ยิ่งสำรวจยิ่งพบ สิ่งมีชีวิตประหลาดที่แอนตาร์กติกา
ยิ่งสำรวจยิ่งพบ สิ่งมีชีวิตประหลาดที่แอนตาร์กติกา
โดย
ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์
2551
หน้าตาเหมือนเพรียงหัวหอม (tunicates) สีขาวใสบอบบางเหมือนแก้ว
พบอยู่ใต้แอนตาร์กติกาลึกลงไป 220 เมตร และลึกลงไปที่ 1,000
เมตรบริเวณขั้วโลกเป็นทะเลน้ำแข็ง ก็จะพบสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกๆ อีกมากมาย (ภาพ
Australian Antarctic Division)
เอพี/เทเลกราฟ -
นักวิทยาศาสตร์สำรวจทะเลน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกา
พบสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาดมากมาย
ทั้งแมงมุมทะเลยักษ์และหนอนเบิ้มต่างอาศัยอยู่ในห้วงทะเลมืดลึกและหนาวเย็น
ผู้เชี่ยวชาญทางสัตว์น้ำทั้งจากออสเตรเลีย
ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นเข้าร่วมโครงการนานาชาติเพื่อสำมะโนประชากรสัตว์ทะเลในโลกซีกใต้ที่ไกลออกไป
โดยเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในห้วงทะเลลึก 6,500 ฟุต
และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
สัตว์ใต้ทะเลบางชนิดเติบโตมาด้วยรูปลักษณะที่ใหญ่ผิดปกติ
นับเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า รูปร่างใหญ่กว่าปกติ หรือไจแกนทิซึม (gigantism)
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าใดนัก
"ไจแกนทิซึมนับเป็นเรื่องปกติสำหรับทะเลแอนตาร์กติกา" คำบอกเล่าของมาร์ติน ริดเดิล
(Martin Riddle) นักวิทยาศาสตร์แผนกแอนตาร์กติกาของออสเตรเลีย (Australian
Antarctic Division) ผู้นำการสำรวจทะเลขั้วโลกใต้
ฟองน้ำทะเล, กัลปังหา และปะการังแบบเส้นเกาะกันอยู่ที่พื้นทะเลลึกลงไป 400 เมตร
(Australian Antarctic Division)
ทั้งนี้ทีมสำรวจของพวกเขาเก็บตัวอย่างหนอนขนาดใหญ่ สัตว์จำพวกกุ้งปูที่ใหญ่กว่าปกติ
และยังพบแมงมุมทะเลขนาดเท่าจานข้าว
นอกจากสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดหลากชนิดแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ยังพบสัตว์ที่กินแพลงตอนเป็นอาหารเป็นเหมือนแก้วใส อยู่เต็มก้นทะเล
ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตหน้าตาแปลกๆ
เหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก
เพื่อช่วยกันระบุสายพันธุ์ ลำดับอนุกรมวิธานจากตัวอย่างเนื้อเยื่อ
และการวิเคราะห์ทางรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ)
"ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตทุกตัวที่เราเก็บได้ จะสามารถระบุชนิดได้
และแน่นอนว่าจะต้องมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เราค้นพบระหว่างการเดินทางมากมาย"
เกรมแฮม โฮซี (Graham Hosie) ผู้นำโครงการสำรวจประชากรสัตว์น้ำอธิบาย
กัลปังหาสีสันสดใส พร้อมด้วยไบรโอโซนหรือเสื่อทะเล และฟองน้ำที่ความลึก 600 เมตร
ใต้มหาสมุทรแอนตาร์กติกา (ภาพ Australian Antarctic Division)
โครงการสำรวจครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับนานาชาติในความพยายามที่จะทำแผนที่รูปแบบสิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทรแอนตาร์กติกา
ซึ่งรู้จักกันในนาม "มหาสมุทรตอนใต้" (Southern Ocean)
และต้องการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ท้องทะเล
เรือ ยูมิตากะ มารุ (Umitaka Maru) ของญี่ปุ่น
เรือลาสโตลาบ (L'Astrolabe) ของฝรั่งเศส
เรือ ออโรรา ออสตราลิส (Aurora Australis) ของออสเตรเลีย
เรือที่ใช้ในการสำรวจทะเลใต้นี้มีถึง 3 ลำด้วยกัน ได้แก่ ออโรรา ออสตราลิส (Aurora
Australis) ของออสเตรเลีย, ลาสโตลาบ (L'Astrolabe) ของฝรั่งเศส และยูมิตากะ มารุ (Umitaka
Maru) ของญี่ปุ่น เพิ่งกลับมาจากการสำรวจที่ยาวนานถึง 2 เดือน
ภาพซ้ายคือหนอนยักษ์ที่ก้นทะเล ส่วนขวากัลปังหาและเสื่อทะเล (ภาพ Australian
Antarctic Division /AP)
เรือสำรวจของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นต่างเดินทางเก็บตัวอย่างในตอนกลางและตอนเหนือของแอนตาร์กติกา
ส่วนออสเตรเลียลงสำรวจห้วงน้ำลึกด้วยกล้องควบคุมระยะไกล
ปลาคอดทางยาว (Grenadier fish)
ปลาน้ำลึกกำลังแหวกว่ายเหนือฟองน้ำแก้วใต้แอนตาร์กติกา (ภาพ Australian Antarctic
Division /AP)
การเดินทางสำรวจครั้งนี้เพื่อเก็บข้อมูลประชากรสัตว์น้ำใต้แอนตาร์กติกาตามโครงการความร่วมมือสำมะโนประชากรสัตว์น้ำในแอนตาร์กติกาตะวันออก
(Collaborative East Antarctic Marine Census)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำแผนที่และความหลากหลายทางทะเลครั้งใหญ่ของโลกเรา
โดยมีแผนการสำรวจ 10-15 ปี
พร้อมจุดประสงค์ที่สำคัญยิ่งคือผลกระทบของสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อสภาพแวดล้อมใต้ทะเล