Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

MarinerThai 2004 Co., Ltd. TOP Engineering Group - UAV Thailand

เปิดเล เขเรือ ตัวตนคนทะเล

เปิดเล เขเรือ ตัวตนคนทะเล


โดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ส่วนหนึ่งของเรือหัวโทงของชาวเลกว่า 300 ลำ ที่ลอยลำรอรับ "เกลอควน" (เพื่อนที่อยู่ดอน) ลงทะเล ในงาน "เปิดเล เขเรือ" ครั้งที่ 2

'เปิดเล เขเรือ' กิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ที่เกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ นอกจากแสดงความพร้อมในการกลับมาดำเนินชีวิตปกติหลังคลื่นร้ายพัดผ่านไป การแสดงคารวะต่อท้องทะเล ยังต่อเนื่องไปถึงการยืนยันวัฒนธรรมของพวกเขาเหล่าคนทะเล แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา มีรายงาน

คันท้ายติดเครื่องยนต์เอี้ยวหมุนด้วยแรงโถม เมื่อใบพัดที่หมุนติ้วกลับคืนทะเล เรือหัวโทงก็บ่ายหน้าหมุนวนไปตามทิศทางที่ 'บังเษม' หรือ เกษม หาญทะเล คัดท้ายเลี้ยวรอบเทียวทักเรือหัวโทงลำอื่นๆ ราวกับปลุกปลอบกำลังใจให้เพื่อนชาวประมงนับร้อยฮึกเหิมก่อนออกรบ

ครั้นได้ฤกษ์งามยามเหมาะ โต๊ะอิหม่ามและโต๊ะหมอทำพิธีขอพรจากพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องทะเลบนท่าเรือ อวยชัยให้เรือหัวโทงเดินหน้าตามความมุ่งมั่น เครื่องยนต์เรือหัวโทงกว่า 300 ลำพร้อมใจคำรามกู่เสียงก้อง พาเรือและเจ้าของทะยานสู่ท้องทะเลเฉกเช่นที่เป็นมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงจุดหมายในวันนี้มิได้อยู่ที่แหล่งกุ้งปลา แต่เป็นการ 'เขเรือ' หรือแล่นเรือรอบเกาะลันตาเพื่อทวงถามถึงสิทธิแห่งเจ้าของบ้านและผู้ดูแลทรัพยากร

เรือแล่นลิ่ว ทิวธงพลิ้วสะบัด เจ้าของเรือทั้งที่เป็นชาวไทยเชื้อสายอูรักลาโว้ย ไทยมุสลิม และไทยจีนยืนเด่นเป็นสง่า นี่คือความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันเป็นเสน่ห์แห่งการอยู่ร่วมอย่างกลมเกลียวบน 'เกาะลันตา' จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายในทะเลอันดามันที่กำลังเติบใหญ่ และกำลังถูกหมายปองจากโครงการพัฒนาและการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

สมชาย มุดา หรือ 'บังแหมน' ยืนมองเรือหัวโทงอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตาที่เพิ่งเปิดตัวได้อย่างสวยงาม ในใจคงคิดถึงวันที่คลื่นซัดเข้าฝั่ง พัดพาเรือ บ้าน และทำลายทุกสิ่งที่ขวางทาง แต่ 6 เดือนที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวในฐานะผู้รอรับบริจาค เรือไม่มีออกทะเล กลับเป็นเวลาที่พวกเขาได้ทบทวนความหมายและความต้องการของตัวเอง

บังแหมนย้อนเล่าเรื่องราวตอนนั้นว่า หลังจากคลื่นยักษ์พัดผ่านไป แต่ละหมู่บ้านค่อยๆ ทยอยลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันซ่อมบ้านสร้างเรือ กระทั่งชาวประมงได้เรือและเครื่องยนต์ 124 ลำกลับคืน บ้านริมทะเลที่เสียหาย 40 หลังซ่อมเสร็จ บ้านที่ซ่อมไม่ได้ก็สร้างขึ้นใหม่ 54 หลัง สามารถฟื้นฟูความสามารถในการพึ่งพิงตนเองขึ้นมาใหม่ รองเง็ง-รำมะนาของชาวเกาะกลับมาให้เสียงสดใสกับผู้คนอีกครั้ง

