Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Nathalin Group FB MarinerThai News

10 สุดยอดภาพจากอวกาศ - เนชันแนล จีโอกราฟิก

10 สุดยอดภาพจากอวกาศ - เนชันแนล จีโอกราฟิก


โดย ผู้จัดการออนไลน์ วันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551

อวกาศกว้างใหญ่และดวงดาวบนฟ้าไกลเป็นดินแดนแห่งความมหัศจรรย์ที่มนุษย์เฝ้าฝันจะฝ่าฟันเดินทางไปหยั่งรู้พื้นที่ที่ไม่รู้ว่าจบลงตรงไหน นานมาหลายศตวรรษเท่าที่มนุษย์รู้จักแหงนมองท้องฟ้า ภาพแสงระยิบระยับล้วนจับตาจับใจไม่น้อย และเมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลจนขยายใหญ่ถึงกล้องโทรทัศน์ ภาพดวงดาวที่ไกลโพ้นก็ชัดเจนขึ้นทุกขณะ

ทว่า เมื่อกล้องโทรทรรศน์ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถสูงขึ้น ถึงขนาดส่องไกลได้ถึงหลายร้อยหลายพันปีแสง และยังออกไปโคจรนอกโลกบันทึกภาพต่างๆ แทนดวงตาของมวลมนุษยชาติ ภาพจากอวกาศในช่วงหลังๆ จึงได้สวยงามและอัศจรรย์ยิ่งนัก

แม้จะล่วงเลยปี 2550 มาหลายเวลาแล้ว แต่ “ภาพอวกาศ” ที่ไร้กาลเวลาก็ยังน่าดูอยู่เสมอ ท่ามกลางภาพอวกาศมากมาย เราจึงขอหยิบยก 10 สุดยอด “ภาพอวกาศ” ที่ความสามารถของมนุษย์จะบันทึกได้มานำเสนอ โดยเป็นลำดับความนิยมจากเว็บไซต์เนชันแนล กราฟิก นิวส์ ที่ได้ประมวลไว้เมื่อครั้นที่ภาพเหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณชน

1. วาระสุดท้ายของฝาแฝดดวงอาทิตย์

เมื่อกลางเดือน ก.พ.2550 องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้เผยภาพดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว อยู่ในสภาพ “ดาวแคระขาว” มีแสงสว่างเป็นจุดอยู่ใกล้ใจกลางเนบิวลา NGC 2440 และที่น่าสนใจคือ ดาวดังกล่าวมีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์

ดาวฤกษ์ขนาดเล็กและกลางอย่าง “ดวงอาทิตย์” ส่วนใหญ่มีจุดจบเป็น “ดาวแคระขาว” เมื่อไฮโดรเจนซึ่งเป็นสารประกอบส่วนใหญ่ของดาวเปลี่ยนเป็นฮีเลียม ดาวดวงนั้นเริ่มกลายเป็นดาวสีแดงยักษ์ และพ่นสิ่งต่างๆ ออกสู่เนบิวลา จากนั้นก็จะเหลือใจกลางที่ร้อน และเปลี่ยนเป็นดาวแคระขาวไปในที่สุด

ภาพดาวแคระขาวที่บันทึกได้นี้ห่างจากโลกออกไป 4,000 ปีแสง นับว่าเป็นดาวแคระขาวที่ร้อนที่สุดเท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยบันทึกมา คือมีอุณหภูมิสูงถึง 200,000 องศาเซลเซียส แสงอัลตราไวโอเล็ต (สีม่วง-ฟ้า) ที่เห็นตรงใจกลางภาพนั้นคือกลุ่มก๊าซที่พวยพุ่งออกมาจากใจกลางของดวงดาว

ดวงอาทิตย์ของเราก็จะมีชะตากรรมเหมือนดาวดวงนี้ แต่ยังไม่เกิดขึ้นภายใน 5 พันล้านปีนี้แน่นอน

(เครดิตภาพ NASA/ESA)

