รัสเซียรักษาฐานะ “มหาอำนาจ” ในทะเลดำ
รัสเซียรักษาฐานะ “มหาอำนาจ” ในทะเลดำ
จาก
ผู้จัดการ Online โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร
วันที่ 31 สิงหาคม 2551
พร้อมๆ กับที่รัสเซียรับรองเอกราชของ เซาท์ออสซีเชีย และ อับฮาเซีย 2
สาธารณรัฐที่แยกตัวออกจากจอร์เจีย
มอสโกยังสามารถเข้าควบคุมเหนือเมืองท่าสำคัญในเขตทะเลดำ 2 แห่ง
และยังความปราชัยให้แก่แผนการของสหรัฐฯ ที่จะทำให้น่านน้ำแห่งนี้กลายเป็น “ทะเลสาบของนาโต้”
และถึงแม้สื่อตะวันตกพากันประโคมข่าว แต่เอาเข้าจริงแล้ว รัสเซียอยู่ห่างไกลจากสภาพ
“ถูกโดดเดี่ยว” มากมายนัก อีกทั้งเวลานี้
มอสโกยังได้รับการหนุนหลังอย่างแข็งขันจากคาซัคสถาน ประเทศทรงอิทธิพลด้านพลังงาน
และก็เป็นผู้เล่นสำคัญในแถบเอเชียกลางที่สหรัฐฯกำลังพยายามเกี้ยวพา
ขณะที่จีนและสมาชิกอื่นๆ ในองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ ก็แสดง “ความเข้าใจ”
ในจุดยืนของรัสเซีย
ถ้าหากการต่อสู้ช่วงชิงกันในภูมิภาคคอเคซัส คือเรื่องเกี่ยวกับน้ำมัน
และเกี่ยวกับความมุ่งหมายที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
มีต่อแถบเอเชียกลางแล้ว
ย่อมต้องถือว่าสหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียหายจากความเพลี่ยงพล้ำครั้งมโหฬารในสัปดาห์นี้
โดยเฉพาะเมื่อคาซัคสถาน ประเทศทรงอิทธิพลด้านพลังงานในย่านทะเลสาบแคสเปียน
อีกทั้งเป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งในเอเชียกลาง
ได้ตัดสินใจที่จะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซีย ในกรณีความขัดแย้งกับจอร์เจีย
นอกจากนั้นแล้ว
รัสเซียยังสามารถเพิ่มกระชับการเข้าควบคุมในทางพฤตินัยต่อเมืองท่าสำคัญ 2
แห่งในเขตทะเลดำอีกด้วย
ในการหารือกันที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน เมื่อวันพฤหัสบดี(28)
ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายต่างไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำขององค์การเพื่อความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้
(Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) ประธานาธิบดีคาซัคสถาน นูรูสุลต่าน
นาซาร์บาเยฟ ได้บอกกับประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตรี เมดเวเดฟ
ว่ากรุงมอสโกสามารถวางใจได้ว่าจะได้รับความสนับสนุนจากกรุงอัสตานา
ในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้
ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวชนในกรุงดูชานเบ เมดเวเดฟก็ได้ตอกย้ำว่า
เพื่อนสมาชิกเอสซีโอของเขา รวมทั้งจีนด้วย
ต่างแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อจุดยืนของรัสเซีย
มอสโกดูจะมีความพออกพอใจจากการที่ที่ประชุมซัมมิตเอสซีโอคราวนี้
ได้ออกคำแถลงกล่าวถึงพัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาคคอเคซัส โดยนอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ
แล้ว ได้ระบุว่า “บรรดาผู้นำของรัฐสมาชิกเอสซีโอ
แสดงความยินดีต้อนรับการลงนามในกรุงมอสโก ในข้อตกลงหลัก 6
ประการสำหรับการดูแลแก้ไขความขัดแย้งว่าด้วยเซาท์ออสซีเชีย
และสนับสนุนบทบาทอันแข็งขันของรัสเซียในการช่วยเหลือทำให้เกิดสันติภาพและความร่วมมือขึ้นในภูมิภาคแถบนี้”
ทั้งนี้ เอสซีโอเป็นองค์การที่ประกอบไปด้วย จีน, รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน,