งาน 'เปิดเล เขเรือ ครั้งที่ 1' เมื่อ 8 ธันวาคม 2549 เป็นเวลาที่ชาวหมู่บ้านในนาม 'เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา' ได้แสดงความขอบคุณความช่วยเหลือจากองค์กร แหล่งทุนต่างๆ และได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการยืนยันจะสืบสานปรัชญา แห่งชีวิตที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยใช้ คือการน้อมรับและปรับตัวไปตามธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ตรงข้ามฝั่งทะเลที่บังแหมนยืนอยู่คือบ้านเกาะปอของบังเษม เกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเกาะลันตาใหญ่ประมาณ 10 นาทีโดยเรือหัวโทง ชาวเกาะได้ร้องขอไฟฟ้าไปเมื่อปี 2538 วันนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน แต่ชาวเกาะปอกลับดีใจและไม่อยากได้ไฟฟ้าอีกแล้ว

แบบจำลองเรือปลาจั๊ก ทำจากพลาสติก พิพิธภัณฑ์ชาวเกาะลันตา

เอียด ย่าเหม ผู้ใหญ่บ้านเกาะปอ เกาะเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะลันตา เล่าถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากปี 2538 เรื่อยมา จนถึงช่วงก่อนวิกฤติหลังสึนามิ ที่ดินบนเกาะลันตาและเกาะปอถูกนายทุนกว้านซื้อไปเกินกว่าครึ่ง ในวันนี้ที่เกาะปอแม้จะยังไม่เห็นการปลูกสร้างแปลกปลอมใดๆ ในพื้นที่ แต่ชาวเกาะปอก็เกรงว่าเมื่อหากไฟฟ้าเข้ามาถึงเกาะ ธุรกิจการท่องเที่ยวก็จะเกิดตามขึ้นมาด้วย ชาวเกาะปอซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดจึงเกรงว่าวัฒนธรรมใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างแดนอาจจะเข้ามาทำลายศรัทธา ความเชื่อ และวัฒนธรรมของลูกหลานบนเกาะ ดังเช่นที่เห็นตัวอย่างมาแล้วในหลายพื้นที่บนเกาะลันตาใหญ่

หลังการทำงานมา 3 ปีเป้าหมายในปัจจุบันของ 'เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา' อยู่ที่การฟื้นฟูวัฒนธรรมและความเชื่อของทุกชาติพันธุ์บนเกาะที่ยังดำรงชีวิตมาอย่างเคารพในทรัพยากรและธรรมชาติ ดังที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในงานเปิดเล เขเรือ ครั้ง 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า

“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์สึนามิ เรายังคงทำงานอย่างจริงจังในการดูแลรักษาป่าชายเลน ด้วยการปลูกเพิ่ม รักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่เดิมไว้ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เราออกลาดตระเวนตรวจจับการลักลอบตัดไม้ และสร้างกฎระเบียบชุมชนขึ้นมา เพื่อให้ชาวชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างพอดี ฉลาดที่จะใช้ประโยชน์และรู้จักวิธีดูแลรักษาปกป้องมัน

เรา...เฝ้าระวังปกป้องทะเล ทักท้วงและส่งเสียงร้องบอก อย่าทำร้ายทะเล เพราะทะเลคือชีวิตของเรา ให้สรรพสัตว์เป็นอาหาร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทะเล อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของครอบครัวและญาติพี่น้องของเราที่วันนี้ยังพึ่งพาอยู่กับทะเล

สิ่งที่เราทำในวันนี้...คือการดูแลและปกป้องสิทธิของธรรมชาติที่ควรให้เขาอยู่อย่างสงบไม่มีใครไปรบกวนเขามากจนเกินไป เราร่วมกันร่างกฎระเบียบชุมชนบังคับใช้ในหมู่พี่น้องของเราที่ครอบคลุมถึงความร่วมมือ การประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามครรลองศาสนาและจารีตวัฒนธรรม รวมถึงการอนุรักษ์ทะเลและทรัพยากรธรรมชาติ