2. วัตถุประหลาดวนรอบดาว

ภาพวัตถุประหลาดมวลเท่าดาวเคราะห์โคจรรอบดาวนิวตรอน ในเดือน ก.ย.50 นับเป็นเทห์วัตถุที่แปลกสุดๆ เท่าที่นักดาราศาสตร์เคยพบเห็น แทนที่วัตถุชิ้นนี้จะโคจรรอบดาวฤกษ์ธรรมดาทั่วไป แต่กลับโคจรรอบดาวพัลซาร์หรือนิวตรอนอย่างรวดเร็ว

ดาวนิวตรอนหมุนรอบตัวเองร้อยกว่ารอบใน 1 วินาที เร็วกว่าเครื่องปั่นในครัวเสียอีก ปกติแล้วดาวชนิดนี้ก็จะหมุนช้าลงตามอายุ แต่ดูเหมือนว่าวัตถุประหลาดจะช่วยส่งพลังให้ดาวดวงนี้เพิ่มความเร็วขึ้นไปอีก จากภาพจะเห็นมวลหมู่แก๊สผุดออกมาในลักษณะที่ไม่เสถียร

วัตถุมวลประหลาดนี้ห่างจากดาวที่มันโคจรรอบๆ ประมาณ 370,149 กิโลเมตร ใกล้กว่าโลกกับดวงจันทร์ และสามารถสังเกตเหตุการณ์นี้ได้จากโลก

นักดาราศาสตร์คาดว่าระบบวัตถุประหลาดโคจรรอบดาวนิวตรอนนี้เกิดขึ้นจากดาวฤกษ์ 2 ดวงเมื่อหลายพันล้านปีก่อน และแม้ว่าดาวฤกษ์ดวงใหญ่จะกลายเป็นซูเปอร์โนวาไป แต่ก็ยังซ่อนอยู่เบื้องหลังดาวนิวตรอน ส่วนดาวดวงเล็กกว่าก็ขยายตัวกลายเป็นดาวยักษ์แดง แต่ยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าดาวดวงเล็กจะมีอายุยืนยาวไปถึงเมื่อใด

(ภาพ Aurore Simmonet/Sonoma State University)

3. ร่องรอยแห่งน้ำจากดาวอังคาร

ภาพจากดาวเทียมที่โคจรรอบดาวอังคารเผยให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีน้ำไหลผ่านอยู่บนชั้นหิน ซึ่งปรากฎรายงานผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์เมื่อเดือน ก.พ.50 โดยรอยแยกที่ชั้นหินเหนือหลุมเบคเกอเรลทำให้เห็นชั้นหินสีสว่างและเข้ม และเมื่อใช้กล้องความละเอียดสูงจากยานสำรวจดาวอังคารบันทึกสู่โลก นักวิทยาศาสตร์ก็ตื่นตะลึงเมื่อผลวิเคราะห์ออกมาว่า ที่รอยแยกดังกล่าวมีน้ำซึมอยู่ก่อนหน้า และน่าจะมีความหวังว่าหากขุดเข้าไปในพื้นผิวของดาวแดง น่าจะพบแหล่งน้ำอย่างแน่นอน

(ภาพ Science)

4. เนบิวลาบิดเกลียว

ฝุ่นผงจากดาวหางรายล้อมดาวฤกษ์ให้ดูเหมือนดวงตาในใจกลางเนบิวลารูปหอย (Helix nebula) อันห่างไกล ภาพนี้บันทึกจากกล้องโทรทัศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซา และเปิดเผยสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 12 ก.พ.50 เนบิวลานี้ห่างจากโลก 700 ปีแสง ประกอบด้วยดาวฤกษ์ที่มีลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์แต่ดายไปแล้ว กลายเป็นดาวแคระขาวสีสันหลากหลาย

ยังมีเนบิวลาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเช่นนี้มากมายในกาแลกซีทางช้างเผือกที่พวกเราอาศัยอยู่ แต่เนบิวลารูปหอยเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นหลักฐานถึงการรอดชีวิตในจักรวาล ก่อนที่ดาวจะหมดอายุขัย ดาวหางก็โคจรผ่านเข้ามาสู่ระบบพอดี ขณะที่ดาวดายลงก็ขยายตัวออก เกิดมวลปะทะกัน ฝุ่นผงจากทั้งคู่ดันเข้าหากันและหมุนวนรอบดาวแคระขาว อันเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทิ้งไว้หลังดาวฤกษ์สูญสลาย

