Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Advertising in marinerthai.net MarinerThai 2004 Co., Ltd.

สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ และพระราชพิธีพระศพ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ และพระราชพิธีพระศพ


จาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6528

 

ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีงานพระราชพิธีสำคัญที่คนไทยทุกคนสนใจติดตาม

นั่นคือ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐ มนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้บรรยายเรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในโอกาสครบรอบ 12 ปี หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง หรือบ.ย.ส. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

มีเนื้อหาน่าสนใจและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยศ.ดร.วิษณุได้แบ่งการบรรยายเป็น 3 ส่วน คือ 1.พระสถานะของการเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2.พระประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตร 3.พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ขอ นำบางส่วนบางตอนมาถ่ายทอดดังนี้

ที่เกี่ยวกับพระสถานะนั้น เราได้ยินกันมาตลอดปีแล้วว่า องค์ผู้ที่เสด็จสิ้นพระชนม์ไปนั้น มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

คำถามแรกคือ คำว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น มีความหมายและมีความสำคัญอย่างไร

ตามกฎมณเฑียรบาล และโบราณราชประเพณีตั้งแต่สมัยอยุธยามาถึงปัจจุบัน ได้นับว่าผู้ชายเท่านั้นถึงจะเป็นพระมหากษัตริย์ได้

ดังนั้น โอกาสที่พระมหากษัตริย์จะมีพี่ชายร่วมครรภ์เดียวกัน เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอนั้น เห็นจะไม่มี

เพราะถ้าพระมหากษัตริย์มีพี่ชาย พี่ชายจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ไปก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอของพระมหากษัตริย์ จะมีก็แต่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

แต่พระมหากษัตริย์อาจจะมีพี่สาวร่วมพ่อแม่เดียวกันได้ ซึ่งพี่สาวจะไม่มีโอกาสรับราชสมบัติเป็นอันขาด เมื่อองค์น้องขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยเหตุที่ลำดับของการสืบราชสมบัติข้ามผู้เป็นพี่สาวไป เมื่อเป็นพระมหากษัตริย์ก็เป็นธรรมเนียมที่ท่านจะต้องยกย่องพี่สาวว่ามีพระเกียรติคุณยิ่งใหญ่

ยิ่งถ้าบวกกับการมีอุปการะคุณที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องทรงยกย่องอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นจึงมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์บ้างเป็นครั้งคราว และคราวใดที่มีต้องถือว่าผู้ที่เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น เป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดิน

ในประเทศไทยมีผู้ดำรงพระสถานะเป็นพระเจ้าพี่นางเธอฯ ของพระมหากษัตริย์ที่นับว่าสำคัญยิ่ง 3 ครั้ง

สมัยกรุงศรียุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชา ท่านมีพระมเหสีคือพระวิสุทธิกษัตรี มีพระโอรส และพระธิดา 3 องค์ พระธิดาองค์ใหญ่ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระสุพรรณกัลยา พระโอรสองค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระนเรศวร และพระโอรสองค์ที่ 3 คือ พระเอกาทศรถ

พระโอรสทั้ง 2 พระองค์ได้ครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ จึงทรงยกขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อเริ่มสร้างกรุงเทพฯ เริ่มพระบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพี่สาวร่วมครรภ์เดียวกัน อยู่ 2 พระ องค์ คือคุณสา และคุณแก้ว และได้ยกทั้ง 2 คนขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

พี่สาวคนโต เป็นสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เรียกกันว่าสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ เรียกกันว่าสมเด็จพระพี่นางองค์น้อย

เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง ได้สร้างพระตำหนัก 2 หลัง คือพระตำหนักเขียว และพระตำหนักแดง ถวายแด่สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทั้ง 2 พระองค์ให้มาประทับ และมีสิทธิกำกับราชการในพระบรมมหาราชวังฝ่ายในทั้งหมด

ในเวลาต่อมาสมเด็จพระพี่นางเธอฯ ทั้ง 2 พระ องค์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ตั้งพระบรมศพพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ คู่ไว้ในที่นั่งพระมหาดุสิตมหาปราสาท