ทาจิกิสถาน, และอุซเบกิสถาน
อันที่จริง
มีสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้ที่บ่งชี้ว่ากำลังมีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่างบางประการ
โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานออกคำแถลงฉบับหนึ่งในวันที่ 19 สิงหาคม
มีเนื้อหาพูดเป็นนัยถึงความเข้าอกเข้าใจอย่างกว้างๆ ต่อจุดยืนของรัสเซีย
คำแถลงฉบับนี้เรียกร้องให้ดำเนิน “การประเมินอย่างปราศจากอคติและมีความสมดุล”
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับชี้ว่า “มีความพยายามแก้ไขประเด็นปัญหาทางเชื้อชาติและดินแดนอันสลับซับซ้อนยิ่งนี้ด้วยการใช้กำลัง”
ซึ่งนำไปสู่ “ผลต่อเนื่องอันร้ายแรง” คำแถลงบอกว่า กรุงอัสตานาสนับสนุน “วิธีการที่คณะผู้นำรัสเซียเสนอออกมาเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหานี้”
ภายในกรอบโครงของกฎบัตรสหประชาชาติ,
เอกสารสุดท้ายของการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปแห่งเฮลซิงกิ
(Helsinki Final Act) ปี 1975, และกฎหมายระหว่างประเทศ
คำแถลงที่ยืดยาวฉบับนี้มีความโน้มเอียงในทางสนับสนุนจุดยืนของรัสเซีย
แต่ก็พยายามลงแรงอย่างมากในการอธิบายว่าทำไมคาซัคสถานจึงคิดเห็นเช่นนั้น
หลังจากนั้นมา คาซัคสถานก็ได้เพิ่มการวางเดิมพันทางการทูต
และประกาศรับรองจุดยืนของรัสเซียอย่างหมดใจ
เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อจุดหนึ่งสำหรับการดำเนินงานทางการทูตของรัสเซียในยุคหลังโซเวียตทีเดียว
ประธานาธิบดี นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน
ประธานาธิบดี นาซาร์บาเยฟ ของคาซัคสถาน อธิบายการประกาศรับรองของตนเอาไว้ดังนี้
“ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่ฝ่ายตะวันตกช่างละเลยกันได้ง่ายๆ ต่อข้อเท็จจริงที่ว่า
กองทหารของจอร์เจียได้เข้าโจมตีนครซฮินวาลี [เมืองหลวงของเซาท์ออสซีเชีย]
ที่อยู่กันด้วยความสงบสุข สำหรับตัวผมเองนั้นประเมินสถานการณ์ไว้อย่างนี้
ผมคิดว่าเริ่มแรกเลยมันเริ่มต้นกันที่ตรงนี้แหละ [เริ่มจากการที่จอร์เจียโจมตีเซาท์ออสซีเชียก่อน]
ซึ่งสำหรับรัสเซียแล้วมีทางเลือกที่จะตอบโต้ต่อเรื่องนี้ก็คือ อยู่เงียบๆ เฉยๆ
หรือไม่ก็เข้าปกป้องคุ้มครองประชาชนของพวกเขา ผมเชื่อว่าก้าวเดินต่อๆ
มาที่รัสเซียดำเนินการนั้น
เป็นการดำเนินการซึ่งมุ่งหวังที่จะยุติการหลั่งเลือดของสามัญชนผู้พำนักอาศัยในนครซึ่งต้องทุกข์ยากมายาวนานแล้วแห่งนี้
แน่นอนทีเดียวว่ามีผู้ลี้ภัยจำนวนมาก มีผู้ไร้ที่อยู่จำนวนมาก
“ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือกันระหว่างคาซัคสถานกับรัสเซีย
เราได้จัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นปริมาณ 100 ตัน และได้จัดส่งไปแล้ว
เราจะยังคงจัดหาความช่วยเหลือร่วมกับพวกท่าน[รัสเซีย] เพื่อจัดส่งไปให้อีก
“แน่นอนว่าทางฝ่ายจอร์เจียก็มีการสูญเสียชีวิตด้วย ถึงอย่างไรสงครามก็เป็นสงคราม
การแก้ไขความขัดแย้งคราวนี้กับจอร์เจีย
บัดนี้ได้ถูกเลื่อนออกไปสู่ระยะเวลาที่ยังไม่อาจกำหนดได้ในอนาคต
เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับจอร์เจียเสมอมา
บรรดาบริษัทของคาซัคสถานได้ไปทำการลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำที่นั่น แน่นอนทีเดียว่า
พวกที่ลงทุนเช่นนี้ย่อมต้องการให้ที่นั่นมีเสถียรภาพ เงื่อนไขต่างๆ ที่ท่าน (เมดเวเดฟ)
