อันดามันปฏิบัติการเวฟ007หนีสึนามิ!
อันดามันปฏิบัติการเวฟ007หนีสึนามิ!
โดย ทีมข่าวรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก
วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550
เสียงไซเรนจากหอสัญญาณเตือนภัยหน้า ร.ร.บ้านคลองม่วง ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่
แผดเสียงโหยหวนบาดแก้วหู คะเนไม่ต่ำกว่า 120 เดซิเบล
นักเรียนชาย-หญิงในชุดลูกเสือสมุทรสีขาวกว่า 100 ชีวิต
วิ่งกระหืดกระหอบออกจากโรงเรียน ไปตามถนนลาดยาวมุ่งสู่เนินเขาสูง
ดูเหมือนว่าพวกเด็กเหล่านี้กำลังวิ่งหนีบางสิ่งบางอย่างอยู่
ไม่นานคำประกาศเตือนจากเสียงตามสายก็ดังตามมาช่วยให้รู้ว่าเด็กๆ
เหล่านี้กำลังหนีภัยสึนามิ !!!
'โปรดทราบๆ เกิดแผ่นดินไหวในทะเล อาจเกิดคลื่นสึนามิ ให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด
ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน' เสียงตามสายทวนคำประกาศอีกครั้งและเปลี่ยนเป็นภาษาอื่นๆ
อีก 4 ภาษา
โรงเรียนแห่งนี้อยู่ห่างจากชายหาดเพียงแค่ถนนกั้น
เช่นเดียวกับโรงเรียนและชุมชนริมชายทะเลอีกหลายแห่งของ จ.กระบี่
จึงต้องติดตั้งหอเตือนภัยเพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์สึนามิ
ผ่านไปครึ่งชั่วโมง...'ชายหาด' หน้า ร.ร.บ้านคลองม่วง ยังสงบเงียบ
มีเพียงระลอกคลื่นเล็กๆ ซัดเข้าหาฝั่ง แต่เด็กนักเรียนหลายคนกำลังหมดแรง
บางคนเป็นลมล้มพับไปกับการเดินสลับวิ่งเป็นระยะทาง 1,200 เมตร กว่าจะถึงเป้าหมาย
ภาพความโกลาหลที่เกิดขึ้นนี้...เป็นเพียงแค่ "การซ้อมหนีสึนามิ" เท่านั้น
บ่ายวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคมที่โรงเรียนริมทะเลแห่งนี้ นักเรียนชั้น ป.2 ร่วม 20 คน
ออกมาเรียนการอ่านวิชาภาษาไทยอยู่ใต้ร่มไม้หน้าอาคารเรียน
บอกเล่าถึงเหตุการณ์วันซ้อมหนีคลื่นสึนามิที่โรงเรียนจัดขึ้นให้ "คม ชัด ลึก"
ฟังด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
"หนูวิ่งจนเป็นลม เพื่อนก็เป็นลมเหมือนกันค่ะ" เด็กหญิงนักเรียนชั้น ป.2 บอก
"สึนามิมาต้องวิ่งขึ้นที่สูง" เด็กนักเรียนชั้น ป.2 ตอบประสานเสียง
เมื่อถามว่าสึนามิมาต้องทำอย่างไร?
"วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ก็ต้องวิ่งอีก" เด็กหญิงอีกคนเสริม
แม้ว่าจะเกิดภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิมานานเกือบ 3 ปีแล้ว
แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่า จะไม่เกิดคลื่นยักษ์ขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น วันที่
25 กรกฎาคมนี้
จึงถูกกำหนดให้เป็นวันซ้อมระบบเตือนภัยและอพยพหนีภัยสึนามิครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
ด้วยเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ 20 ล้านบาท
เพื่อให้ความรู้และให้โรงเรียนจัดทำแผนอพยพคนในชุมชนและนักเรียน
โดยมีโรงเรียนนำร่องทั้งสิ้น 24 แห่ง จาก 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน
การซ้อมใหญ่ครั้งนี้ยังเป็นการทดสอบความพร้อมของระบบและหอเตือนภัย 79 แห่ง
ว่ายังใช้ได้การดีอยู่หรือไม่? โดยปฏิบัติการครั้งนี้มีชื่อว่า 'Andaman Wave 007'
"บ้านกมลา" เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ต้องเตรียมแผนอพยพจากแนวคิดของนักเรียนเอง...เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้เคยเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวตั้งรับลมอยู่ริมชายหาดกมลา
อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มาค่อนศตวรรษ
แต่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิกวาดกลืนอาคารไม้เก่าแก่หายไปในทะเลเพียงชั่วพริบตา
ภัยพิบัติครั้งนั้นเกือบทำให้โรงเรียนต้องระเห็จไปอยู่ที่อื่น
โดยอ้างเหตุความปลอดภัย
เมื่อความพยายามจะย้ายโรงเรียนออกจากทำเลทองริมชายหาดกมลาล้มเหลว
เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์
เปลี่ยนสภาพจากโรงเรียนไม้เล็กๆ กลายเป็นโรงเรียนที่ก่อสร้างอย่างมั่นคงถาวร
มีอาคารเรียนสูง 3-4 ชั้น รองรับนักเรียนประจำและไปกลับกว่า 300 ชีวิต
พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ว่า "ราชประชานุเคราะห์ 36"
สำหรับแผนอพยพของนักเรียนโรงเรียนนี้ ไม่ต่างไปจากบริษัทต่างๆ ที่มีแผนซ้อมหนีไฟ
เพียงแต่รูปแบบการหนีจะแตกต่างกันสิ้นเชิง
หากเป็นการซ้อมหนีไฟทุกคนจะหนีลงจากอาคารให้เร็วที่สุด
ตรงกันข้ามหากหนีสึนามิทุกคนต้องวิ่งขึ้นอาคารสูงให้เร็วที่สุด
อาคารเรียนของ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 36 เป็นอาคารเรียน 3 ชั้นและ 4 ชั้น
โดยชั้นสูงสุดของทั้ง 2 อาคาร
จะมีการสำรองน้ำดื่มและอาหารแห้งเก็บไว้ในตู้เสบียงในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยเหลือผู้อพยพได้หลายวัน
"เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและได้รับสัญญาณเตือนภัย
โรงเรียนจะกดสัญญาณเตือนภัยให้นักเรียนอพยพขึ้นบนอาคารเรียนชั้นที่สูงที่สุด"
รุ่งพรรษา ศรีภา นักเรียนชั้น ม.4 หนึ่งในทีมวางแผนอพยพนักเรียน อธิบาย
พร้อมกับแจกแจงถึงรายละเอียดของการอพยพว่า แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ
การอพยพระยะสั้น 30 นาที นักเรียนต้องวิ่งหนีขึ้นอาคารเรียนชั้นที่สูงที่สุด
แผนอพยพระยะยาว 1 ชั่วโมง นักเรียนจะวิ่งขึ้นเนินเขายักษ์หลังโรงเรียน
และแผนอพยพนักเรียนประจำ จะใช้หลักการเดียวกับแนวทางที่ 1 และ 2
ทั้งนี้ กว่าจะได้แผนอพยพฉบับนักเรียนขึ้นมา ทีมงานนักเรียนชั้นมัธยมศึกษากว่า 10
ชีวิต ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางที่ปลอดภัย
ด้วยการขอข้อมูลความรู้จากผู้มีประสบการณ์และองค์กรท้องถิ่น
เพื่อนำมาวางแผนเส้นทางอพยพ
ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยที่จะออกให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดคลื่นสึนามิและการอพยพแก่คนในชุมชนและน้องๆ
ที่โรงเรียน
แผนการอพยพที่ถูกคิดและกลั่นกรองด้วยเวลาเหลือเฟือ ถูกนำเสนอผ่านพรีเซนเทชั่นร่วม 1
ชั่วโมงนั้น ถ้าเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นมาจริงๆ
ความโกลาหลหลังเสียงสัญญาณเตือนภัยเป็นสิ่งที่ทีมนักวางแผนอพยพรุ่นเยาว์กังวลใจที่สุด
"กลัวเด็กๆ จะไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะน้องๆ อนุบาลและประถม
ที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องการเกิดภัยจากสึนามิ" รุ่งพรรษา เผยถึงความกังวล
เมื่อภัยมาถึงตัว ทุกคนมีสัญชาตญาณหนีภัย
แต่เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือผิดพลาดขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ที่ติดตัวมา
"วิ่งขึ้นที่สูง" ด.ช.อนุชา เสน่ห์ นักเรียนชั้น ป.6 ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 36
ตอบสั้นๆ
"ต้องวิ่งขึ้นที่สูง หรือหาต้นไม้เกาะไว้ แล้วแรงน้ำจะพาเราขึ้นต้นไม้เอง"
โสมนภา
บรรเทิง เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ ผู้ผ่านประสบการณ์เฉียดตายจากคลื่นยักษ์บอก
เช่นเดียวกับเด็กๆ ร.ร.บ้านคลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ ด้วยความที่เด็กๆ
มีความคุ้นเคยกับทะเลมาตั้งแต่เกิด วันที่เกิดแผ่นดินไหวบนเกาะแห่งนี้ เด็กๆ
ต่างวิ่งออกจากบ้านมาดูน้ำทะเลเหือดแห้งในชั่วพริบตาริมสันเขื่อนหน้าหมู่บ้าน
ไม่กี่นาทีต่อมาคลื่นยักษ์สูงท่วมหัวก็ยกตัวขึ้นชายฝั่ง!