เมื่อได้เวลาอันสมควร โปรดให้เชิญพระโกศพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ ขึ้นพระมหาราชรถ คือ พระมหาพิชัยราชรถ และพระมหาเวชยันตราชรถ คู่กันมาสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง และพระราชทานเพลิงพร้อมกัน

พระมหาพิชัยราชรถ

พระมหาเวชยันตราชรถ

ถือเป็นต้นตำรับของการจัดงานพระเมรุ โดยเฉพาะงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่กำลังจะถึง ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยพระเกียรติยศเสมอกัน และเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

สมเด็จพระบรมราชชนก ที่เรียกแต่เดิมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์ ท่านเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ท่านอภิเษกสมรสกับคนธรรมดา คือ น.ส.สังวาลย์ และมีโอรส ธิดา 3 พระองค์

องค์ใหญ่ ตอนประสูติเป็นหม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติในปีพ.ศ. 2466 ในรัชกาลที่ 6 ที่ประเทศอังกฤษ

อีก 2 ปีต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนก ท่านย้ายจากอังกฤษไปประทับที่เยอรมัน เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนต่อ

พระชายาได้ประสูติพระโอรส ทรงพระนามเมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าชายอานันทมหิดล อีก 2 ปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชชนกได้ไปประทับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พระชายาได้ประสูติพระโอรสพระองค์เล็ก ทรงพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช

2 พระองค์แรก เป็นหม่อมเจ้า พระองค์หลังเป็นพระวรวงศ์เธอ เพราะว่า 2 พระองค์แรกประสูติในสมัยรัชกาลที่ 6 ยังไม่มีการประกาศยกย่องสถาปนา

พอถึงเดือนพ.ย.ในปี 2470 รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่า บรรดาหลานปู่ของรัชกาลที่ 5 ทั้งหลาย เมื่อพ่อเป็นสมเด็จเจ้าฟ้านั้น ควรจะมีพระยศเป็นพระองค์เจ้าตั้งแต่ประสูติ และมีผลย้อนหลังให้หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนาเป็นพระองค์เจ้า เช่นเดียวกับหม่อมเจ้าชายอานันทมหิดล ที่ได้เป็นพระองค์เจ้าด้วย และหลังจากมีประกาศ 1 เดือน พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพล อดุลยเดชจึงประสูติ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้เคยรับสั่งเล่าพระราชทาน และได้ทรงเขียนไว้ว่า "ฉันเอง และรัชกาลที่ 8 เกิดเป็นหม่อมเจ้า พระเจ้าอยู่หัวนั้นท่านประสูติเป็นพระองค์เจ้า" และทรงรับสั่งต่อไปว่า "เพราะฉะนั้น ชีวิตฉันจนมาถึงป่านนี้ ฉันเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนยศตั้ง 6 ครั้ง"

ราชรถน้อยในกระบวนแห่พระบรมศพมี 3 องค์ คือ สำหรับพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรม 1 โปรยข้าวตอกดอกไม้ 1 และโยง 1

ดังจะเล่าต่อไป "เมื่อคราวที่มีผู้ไปกราบทูลว่าสมควรจะเปลี่ยนครั้งที่ 7 รับสั่งว่าพอแล้ว เพราะเปลี่ยนมาถึง 6 ครั้งแล้ว" เพราะตอนนี้มีดำริที่จะถวายเฉลิมพระยศให้สูงขึ้น ก็ไม่โปรด รับสั่งว่า "อายุปูนนี้เปลี่ยนมา 6 หน พอแล้ว"

คำว่าพี่ ที่มีพ่อและแม่เดียวกันนั้น มีคำราชาศัพท์ เรียกว่า พระโสทรเชษฐ ภคินี ส่วนเชษฐภคินี แปลว่า พี่สาว เมื่อรัชกาลที่ 6 มีพระราชธิดา คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ นับแล้วเป็นลูกพี่ลูกน้องกับรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 จึงได้มีการสถาปนาท่านขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์

เนื่องจากสงวนคำว่าพระเจ้าพี่นางเธอไว้ถวายเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

พระประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตร

ต้องตั้งต้นด้วยคำถามว่า นับตั้งแต่วันที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระ ชนม์ไป ทำไมคนไทยจึงตื่นเต้นอาลัย และมีความรู้สึกว่าผูกพันร่วมกันได้มากขนาดนั้น

ได้ฟังวิทยุ สัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่งอายุเกือบ 80 ปี มาสักการะพระศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท บอกว่า "ก่อนหน้านี้รู้ว่าเป็นพี่สาวในหลวง รู้แค่นั้น ไม่คิดว่าท่านเป็นใคร ทำอะไร ตอนหลังมาดูโทรทัศน์ทุกวัน จึงต้องทิ้งนา ทิ้งไร่ ทิ้งบ้านเพื่อมาสักการะ เพราะรู้สึกว่า โอ้โห ท่านทำอะไรมากขนาดนั้นเชียวหรือ"

ในปีพ.ศ. 2477 รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รัฐสภามีมติให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระชนม์เพียง 9 พรรษา ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8

ฐานะทั้งหมดได้เปลี่ยนแปลงไป พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา เปลี่ยนเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนพระยศครั้งที่ 3

คำว่า "กัลยาณิวัฒนา" นั้น เป็นชื่อที่รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งให้ โดยแรกประสูติในวันที่ 6 เดือนพฤษภาคม ภาษาอังกฤษเรียกว่า เมย์ พระบรมราชชนกทรงจดทะเบียนและตั้งชื่อไว้ว่า เมย์

ต่อมาสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ขอพระราชทานชื่อ ทรงตั้งว่า "หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา" แปลว่า สตรีผู้มีความงามและความเจริญรุ่งเรือง

สมเด็จพระพี่นางได้เรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย และได้ทรงเล่าว่า โปรดวิชาภาษาและวรรณคดี แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ออกมาดี จึงต้องไปศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ จนจบชั้นปริญญาตรี

แต่ได้ทรงเล่าว่า "ฉันไม่มีความเป็นนักเคมี และไม่ชอบด้วย ยังชอบภาษา ชอบวรรณคดี วิชาครูและการสอน" ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นครูมาตลอดพระชนมชีพ

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เพื่อแต่งงานกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ทรงเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง จากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นนาง มีพระธิดา 1 คน คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และมีร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม เป็นพระนัดดา

สมรสได้ระยะหนึ่ง ทรงหย่าร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานฐานันดรศักดิ์กลับคืน เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา อีกครั้ง

จากนั้น ได้เสด็จกลับมาประเทศไทยและสอนหนังสือวิชาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สอนได้ไม่นานเสด็จกลับไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้เสด็จกลับมาสอนหนังสืออีกระยะหนึ่ง ในวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทรงวางหลักสูตรแก่มหา วิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อสมเด็จพระราชชนนีพระชนมายุมากขึ้น จึงได้ทรงหยุดสอนโดยเสด็จพระราชดำเนินตามสมเด็จพระราชชนนีไปในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระชนมายุได้ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศ พระอิสริยศักดิ์ เลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงตรัสเล่าว่า "ชอบมาก เป็นกรมหลวงกำลังเหมาะดี ไม่เกิดสูงไปกว่าพ่อ แล้วนราธิวาสก็เหมาะดี เป็นจังหวัดที่ไม่อยู่สูงไปกว่าจังหวัดสงขลา แล้วนครินทร์ก็เหมาะอีก เพราะเป็นชื่อที่พ่อและแม่มีอยู่ในชื่อของฉัน"

ในปีที่ได้ทรงสถาปนาเป็นกรมหลวง จารึกพระ นามในพระสุพรรณบัฏหรือบัตรทอง เมื่อท่านเสด็จมาจากวัง ได้ถวายพระสุพรรณบัฏให้สมเด็จพระศรีนครินทร์ทอดพระเนตร เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก

ในพระจริยวัตรอัธยาศัย ทรงมีพระนิสัยความเป็นครู และอาจารย์ ใครที่ทำงานกับท่านจะรู้ว่า ท่านจะคอยแนะนำตลอด ตัวผมได้ถวายงานเมื่อ 20 ปีหลัง เมื่อทรงทราบว่าผมสนใจเรื่องใด ท่านจะทรงแนะและเล่าหลายเรื่อง อีกทั้งทรงมีพระนิสัยที่จะเรียนรู้ ลักษณะสำคัญที่สุดที่เป็นลักษณะของพระองค์ท่านคือ ความตรงไปตรงมา เป็นที่มาที่บางคนไปพูดกันว่าท่านดุ แต่ผมว่าไม่ดุ แถมยังมีพระอารมณ์ขันด้วย

ทรงเคยเล่าว่า มีป้าคนหนึ่งวิ่งเข้ามากอดพระบาท แล้วถามว่า สมเด็จพี่หายไปนานไม่ได้มาเยี่ยมเลย ท่านทรงบอกว่าตกใจ เกิดมาไม่เคยมีใครเรียกสมเด็จพี่ ท่านบอกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร กลัวเขาจะเขินอาย เขาคงคิดว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เรียกสั้นๆ ว่าสมเด็จพี่ เลยถามไปว่า แล้วน้องสบายดีหรือ

ในวันที่ 9 มิ.ย. เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ปกติต้องมีการทำบุญกันใหญ่โตที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ปรากฏว่าปีนั้น โปรดให้นำเครื่องสังฆทาน ให้วัดเล็กในชนบทไปบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระองค์ อุทิศถวายรัชกาลที่ 8 ท่านรับสั่งว่า ทำกับวัดเล็กๆ บุญยิ่งถึงแรง

จะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทำเรื่องที่เด็กไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก เรื่องเกี่ยวกับดนตรีโอเปร่า จนกระทั่งทรงส่งนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะพระองค์ท่านเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนอื่นยังไม่ได้ทำ สังคมยังไม่ได้ส่งเสริม ท่านจึงไปเติมในสิ่งที่เป็นช่องว่าง

บัดนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะมีการจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ โดยจะมีพระราชพิธีในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 6 วัน 6 คืน

วิธีดูว่าเวลาเจ้านายสิ้นพระชนม์ และได้รับพระราชทานเกียรติยศยิ่งใหญ่เพียงใดนั้น ให้ดูจากหลายๆ ข้อดังนี้ ประการแรกต้องดูว่า โปรดให้ตั้งพระศพที่ไหน พระศพของสมเด็จพระพี่นางฯ เป็นเกียรติยศสูงสุด ที่จะพระราชทานแก่เจ้านายใดๆ ได้

ความยิ่งใหญ่ต่อมา จะต้องดูว่าพระราชทานพระโกศชั้นใด สำหรับสมเด็จพระพี่นางฯ ได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่

พระโกศที่เราเห็นกันด้านนอก ที่มีการแกะสลักสวยงามนั้นไม่ใช่โกศ แต่พระโกศจริงจะอยู่ชั้นในที่เราไม่เห็น ข้างนอกเราเรียกว่า พระลองทอง

พระโกศสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นเป็นพระโกศทองใหญ่ แกะสลักสวยงามประดับเพชร ทำขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และสูงสุดไม่มีพระโกศใดสูงใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว รัชกาลที่ 1 ท่านโปรดให้ทำขึ้น ช่างฝีมือสมัยรัชกาลที่ 1 แกะสลักด้วยทองคำ สวยงาม ทำเสร็จโปรดให้ยกมาตั้งทอดพระเนตรทุกวัน

จนมีผู้กราบบังคมทูลคัดค้าน ท่านรับสั่งว่า "ถ้ากูไม่ดูตอนนี้ แล้วเมื่อใดกูจะได้เห็น ถ้ากูยังมีชีวิตอยู่ก็ดูมันไปอย่างนี้แหละ เป็นการปลงธรรมสังเวช"

ต่อมาพระราชธิดาพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ลง ทรงพระโทมนัสอาลัย จึงโปรดให้เชิญพระศพของพระราชธิดาลงในพระโกศทองใหญ่ เป็นพระองค์แรก จึงเกิดธรรมเนียมแต่นั้นมาว่า พระโกศนี้นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว อาจจะยังมีเจ้านายสูงศักดิ์พระองค์อื่นทรงพระโกศนี้ได้

