Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

MarinerThai 2004 Co., Ltd. Advertising in MarinerThai.Com

เรือใบประมงพังงาโบกสะบัด คืนวิถีลูกน้ำเค็ม ลดน้ำมัน-ภาวะโลกร้อน

เรือใบประมงพังงาโบกสะบัด คืนวิถีลูกน้ำเค็ม ลดน้ำมัน-ภาวะโลกร้อน


โดย ผู้จัดการรายวัน 31 กรกฎาคม 2550 22:05 น.

ท่ามกลางภาวะที่ผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ดินแดนรูปขวานในคาบสมุทรอินโดจีนอย่างประเทศไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด จึงต้องพลอยรับผลกระทบตามเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงเฉพาะแต่คนเมืองที่ต้องใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการเดินทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคการเกษตร ขนส่ง และการประมงก็ล้วนแต่ประสบปัญหาจากสาเหตุน้ำมันขึ้นราคาไปด้วยทั้งสิ้น

ทว่า ในวันนี้เครื่องยนต์ดีเซลถูกแทนที่ด้วยผืนผ้าใบหลากสีสัน ที่คลี่สะบัดกางรับลมทะเลอันดามัน ตัดกับสีน้ำเงินสดของท้องฟ้าและสีเขียวมรกตของท้องทะเล เมื่อยามอาทิตย์อัศดง...เรือหัวโทงเหล่านั้นค่อยๆ แล่นตัดคลื่นกลับเข้าฝั่ง สู่จุดหมายคือเรือนสังกะสียกใต้ถุนสูงที่ปลูกไว้อย่างกลมกลืนในแนวป่าโกงกาง ก่อนที่ใบเรือจะถูกปลดระวาง เพื่อรอทำหน้าที่ของมันใหม่อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

แก้วิกฤตเป็นโอกาส

กลิ่นอายของทะเลโชยมาพร้อมกับสายลมทันที เมื่อเราก้าวเท้าลงจากยานพาหนะถึงที่ทำการตลาดกลางค้าสัตว์น้ำบ้านคลองเคียน ท่าเทียบเรือประมงและตลาดสินค้าสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเครือข่ายตลาดสัตว์น้ำอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

ทุกวัน ที่นี่จะมีพ่อค้าแม่ค้าและชาวประมงพื้นบ้านนำผลผลิตสดๆ จากท้องทะเลมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเสมอ ภาพเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ แต่ทว่า นับตั้งแต่น้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่หลายปีก่อน ภาพเหล่านี้ก็มีให้เห็นแทบน้อยลงทุกที เมื่อการออกเรือไปลากอวนกุ้ง ดักลอบปูปลา ได้เงินมาไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับน้ำมัน อีกทั้งปลาบริเวณชายฝั่งก็เหลือน้อยลงทุกที หากอยากได้ปลาจริงๆ ก็ต้องยอมออกเรือไปไกลๆ จนแทบไม่คุ้มค่าน้ำมัน

ไม่เพียงแต่เมืองไทยเท่านั้น ปัจจุบันทั่วโลกต่างประสบปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมัน ซึ่งมีราคาสูงขึ้นมากและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวประมงประสบปัญหาต้นทุนในการประกอบการประมงสูง บางส่วนต้องเลิกกิจการหรือปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น ชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีเงินทุนหรือเงินทุนน้อยไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นได้ ยังคงต้องทำการประมงอยู่ แต่รายได้ที่ได้รับส่วนใหญ่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ยิ่งทำให้เดือดร้อนและยากจนกว่าเดิม

กรมประมงและมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้กำหนดแผนงานปรับปรุงเรือไฟเบอร์กลาส หัวโทงที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวประมงผู้ประสบภัยสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามัน ให้สามารถใช้ประกอบใบเรือในการเดินทางและทำการประมงได้ บำรุงรักษาง่ายและมีราคาถูกมาใช้เป็นเรือใบ หากประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งจะเป็นทางเลือกของชาวประมง ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการทำการประมงได้

ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า มูลนิธิชัยพัฒนาและสภากาชาดไทย ได้มอบหมายให้กรมประมงสร้างเรือหัวโทงทำด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาส เพื่อช่วยเหลือชาวประมงผู้ประสบธรณีพิบัติภัย ใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และจากสาเหตุที่ราคาน้ำมันสูงต่อเนื่อง ทำให้ชาวประมงประสบปัญหาต้นทุนสูงในการทำประมง กรมประมงจึงได้ดำเนินการทดลองปรับปรุงเรือไฟเบอร์กลาสให้สามารถใช้ประกอบใบเรือในการเดินทางและทำการประมงได้ โดยได้ดัดแปลงเรือดังกล่าวติดตั้งเสาใบเรือและถ่วงน้ำหนัก รวมทั้งติดตั้งหางเสือ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ

1) ลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันของชาวประมงขนาดเล็ก

2) ลดการใช้พลังงานที่เพิ่มมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

3) ใช้พลังลมตามธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

กรมประมงได้นำผลการทดลอง ถ่ายทอดสู่ชาวประมงขนาดเล็กในจังหวัดพังงา โดยแจกใบเรือแก่ชาวประมงที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 6 หมู่บ้าน ที่ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เพื่อร่วมทดลองใช้ใบเรือเพื่อการประมง โดยกรมประมงได้ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงการใช้ใบเรือให้สามารถใช้กับเครื่องมือประมงประเภทต่างๆ เช่น เครื่องมืออวน เครื่องมือลอบ เป็นต้น ผลการทดลอง ชาวประมงมีความพอใจ ซึ่งกรมประมงจะขยายผลแจกใบเรือแก่ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการในหมู่บ้านอื่นๆ อีกต่อไป

กลับคืนสู่รากเหง้าในอดีต

เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ชาวเมดิเตอเรเนียนค้นพบวิธีการใช้ประโยชน์จากลม โดยพบว่า ลมช่วยให้เรือเล่นไปได้โดยติดตั้งใบเรือ เพราะเมื่อลมปะทะใบเรือ ลมก็จะดันให้ใบเรือเคลื่อนที่ แต่ใบเรือติดอยู่กับเสากระโดง เสากระโดงยึดอยู่กับเรือ ใบเรือจึงทำให้เรือเคลื่อนที่ไปด้วย เรือใบรุ่นๆ มีใบเรือเพียงใบเดียวเป็นใบเรือแบบสี่เหลี่ยมทำด้วยผ้า หรือทอด้วยขนแกะ เช่น เรือที่ใช้ออกรบของพวกยุโรปเหนือ พวกไวกิ้งเรือที่ทำขึ้นจากต้นปาปีรัสของชาวอียิปต์โบราณ ฯลฯ ต่อมาภายหลังมีความรู้เพิ่มขึ้นว่า ยิ่งมีใบเรือจำนวนมากก็ยิ่งทำให้เรือแล่นเร็วยิ่งขึ้น จึงมีการพัฒนาใบเรือไปเป็นหลายใบเพื่อเพิ่มความเร็ว เรือใบส่วนมากใช้ประโยชน์ในการค้าขาย คมนาคมบุกเบิกหาแผ่นดินใหม่ และการทำสงคราม ปัจจุบันใบเรือมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นใบสามเหลี่ยมแทน มักจะใช้ในการแข่งขันและการท่องเที่ยว แทนการค้าและการคมนาคมขนส่ง ซึ่งใบเรือแบบสามเหลี่ยมทำให้เรือทรงตัวได้ดี ไม่พลิกคว่ำง่าย ไม่ทำให้เรือเสียความสมดุล ส่วนใบเรือแบบสี่เหลี่ยม แรงลมด้านบนเรือสามารถทำให้เรือเสียความสมดุลได้ง่ายในขณะที่เลี้ยว

สำหรับการใช้เรือใบในประเทศไทย ไม่ทราบว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด ก่อนที่จะมีเครื่องยนต์ใช้กันก็มีการใช้เรือใบกันอย่างแพร่หลายในการเดินทาง ค้าขาย และการทำการประมงโดยมีการใช้เรือใบกับเรือประมงหลายประเภท เช่น เรือฉลอม เรือเป็ด ใบที่ใช้ส่วนมากไม่เกิน 2 ใบ วัสดุที่ใช้ทำใบเรือโดยทั่วไปเป็นผ้าฝ้ายและย้อมด้วยเปลือกไม้เพื่อความคงทน แต่บางพื้นที่ทางฝั่งทะเล อันดามันทำด้วยใบเตยมาเย็บติดกันเป็นแผ่นก็มี