และ [ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์]
ซาร์โกซีได้ร่างขึ้นมานั้นจักต้องนำมาปฏิบัติกัน
ทว่ากลับมีบางฝ่ายเริ่มต้นที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับบางจุดในแผนการนี้เสียแล้ว
“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะมีการดำเนินการเจรจากันต่อไป และก็จะเกิดสันติภาพ
มันไม่มีทางเลือกอย่างอื่นหรอก ด้วยเหตุนี้
คาซัคสถานมีความเข้าอกเข้าใจในมาตรการทั้งหมดที่ได้กระทำไปแล้ว
และคาซัคสถานก็สนับสนุนมาตรการเหล่านั้น ในส่วนของเราแล้ว
เราพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า ทุกๆ
ฝ่ายจะหวนกลับไปสู่โต๊ะเจรจา”
จากทัศนะมุมมองของมอสโก คำพูดเช่นนี้ของนาซาร์บาเยฟย่อมมีคุณค่าดุจดังทองคำทีเดียว
คาซัคสถานนั้นเป็นผู้ผลิตพลังงานที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียกลาง
และก็เป็นประเทศระดับเฮฟวีเวตในภูมิภาคแถบนี้ คาซัคสถานมีพรมแดนติดต่อกับจีน
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในเอเชียกลางโดยองค์รวมแล้วมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การได้เป็นหุ้นส่วนหมายเลขหนึ่งของคาซัคสถาน
แทนที่รัสเซียและจีน
พวกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอเมริกันเริ่มต้นวางเส้นทางตัดตรงติดต่อถึงคาซัคสถาน
ในทันทีที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 โดยหนึ่งในบริษัทเหล่านี้ก็คือเชฟรอน
ยักษ์ใหญ่น้ำมันที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์
เคยมีความเชื่อมโยงอยู่ด้วย
ไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิ๊ก เชนีย์
ถือคาซัคสถานเป็นจุดหมายปลายทางที่เขาชื่นชอบที่จะไปเยือน ส่วนประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิลยู บุช ก็ทุ่มเทต้อนรับนาซาร์บาเยฟอย่างเต็มที่ ณ ทำเนียบขาว
สหรัฐฯใช้ความพยายามเป็นพิเศษจริงๆ ในการเกี้ยวพานาซาร์บาเยฟ ด้วยความหวังคับอกว่า
อาจจะสามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งมาเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำคาซัคสถานผู้นี้
ยินยอมให้คำมั่นที่จะส่งน้ำมันของประเทศตนผ่านท่อส่งน้ำมันสายบากู-ทบิลิซิ-เซย์ฮาน
โดยที่หากไม่ได้รับสัญญาเช่นนี้แล้ว
ความคุ้มค่าของท่อส่งน้ำมันสายนี้ก็จะกลายเป็นคำถามใหญ่ขึ้นมา
ทั้งนี้ท่อส่งน้ำมันสายนี้ก็คือส่วนประกอบชิ้นสำคัญยิ่งยวดในมหาแผนการสำหรับดำเนินการต่อย่านแคสเปียนของสหรัฐฯนั่นเอง
สหรัฐฯนั้นได้ดำเนินการไปมากมายทีเดียวเพื่อทำให้โครงการท่อส่งน้ำมันสายนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา
ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่ดูไม่เอื้ออำนวยเอาเลย อันที่จริงแล้ว
การปฏิวัติ “สี” ในจอร์เจียที่วอชิงตันเป็นผู้บงการจัดฉากขึ้นมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน
2003 (โดยที่การปฏิวัติคราวนี้เองได้ส่งให้มิเฮอิล ซาคัชวิลี
ทะยานขึ้นสู่อำนาจในกรุงทบิลิซิ)
ก็เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าการทำข้อตกลงว่าจ้างการสร้างท่อส่งน้ำมันสายนี้พอดี
แนวความคิดกว้างๆ
ที่อยู่เบื้องหลังความโกลาหลวุ่นวายในพื้นที่ตอนใต้ของภูมิภาคคอเคซัสเช่นนี้ก็คือ
สหรัฐฯควรที่จะเข้าควบคุมจอร์เจีย ซึ่งเป็นประเทศที่ท่อส่งน้ำมันสายนี้พาดผ่าน
