Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Advertising in marinerthai.net TOP Engineering Group - UAV Thailand

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นาวาสถาปัตยกรรมแห่งรัชสมัย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นาวาสถาปัตยกรรมแห่งรัชสมัย


โดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพวันอาทิตย์ - กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 20 ฉบับที่ 593 วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ปิ่นอนงค์ ปานชื่น เรียบเรียงจากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับงานศิลปะและการออกแบบ ประกอบบทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนนท์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

สถาปัตยกรรม คือ ศิลปะ หรือ วิชาว่าด้วยการก่อสร้าง ส่วน นาวา ตามราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้หมายถึง เรือ โดยศาสตราจารย์ พลเรือโทสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ และราชบัณฑิตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาวาสถาปัตยกรรมได้ให้ความหมายไว้ว่า วิชานาวาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Naval Architecture) คือวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะและเทคนิคการออกแบบเรือและประโยชน์ในการใช้สอยเรือ

ดังนั้นเราคงจะพออนุมานความหมายของนาวาสถาปัตยกรรมไว้ว่า ศิลปะและเทคนิคว่าด้วยการออกแบบและการสร้างเรือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนนท์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการฝ่ายรวบรวมงานในพระราชกรณียกิจ ให้เหตุผลในการเลือกรูปเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ มาเป็นภาพบัตรเชิญ โปสเตอร์ สูจิบัตร และ หนังสือชื่อ สำหรับนิทรรศการ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ " ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มีใจความว่า

"งานครั้งนี้มีความสำคัญ เพราะว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ และเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยทางศิลปะรับผิดชอบ ผมคิดว่าน่าจะมีบุคลิกทางการออกแบบบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือที่ใช้ รวมไปถึงการเลือกรูป ฝ่ายออกแบบเสนอว่าให้เป็นรูปโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือลำนี้คลาสสิก ในการออกแบบ คือ คลาสสิกจริงแต่มีดีไซน์ร่วมสมัย คือ ไม่ใช่รูปโขนเรืออย่างเดียว แต่มีดีไซน์ของเราเข้าไปด้วย ทุกคนสามารถถ่ายรูปโขนเรือนำมาเป็นปกได้แต่ว่าของเรามีอย่างนี้ ให้เห็นว่าเป็นดีไซน์ของเรา" ผศ.สุนนท์ กล่าวถึงลายเส้นคล้ายเกลียวคลื่นที่ปรากฏอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์

"ประเด็นของโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ในแง่ของทางศิลปะเราถือว่าเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในรัชสมัย เพราะเหตุว่าคนออกแบบเขาคิดลายก้านขดหัวลายเป็นครุฑ เป็นลายที่พัฒนาขึ้นมาในรัชสมัย คือ คนออกแบบเขาศึกษามาจากลายในอยุธยา วิธีคิดผสมผสานกับลวดลายแบบ symmetryของ รัตนโกสินทร์แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นลายก้านขดหัวครุฑ เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ในด้านศิลปกรรมถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นในรัชกาล

ด้วยเหตุที่เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ถือว่าเป็นงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในรัชกาล ประกอบกับองค์ความรู้ที่ใส่ไปในการออกแบบและสร้างเรือลำนี้ เป็นการรวมความรู้ทางด้านจิตรกรรม เรือพระที่นั่งเป็นนาวาสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องกับคณะสถาปัตย์ งานศิลปะตกแต่งเกี่ยวข้องกับคณะมัณฑนศิลป์ ส่วนโขนเรือเดิมอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดเป็นโบราณวัตถุ เกี่ยวข้องกับคณะโบราณคดี เกี่ยวข้องกับคณะทั้งหมดที่ร่วมมือการทำงาน แถมยังบ่งบอกถึงงานศิลปกรรมประจำรัชสมัยจึงมีความสมบูรณ์ ครบถ้วน" ทั้งความหมายและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์ และ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