"หนี..." จึงเป็นเพียงสัญชาตญาณเดียวที่สั่งให้เด็กๆ
และชาวบ้านรอดชีวิตจากมหันตภัยครั้งนั้นอย่างหวุดหวิด
มีเพียงเรือประมงกับบ้านเรือนริมสันเขื่อนเท่านั้นที่พังยับเยิน
"ยักษ์ขึ้นมาจากทะเล ต้องวิ่งหนี" เบญจมาศ ห้างฝา นักเรียนชั้น ป.4
เล่าเหตุการณ์วันที่คลื่นสึนามิซัดเข้าหมู่บ้าน "วันนั้นแผ่นดินไหวก่อน
แมวที่เลี้ยงไว้ 2 ตัว วิ่งทั่วบ้านเลย"
"วัวก็วิ่งหนีจนเชือกขาด" เด็กหญิงอีกคน พูดเสริม
แม้คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ไม่อาจคร่าชีวิตชาวบ้านกว่า 600
ชีวิตบนเกาะแห่งนี้ได้ ทว่าทุกคนก็พร้อมใจกันอพยพย้ายออกมาอาศัยอยู่ที่ ร.ร.บ้านคลองประสงค์
ศาลาประชาคม และศาลากลางจังหวัด โดยวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
พวกเขาก็เตรียมซ้อมแผนอพยพหนีภัยกันอย่างกระตือรือร้น โดยใช้ ร.ร.บ้านคลองประสงค์
ที่ล้อมรอบด้วยป่าโกงกางหนาทึบเป็นเสมือนปราการกันคลื่นยักษ์ตามธรรมชาติเป็นที่หลบภัย
ส่วน ร.ร.บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งอยู่ห่างจากทะเล 500 เมตร
และเคยได้รับผลกระทบหนักที่สุด มีนักเรียนเสียชีวิต 27 คน สูญหาย 12 คน และอีก 386
คนได้รับผลกระทบ โรงเรียนเสียหาย 80% ก็ร่วมวางแผนซักซ้อมหนีภัยด้วย
"เส้นทางหนีภัยแบ่งเป็น 5 โซน ชาวบ้านจะอพยพมาอยู่ที่โรงเรียนและวัด" ด.ญ.มณีรัตน์
อินทร์ชุม นักเรียนชั้น ป.5 และทีมงานนำเสนอแผนอพยพ
แผนการอพยพของ ร.ร.บ้านน้ำเค็ม มีสิ่งที่น่ากังวลหลายอย่าง
ทั้งเรื่องเส้นทางจากชุมชนมายังโรงเรียนและวัด มีระยะทางร่วม 2 กิโลเมตร
ขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ริมชายฝั่งทะเล
ซึ่งน่าจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการอพยพ
ขณะเดียวกันองค์ความรู้เรื่องการเกิดสึนามิและการป้องกันภัยสึนามิในชุมชนหรือโรงเรียนกลับมีน้อยมาก
"???" หนึ่งในนักเรียนที่นำเสนอแผนการอพยพอ้ำอึ้งกับคำตอบ เมื่อถูกถามว่า
เคยเล่าเรื่องการเกิดสึนามิให้พ่อแม่หรือคนในชุมชนฟังหรือไม่
แล้วการซ้อมใหญ่วันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จะเหมือนการซ้อมที่ผ่านๆ มาหรือไม่?
ต้องรอลุ้นกันอีกที...!??
เสียงไซเรนจากหอเตือนภัยสึนามิดังขึ้นอีกครั้ง
'โปรดทราบๆ ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ขอให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป' เสียงตามสายประกาศซ้ำอีกครั้ง
หากคำประกาศข้างต้นไม่ใช่การซักซ้อมเหมือนที่ผ่านๆ มา
ลองเดาดูสิว่าจะมีคนบาดเจ็บและคนตายกี่คน?
