลาร์เซน เอ (Larsen A) บริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติกา แตกออกในปี 1995 และแผ่นน้ำแข็งลาร์เซน บี (Larsen B) ขนาด 3,250 ตารางกิโลเมตร หรือสองเท่าของมหานครลอนดอน แตกออก ในปี 2002 มันคือสัญญาณเตือนว่าโลกร้อนขึ้น

แผ่นน้ำแข็งชายฝั่งน้ำแข็งลาร์เซน บี แตกเมื่อปี 2002

แต่สำหรับนักชีววิทยาทางทะเลแล้ว นี่คือการเปิดทางให้เข้าไปทำการสำรวจสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ใต้แผ่นน้ำแข็งลาร์เซน เอ และแผ่นน้ำแข็งลาร์เซน บี โดยไม่ต้องเจาะแผ่นน้ำแข็งให้ยากลำบากกันอีกต่อไป

นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสที่จะศึกษาว่าภูเขาน้ำแข็ง (icebergs) ที่เกิดจากการพังทลายของแผ่นน้ำแข็งชายฝั่งจะมีผลต่อสภาพนิเวศทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไรบ้าง

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจำนวน 52 คน จาก 14 ประเทศ ของโครงการ Polarstern expedition 1 ใน 13 โครงการสำรวจสำมะโนประชากรสิ่งมีชีวิตในทะเล (Census of Marine Life: CAML) ในปีขั้วโลกสากล 2007/2008 ได้ดำเนินการสำรวจท้องทะเลใต้แผ่นน้ำแข็งลาร์เซน เอ และลาร์เซน บี ในระดับความลึก 100-850 เมตร เป็นเวลานาน 10 สัปดาห์ เมื่อต้นปี 2007 ที่ผ่านมา

เรือวิจัยโพลาร์สเติร์น

เรือ Polarstern ของสถาบัน Alfred Wegener Institute เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัย นำนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปที่นั่น

การสำรวจทำโดยการปล่อยเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลดำดิ่งลงไปบันทึกภาพและเก็บตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตใต้แผ่นน้ำแข็ง

ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทีมนักสำรวจพบว่าสภาพแวดล้อมใต้แผ่นน้ำแข็งมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยก้นทะเลในเขตน้ำตื้นที่สุดซึ่งเป็นบริเวณที่แผ่นน้ำแข็งที่หนาหลายร้อยเมตรพังทลายลง มีสภาพแห้งแล้งและถูกกัดเซาะด้วยร่องน้ำที่เกิดจากธารน้ำแข็งที่ไหลลงทะเล ส่วนก้นทะเลในบริเวณอื่นกลับอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืชทะเล

จูเลียน กัตต์ นักนิเวศวิทยาจากสถาบัน Alfred Wegener Institute หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าสัตว์และพืชในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ได้อพยพมาหลังจากแผ่นน้ำแข็งพังทลายลง เช่น เพรียงหัวหอม (sea squirts) จำนวนมาก

เพรียงหัวหอม

เพรียงหัวหอมเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นญาติใกล้ชิดของมนุษย์ พวกมันมีรูปร่างหลากหลาย บางชนิดเป็นแผ่นรูปวงรีเรียงต่อกัน บางชนิดเป็นแผ่นแบนเคลือบบนหิน บางชนิดเป็นทรงถุง ผิวนุ่มและหยุ่น หดตัวได้เมื่อถูกสัมผัส ลักษณะเด่นคือ มีทางน้ำเข้าออกและเกาะติดอยู่บนพื้นแข็ง

นักวิทยาศาสตร์ยังพบฝูงปลิงทะเล (sea cucumbers) ในเขตน้ำตื้นด้วย ปลิงทะเลเป็นสัตว์ทะเลท้องถิ่นซึ่งปกติพวกมันจะอาศัยอยู่ที่ก้นทะเลลึกประมาณ 2,000 เมตร ทีมสำรวจสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะว่าในเขตน้ำลึกและทะเลบริเวณด้านข้างของแผ่นน้ำแข็งมีอาหารน้อยพวกมันจึงอพยพมาอยู่ในเขตน้ำตื้น