"พอได้ภาพนี้แล้ว ในการออกแบบต้องมีอนุกรมของมัน เพราะในด้านสิ่งพิมพ์จะมีหนังสือ โปสเตอร์ สูจิบัตร บัตรเชิญ จะต้องจำลองดีไซน์ของอันนี้ลงไปในสูจิบัตร บัตรเชิญ โปสเตอร์จึงเป็นรูปโขนเรือพิมพ์ลงกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีข้อมูลครบ สูจิบัตรเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กลงมาหน่อยเป็นหนังสือเล่มเล็ก มีข้อมูลครบถ้วน ที่เราคิดว่าจะต้องเกี่ยวข้องคือบัตรเชิญ คิดให้มันดึงดูด เป็นเรื่องซีรีส์ของการออกแบบ ให้มีความสัมพันธ์กัน "


นาวาสถาปัตยกรรมแห่งรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านนาวาสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทรงประดิษฐ์เรือรบจำลองด้วยพระองค์เอง และต่อมาพระองค์ก็ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งอีกหลายลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือราชปะแตน เรือใบมด จนถึงเรือโม้ก หรือแม้แต่การที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพเรือต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดต.91 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงเรือต.991 ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอันเป็นประโยชน์ต่อคณะทำงานเป็นอย่างยิ่ง และยังรวมถึงการที่พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือพระที่นั่งลำใหม่ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” ซึ่งกองทัพเรือและกรมศิลปากรได้นำนามพระราชทานนี้มาเป็นแนวทางในการจัดสร้างเรือพระที่นั่งดังกล่าวเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านในเวลาต่อมา และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในงานด้านนาวาสถาปัตยกรรมใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างดี

ผศ.สุนนท์ อธิบายถึงนาวาสถาปัตยกรรมให้เข้าใจอย่างง่ายๆ โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพกล่าวคือ "การสร้างเรือ เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่าย คุณดูเรือมหาเศรษฐี อย่างเช่น ไททานิค นั่นมันโรงแรมนะ มีห้องดินเนอร์ ห้องจัดเลี้ยง เป็นสถาปัตยกรรมที่ลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มี เรียกง่ายๆโรงแรมลอยน้ำ เหล่านี้คือ นาวาสถาปัตยกรรม"

อาจารย์สุนนท์เปิดเผยว่า เดิมทีไม่ได้สนใจเรือพระที่นั่งลำนี้มากเท่าไรนัก ครั้นเมื่อได้ลงมือค้นคว้า สืบค้นข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร หรือ การสัมภาษณ์บุคคล ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งพบว่าเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นี้มีความสำคัญ มีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การลงมือสร้าง ไปจนถึงงานศิลปกรรมที่รวมทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งรัชสมัย

"เรือพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ที่มีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ ส่วนลำเรือใช้ไม้ตะเคียนทอง โขนเรือเป็นไม้สัก เรียกว่า ส่วนพ้นน้ำเป็นไม้สักทอง ส่วนที่อยู่ในน้ำเป็นไม้ตะเคียนทอง เป็นไม้ที่โดนน้ำแล้วสบายบรื๋อเลย วิธีการสร้างก็น่าสนใจมากเลย แรกๆ ก็เฉยๆ นะแต่พอได้ไปอ่านหนังสือของกองทัพเรือ เวลาสร้างเขาเขียนไว้ชัดเจนเลยตั้งแต่วันวางกระดูกงูจนถึงวันสุดท้าย

ผมเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่ต่อเนื่องมาจากสมัยอยุธยามีขั้นตอนละเอียด เช่น วางกระดูกงูเมื่อไหร่ ขึ้นกง กระดูกงู คือกระดูกปลายสันหลัง อ่านแล้วเข้าใจเลยว่าการสร้างเรือไม่ว่าจะยุคโรมัน หรือสมัยไหน สร้างขึ้นตามระบบร่างกายมนุษย์ทั้งสิ้น กงเรือตอนแรกผมไม่เข้าใจพอภาษาอังกฤษบอกว่า rib นี้เข้าใจเลย