เราวางแผนการจัดการทรัพยากรในวันนี้เพื่อให้ลูกหลานได้ใช้ในวันข้างหน้า และรักษาสมดุลของธรรมชาติให้มีวิวัฒนาการไปตามครรลองของธรรมชาติ ...เพื่อประกาศว่าเราพร้อมใจกันที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษาทะเลและธรรมชาติด้วยชีวิตของเรา

เราขออัลลอักบัร ขออัลเลาะห์ผู้ทรงยิ่งใหญ่จงคุ้มครองผองเราและลูกหลาน และขอตั้งจิตสื่อสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทะเลในมหาสมุทรที่เรานับถือ ช่วยเป็นพยานและสานฝันให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเราจงประสบผล...”

ริ้วขบวนเรือหัวโทงยังคงโต้คลื่นไปข้างหน้า ใต้ท้องเรือในทะเลแห่งนี้ยังมีปูปลากุ้งหอยให้หากิน ผ่านแนวยาวของป่าชายเลนที่ชุมชนช่วยกันดูแลฟื้นฟูและจัดรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชนไว้เป็นทางเลือก บนภูสูงป่าไม้ ต้นน้ำ และสรรพชีวิตได้รับการปกป้องรักษา ป่า เขา ที่ราบ และทะเล ต่อไปชุมชนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนอย่างครบวงจร

“ถามว่าเราแข็งแรงหรือยัง ตอบได้ว่าเรายังไม่เต็มที่เท่าไหร่เพราะเรายังทำงานหนักอยู่ ชุมชนหลายชุมชนเพิ่งเริ่มปรับตัวมาตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร เราเห็นอนาคตแน่นอนว่าเกาะนี้เราคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับเกาะท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกาะกลายเป็นของนายทุนและนักท่องเที่ยวทั้งหมด มาถึงตอนนี้เราก็ยังบอกอนาคตตัวเองไม่ได้ เราจะอยู่ยังไงก็บอกไม่ถูกเพราะคนนอกมันเยอะ สิ่งที่ทำก็หวังว่าทุกคนจะเห็น ซึ่งพอเป็นรูปธรรมชุมชนบนเกาะทั้งหมดน่าจะร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้น” ผู้ใหญ่เอียดบอก

เรือแล่นมาถึงชายหาดย่านการท่องเที่ยว อูรักลาโว้ยบนเรือหลายลำยังมองลึกลงไปใต้ผืนทรายที่บรรพบุรุษของเขาฝังร่างอยู่ 'เปลว' หรือสุสานบนหาดคลองดาวยังคงเห็นพวงมาลัยประดับให้นักไวโอลินของบ้านในไร่ที่เพิ่งสิ้นลมหลังจากสีไวโอลินก่อนพิธีลอยเรือปาจั๊ก เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สมบูรณ์ ช้างน้ำ หรือ 'บังบูรณ์' ผู้สืบเชื้อสายยิปซีทะเล 'อูรักลาโว้ย' เล่าว่า เมื่อ 500 ปีที่แล้วบรรพบุรุษของเขาตัดสินใจครั้งใหญ่ จอดเรือที่ใช้ต่างบ้าน อพยพขึ้นมาบุกเบิกอาศัยบนเกาะลันตาเป็นชนกลุ่มแรก ก่อนมุสลิมและชาวจีนจะตามเข้ามาอยู่อีก 300 ปีให้หลัง อูรักลาโว้ยมักจะใช้พื้นที่บนชายหาดเป็นที่ฝังศพญาติมิตรเพื่อให้ผู้จากไปได้นอนหลับฟังเสียงคลื่นลมทะเล คอยอวยพรให้ลูกหลานที่ออกทะเลไปหาปลา และต้อนรับกลับเมื่อถึงฝั่งอย่างปลอดภัยมาถึงทุกวันนี้