เตือนภัยทั่วโลกไม่มีที่ไหนแม่นยำ 100%
หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดความรุนแรงได้ 9
ริคเตอร์ ทำให้เกิดพลังงานคลื่นทั่วมหาสมุทรอินเดีย
เมื่อกระทบชายฝั่งจึงก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สูงร่วม 10 เมตร
กวาดกลืนทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้ตัว หรือไม่มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า
แต่วินาทีนี้...เมืองไทยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า
ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO/IOC) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์สูงสุดจาก 16 ประเทศในเอเชีย
เพียงแค่ปรับปรุงด้านความรู้การเตือนภัยแก่หน่วยงานและประชาชน
ตลอดจนสร้างความพร้อมเผชิญภัยและอพยพหนีภัยให้มากขึ้นเท่านั้น
"ความน่าเชื่อถือของหอเตือนภัยสึนามิเป็นสิ่งสำคัญ ในต่างประเทศมีการประกาศเตือนภัย
10 ครั้ง ถูกแค่ 3 ครั้ง ชาวบ้านก็เข้าใจ แต่คนไทยถ้าไม่เกิดก็จะมาต่อว่าผมได้
แต่เกิดขึ้นจริงๆ ก็อาจไม่มีสิทธิมาต่อว่าผมได้ เพราะท่านตายไปแล้ว" ดร.สมิทธ
ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กอช.) เตือน
ดร.สมิทธ ย้ำว่า การเตือนภัยทั่วโลกไม่มีที่ไหนถูกต้องแม่นยำ 100%
อย่าดูถูกภัยธรรมชาติ เพราะมนุษย์ไม่มีสิทธิกำหนดได้
อยากให้เชื่อการแจ้งเตือนภัยของศูนย์ฯ ไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ดร.สมิทธ บอกว่า
การซ้อมใหญ่นี้ก็เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยและการอพยพคน
ถ้าไม่มีผลเป็นบวกนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะไม่มั่นใจและไม่มาเที่ยวเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม การซ้อมครั้งนี้เป็นการซ้อมระดับภูมิภาค จะมี 40
องค์กรจากต่างประเทศในคาบมหาสมุทรอินเดียมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
เพื่อนำเอาการฝึกซ้อมไปเป็นตัวอย่าง
เพราะในอนาคตภัยธรรมชาติสึนามิมีโอกาสเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ด้าน ดร.เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโครงการและแผนกลยุทธ์
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเมินว่าการซ้อมใหญ่คราวนี้น่าจะผ่านเกณฑ์
เชื่อว่านักเรียนและประชาชนจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
"ที่ผ่านมาเคยแจ้งเตือนภัยไปยังจังหวัดแล้ว
แต่เขาไม่เข้าใจและไม่มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง ถ้ามันเกิดจริงๆ
ผมว่ามันยุ่ง" ดร.เชิดศักดิ์ บอก
เหนือสิ่งอื่นใด...ถ้า 'ความรู้'
เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการมีชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่างๆ
การลงไปให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ดร.เชิดศักดิ์
จึงเสนอโครงการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ
เพื่อสร้างจิตสำนึกป้องกันและลดความเสี่ยงภัย
และการมีส่วนร่วมของชุมชนแก่องค์กรต่างประเทศ ได้รับงบประมาณมา 20 ล้านบาท
"จัดประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและลงพื้นที่จัดทำแผนอพยพหนีภัย
เราต้องเข้าไปให้ความรู้เบื้องต้นกับนักเรียนและชุมชน บางโรงเรียนก็ให้ความสนใจ
บางโรงเรียนก็ไม่ค่อยสนใจ หลังจากวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
เราจะได้รู้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหนบ้าง และอาจมีการซ้อมกันอีกครั้งในวันที่ 26
ธันวาคมนี้" ดร.เชิดศักดิ์ สรุป
"เราต้องให้ความรู้เรื่องการเกิดคลื่นสึนามิกับประชาชนมากๆ
เพราะบางครั้งการเกิดคลื่นสึนามิอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่มากพอเหมือนที่วางแผนอพยพกันไว้"
รศ.อัปสรสุดา ศิริพงศ์ ที่ปรึกษาด้านสมุทรศาสตร์และสึนามิ
จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ข้อคิด
รู้จักภัยแผ่นดินไหว
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ 6 ริคเตอร์ขึ้นไป
อาจก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้
- ภัยจากการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการพังทลายของดินและโคลน
และดินกลายสภาพเป็นของเหลว
- ภัยจากการยกตัวของพื้นดินในบริเวณรอยเลื่อน
- ภัยที่เกิดจากคลื่นใต้น้ำ (Tsunami)
ซึ่งคลื่นชนิดนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลและมหาสมุทร
ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง
- ภัยจากไฟไหม้หลังการเกิดแผ่นดินไหว