วิธีสร้างพอประกอบกระดูกงูเรือ กงเรือ เปลือกเรือ ถามว่าเขาจะทำลายทำอย่างไร เขาจะใช้ไม้ปะกับไปกับเปลือกเรือ แล้วลอกลายลงไป ถอดออกมาแกะข้างนอก นำมาประกอบใหม่ พวกนี้เป็นไม้ชิ้นๆ นำมาต่อกัน น่าสนใจมาก"

นอกจากนี้อาจารย์ยังพบว่า เดิมทีทางกองทัพเรือมีความคิดที่จะสร้างเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ขึ้นอีกหนึ่งลำ (เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรือพระที่นั่งที่สร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรือลำแรกนั้นมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช --วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี) จึงไปปรึกษากับทางกรมศิลปากร

"กรมศิลป์แนะว่าไม่ควรสร้าง แต่เสนอให้สร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เพราะว่าเรือสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เดิมไม่มีพระนารายณ์ต่อมาลำเรือโดนระเบิด ลำเรือเสียหาย โขนเรืออยู่ในพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากรเสนอว่าสร้างลำนี้สิ ตกลงสร้างแล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

เดิมคิดว่าจะก๊อบปี้ ทั้งขนาดเพราะมีบันทึกเอาไว้หมด เมื่อพระองค์ท่านพระราชทานนามว่าเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ พี่อาวุธ (เงินชูกลิ่น) เขาถวายงานพระองค์ท่านมามาก รู้เลยว่าทรงมีพระราชประสงค์ไม่ให้ก๊อบปี้ แต่ให้ใช้แบบโขนเรือเดิม จึงสร้างใหม่ทั้งลำ สั้นกว่าเรือสุพรรณหงส์ เทียบจากน้ำหนัก ฝีพาย พอพระราชทานนามมา พี่อาวุธสบายใจว่าไม่ให้ก๊อบปี้ให้ครีเอทขึ้นมาใหม่

ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะให้ใครมาเขียนลาย วันหนึ่งพี่อาวุธไปที่สำนักช่างสิบหมู่ไปเห็นลาย คนเขียนไม่รู้ไปไหน ก็ไปตามตัวมาชื่อนิคม พลเยี่ยม มีโจทย์ว่า ต้องเป็นงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เขาก็คิดขึ้นมาใหม่ ตรงนี้สำคัญ ไม่ได้ลอก แต่เป็นการสืบสานและพัฒนา ไม่ได้ลอกแต่ต้องรู้ของเก่า คนนี้มีฝีมือ ผมเชิญเขามาถวายคำอธิบายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่เสด็จมาทรงเปิดนิทรรศการ ที่ศิลปากรเรามีประเพณี คือ เราให้เกียรติคนทำงาน "

แม้จะออกตัวว่าเป็น "ช่าง" ไม่ถนัดงานเขียนหนังสือ แต่เมื่อได้ลงมือเป็นนักเขียน ค้นคว้าข้อมูล รวมทั้งเป็นบรรณาธิการ หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับศิลปะและการออกแบบ ผศ.สุนนท์ กล่าวว่างานนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ความพยายาม ของคณะทำงานทุกคน "ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ...มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรให้พระองค์ท่าน ก็เต็มใจทำโดยที่ไม่ต้องการอะไร" อาจารย์กล่าวสั้นๆ ก่อนเชื้อเชิญคนไทยไปชมนิทรรศการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับศิลปะและการออกแบบ จัดแสดงพระราชกรณียกิจด้านจิตรกรรม มัณฑนศิลป์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ถือเป็นหนึ่งใน "ผลงานชิ้นเอก" ในด้านนี้