(ภาพ NASA/JPL-Caltech/University of Arizona)

5. ดาวแม่เหล็กระเบิด

ภาพจำลองเทห์วัตถุอวกาศที่พบได้ยากยิ่ง “ดาวแม่เหล็ก” ขณะกำลังระเบิดและปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปรังสีเอ็กซ์ ดาวดวงนี้ห่างจากกลุ่มดาวคนยิงธนูประมาณ 15,000 ปีแสง เป็นดาวนิวตรอนหมุนเร็วขนาดเล็ก และก่อนหน้าการระเบิดปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมาเป็นจำนวนมาก

ดาวแม่เหล็กดวงนี้มีความกว้างเพียงแค่ 15 กิโลเมตร แต่มีมวลมากพอๆ กับดวงอาทิตย์ ซึ่งองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ผู้นำในการศึกษาครั้งนี้พบว่าดาวดังกล่าวมีสนามแม่เหล็กรุนแรงมากเป็นอันดับต้นๆ ในจักรวาล สูงมากกว่า 600 ล้านล้านล้านเท่าของสนามแม่เหล็กโลก

(ภาพ NASA/Swift/Sonoma State University/A. Simonnet)

6. มนุษย์ต่างดาวอาจจะแปลกประหลาดกว่าที่คิด

นี่เป็นภาพจำลองการลงจอดของยานแหย่ (โพรบ) ฮอยเกนของนาซาและอีซา ที่ตกลงท่ามกลางทะเลสาบมีเทนของ “ไททัน” บริวารแห่งดาวเสาร์ และจากการจมจ่อมอยู่ในของเหลวแบบนั้น ทำให้ทางภาคพื้นดินได้รับข้อมูลว่าสิ่งมีชีวิตนอกโลกอาจจะแปลกประหลาดไปจากที่เคยคาดการณ์กันไว้

นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะพิจาณาถึงคำจำกัดความของ “ชีวิต” ในอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างสิ้นเชิง ที่โลกเราพึ่งพา “คาร์บอน” เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่ชีวิตที่ต่างดาวที่ได้รับข้อมูลจากไททันนั้น น่าจะมีความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง และที่สำคัญสามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว อย่างทะเลกรดได้

(ภาพ : Gregor Kervina, courtesy NASA/JPL)

7. ซูเปอร์โนวาทำลาย “หอคอยฝุ่น”

“พิลลาร์ส ออฟ ครีเอชัน” (Pillars of Creation) หรือ “แท่งฝุ่นแห่งการสร้าง” ซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซรูปแท่งขนาดใหญ่ที่เป็นหน่ออ่อนสำหรับการอนุบาลดาวฤกษ์รุ่นใหม่ ในเนบิวลานกอินทรี ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้คาดการณ์มานับพันๆ ปีแล้วว่าพิลลาร์ ออฟ ครีเอชันจะถูกทำลายด้วยแรงระเบิดของซูเปอร์โนวาจากมรณกรรมของดาวฤกษ์ยักษ์ในบริเวณใกล้เคียง ในช่วงเดือน ม.ค.2550

แท่งที่อัดแน่นไปด้วยฝุ่นก๊าซแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการก่อกำเนิดดาวใหม่ กลายเป็นภาพสำคัญเมื่อฮับเบิลบันทึกได้ในปี 2538 โดยส่วนที่หนาแน่นที่สุดนั้นถูกคลื่นกระแทกจากซูเปอร์โนวาตั้งแต่ 6 พันปีก่อน ซึ่งกว่าที่เราจะได้เห็นภาพเนบิวลาที่ถูกทำลายแล้วนั้นก็ต้องย้อนไปถึง 7 พันปีแสงอันเป็นระยะทางที่เนบิวลาดังกล่าวห่างจากโลก

