สารพัด “สิ่งมีชีวิต” ประหลาดใต้ทะเล
สารพัด “สิ่งมีชีวิต” ประหลาดใต้ทะเล
โดย
ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 17 ตุลาคม 2550 18:26 น.
กะพรุนทะเลลึก - หนึ่งในสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดที่บันทึกได้จากใต้ทะเลเซเลเบส
ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ โดยทีมสำรวจจากสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์ โฮล และเนชั่นแนล
จีโอกราฟิก ดำดิ่งลึกลงไปกว่า 5 ก.ม. ในบริเวณที่เรียกว่า "คอรอล ไทรแองเกิล"
ซึ่งเป็นดินแดนบรรจบกันระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
จนพบกับสัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน อาศัยอยู่ในแถบนั้นแห่งเดียว (ภาพ :
AFP /UNIVERSITY OF ALASKA)
เอพี/เอเอฟพี – พบ “สิ่งมีชีวิต” หน้าตาแปลกๆ ใต้ท้องทะเลกันอีกแล้ว
หลังนักวิทยาศาสตร์และทีมจากเนชันแนล จีโอกราฟิกมุดน้ำสำรวจก้นทะเลเซเลเบส
พบสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวนับล้านปี
เชื่อว่าบางชนิดยังไม่เคยมีผู้ใดพบมาก่อนหน้านี้ รวมถึงหนอนส้มมีหนวด
และแมงกะพรุนสีดำหน้าตาประหลาด
โครงการที่นำโดย ดร.ลาร์รี มาดิน (Dr. Larry Madin) แห่งสถาบันสมุทรศาสตร์ วูดส์
โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution) ในเมสซาซูเซ็ตส์
รวบรวมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์สำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเซเลเบส
(Celebes Sea) ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ พบตัวอย่างสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดกว่า 100
ชนิด
มาดิน นำภาพที่บันทึกได้ระหว่างการสำรวจออกเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ว่า
พวกเขาได้ลงไปสำรวจในใจกลางของบริเวณที่เรียกว่าสามเหลี่ยมปะการัง (coral triangle)
ซึ่งเป็นพรมแดนเชื่อมต่อระหว่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ซึ่งบริเวณดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูง
จุดลึกสุดของทะเลเซเลเบสอยู่ที่ 16,500 ฟุต แต่ทีมสำรวจเข้าถึงลึกสุดได้เพียงแค่
9,100 ฟุต ด้วยการใช้กล้องบันทึกภาพหย่อนลงไปแทนมนุษย์
กะพรุนอีกชนิดที่ทีมสำรวจค้นพบ (ภาพ : AFP PHOTO/LUIS LIWANAG)
“นี่น่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ดังกล่าว
เพราะมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์วิวัฒนการอยู่บริเวณนี้
และยังกระจัดกระจายไปตามมหาสมุทร” มาดินเล่า
ซึ่งโครงการของเขาได้รวมมือกับนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟิก (National Geographic
Magazine) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการจัดหาเรือสำรวจ
ทีมสำรวจมีนักวิทยาศาสตร์ร่วมด้วยกว่า 20 คน และทีมงานของเนชันแนล จีโอกราฟิก
รวมถึงเอมอรี คริสตอฟ (Emory Kristof) ช่างภาพใต้น้ำ
ที่เคยร่วมบันทึกภาพซากเรือไททานิกเมื่อปี 2528
ทั้งหมดใช้เวลา สำรวจอยู่กว่า 2 อาทิตย์ในทะเลเซเลเบส
ที่บริเวณจังหวัดทางตอนใต้ของดินแดนตากาล็อก และพวกเขาก็นำภาพต่างๆ
กลับมาโชว์ให้สื่อมวลชนได้ชมที่กรุงมะนิลา
หมึกกล้วยวัยเยาว์ มีขนาด 0.5 เซ็นติเมตร (ภาพ : AFP/Michael Aw/Ocean Geographic
Magazine)
ตัวอย่างที่พวกเขานำกลับมา มีหลายอย่างอาจเป็นสิ่งมีชิวตชนิดแรก อาทิ แตงกวาทะเล
ที่มีลักษณะเกือบโปร่งใส ว่ายน้ำได้ด้วยการงอตัวที่มีรูปร่างกลมๆ
ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือแมงกะพรุนสีดำ ที่พบใกล้กับก้นทะเล
แต่สิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจที่สุดสำหรับทีมงานก็คือ หนอนสีส้มที่ลำตัวเต็มไปด้วยหนาม
และยังมีหนวดอีก 10 เส้นเหมือนปลาหมึกก็ไม่ปาน ทีมสำรวจไม่รู้ว่าคือตัวอะไรกันแน่
แต่น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ที่ไม่เคยมีผู้ใดค้นพบมาก่อน
สารพัดสัตว์ที่ได้ตัวอย่างมา ทั้งกะพรุน, ปลาเรืองแสง, ปลาไหลจงอยปากยาว, กุ้งสีส้ม
และพวกสัตว์เรืองแสงต่างๆ (ภาพ : AFP/Michael Aw/Ocean Geographic Magazine)
มาดินบอกว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์
ที่จะศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดบ้างที่เพิ่งค้นพบจากการสำรวจครั้งนี้
โดยเขาคาดว่าจะสามารถรายงานได้อย่างเร็วก็เดือนหน้า
ทะเลเซเลเบส ล้อมรอบไปด้วยเกาะต่างๆ มากมาย และยังมีปะการังน้ำตื้นอยู่เป็นระยะ
ทำให้แบ่งออกจากทะเลอื่นๆ อย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งมีชีวิตต่างๆ
สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ยาวนาน โดยที่พวกเขาพบก็เชื่อว่าเป็นล้านๆ
ปีที่สิ่งมีชีวิตพวกนั้นอาศัยอยู่ โดยไม่แพร่กระจายไปพื้นที่อื่นๆ
บ็อกซ์ฟิช ปลาเหลี่ยมในกลุ่มปักเป้า ตัวนี้ยังละอ่อน มีขนาดลำตัวเพียงแต่ 1
เซ็นติเมตร (ภาพ : AFP/Michael Aw/Ocean Geographic Magazine)
อีกทั้งพวกเขายังเชื่อว่า น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ที่น่าสนใจอยู่บริเวณก้นทะเลอีกมากมาย
นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก แห่งหนึ่งในโลก
ทะเลเซเลเบส ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์