แต่ช่วงสิบปีเรื่อยมาจนถึงหลังสึนามิสุสานบนหาดค่อยๆ กลายเป็นที่มีเอกสารสิทธิ พื้นที่ทางจิตวิญญาณถูกเบียดบังให้เล็กลงด้วยรั้วรอบของบังกะโล-รีสอร์ท สุสานหลายพื้นที่ลูกหลานจำต้องขุดร่างบรรพบุรุษทยอยขึ้นไปฝังยังแผ่นดินอื่น ในขณะที่นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตบนเกาะได้อย่างเสรี แต่ที่อยู่ที่ทำกินของอูรักลาโว้ยผู้บุกเบิกเกาะหาได้มีเอกสารสิทธิยืนยันความเป็นเจ้าของ

ในสายตาของบังบูรณ์ ตลอดแนวชายหาดท่องเที่ยวที่เรือหัวโทงนับร้อยกำลังแล่นผ่านอย่างคึกคักนั้น อาจเทียบไม่ได้กับความคลาคล่ำของสถานประกอบการท่องเที่ยว และรูปแบบชีวิตและพฤติกรรมใหม่ๆ ของคนต่างถิ่น ที่คอยดึงดูดชาวเกาะให้ผกผันวิถีชีวิตจากประมงหรือเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบจ้างงานในธุรกิจการท่องเที่ยว และค่อยๆ กลืนกินกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

ด้วยจิตวิญญาณแห่งความสงบของทะเลที่ไหลเวียนอยู่ในสายเลือด บังบูรณ์อดสะท้อนใจไม่ได้เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวมองดูพวกเขาอย่างเวทนา หรือเห็นพิธีกรรมของอูรักลาโว้ยกลายเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว ลูกหลานลืมภาษา ลืมรากเหง้า และทักษะการพึ่งตนเอง ในขณะที่จิตใจภายในยังไม่ได้ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

“เพราะเรายังอยากอยู่กันอย่างสงบ เราต้องไม่กลัว เราต้องออกไปบอกว่าเราเป็นอูรักลาโว้ย เราอยู่ที่นี่ แล้วก็ไปดูว่าข้างนอกเป็นกันอย่างไร เขาคิดอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง แล้วเอากลับมาเล่าให้คนในหมู่บ้านฟัง ...อูรักลาโว้ยจะอยู่ได้ก็ต้องมาจากคนอูรักลาโว้ยช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งหมดด้วย” บังบูรณ์พูด

ในที่สุดไต๋เรือก็นำขบวนหัวโทงวิ่งมาเกือบครบรอบ เมื่อผ่านหมู่บ้านสังกาอู้ หนึ่งในถิ่นฐานของอูรักลาโว้ยบนเกาะลันตา ศิลปินรองเง็งและนางรำก็คอยท่าเตรียมพร้อมจะบรรเลงบทเพลงแห่งจิตวิญญาณอยู่บนศาลารองเง็ง - หอชาติพันธุ์ชาวเลที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จ

ปาณัสม์ ชูช่วย ครึ้ม ไชยสาร และวิทิต เติมผลบุญ ศิลปินผู้รวบรวมและถ่ายทอดเรื่องราวของภูมิปัญญา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของอูรักลาโว้ย บรรยายถึงความสง่างามลึกซึ้งของเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งชนเผ่าผ่านงานจิตรกรรมและประติมากรรมไว้ราวกับมีชีวิต

เมื่อศาลาแห่งนี้รวมไว้ด้วยอูรักลาโว้ย ชาวบ้าน และผู้ที่มารอชมการแสดงแน่นขนัด ศิลปินพื้นบ้านและนางรำต่างแสดงความรู้สึกภาคภูมิออกมาทางรอยยิ้มและสายตา

