โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงสูญพันธุ์แล้ว
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงสูญพันธุ์แล้ว
โดย
หนังสือพิมพ์ มติชน คอลัมน์ โลกสามมิติ 18 สิงหาคม 2550
โดย : บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดในโลก
น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์รายงานสถานภาพของโลมาชนิดนี้ในวารสาร Biology
Letters journal หลังจากการค้นหาครั้งล่าสุดในแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเวลานาน 6
สัปดาห์เมื่อปลายปี 2006
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River dolphin )
หรือ "ไป๋จี" เป็นโลมาน้ำจืด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lipotes vexillifer
อาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงตอนกลางและตอนล่างของประเทศจีน
รวมทั้งแม่น้ำเชียนถังที่อยู่ใกล้เคียง
โลมาชนิดนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์สปีซีส์เดียวของแฟมิลี
Lipotidae
ซึ่งแตกแขนงออกมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดอื่น เช่น วาฬ
และโลมา เมื่อประมาณ 40-20 ล้านปีก่อน
ชาวจีนขนานนามโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงว่า "เทพธิดาแห่งแม่น้ำแยงซีเกียง "
ลักษณะเด่นของโลมาแยงซีเกียงคือ มีลำตัวสีขาว จงอยปากแคบและยาว ครีบหลังต่ำ
ตัวผู้ยาว 2.3 เมตร ตัวเมียยาว 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 135-230 กิโลกรัม
อายุยืนประมาณ 24 ปี
การสำรวจในทศวรรษที่ 1950
ไม่พบว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ในแม่น้ำเชียนถังอีกเลย
และการสำรวจในปลายทศวรรษที่ 1970
พบว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงและในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำนี้ประมาณ
400 ตัว ทว่าอีกสองทศวรรษต่อมาพวกมันเหลืออยู่เพียง 13 ตัว เท่านั้น
มีผู้เห็นโลมาแยงซีเกียงครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน ปี2004
ก่อนหน้านั้นโลมาแยงซีเกียงตัวผู้ชื่อ "ชีชี" ที่สถาบันไฮโดรไบโอโลยี แห่งวูฮาน
(Institute for Hydrobiology Wuhan) เลี้ยงไว้ตายลงเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2002
สหพันธ์อนุรักษ์สากล (World Conservation Union-IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีแดง
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด (critically
endangered) และสมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอน (Zoological Society of London-ZSL)
จัดให้เป็น 1 ใน10 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของโลกที่ต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
นักวิทยาศาสตร์พบว่าสาเหตุที่โลมาแยงซีเกียงมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วจนในที่สุดต้องสูญพันธุ์ไปเกิดจากน้ำมือของมนุษย์
และว่าพวกมันเป็นตกเป็นเหยื่อของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงติดอวนของเรือประมงอย่างไม่ตั้งใจจนตายไปเป็นจำนวนมาก
การจับปลาที่มากเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกมันสูญเสียอาหาร
นอกจากนั้นพวกมันต้องเผชิญกับภาวะมลพิษ
และจากการจราจรทางเรือที่คับคั่งทำให้พวกมันชนกับเรือและยังสับสนในการใช้คลื่นเสียงหรือโซนาร์ในการค้นหาอาหาร
รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย
การค้นหาพวกมันครั้งใหญ่ที่สุดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2006
ด้วยความสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรของจีน โดยนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากหลายองค์กร
อาทิ สถาบันไฮโดรไบโอโลยี แห่งวูฮาน สถาบัน Swiss Federal Institute of Aquatic
Science and Technology (Eawag) องค์กร National Oceanic and Atmospheric
Administration (NOAA) สถาบัน Hubbs-Seaworld Institute ซานดิเอโก
และกรมประมงของญี่ปุ่น
เรือสำรวจสองลำติดอุปกรณ์ไฮโดรโฟน (hydrophones)
เครื่องมือตรวจฟังเสียงของโลมานำนักวิทยาศาสตร์ไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง
เริ่มต้นจากเมืองยิชางถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงและแล่นกลับมาด้วยระยะทางเกือบ
3,500 กิโลเมตร ในเวลา 6 สัปดาห์ แต่ผลที่ได้คือ ความสิ้นหวัง ไม่มีร่องรอยใดๆ
ที่แสดงว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่อีกเลย
ออกัสต์ ฟลูเกอร์ ผู้อำนวยการของ baiji.org
องค์กรอนุรักษ์โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงหนึ่งในผู้นำในการค้นหา สรุปว่า "เรายอมรับว่าไป๋จีสูญพันธุ์ไปแล้ว
มันเป็นโศกนาฏกรรมและเป็นการสูญเสียไม่เพียงเฉพาะจีนเท่านั้นแต่เป็นโลกทั้งมวล "
ด้าน ดร.แซม เทอร์วีย์ จากสมาคมสัตว์วิทยาแห่งกรุงลอนดอน
ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ช้อคความรู้สึกทีเดียว
และว่าโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะเด่นซึ่งแตกแขนงออกมาจากสปีซีส์อื่นๆ
เมื่อกว่า 20 ล้านปีมาแล้ว
"การสูญพันธุ์เท่ากับการหายไปของวิวัฒนาการการแตกแขนงของสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์
และเป็นการเน้นย้ำว่าเราต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์ดวงเคราะห์ดวงนี้ "
เขากล่าว
คาดกันว่า IUCN จะปรับสถานภาพของโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงในบัญชีแดงจาก
สัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดเป็น สัตว์ป่าที่น่าจะสูญพันธุ์แล้ว
ในการประชุมปรับสถานภาพสัตว์ป่าในบัญชีแดงครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007
หากโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงสูญพันธุ์ไปจริงๆ
ก็นับเป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่สปีซีส์ล่าสุดที่สูญพันธุ์ไปหลังจาก
สิงโตทะเลญี่ปุ่น (Japanese Sea Lion)
สปีซีส์ย่อยของสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย และ
แมวน้ำแคริบเบียน (Caribbean Monk Seal) สูญพันธุ์ไปเมื่อทศวรรษที่ 1950
Japanese Sea Lion
Caribbean Monk Seal
Finless Porpoise
ยังมีโลมาหายากอีกชนิดหนึ่งในแม่น้ำแยงซีเกียงคือ
โลมาไร้ครีบหลัง (Finless Porpoise)
หรือที่คนไทยเรียกว่าโลมาหัวบาตรหลังเรียบ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า N. phocaenoides
asiaeorientalis หนึ่งในสามของสปีซีส์ย่อยของสปีซีส์ Neophocaena phocaenoides
ซึ่งมีอยู่เฉพาะในแม่น้ำแยงซีเกียงเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าโลมาชนิดนี้กำลังจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงในไม่ช้านี้