ยิ่งไปกว่านั้น คาซัคสถานยังมีพรมแดนร่วมกับรัสเซียเป็นระยะทางถึง 7,500 กิโลเมตร
นับเป็นพรมแดนทางบกระหว่างสองประเทศใดๆ ก็ตามซึ่งยาวเหยียดที่สุดของโลก
มันจะเป็นฝันร้ายสำหรับความมั่นคงของรัสเซียทีเดียว
ถ้าหากนาโต้สามารถได้ที่ยืนอย่างมั่นคงในคาซัคสถาน นี่ก็เช่นกัน
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯนั้นวางเป้าหมายไว้ที่คาซัคสถาน
โดยถือเป็นรางวัลใหญ่ในเอเชียกลางที่นาโต้จะต้องพยายามชิงเอามา
สหรัฐฯมีจุดมุ่งหมายที่จะแผ้วถางทางให้คาซัคสถานได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ต่อไป
เมื่อประสบความสำเร็จในการผลักดันให้จอร์เจียเข้าไปแล้ว
ความฝันของอเมริกันเหล่านี้มีอันต้องเสียหายเพลี่ยงพล้ำ
ในเมื่อเวลานี้คณะผู้นำคาซัคสถานแสดงตัวอยู่เคียงข้างมอสโกแล้ว
เรื่องนี้จึงดูเหมือนกับเป็นกรณีที่มอสโกชิงไหวชิงพริบและเชือดเฉือนวอชิงตันได้สำเร็จอย่างงดงาม
**เบลารุสก็แสดงการสนับสนุน**
เบลารุส ประเทศเพื่อนบ้านอีกรายหนึ่งที่มีพรมแดนร่วมกับรัสเซีย
ก็ได้แสดงความสนับสนุนมอสโกเช่นกัน ประธานาธิบดีเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค
ไปเยี่ยนเยียมเมดเวเดฟที่ไปพักร้อนอยู่ในเมืองโซชี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม
เพื่อแสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเขา
“รัสเซียกระทำการด้วยความสุขุม, ด้วยความฉลาดหลักแหลม, และด้วยความสวยงาม
นี่เป็นการตอบโต้อย่างสุขุม สันติภาพได้รับการสถาปนาขึ้นในภูมิภาคแถบนี้แล้ว –และมันจะอยู่ต่อไปได้อย่างถาวร”
เขาให้ความเห็น
เรื่องที่มีพลังยิ่งกว่านี้อีกก็คือ
รัสเซียและเบลารุสได้ตัดสินใจที่จะลงนามข้อตกลงฉบับหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงนี้
ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบป้องกันทางอากาศที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของสองประเทศขึ้นมา
นี่ต้องถือเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับรัสเซีย
เมื่อพิจารณาในบริบทของการที่สหรัฐฯประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้
ในการเซ็นข้อตกลงเข้าไปจัดสร้างส่วนหนึ่งของระบบป้องกันขีปนาวุธในดินแดนของโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก
ตามรายงานของสื่อรัสเซีย เบลารุสมีระบบป้องกันทางอากาศรุ่น เอส-300 (ซึ่งถือเป็นระบบที่ก้าวหน้าของรัสเซีย)
ประจำการพร้อมสู้รบอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก และขณะนี้ก็กำลังเจรจาขอระบบทันสมัยล่าสุด
นั่นคือ รุ่น เอส-400 จากรัสเซีย ซึ่งจะส่งมอบกันได้ภายในปี 2010
ถัดจากการประชุมซัมมิตขององค์การเพื่อความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้
เวลานี้ความสนใจกำลังหันไปสู่การประชุมระดับผู้นำขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน
(Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO)
ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในกรุงมอสโกวันที่ 5 กันยายนนี้ องค์การซีเอสทีโอ
จะมีจุดยืนอย่างไรต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในคอเคซัส
จะเป็นสิ่งที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
ดูเหมือนว่า รัสเซียกับคาซัคสถาน
กำลังร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดวาระของซีเอสทีโอ ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย
อาร์เมเนีย, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, รัสเซีย, ทาจิกิสถาน, และ
อุซเบกิสถาน คำถามใหญ่อยู่ตรงที่ว่า
ซีเอสทีโอจะมีการเร่งเครื่องกันอย่างไรเพื่อรับมือกับแผนการขยายตัวของนาโต้
ความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่เอี่ยมก็คือการที่รัสเซียรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย
และอับฮาเซีย
ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ในทางเป็นจริงเท่ากับมอสโกเปิดการรุกฆาตต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคทะเลดำ
ยังความพ่ายแพ้ให้แก่แผนการของวอชิงตันที่จะทำให้ทะเลดำกลายเป็น “ทะเลสาบของนาโต้”
ในทางกลับกัน
แผนการขยายตัวของนาโตเข้าสู่ภูมิภาคคอเคซัสก็ประสบความเพลี่ยงพล้ำไปด้วย
มีนักวิเคราะห์ไม่มากนักที่เข้าใจอย่างเต็มที่
ถึงความสำคัญทางทหารของการเดินหมากที่รัสเซียรับรองเอกราชของ 2
สาธารณรัฐที่แยกตัวออกเป็นอิสระของจอร์เจียเช่นนี้
รัสเซียเวลานี้ในทางพฤตินัยได้เข้าควบคุมเมืองท่าสำคัญ 2 แห่งในทะเลดำเอาไว้แล้ว
นั่นคือ ซูฮูมี กับ โปตี และถึงแม้ระบอบปกครองของ วิกตอร์ ยูเชนโค ในยูเครน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ พยายามสร้างอุปสรรคต่อกองเรือทะเลดำของรัสเซีย
ที่ตั้งฐานทัพใหญ่อยู่ที่ เซวัสโตโปล
เมืองท่าตรงแหลมไครเมียซึ่งถือเป็นดินแดนของยูเครน (สิ่งที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นก็คือ
มอสโกน่าจะเอาชนะยุทธวิธีกดดันใดๆ ที่ยูเครนสร้างขึ้นมา)
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
บัดนี้กองเรือรบนี้ก็สามารถที่จะไปใช้เมืองท่าอื่นในทะเลดำทดแทนได้แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองโปตี
ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นเลิศที่ตกทอดมาจากยุคสหภาพโซเวียต
การที่รัสเซียเข้าควบคุมโปตีด้วยความรวดเร็วเช่นนี้
จะต้องทำให้สหรัฐฯหน้าเขียวหน้าเหลืองด้วยความโกรธกริ้ว
ความโมโหโทโสของวอชิงตันมีต้นตอมาจากการตระหนักรับรู้ถึงความเป็นจริงที่ว่า
แผนการเดินเกมของตนซึ่งมีจุดมุ่งหมายในท้ายที่สุดที่จะลบล้างบทบาทความเป็น “มหาอำนาจในทะเลดำ”
ของรัสเซียที่ดำรงมายาวนานในประวัติศาสตร์ กำลังกลายป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ไปเสียแล้ว
แน่นอนทีเดียว หากปราศจากกองเรือรบทะลดำ
รัสเซียก็คงจะต้องยุติบทบาทความเป็นมหาอำนาจทางนาวีในย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปด้วย
ในทางกลับกัน ฐานะของรัสเซียในตะวันออกกลางย่อมจะถูกกระทบกระเทือนหนัก
เมื่อพิจารณาในองค์รวมเช่นนี้
ย่อมจะเห็นได้ว่าฝ่ายอเมริกันวางแผนเล่นเกมที่วาดหวังผลไว้สูงล้ำมากในการจัดการกับรัสเซีย
เวลานี้สัญญาณบ่งชี้ทุกประการล้วนแสดงให้เห็นว่า
มอสโกมุ่งมั่นตั้งใจที่จะธำรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองเรือรบทะเลดำของตนเอาไว้ต่อไป
มีการเปิดเจรจากับซีเรียเพื่อขยายฐานซ่อมบำรุงทางนาวีของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองท่าทาร์ทุส
ของซีเรีย เมื่อเร็วๆ นี้สื่อมวลชนในตะวันออกกลางอ่านสัญญาณจากการที่ประธานาธิบดี
บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เดินทางเยือนมอสโก
โดยคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจพิจารณาที่จะโยกย้ายกองเรือรบทะเลดำของตนจากเซวัสโตโปลมาอยู่ที่ซีเรียแทน