"แต่ก่อนเราอาจรู้สึกว่าเราไม่ค่อยทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงงานอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่คนเห็นชัดๆ คือการทรงดนตรี งานครั้งนี้พอทำไปเรื่อยๆ เราพบงานที่มีลักษณะที่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับงานทัศนศิลป์ซึ่งผมคิดว่ามีความกว้างขวาง ครอบคลุม เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่านอกจากเป็นประโยชน์ด้านสุนทรียภาพแล้วยังมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การแก้ไขปัญหาด้านการจราจร การบำบัดน้ำเสีย น้ำท่วม ท่านทรงงานไว้ค่อนข้างครบถ้วนเราคิดว่าการรวบรวมครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจความมีอัจฉริยภาพของท่านในแง่ที่นอกเหนือไปจากศิลปะด้านอื่นๆ รวมถึงการออกแบบที่เรารับทราบโดยทั่วกัน เรายังมีเรื่องอีกหลายเรื่องในด้านศิลปะและการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นในสเกลใหญ่ๆ ด้านสถาปัตยกรรมที่มีพระราชดำริ มีพระราชวินิจฉัยไว้ และงานออกแบบทางมัณฑนศิลป์ที่เป็นงานเล็กๆ จะเห็นว่ามีความครบถ้วน น่าสนใจมาก

คิดว่าคนอาจไม่ค่อยทราบกันมากนัก การรวบรวมครั้งนี้เปรียบเสมือนการบันทึกอันหนึ่งซึ่งทำให้ประชาชน คนทั่วไปและคนที่รักในงานทัศนศิลป์จะได้ทราบถึงที่มาที่ไปของแต่ละงาน มันไม่ได้มาจากผู้ออกแบบอย่างเดียวแต่ท่านทรงมีส่วนร่วมในด้านการให้พระราชวินิจฉัยต่างๆ ซึ่งทำให้งานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น"

รองศาสตราจารย์ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้นิทรรศการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ จัดแสดงผลงานภาพจิตรกรรมในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก (ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจำลองภาพ) ภาพขยายเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ขนาดสองเมตร หุ่นจำลองพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หุ่นจำลองพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา เป็นต้น ณ หอศิลป์ วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 1-28 ธันวาคม 2550

ส่วน หนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับศิลปะและการออกแบบ มีวางจำหน่ายในนิทรรศการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานอธิการบดี โทร. 02-880-7730


เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 กองทัพเรือจึงได้มีหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือลำนี้ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นับเป็นเรือพระราชพิธีลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน หลังจากแผ่นว่างเว้นการต่อเรือพระที่นั่งในกระบวนเรือพระราชพิธีมาแล้วกว่า 80 ปี ซึ่งเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีชื่อว่า "เรือมงคลสุบรรณ" มีหัวเรือเป็นรูปครุฑพ่าห์ แต่ไม่มีพระนารายณ์ทรงประทับ โดยมีพระราชประสงค์ในการสร้างตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่าไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่๔ ได้มีการเสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ แล้วขนานนามเรือลำใหม่นี้ว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ”

การจัดสร้างเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นั้น เดิมทีกองทัพเรือจะจัดสร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ขึ้นมาอีกลำหนึ่ง เพื่อเคียงคู่กับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำเดิม แต่นาวาเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติและอดีตอธิบดีกรมศิลปากรเห็นว่าจะเป็นการไม่สมควรที่จะมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ถึง 2 ลำในเวลาเดียวกัน จึงเสนอว่าควรนำโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณซึ่งถูกเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาซ่อมแซม โดยกองทัพเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือเพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่ถูกระเบิดเสียหายไปหมด ส่วนกรมศิลปากรจะเป็นผู้รับผิดชอบในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด โดยยึดแบบอย่างเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมไว้ทุกประการ และยังใช้ชื่อเดิมว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ”

