สมดุลแห่งชีวิต Giant clam
สมดุลแห่งชีวิต "Giant clam!"
โดย
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31
ฉบับที่ 3950
คอลัมน์ DeJavu
เรื่อง.
สุมิตรา จันทร์เงา
เสียงฮือฮาดังก้องเรือท้องกระจกทันทีที่ท้องเรือเคลื่อนผ่านมาถึงจุดสำคัญของแนวปะการัง
"นอร์มัน" ใน The Great Barrier Reef ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองแคนส์ราว
56 กิโลเมตร
ความรู้สึกเมื่อแรกเห็นนั้นมันบอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร
จำได้แต่ว่าขนลุกซู่ สะท้านไปทั้งตัวกับความตื่นตะลึงแทบไม่เชื่อสายตา
หอยมือเสือขนาดใหญ่ยักษ์ (Tridacna gigas)
กำลังอ้าฝาอยู่ท่ามกลางกลุ่มปะการังใหญ่น้อย และฝูงปลาหลากสี
ฝาทั้งสองข้างเปิดให้เห็นเนื้อเยื่อด้านในลักษณะยืดหยุ่นหยักเป็นคลื่นลอน
บนผิวเนื้อเยื่อนั้นมีจุดเล็กๆ สีสันหลากหลายทั้งเขียว ฟ้า ชมพู ม่วง
เปล่งประกายเรือง สะท้อนแสงอยู่ใต้ทะเล
สีสันหลากหลายเหล่านี้แท้จริงแล้วคือสาหร่ายจำพวกไดโนแฟลกเจลเลตที่มาอาศัยอยู่จำนวนมาก
เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน
คือนอกจากหอยมือเสือจะได้รับอาหารโดยการกรองกินแพลงก์ตอนในน้ำทะเลแล้ว
ยังได้รับสารอาหารจากการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายในเนื้อเยื่อของมันด้วย
ขณะที่สาหร่ายก็ได้ที่อยู่อาศัยจากหอยแลกเปลี่ยนกัน
จากลักษณะสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกับสาหร่ายนี้เองทำให้หอยมือเสือจำกัดการแพร่กระจายอยู่เฉพาะในเขตน้ำตื้นในแหล่งที่มีน้ำใสซึ่งแสงแดดสามารถส่องผ่านลงไปได้เพียงพอ
จึงมักพบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในระดับความลึกไม่เกิน 20 เมตร
ฉะนั้นไม่ต้องดำน้ำลึกก็มองเห็นได้
และเมื่อเห็นได้ง่ายก็มีโอกาสถูกทำลายได้ง่ายเช่นกัน
ที่น่าขนลุกก็คือขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของมันพอๆ กับรถโฟล์กเต่า
ยิ่งเมื่อมันอ้าฝาออกกว้าง และมองพิศนานๆ
ก็จะเห็นเนื้อเยื่อในฝาหอยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวช้าๆ
นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่ามีชีวิต
"เฮ้ ! แล้วนั่นอะไรน่ะ" เพื่อนนักข่าวชาวอินโดนีเซียที่ไปด้วยกันถามขึ้น
พร้อมกับชี้ให้ดูรูขนาดเท่าศีรษะเด็กตรงกลางเนื้อหอยที่ยื่นออกมาเป็นท่อสั้นๆ
รูนั้นเคลื่อนไหวส่ายไปมาด้วย มันคือปากหอย...ที่พร้อมจะฮุบเหยื่อ !
เวลาผ่านไปสักพักเจ้าหอยยักษ์เริ่มขยับฝา
แต่กว่าเนื้อเยื่อที่แผ่ออกมานอกเปลือกจะหลุบเข้าไปข้างในได้ก็ใช้เวลาไม่น้อย
ระหว่างนั้นรูกลมๆ ที่เป็นปากก็พ่นฟองอากาศออกมา
ไกด์บอกว่านี่คือขั้นตอนของการรีดน้ำออกจากตัวหอยก่อนที่มันจะปิดฝาลงจนสนิท
ไม่อยากจินตนาการเลยว่า ถ้าหากตัวเราไปติดอยู่ระหว่างฝาหอยที่กำลังปิด
อะไรจะเกิดขึ้น !
นักดำน้ำทั่วโลกที่หลงใหลชีวิตสัตว์ใต้ทะเล
หากอยากจะเห็นหอยมือเสือยักษ์ก็ต้องมุ่งหน้าสู่ทะเลใต้
และแนวปะการังใหญ่ของออสเตรเลียคือแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของหอยนี้
รับรองว่าไปดูเมื่อไหร่จะได้เห็นเมื่อนั้น
และถึงจะดำน้ำไม่เป็นก็ดูได้โดยตัวไม่เปียก
ด้วยเรือท้องกระจกขนาดใหญ่ที่สะดวกปลอดภัย
ต้องชื่นชมว่าออสเตรเลียจัดการท่องเที่ยวชมแนวปะการังอันเป็นที่รักและหวงแหนของพวกเขาได้อย่างยอดเยี่ยมมาก
และน่าเสียดายจริงๆ เมื่อรู้ว่าท้องทะเลไทยก็เคยมีหอยมือเสือชนิดนี้มาก่อน
แต่มันได้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว (เคยมีการพบเปลือกหอยยักษ์จำนวน 5 ฝา
ที่เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต แต่ละเปลือกมีขนาดความยาวตั้งแต่ 87-98 ซ.ม.
มีน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม)
นี่คือสุดยอดของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังใหญ่ของโลกที่มีโอกาสได้เห็นเมื่อหลายปีก่อน
และยังฝังตรึงอยู่ในความทรงจำตลอดมา
หอยมือเสือตัวนั้นเป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักอยู่เสมอว่า
สมดุลแห่งชีวิตคือการเรียนรู้ที่จะให้และรับสัตว์ตัวใหญ่บางทีก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ยอมให้สัตว์เล็กๆ
คอยเบียดเบียนเสียบ้าง