การดัดแปลงเรือไฟเบอร์กลาสติดตั้งใบเรือเพื่อการประมง ทดลองใช้ใบเรือ 3 แบบ คือ ใบสามเหลี่ยมคู่ ใบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และใบสี่เหลี่ยมคางหมู ใช้วัสดุเป็นผ้าสังเคราะห์ทำใบเรือ สามารถทำความเร็วได้ถึง 8 นอต ขณะที่ความเร็วลมอยู่ที่ 15 นอต กรมประมงได้เริ่มทดลองตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผลจากการทดลองสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้ เรือหางยาวขนาด 11.5 แรงม้า หากใช้เวลาเดินทางจากหมู่บ้านถึงแหล่งประมง ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ใช้น้ำมันชั่วโมงละ 3 ลิตร ราคาลิตรละ 25 บาท ถ้าเดินทางเพียงวันละ 1 เที่ยวเรือ สามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้วันละ 75 – 150 บาท

อธิบดีกรมประมง กล่าวตอนท้ายว่า กรมประมงได้เตรียมเดินหน้าขยายโครงการเรือใบเพื่อการประมงลดน้ำมันลดภาวะโลกร้อน หลังทดลองมั่นใจว่าได้ผล มีชาวประมงให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ นอกจากนั้น กรมประมงเล็งเห็นว่า การใช้วัสดุใบเรือเป็นผ้าสังเคราะห์มีราคาแพง ถ้าค่าใช้จ่ายในการทำใบเรือสูง ชาวประมงคงไม่ให้ความสนใจที่จะดัดแปลงเรือมาใช้ใบ กรมประมงจึงหาวัสดุท้องถิ่นที่หาง่าย ราคาถูก มาทำใบเรือแทน ซึ่งได้ทดลองใช้ผ้าคลุมสิ่งของตามร้านค้า มีราคาประมาณ 400 บาทต่อลำ หรือผ้าดิบราคาประมาณ 190 บาทต่อลำ ซึ่งผลในการแล่นเรือไม่แตกต่างกัน เพียงแต่อายุการใช้งานสั้นกว่าผ้าสังเคราะห์

เมื่อได้ผลการทดลองในเบื้องต้นแล้ว ได้สาธิตการใช้ใบเรือประกอบการทำการประมง เช่น อวนลอยปลาเห็ดโคน ลอบลูกปลากะรัง เบ็ดลาก ปลาสาก ฯลฯ ให้กับกลุ่มชาวประมงในพื้นที่นำร่องในอ่าวพังงา พบว่าชาวประมงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะสอดคล้องกับวิกฤติการณ์น้ำมันสภาวะโลกร้อน โดยเห็นว่าเป็นแนวทางในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในระยะยาว นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ประกอบการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และสนับสนุนกิจกรรมโฮมสเตย์ของหมู่บ้านได้อีกด้วย

หลังจากนั้นก็เป็นการฝึกฝนหาความชำนาญในการควบคุมการเดินทางด้วยใบเรือ การประกอบการประมงโดยใช้ใบเรืออย่างมีประสิทธิภาพ การดัดแปลงให้สอดคล้องกับเครื่องมือประมงชนิดที่ใช้อยู่ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของชาวประมงเอง เพราะชาวประมงสามารถพลิกแพลงการใช้ใบเรือได้ตลอดเวลา ดัดแปลงให้ทันสมัยอยู่เสมอ อย่างน้อยการใช้ใบเรือก็เป็นทางเลือกหนทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการประมง และเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ ทางด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ใช้พลังธรรมชาติให้เป็นประโยชน์

เพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน ชี้แจงข้อดีของประมงเรือใบว่า สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการประมง โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านซึ่งใช้เรือขนาดเล็ก ส่วนมากใช้เวลาในการแล่นเรือใบยังแหล่งการทำการประมงตั้งแต่ 1 - 2 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งการทำการประมงว่าอยู่ไกลจากหมู่บ้านเท่าใด และแล่นเรือออกจากลำคลองหรือไม่

ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชาวประมงขนาดเล็กที่ใช้เครื่องเรือหางยาวขนาด 10 – 13 แรงม้า ใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 ลิตร คิดเป็นเงินโดยประมาณ 75 – 150 บาท (คิดราคาน้ำมันลิตรละ 25 บาท) ในการออกทำการประมงแต่ละครั้ง จึงมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งไปและกลับรวม 150 – 300 บาท ถ้าชาวประมงใช้ใบในการวิ่งเรือในเที่ยวไปหรือเที่ยวกลับเพียงเที่ยวเดียว สามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้วันละ 75 – 150 บาท ถ้าคิดในระยะเวลาอันสั้นจะพบว่าค่าลงทุนในการดัดแปลงเรือสูงกว่าค่าน้ำมันที่ประหยัดได้ แต่ถ้าคิดในระยะยาวแล้วคุ้มค่ากับการลงทุน

ทว่า ข้อจำกัดสำหรับการใช้ใบเรือประกอบการทำการประมง คือ ปัญหาช่างฝีมือในการดัดแปลงเรือและติดตั้งใบเรือที่เหมาะสมในการทำการประมงในปัจจุบันค่อนข้างหายาก เนื่องจากประสบการณ์ของชาวประมงในปัจจุบันไม่มีทักษะในการใช้ใบเรือในการออกทำการประมง ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ อีกทั้งลักษณะการทำการประมงในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ซึ่งอดีตส่วนมากเป็นเครื่องมือการประมงแบบประจำ เช่น โป๊ะ โพงพาง ฯลฯ ไม่ต้องวิ่งเรือหาฝูงปลาหรือแหล่งทำการประมง ถ้าแล่นเรือโดยใช้ใบอาจจะเหมาะสมกับการทำประมงบางชนิดเท่านั้น

ผู้แทนกรมประมงกล่าวต่อไปว่า การหันมาใช้เรือใบนี้มีข้อจำกัดอยู่ทั้งทางด้านความสะดวกรวดเร็วเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ ชาวประมงต้องใช้เวลาในการทำการประมงมากขึ้นเนื่องจากความเร็วเรือที่ใช้ใบ และจะต้องรอกระแสลม ซึ่งจะไม่เป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงหันมาใช้เรือใบ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการติดตั้งใบเรือ เช่น ค่าเสาเรือ ใบเรือ อุปกรณ์ประกอบ เช่น เชือก รอก ฯลฯ ค่าดัดแปลงเรือและการติดตั้งหางเสือ ซึ่งเป็นเรือที่มีเครื่องกลางลำไม่ติดตั้งหางเสือเพราะมีอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้เครื่องหางยาวอยู่จะต้องติดตั้งหางเสือเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนยังลังเลที่จะหันมาเข้าร่วมโครงการนี้

รอเฮม ทองจันทร์ เฒ่าทะเลที่คุ้นเคยกับกระแสคลื่นลมของท้องทะเลแถบนี้เป็นอย่างดี อธิบายว่า การใช้ใบเรือประกอบในการทำการประมงสมควรใช้ในเที่ยวไปมากกว่าเที่ยวกลับ เพราะถ้าใช้เวลานานอาจทำให้สัตว์น้ำที่จับได้สูญเสียราคา ยกตัวอย่างเช่นปูม้า หากปูยังสดอยู่ที่ตลาดกลางสัตว์น้ำอำเภอตะกั่วทุ่งซื้อขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 130 บาท แต่หากปูนั้นตายแล้วจะถือว่าไม่สด ราคาตกลงเกือบครึ่งเหลือ 80 บาททันที

รอเฮมออกทะเลตั้งแต่อายุ 15 หลังจากนั้นสองมือก็ไม่เคยห่างจากอวนและคันบังคับหางเสือเครื่องยนต์เลย จนเพิ่งมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่เขาเริ่มหันมาใช้ผ้าใบ ให้แรงลมธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อนแทนน้ำมัน ปรากฏว่า จากเดิมที่เคยออกหาปลาไม่ไกลเกินบริเวณเขตเขาพิงกัน เพราะสู้ราคาน้ำมันไม่ไหว แต่ถ้าหากวันไหนลมดี เขาก็จะปล่อยให้เรือกางใบรับลมไปหาปลาในจุดที่ต้องการ เมื่อลมหมดจึงค่อยใช้เครื่องยนต์อีกครั้ง วิธีนี้ช่วยให้เขาประหยัดน้ำมันได้อย่างน่าพอใจ

วิถีของลูกน้ำเค็มชาวพังงา กำลังจะฟื้นกลับคืนมา หลังจากเกือบล่มสลายเพราะมรสุมของราคาน้ำมัน


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3995

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd. Cho.Charoen Maritime Instruments

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network