ทว่านี่เป็นการอ่านเกมอย่างไม่ถูกต้อง
เนื่องจากทั้งหมดที่รัสเซียต้องการคือศูนย์ซ่อมและส่งกำลังบำรุงสำหรับเหล่าเรือรบของตนที่ออกปฏิบัติการภารกิจต่างๆ
ในเมดิเตอร์เรเนียน ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า กองเรือรบที่ 5
ซึ่งเป็นกองเรือรบประจำเมดิเตอร์เรเนียนของกองทัพเรือในยุคสหภาพโซเวียต
ก็ได้เคยใช้เมืองท่าทาร์ทุสเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้มาโดยตลอด
**จีนแสดงความเข้าอกเข้าใจ**
มอสโกจะเดินหน้าเข้าสู่การประชุมระดับผู้นำของซีเอสทีโอ
ด้วยความพออกพอใจที่ได้รับความสนับสนุนมาแล้วจากที่ประชุมซัมมิตเอสซีโอ
ถึงแม้มิใช่ความสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขก็ตามที
ตัวเมดเวเดฟเองพูดถึงการประชุมเอสซีโอที่ดูชานเบเอาไว้ดังนี้
“แน่นอนว่าผมต้องเล่าให้บรรดาหุ้นส่วนของเราฟังถึงเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น
เนื่องจากโชคร้ายที่ว่า
ภาพซึ่งสื่อตะวันตกบางแห่งวาดออกมานั้นแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ
แม้กระทั่งในเรื่องที่ว่าใครคือผู้รุกราน ใครคือผู้เริ่มเรื่องทั้งหมดนี้ขึ้น
และใครควรต้องแบกความรับผิดชอบทั้งทางการเมือง ทางศีลธรรม
และถึงที่สุดแล้วในทางกฎหมายด้วย สำหรับสิ่งที่บังเกิดขึ้นมา ...
“เพื่อนร่วมงานของเรารับทราบข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ด้วยความขอบคุณ
และในระหว่างการพูดจาสนทนากันหลายต่อหลายครั้งนี้ เราได้ข้อสรุปว่า
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้แน่นอนว่ามิได้ทำให้ระเบียบโลกมีความเข้มแข็งมากขึ้น
และฝ่ายที่ก่อการรุกรานเช่นนี้ขึ้นมาควรที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลต่อเนื่องทั้งหลายที่ติดตามมา
... ผมมีความยินดีมากที่สามารถหารือเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานของเรา
และได้รับความสนับสนุนชนิดนี้จากพวกเขา ต่อการดำเนินความพยายามของเราเช่นนี้
เรามีความมั่นใจว่า
จุดยืนของบรรดารัฐสมาชิกเอสซีโอจะก่อให้เกิดเสียงสะท้อนอันถูกต้องสมควรสู่ความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ
และผมหวังว่านี่จะเป็นการส่งสัญญาณอันหนักแน่นจริงจังต่อพวกที่กำลังพยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่การรุกรานที่ได้กระทำไปแล้ว”
มอสโกน่าจะรู้สึกสบายอกสบายใจขึ้นมาก
จากการที่จีนแสดงความเห็นพ้องที่จะหนุนหลังจุดยืนในทางบวกเช่นนี้ด้วย
โดยเมื่อวันพฤหัสบดี(28)
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในมอสโกก็ดูเหมือนจะมีการติดต่อเป็นครั้งแรกกับสถานเอกอัครราชทูตจีนในประเด็นปัญหานี้
จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกว่า
การพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อเล็กเซ โบโรดาฟคิน ของรัสเซีย กับ
เอกอัครราชทูต หลิวกู่ฉาง ของจีน บังเกิดขึ้นโดยที่จีนเป็นฝ่ายริเริ่ม
คำแถลงอ้างว่า “ฝ่ายจีนได้รับทราบแรงจูงใจทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัสเซีย
และ แสดงความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ ” (ทำเป็นตัวเอนโดยผู้เขียนบทความนี้)
เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่ประเด็นอันอ่อนไหวขนาดนี้
มอสโกจะออกมาพูดกล่าวอ้างตามอำเภอใจฝ่ายเดียว