“สวัสดีพี่น้องอูรักลาโว้ย” เหง็ม ทะเลลึก นักร้องอาวุโสร้องทักบนเวทีด้วยภาษาอูรักลาโว้ย ก่อนที่นักดนตรีวงรองเง็งแห่งหมู่บ้านสังกาอู้จะวาดลวดลายอันอ่อนหวานไพเราะ และแฝงจังหวะสนุกสนานบนไวโอลิน-ฆ้อง-กลอง ด้วยวิชาที่สืบทอดมาแต่บรรพกาล

สดับสำเนียงเสียงร้องมลายูและภาษาอูรักลาโว้ยของนักร้องที่เล่าเรื่องราวถึงธรรมชาติและทะเลผสานเครื่องเสียงไปได้ไม่กี่เพลง นางรำในชุดไทยมุสลิมสีสันฉูดฉาดก็ขึ้นเวทีมาร่ายรำอย่างอ่อนช้อย ส่วนลูกหลานอูรักลาโว้ยที่มาร่วมชุมนุมก็ลุกขึ้นร่วมร้องรำไปตามทำนอง

มาถึงวันนี้ บังบูรณ์คิดว่าศาลารองเง็ง-หอชาติพันธุ์ชาวเล ที่ประกอบด้วยศาลบรรพชนในจุดกึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยหอลอยเรือ หอปู่ย่าเล หอรองเง็ง หอชาติพันธุ์ จะเป็นแหล่งเล่าขานประวัติความเป็นมา และวิถีชีวิตตามปรัชญาการเคารพธรรมชาติของอูรักลาโว้ย

ศาลาต่างๆ จะใช้เป็นโรงเรียนสอนรำมะนารองเง็ง จะมีเด็กๆ สนใจเข้ามาเรียน นักดนตรี-นางรำอาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นครูผู้ถ่ายทอดการเล่นดนตรีและฝึกสอนการร่ายรำให้ลูกหลาน ภาษาอูรักลาโว้ยจะได้รับการสืบทอด อูรักลาโว้ยจะเกิดความภูมิใจ ความเคารพในตนเอง และได้รับความเคารพจากผู้อื่น ส่วนวงรองเง็งแห่งบ้านสังกาอู้ที่เคยสีดสีให้จังหวะนางรำมาหลายรุ่นจะขับกล่อมลูกหลานไปอีกนานแสนนาน บังบูรณ์ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มิได้ปิดกั้นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมแต่อย่างใด

“การฟื้นฟูสอนรองเง็ง หรือสอนภาษาอูรักลาโว้ย เราทำขึ้นเพื่อบอกให้ลูกหลานรู้ว่า การละเล่นของเราเป็นยังไง นี่แหละเราเตือนสติให้คนข้างหลัง ให้เด็กจำว่าของเรายังมีแบบนี้ ไม่ใช่มีแต่ไฮเทคที่เห็นกันได้ทั่วไป ผมไม่ว่านะถ้าใครจะโปรโมท แต่ไม่อยากให้เผยแพร่ให้คนนอกรู้ ผมอยากให้บ้านเรายังเหมือนเดิม ถ้าใครอยากจะมาดูรองเง็งก็ให้มาดูตรงนี้ ไม่ใช่เราทำเพื่อรอให้นักท่องเที่ยวเข้ามา” บังบูรณ์พูด

เสียงไวโอลินฉ่ำหวานยังคงเคล้าคลอบรรยากาศอันรื่นเริง หากจิตวิญญาณของนักสีไวโอลินแห่งบ้านในไร่ยังสถิตอยู่บนหาดทราย สายลมคงพาบทเพลงรองเง็งที่บ้านสังกาอู้ไปปลอบประโลม

จากบ้านสังกาอู้มาถึงเวทีใหญ่ในงาน เปิดเล เขเรือ ครั้งที่ 2 นักดนตรีชุดเดิมนางรำคนเดิมก้าวออกสู่สายตาโลกภายนอกอีกครั้ง เส้นเสียงและท่ารำยังคงพลิ้วไหว ศรัทธา หนูแก้ว แห่งวงอัสลีมาลา ศิลปินที่เข้ามาคลุกคลีกับเสียงดนตรีรองเง็งบนเกาะลันตามาหลายปีส่งสายตาบ่งบอกถึงการยกย่องอย่างหมดใจ