ภาพในย่านแสงอินฟราเรดจากกล้องสปิตเซอร์แสดงให้เห็นในส่วนสีแดงว่าเนบิวลานกอินทรีนั้นร้อน และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ถูกกระตุ้นจากพลังของซูเปอร์โนวา ทำให้หอคอยดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ถูกอิทธิไม่สามารถทนทานต่อสภาพดังกล่าวได้จึงเกิดการสลายไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี การระเบิดของหอคอยแหล่งกำเนิดแห่งดวงดาวก็หาใช่ข่าวร้ายซะทีเดียว ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่าคลื่นกระแทกของซูเปอร์โนวาจะเป็นเชื้อไฟทำให้เกิดดาวใหม่ท่ามกลางกลุ่มควันที่คลื่นย่างกรายไปถึง

(ภาพ NASA/JPL-Caltech/Institut d’Astrophysique Spatiale)

8. ระบบสุริยะเป็นรูป “กระสุน”

ภาพกราฟิกแสดงให้เห็นถึงระบบสุริยจักรวาล ที่เต็มไปด้วยอนุภาคที่อัดเกาะกันไว้ (สีเหลือง) ขณะกำลังผ่านเข้าสู่สนามแม่เหล็กระหว่างดวงดาวของกาแลกซีทางช้างเผือก (แนวเส้นสีน้ำตาล) ซึ่งภาพจำลองนี้เป็นผลมาจากการค้นพบครั้งใหม่โดยข้อมูลจากยานวอยเอเจอร์ที่เดินทางท่องอวกาศมาเกือบ 30 ปีว่า ภาพของระบบสุริยะนั้นมีลักษณะเป็นวงรีหรือกระสุน

(ภาพ Opher et al., 2007/Science)

9.ลำแสงแห่งดาวพฤหัส

แสงสีม่วงที่ปรากฏตรงขั้วเหนือและใต้ของดาวพฤหัสที่เห็นในภาพนี้บันทึกในย่านรังสีเอ็กซ์ โดยกล้องโทรทัศน์จันทรา ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และผนวกเข้ากับภาพในคลื่นแสงที่ตามองเห็นจากกล้องฮับเบิล นับเป็นภาพที่ได้รับความสนใจไม่น้อย

ลำแสงดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยว่ามีแสงที่ขั้วออกมาได้อย่างไร ทั้งที่ดาวเคราะห์ดวงใหญ่สุดแห่งระบบสุริยะ มีการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กอย่างรวดเร็วและรุนแรงทุกๆ 10 ชั่วโมง สร้างแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 10 ล้านโวลต์ที่รอบๆ ขั้วทั้ง 2

ทั้งนี้การโยกไปมาของดาวพฤหัส เกิดจากการกระตุ้นของอนุภาคภูเขาไฟจากดวงจันทร์ไอโอ ซึ่งดูเหมือนการแสดงที่ไม่มีวันจบสิ้น ความเชื่อมโยงระหว่างอุภาคภูเขาไฟที่ได้รับจากจันทร์บริวารดวงเล็กๆ ถึงกับมีผลต่อขั้วของดาวเคราะห์อย่างพฤหัสเลยหรือ...นี่คือปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ยังงุนงงอยู่

(ภาพ NASA)

10. ดาวหาง “แมกนอต” สุกสว่างเหนือท้องฟ้าซีกโลกใต้

การเดินทางมาเยือนโลกของดาวหางแมกนอต เมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้สว่างสุกใสที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งสว่างมากจนสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แม้ในยามที่ดาวหางปรากฏใกล้กับช่วงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าก็ยังมองได้อย่างชัดเจน

โรเบิร์ต แมกนอต นักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลียเป็นผู้ค้นพบดาวหางที่สุกสว่างนี้ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2549 ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ออสเตรเลีย แต่น่าเสียดายที่ดาวหางดวงนี้สังเกตได้เฉพาะจากท้องฟ้าทางซีกโลกใต้ ซึ่งภาพที่บันทึกได้นี้ เป็นดาวหางแมกนอตที่มีความกว้าง 10 กิโลเมตร กำลังพุ่งดิ่งเหมือนกำลังตกลงมาจากท้องฟ้าด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อวินาที เหนือพื้นที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ห่างจากโลกออกไป 120 ล้านกิโลเมตร

(ภาพ Simon Baker/Reuters)


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   2678

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Articles from our members IT knowhow for Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network