สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ใช่"วาฬ"แต่เป็น"เห็ด"!
สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ใช่"วาฬ"แต่เป็น"เห็ด"!
โดย
มติชน วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10808

เผยสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไม่ใช่ วาฬสีน้ำเงิน
ที่หากโตเต็มที่แล้วจะมีความยาวถึง 33.5 เมตร และหนักราว 200 ตัน
เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "เห็ด"
ขนาดมหึมาที่ทำลายสถิติวาฬสีน้ำเงินลงได้โดยสิ้นเชิง

เห็ดยักษ์ดังกล่าวคือ อาร์มิลลาเรีย ออสโตเย (Armillaria Ostoyae) เป็นเห็ดในตระกูล
อาร์มิลลาเรีย หรือที่ชาวอเมริกันเรียกว่า "เห็ดน้ำผึ้ง" ค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1988
ในพื้นที่ป่าบลูเมาเท่นใน รัฐโอเรกอน ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
มีการวัดขนาดของมันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1992 พบว่ามันครอบคลุมพื้นที่ราว
6.5 ตารางกิโลเมตร ต่อมามีการวัดอีกทีในปี 2003
ขนาดของมันขยายขึ้นครอบคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ปัจจุบันนี้
เห็ดยักษ์ดังกล่าวที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ครอบคลุมพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 1,665
สนาม หรือเกือบเท่าๆ กับ 10 ตารางกิโลเมตร เลยทีเดียว

นักวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบมันยังไม่แน่ใจว่า
อายุของเห็ดยักษ์ที่รัฐโอเรกอนนี้เท่าใดกันแน่ แต่หากใช้อัตราการเติบโตในแต่ละปี ณ
เวลานี้มาใช้คำนวณจะได้อายุของเห็ดดังกล่าวนี้ว่าสูงถึง 2,400 ปี มาแล้ว
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ว่าเห็ดต้นนี้จะมีอายุเก่าแก่ถึง 8,650 ปี
ทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่อีกต่างหาก


ทีมของนักวิทยาศาสตร์ด้านป่าไม้และพันธุ์พืชของสหรัฐอเมริกาค้นพบเห็ดยักษ์ดังกล่าวนี้เมื่อเข้าไปตรวจสอบพื้นที่สำหรับจัดทำแผนที่ประชากรในป่าบลูเมาเท่น
ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของรัฐโอเรกอน โดยเก็บตัวอย่างจากส่วนต่างๆ
ของมันมาตรวจวิเคราะห์ในจานเพาะเลี้ยงเพื่อดูความเข้ากันได้ของมันที่จะแสดงให้เห็นว่ามันเป็นเห็ดต้นเดียวหรือไม่
ส่วนการวัดขนาดนั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการเก็บตัวอย่างจากริมขอบหลายๆ
ด้านมาตรวจดีเอ็นเอ เพื่อเปรียบเทียบว่ามันขยายตัวออกมาไปมากน้อยขนาดไหน


จากการตรวจสอบพบว่านอกจากเห็ดดังกล่าวจะมีพันธุกรรมที่ดีแล้วการที่มันยังมีชีวิตอยู่และเติบใหญ่ไปเรื่อยๆ
เป็นเพราะสภาวะแวดล้อมที่ไม่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ป่าดังกล่าว
นอกจากนั้นการที่มันมีส่วนหนึ่งคล้ายๆ
รากอากาศงอกออกมาจากดอกเห็ดสานต่อกันเป็นเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ
ช่วยทำให้เห็ดชนิดนี้ขยายตัวออกไปไม่หยุดยั้งเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ๆ
จนมีขนาดมหึมาดังกล่าว