“นักดนตรีพื้นบ้านเหล่านี้ไม่ใช่ตีเล่นอย่างเดียว มันต้องมีความลึกซึ้งด้วย รองเง็งเป็นดนตรีของเขาเองจนกลายเป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่า เขาเล่นดนตรีกันมาตามความรู้สึกที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน ใช้เล่นในงานพิธีกรรม การแก้บน-ลอยเรือมาตลอด ถ้าพูดถึงฝีมือต้องเรียกว่าอยู่ในระดับเทพหรือระดับครู อย่างพวกผมจะเล่นกันตามโน้ต แต่พวกเขาเล่นตามเสียงที่จำมา ถ้าร่วมเล่นกับวงเราเขาก็เล่นได้เพราะหลายเพลงที่เขาเล่นมาจากรากเดียวกัน ถึงเขาจะจำโน้ตได้ไม่หมด เล่นเสียงเพี้ยนบ้าง แต่เพลงก็ยังเป็นเพลงของเขาเป็นเอกลักษณ์ของเขาเอง”

สำหรับศรัทธา เขาเชื่อว่าการชูเรื่องรองเง็งของชนเผ่าบนเกาะลันตาจะเป็นทางหนึ่งในการปกป้องเผ่าพันธุ์อูรักลาโว้ยไม่ให้สูญหาย ส่วนรองเง็งของอูรักลาโว้ยที่เกาะจำ เกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง ราวี เกาะบุโหลน เกาะสิเหร่ หาดราไวย์ บ้านสะปา จ.ภูเก็ต ก็คือรองเง็งเดียวกัน มีรากเหมือนกัน ไม่ว่าบทเพลงรองเง็งจะบรรเลงที่ไหนหนใด ก็ล้วนเป็นเพลงของอูรักลาโว้ยเช่นกัน

“รองเง็งเป็นดนตรีและเพลงที่ทั้งรูปแบบและเนื้อหาเป็นวิญญาณของชนเผ่า เป็นมหรสพหนึ่งเดียวไม่มีอย่างอื่นที่เป็นตัวของเขาเองมากที่สุด ดังนั้นรองเง็งคือดนตรีของชาติพันธุ์ของเขา คือจิตวิญญาณแท้ๆ ของเขา เมื่อไหร่ที่มันแสดงออกมามันก็คือตัวแทนของพวกเขาทั้งหมด”

คืนนี้หลังจากเขเรือกรำแดดมาทั้งวัน ชาวประมง-ชาวเกาะได้ใช้ชีวิตกับความรื่นเริงที่มีมาแต่เก่าก่อน รองเง็ง รำมะนา กาหยง มโนราห์ สลับผลัดเปลี่ยนกันให้ความสุขแก่ผู้คน บนใบหน้าของอูรักลาโว้ย มุสลิม จีน ไทยฉายความเอิบอิ่มที่ออกมาจากใจ

บังเษม ยืนยันด้วยรอยยิ้มว่า “งานเปิดเล เขเรือ อยากจะจัดต่อไป ให้เป็นเทศกาลของชุมชน”

เมื่อเขาแหงนหน้าขึ้นไปมองฟ้ากว้าง พระจันทร์มิได้บดบังแสงดาวระยิบ บริเวณงานหน้าศาลาว่าการอำเภอเก่าที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา ยังคงกล่าวขานถึงความทรงจำอันงดงามร่วมกันของวิถีชุมชน 4 ชาติพันธุ์ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ความพยายามของชุมชนที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ความต้องการที่อยากจะอยู่อย่างเจ้าของบ้าน ความหวังที่จะดำรงทรัพยากรและรักษาวิถีชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติจะคงอยู่ต่อไปได้นานเพียงไร 15 ชุมชนบนเกาะลันตาอาจมิได้เป็นผู้กำหนดชะตาแต่เพียงผู้เดียว


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   4689

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Webboard Nathalin Group

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network