โดยปราศจากการยอมรับเป็นนัยล่วงหน้าในบางระดับจากฝ่ายจีน
ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีปฏิบัติทางการทูตตามปกติอยู่แล้ว
สำนักข่าวของทางการรัสเซียยังเสนอรายงานข่าวที่พูดไปไกลยิ่งกว่านี้อีก
และเน้นย้ำว่า “จีนได้แสดงความเข้าใจต่อการตัดสินใจของรัสเซียที่ให้การรับรองเอกราชของแคว้นเซาท์ออสซีเชีย
และ อับฮาเซีย ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจีย”
จุดยืนในทางสนับสนุนที่ได้มาจากเบลารุส, คาซัคสถาน, และจีนเช่นนี้
มีส่วนเพิ่มพูนฐานะของมอสโกให้มั่นคงขึ้นมาก ในเงื่อนไขที่เป็นจริงแล้ว
การได้รับหลักประกันว่าประเทศใหญ่ทั้งสามที่รายล้อมรัสเซียอยู่
จะยังคงแสดงความเป็นมิตร ถึงแม้ฝ่ายตะวันตกข่มขู่ที่จะก่อสงครามเย็นขึ้นมาใหม่
ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นอย่างมหาศาลต่อศักยภาพในการวางหมากแต้มคูของมอสโก
ในเวลาอีกไม่นานต่อจากนี้ เป็นไปได้ว่าอาจจะในสุดสัปดาห์นี้ด้วยซ้ำ
เราน่าจะคาดหมายได้ว่า เบลารุสจะประกาศรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย และอับฮาเซีย
ตามอย่างรัสเซียอีกประเทศหนึ่ง
เป็นที่ชัดเจนว่า มอสโกไม่มีความสนใจที่จะเพิ่มการรณรงค์ทางการทูตใดๆ
เพื่อระดมความสนับสนุนจากประชาคมโลก ให้แก่อธิปไตยและเอกราชของ 2
แคว้นที่ประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจีย ดังที่นักวิจารณ์ในมอสโกผู้หนึ่งกล่าวไว้ดังนี้
“ไม่เหมือนกับในสมัยของสหายเลโอนิด เบรสเนฟ
เวลานี้มอสโกมิได้กำลังพยายามหาทางกดดันประเทศหนึ่งประเทศใดให้เข้ามาสนับสนุนตัวเองในประเด็นนี้
ถ้าหากมอสโกทำ ก็คงจะได้ผู้เห็นอกเห็นใจสักสองสามราย
แต่ว่าใครจะไปแยแสสนใจกับเรื่องนี้ล่ะ”
ถึงอย่างไร สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ก็ยังคงสามารถสนองวัตถุประสงค์ของมอสโกได้อยู่นั่นเอง
ตราบเท่าที่ประชาคมโลกมีการหยิบยกเปรียบเทียบกัน ระหว่างกรณีของโคโซโว กับกรณีของ 2
แคว้นที่แยกตัวคราวนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามที 2
แคว้นนี้ยังคงต้องพึ่งพารัสเซียอย่างสิ้นเชิงในเรื่องสิ่งจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย
ด้วยการประกาศรับรองเอกราชของเซาท์ออสซีเชีย และอับฮาเซีย
สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับมอสโกอยู่ตรงที่ว่า
ถ้าหากเวลานี้ฝ่ายตะวันตกตั้งใจที่จะก่อ “กำแพงเบอร์ลิน” ใดๆ ขึ้นมาใหม่แล้ว
กำแพงดังกล่าวนั้นก็จะต้องเลี้ยวลดซิกแซ็กไปตามชายฝั่งด้านตะวันตกของทะเลดำ
ขณะที่กองเรือรบรัสเซียจะยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในชายฝั่งตะวันออก
และสามารถแล่นเข้าออกทะเลดำได้อย่างถาวร
อนุสัญญามอนทรีลนั้นให้หลักประกันแก่การที่เรือรบรัสเซียจะสามารถผ่านเข้าออกช่องแคบบอสฟอรัสได้อย่างเสรีอยู่แล้ว
ภายใต้สภาพการณ์ดังที่กล่าวมา
มหาแผนการของนาโต้ที่จะครอบครองทะเลดำเหมือนดังเป็นทะเลสาบส่วนตัวของตน
เวลานี้ดูจะกลายเป็นฝันสลายไปเสียแล้ว ผู้เป็นมันสมองของนาโต้ในบรัสเซลส์
ตลอดจนพวกผู้อุปถัมภ์ค้ำชูซึ่งอยู่ในวอชิงตันและลอนดอน
สมควรที่จะถูกระดมขว้างไข่ใส่หน้า สำหรับความเพลี่ยงพล้ำอย่างใหญ่โตเช่นนี้
** เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา,
เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Russia remains a Black Sea power
By M K Bhadrakumar
29/08/2008