ฝูงปลิงทะเล

ในจำนวนสัตว์ตัวอย่างที่เรือดำน้ำเก็บได้ประมาณ 1,000 สปีชีส์ นักวิทยาศาสตร์พบสัตว์ใหม่ๆ หลายชนิด อาทิ สัตว์ในไฟลัมไดนาเรียน (cnidarians) จำนวน 4 สปีชีส์ หมึกสองสปีชีส์ และแอมฟิพอด (amphipod) ครัสเตเชียนขนาดเล็กอีก 15 สปีชีส์

ทีมสำรวจยังพบฝูงวาฬมิงเกแหวกว่ายอยู่ในบริเวณใกล้ขอบแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งดูเหมือนว่าที่นั่นกำลังจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยอีกแห่งหนึ่งของพวกมัน ปรากฏการณ์นี้ชี้ว่าสภาพนิเวศทางทะเลในบริเวณนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรใต้มหาสมุทรซึ่งล้อมรอบทวีปแอนตาร์ติกาต่อระบบนิเวศทางทะเลของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐนำโดย ดร.เคน สมิธ จากสถาบัน Monterey Bay Aquarium Research Institute ในแคลิฟอร์เนียน่าสนใจมาก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาสภาพแวดล้อมของภูเขาน้ำแข็งในทะเลเวดเดลล์ มหาสมุทรใต้จำนวนสองลูก ลูกแรกมีขนาด 2x0.5 กิโลเมตร ลูกที่สองยาว 21 กิโลเมตร กว้าง 5 กิโลเมตรตั้งแต่เดือนธันวาคม 2005 โดยใช้เรือดำน้ำซึ่งควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลสำรวจในรัศมีมากกว่า 9 กิโลเมตรจากภูเขาน้ำแข็ง

ผลการศึกษาพบว่าทะเลรอบๆ ภูเขาน้ำแข็งมีสิ่งมีชีวิตมากขึ้นเกือบ 40% และทะเลยังมีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าทะเลรอบๆ ภูเขาน้ำแข็งในรัศมีมากกว่า 3.7 กิโลเมตรอุดมไปด้วยแร่ธาตุ นกทะเล ปลาคริลล์ (krill) และไฟโตแพลงตอน (Phytoplankton) มากกว่าบริเวณที่ไม่มีภูเขาน้ำแข็ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเหล็กที่มาจากการละลายของภูเขาน้ำแข็งทำให้จำนวนไฟโตแพลงตอนเพิ่มมากขึ้น ไฟโตแพลงตอนมีความสำคัญเพราะมันเป็นแพลงตอนพืชที่ดูดกลืนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของมัน และคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนหนึ่งจะจมลงสู่ใต้ทะเลลึกทำให้ทะเลรอบภูเขาน้ำแข็งมีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากกว่าในบริเวณอื่นๆ

ครึ่งหนึ่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาจะถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตบนโลกในปริมาณที่พอๆ กัน

มหาสมุทรจะดูดซับและเป็น "แอ่งเก็บกัก" ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเก็บกักไว้บริเวณท้องทะเลลึก

หมึกพันธุ์ใหม่

มหาสมุทรใต้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โลกปล่อยออกมาได้ประมาณ 15% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมด แต่การศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดย ดร.โครินเน เลอ เควียร์ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าปัจจุบันประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทรใต้ลดลง

เมื่อปี 2002 ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้ทำการทดลองกระจายธาตุเหล็กไปทั่วผิวน้ำทะเล ซึ่งพบว่า ธาตุเหล็กในน้ำทะเลช่วยเพิ่มจำนวนไฟโตแพลงตอน นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้เชื่อว่าไฟโตแพลงตอนจะเป็นอาวุธใหม่ที่สามารถใช้กำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนได้

การค้นพบว่ามีไฟโตแพลงตอนจำนวนมากรอบๆ ภูเขาน้ำแข็งเพราะมีธาตุเหล็กนับเป็นข่าวดีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอยู่ในขณะนี้

สมิธกล่าวว่าจะติดตามผลการค้นพบครั้งนี้อย่างเข้มข้นต่อไปในปีหน้า

"เรากำลังจะกลับไปและดูว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็กกว่ามีความสำคัญอย่างไร และมันเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของทะเลรอบๆ มันด้วยหรือไม่"

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3993

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

TOP Engineering Group - UAV Thailand นิทานชาวเรือ

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network