Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Cho.Charoen Maritime Instruments

Nathalin Group MarinerThai 2004 Co., Ltd.

แบพติสตินา ดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก

แบพติสตินา ดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก


โดย หนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ โลกสามมิติ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10780

โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th

ภาพวาดดาวเคราะห์น้อยชนโลกที่อ่าวเม็กซิโก (ภาพ Donald E. Davis)

ดาวเคราะห์น้อยชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนเป็นสาเหตุทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ (ภาพDonald E. Davis)

ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อนเกิดจากสาเหตุใด? มีทฤษฎีอยู่หลายทฤษฎีที่อธิบายสาเหตุการล้มตายของไดโนเสาร์ อาทิ การระเบิดของซุปเปอร์โนวา แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หรือดาวหางชนโลก

ปัจจุบันทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุดคือ ทฤษฎีดาวเคราะห์น้อยชนโลก ซึ่งทำให้เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์ หลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้คือ หลุมอุกกาบาต "ชิคซูลูป" (Chicxulub) บริเวณก้นอ่าวเม็กซิโก คาบสมุทรยูคาตัน

นับตั้งแต่ค้นพบหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ได้เพียรพยายามจะพิสูจน์หาแหล่งที่มาของดาวเคราะห์น้อยดวงที่ชนโลกดวงนี้ แต่ก็ยังไม่พบร่องรอย

หลุมอุกกาบาต "ชิคซูลูป" (Chicxulub) บริเวณก้นอ่าวเม็กซิโก

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐจาก Southwest Research Institute (SwRI) เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด และนักวิทยาศาสตร์เชกจาก Charles University กรุงปราก เผยผลการศึกษาในวารสารเนเจอร์ ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2007 ว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงที่พุ่งชนโลกในครั้งนั้น เป็นเศษของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่สองดวงที่ชนกันในวงแหวนดาวเคราะห์น้อย

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เบาะแสจากการค้นพบดาวเคราะห์น้อยตระกูลใหม่ที่ชื่อว่า "แบพติสตินา" (Baptistina) หนึ่งในตระกูลดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 40 ตระกูล

การศึกษาโดยการคำนวณจากโมเดลคอมพิวเตอร์พบว่า ดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่แตกออกจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาด 170 กิโลเมตรกับดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 60 กิโลเมตรในบริเวณวงแหวนหรือเข็มขัดดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีเมื่อ 160 ล้านปีก่อน

ภาพวาดดาวเคราะห์น้อยชนกันเมื่อ 160 ล้านปีก่อนบริเวณวงแหวนดาวเคราะห์น้อย

เศษจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยในครั้งนั้นกลายเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่า 10 กิโลเมตร ประมาณ 300 ดวง และขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรประมาณ 140,000 ดวง ในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินามากกว่า 2,000 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 40 กิโลเมตร

ดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีเหวี่ยงเข้ายังด้านในของระบบสุริยะและกาลต่อมาได้พุ่งชน ดาวศุกร์ โลก และดวงจันทร์ของโลก

ดร.วิลเลียม บอตต์เก้ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์จาก SwRI อธิบายว่า ดาวเคราะห์น้อยบางส่วนโคจรเข้ามาในบริเวณวงโคจรของโลกและดวงจันทร์ และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่บางดวงจะชนกับดาวเคราะห์ด้านในของระบบสุริยะ

ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในจำนวนนี้มีดาวเคราะห์น้อยสมาชิกของตระกูลแบพติสตินาดวงหนึ่งพุ่งชนดวงจันทร์เมื่อ 108 ล้านปีก่อนจนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตไทโค ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 85 กิโลเมตร และอีกดวงหนึ่งซึ่งมีขนาด 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลกที่อ่าวเม็กซิโก เมื่อ 65 ล้านปีก่อนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 185 กิโลเมตร และเป็นสาเหตุทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์

หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนว่ามีความเป็นไปได้สูงนั่นคือ การพบว่าองค์ประกอบทางเคมีของดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาเหมือนกับองค์ประกอบทางเคมีในหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป

ดร. วิลเลียม เบตต์เก้ กล่าวว่า "พวกเราเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกันโดยตรงระหว่างเหตุการณ์การชนกันในครั้งนั้นซึ่งทำให้เกิดกลุ่มดาวเคราะห์น้อยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงเมื่อ 65 ล้านปีก่อนซึ่งเชื่อกันว่าได้ทำลายล้างไดโนเสาร์จนสูญพันธุ์"

หลุมอุกกาบาตไทโคบนดวงจันทร์

ในอดีตโลกเคยถูกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดจนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบทั้งหมดสูญพันธุ์เกิดขึ้นในปลายยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิก (251 ล้านปีก่อน) ซึ่งเรียกกันว่ายุคแห่งการล้มตายครั้งยิ่งใหญ่ (the great dying)

ครั้งนั้นทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลประมาณ 95% ของสายพันธุ์ทั้งหมดและสิ่งมีชีวิตบนทวีปซึ่งขณะนั้นมีเพียงทวีปเดียวคือแพนเจีย (Pangea) ประมาณ 70% ล้มตายและสูญพันธุ์ไปจากโลก

ดร.ลูแอน เบกเกอร์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบตำแหน่งที่ดาวเคราะห์น้อยชนโลกในปลายยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิก ที่ก้นทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลียซึ่งเป็นขอบทวีปออสเตรเลียที่เรียกกันว่า "เนินเบดูต์"

การศึกษาตัวอย่างหินใต้ดินลึกถึง 3,000 เมตรที่ใจกลางเนินเบดูต์ ซึ่งบริษัทน้ำมันเก็บไว้เมื่อครั้งขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันและก๊าซเมื่อต้นทศวรรษปลายทศวรรษ 1970 แล้วพบว่ามีเศษผลึกแก้ว

หลักฐานนี้ชี้ว่ามันเกิดจากการชนอย่างรุนแรงของวัตถุขนาดใหญ่ซึ่งทำให้เกิดความร้อนมหาศาลซึ่งหลอมละลายแร่ธาตุ และเมื่ออุณหภูมิค่อยๆ ลดลงแร่ธาตุก็รวมตัวกันใหม่เป็นผลึก

การตรวจวัดอายุของหินใต้เนินเบดูต์พบว่ามันมีอายุประมาณ 250.1 ล้านปี ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับยุคแห่งการล้มตายครั้งยิ่งใหญ่พอดี

ดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งสุดท้ายที่ทังกัสกา ไซบีเรีย เมื่อปี 1908 อานุภาพการทำลายในครั้งนั้นเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 15 เมกะตัน ทำให้ผืนป่าแบนราบกว่า 2,150 ตารางกิโลเมตร โชคดีที่มันไม่ได้ชนโลกในเขตชุมชนหนาแน่นอย่างเมืองใหญ่ๆ ของโลก

นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่า มนุษยชาติจะไม่อาจหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชนโลกได้ หลุมอุกกาบาตบนโลกเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นในอดีต

ปัจจุบันองค์การนาซามีโปรแกรม NASA"s Spaceguard Survey โปรแกรมตรวจจับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลกที่เรียกว่า เทหวัตถุใกล้โลก ซึ่งขณะนี้พบแล้วมากกว่า 800 ดวง และนาซาหวังว่าจนถึงปี 2008 จะสามารถตรวจพบเทหวัตถุใกล้โลกได้จำนวน 90%

ปี 2029 ชาวโลกจะต้องระทึกใจ เมื่อดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (99942 Apophis) ขนาด 300 เมตร จะโคจรเฉียดโลกในระยะใกล้เพียง 18,640 ไมล์ หรือ 30,000 กิโลเมตร ใกล้กว่าดาวเทียมหลายดวง ในวันที่ 13 เมษายน 2029

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   4228

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Webboard Cho.Charoen Maritime Instruments

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network