เวลาเราไปถวายสักการะพระศพจะได้เห็นเบญจา 5 ชั้นเป็นแท่นทองคำ ชั้นบนสุดประดิษฐานพระลองทองใหญ่ เกียรติยศพระศพอีกอย่าง เหนือพระโกศนั้นแขวนฉัตร ฉัตรเจ้านายมี 5 ชั้น 7 ชั้น 9 ชั้น ถ้า 9 ชั้นใช้ได้แก่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ผ่านพิธีบรมราชาภิเษก เรียกว่า นพปฎลเศวตฉัตร

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระอิสริยศักดิ์ทรงฉัตร 5 ชั้น ระยะแรกจะเห็นว่าเหนือพระโกศเป็นฉัตร 5 ชั้น เสมอกับพระอิสริยยศ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้เลื่อนฉัตรขึ้นเป็น 7 ชั้น เป็นพระเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่

พระราชทานเพลิงที่ไหน พระศพของสมเด็จพระพี่นางฯ จัดที่ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ จัดริ้วขบวนอย่างไร โปรดให้จัดริ้วขบวนใหญ่ 6 ขบวน ใช้ผู้คนทั้งหมด 5,300 คน

พิธีทั้งหมด 6 วัน ทางราชการได้ประกาศว่าให้วันที่ 14-16 พ.ย. เชิญชวนข้าราชการและคนไทยไว้ทุกข์ 3 วัน

เวลานี้การจัดสร้างพระเมรุต่างๆ ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว การจัดงานพระเมรุเป็นเรื่องใหญ่มาก คนที่ออกแบบพระเมรุถือเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ

งานนี้ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นคนออกแบบ งานพระเมรุมีการตกแต่งสวยงาม สมเด็จพระพี่นางฯ ทรงประสูติวันอาทิตย์ แต่ท่านโปรดสีฟ้า ซึ่งไม่ใช่สีประจำวัน ดอกไม้ที่ใช้แต่งพระเมรุจะใช้สีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ สีแดงแซมบ้างเล็กน้อย

งานพระราชพิธีประเพณี พระราชทานเพลิงพระศพนี้ มีมาแต่โบราณ อย่าได้มองว่าเป็นการสิ้นเปลือง เพราะว่าเป็นโอกาสสำคัญ

ถ้าไม่มีพิธีนี้จะไม่มีการซ่อมแซมบรรดาราชรถใดๆ เพราะไม่รู้ว่าจะซ่อมไปทำไม คนที่เรียนสถาปัตยกรรมไทย สอนการออกแบบพระเมรุ แต่หลายคนจนตายก็ไม่มีโอกาสออกแบบ

เมื่อได้ทำก็จะเป็นการสืบสานวัฒนธรรม อย่าได้นึกว่าเป็นการสิ้นเปลือง เพราะว่านอกจากจะเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมเอกลักษณ์ บรรดาถาวรวัตถุ เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ไม้ สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างวัดวาอารามต่อไปได้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อจัดงานพระเมรุพระราชโอรสองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อพระราชทานเพลิงเสร็จ อิฐหินทรายปูนไม้ทั้งหมด รื้อลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปอีกฝั่งหนึ่ง สร้างเป็นโรงพยาบาลศิริราช

คราวพระราชทานเพลิงสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อิฐหินดินทรายปูนไม้ทั้งหมด รื้อไปสร้างเป็นตึกได้หนึ่งหลัง วันนี้คือตึกวัดมหาธาตุ ริมถนนตรงข้ามท้องสนามหลวง ที่เคยเป็นหอสมุดแห่งชาติเก่า

คราวถวายพระเพลิงสมเด็จย่า อิฐหินดินทรายปูนไม้ รื้อถอนไปสร้างเป็นพลับพลาและศาลาที่วัดปทุมวนาราม และใช้เป็นโรงเรียน ซึ่งในคราวนี้ยังไม่ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทำอะไร

ส่วนฉัตรที่ยกขึ้นในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังจากวันที่ 20 ต.ค. นี้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ยกฉัตรขึ้นเหนือยอดพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง โปรดให้นำไปกางเหนือพระประธานวัดบวรนิเวศ

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   8922

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Photos from Mariner Nathalin Group

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network