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามเรือพระราชพิธีลำใหม่นี้ว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” และคณะทำงานได้รับพระราชทานแนวทางในการออกแบบเรือลำใหม่ โดยการวิเคราะห์จากชื่อเรือ ซึ่งมีความหมายว่าในการออกแบบเรือลำใหม่นั้น คณะทำงานไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลอกแบบเรือลำเดิมทั้งหมด เนื่องจากเป็นเรือที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่๙ ดังนั้นเรือลำใหม่นี้จึงได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงยึดถือแบบเรือลำเดิมเฉพาะส่วนที่เป็นโขนเรือรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งทำให้กองทัพเรือและกรมศิลปากรสามารถดำเนินการจัดสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ได้โดยสะดวกและมีความรวดเร็วขึ้น

การสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ใช้วิธีการของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นผสมกับเทคนิคการต่อเรือสมัยใหม่ การออกแบบและการคำนวณโครงสร้างใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการทำงาน การต่อเรือใช้วิธีประกอบโครงสร้างเรือขึ้นจากกงเรือและกระดูกงูเรือ จานนั้นใช้ไม้แผ่นประกอบเป็นเปลือกเรือแล้วจึงประกอบโขนเรือและส่วนหางท้ายเรือเข้ากับลำตัวเรือ โขนเรือแกะสลักขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แต่มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย โครงสร้างโดยทั่วไปเป็นไม้ตะเคียนทอง โขนเรือและส่วนหางท้ายเรือเป็นไม้สักทอง เรือพระที่นั่งลำใหม่ใช้ความยาวของเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์เป็นเกณฑ์แต่มีขนาดสั้นกว่าเล็กน้อย ฝีพายมีจำนวนเท่ากับฝีพายของเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์

ส่วนลวดลายประดับเรือนั้น เรือพระที่นั่งลำเดิมเป็นลวดลายดอกพุดตานซึ่งเป็นลายที่นิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ลวดลายใหม่เป็นลวดลายที่ออกแบบขึ้นตามแนวคิดที่ได้พัฒนามาจากชื่อเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ลวดลายดังกล่าวออกแบบโดย นายนิคม พลเยี่ยม ช่างศิลป์ของกรมศิลปากร

ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็นก้านขดใบเทศ มีครุฑประกอบที่กัวก้านขด ส่วนท้ายเรือบริเวณแก้มเรือตกแต่งด้วยลดลายก้านขดกนกเปลว ตอนปลายสุดของท้ายเรือเป็นลายสร้อยหางครุฑ ลายประดับเรือพระที่นั่งพัฒนาขึ้นมาจากลายก้านขดสมัยอยุธยาผสมผสานกับลักษณะลายแบบสมมาตรของลายไทยสมัยรัตนโกสินทร์ และเนื่องจากเป็นลวดลายที่ได้พัฒนารูปแบบขึ้นมาใหม่ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นลายไทยสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งออกแบบโดยคนร่วมสมัย และสามารถแสดงเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ให้มีความโดดเด่นขึ้น

ในส่วนของบัลลังก์กัญญาเรือนั้น ลวดลายที่บริเวณพนักบัลลังก์เป็นลายแกะสลักรูปครุฑลงรักปิดทองประดับกระจก แผงพนักพิงแกะเซาะร่องเป็นลวดลายพรรณพฤกษาลงรักปิดทอง ไม่ประดับกระจก ส่วนสีของเรือยังคงใช้สีตามแบบเรือพระที่นั่งลำเดิม หลังคาเป็นผ้าประดับด้วยแผ่นทองแผ่ลวด ผ้าม่านประดับด้วยทองคำแผ่ลวดเช่นเดียวกัน

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา อันได้แต่ ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑซึ่งกำลังหยุดนาค โขนเรือแกะสลักจากไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ลำเรือแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกโดยตลอด พื้นเรือสีแดงชาดเช่นเดียวกับสีลำตัวของพญาครุฑ ตัวเรือมีขนาดกว้าง 3.20 เมตร น้ำหนัก 20 ตัน ฝีพายจำนวน 50 นาย และนายท้าย 2 นาย

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   16406

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Mariner English Articles Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network