Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Cho.Charoen Maritime Instruments TOP Engineering Group - UAV Thailand

เรือนไฟแห่งชีวิต บนเกาะตะเภาน้อย

เรือนไฟแห่งชีวิต บนเกาะตะเภาน้อย


จาก กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 30 มีนาคม 2552

โดย : นิภาพร ทับหุ่น

ตามรอยประภาคาร ประวัติศาสตร์นักเดินเรือบนเกาะตะเภาน้อย ณ อ่าวมะขาม สัมผัสผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์เหนือหมู่เกาะทะเลใต้

วันที่ 28 มีนาคม 2552 กรุงเทพมหานครรณรงค์ให้คนกรุงลุกขึ้นมาปิดไฟตอน 2 ทุ่ม เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อช่วยกันประหยัดพลังงานของโลก และลดสภาวะเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน

ไม่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ต่อให้คนทั่วโลกได้ยินกิจกรรมนี้ก็ยินดีให้ความร่วมมือด้วยทั้งนั้น ทุกบ้าน ทุกหน่วยงาน สามารถดับไฟได้ตามคำร้องขอ ทว่า สถานที่แห่งหนึ่งไม่สามารถให้ความร่วมมือได้อย่างจริงใจ เพราะทุกวินาทีเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิต นั่นก็คือ ประภาคาร

กรุงเทพฯ - อากาศร้อนจนบางคนต้องนอนเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 20 องศา

ภูเก็ต - แม้เข็มเทอร์โมมิเตอร์จะพุ่งขึ้นมาแตะที่ตัวเลข 38 แต่คนเฝ้าประภาคารบางคนก็มีเพียงพัดลมตัวเล็กๆ เท่านั้นที่เอาไว้คอยบรรเทาอาการ “เหงื่อซึม”

ดูเหมือนใจดำ หรือเมินเฉยต่อกิจกรรมดีๆ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานของโลก แต่ถ้าลองพิจารณากันตามจริง พัดลมย่อมสร้างมลภาวะน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศเป็นไหนๆ ถ้าลองเปลี่ยนจากปิดไฟ มาปิดแอร์ เชื่อแน่ๆ ว่าโลกจะรู้สึกเย็นสบายขึ้น

ไม่ได้ก่นด่าหรือเยาะหยันชะตาชีวิตของคน 2 กลุ่มที่แตกต่าง แต่กำลังจะพาทุกคนไปยังเกาะที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทว่าเต็มตื้นไปด้วยความรื่นรมย์ของผืนป่า นานาสัตว์ ประวัติศาสตร์ของประภาคาร และวิถีชีวิตของคนเฝ้าดวงไฟที่ไม่มีวันดับ

นก คน บนเกาะแห่งความพิสุทธิ์

“รีบหน่อยคุณ” บุรุษหนุ่มผู้กุมพวงมาลัยเรือสั่งเสียงเข้ม หลังจากนั่งรอผู้โดยสารอยู่ที่ท่าเรืออ่าวมะขามมานานร่วมชั่วโมง เป็นธรรมดาของชายชาติทหารที่ยึดมั่นต่อการตรงต่อเวลาเป็นที่สุด เมื่อมาเจอลูกเรือจอมโอ้เอ้อย่างเรา จึงอดรนทนไม่ได้ที่จะตะแบงเสียงใส่ แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายความรู้สึกของใคร เพราะใต้ปีกหมวกนั้นมีรอยยิ้มจางๆ ซ่อนอยู่

"ใส่ชูชีพด้วย" คำสั่งสุดท้ายก่อนทิ้งหางเสือเรือทำเอาทุกคนตะลีตะลานหยิบเสื้อลอยน้ำขึ้นมาสวมโดยฉับพลัน ไม่ได้กลัว แต่ก็ไม่กล้าขัดคำสั่ง เรือสปีดโบตลำนั้นจึงเต็มไปด้วยผู้โดยสารสีส้ม (สีของชูชีพ)

นึกชื่นชมในความเคร่งครัดของพลขับจริงๆ เพราะหากเป็นเรือโดยสารอื่นๆ กับระยะทางแค่ 15 นาที คงไม่มีใครมาใส่ใจกับระบบป้องกันภัยง่ายๆ แบบนี้ และที่มีข่าวเรือล่ม คนตาย หลายชีวิตที่เสียไปก็เพราะไม่มีเสื้อนิรภัยติดตัว

เรานั่งมองฟองน้ำที่กระจุยกระจายอยู่ท้ายเรือเพียงชั่วครู่ เสียงเครื่องยนต์ก็ดับลงพร้อมเทียบท่าส่งผู้โดยสารที่บริเวณหน้าหาดทรายขาวนวล บนเกาะตะเภาน้อย

เสียงขอบคุณของเรา แลกกับภาพฟันขาวๆ ใต้รอยยิ้มจริงใจของนายทหารเรือ-พลขับ ใครบ้างจะไม่รับน้ำจิตน้ำใจครั้งนี้

เราเดินเปลือยเท้าตามหาดทรายขาวขึ้นไปตรงสวนสน ป้าย "ประภาคาร เกาะตะเภาน้อย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ" เติมความมั่นใจให้เรารู้สึกว่า มาถูกที่แล้ว

เกาะตะเภาน้อย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นเกาะขนาดเล็กที่ยังคงสภาพผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ โดยมีดัชนีชี้วัดเป็นฝูงนกแก๊กเกือบ 100 ชีวิต ซึ่งนอกจากธรรมชาติอันสวยงามแล้ว บนเกาะแห่งนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตบนผืนทะเล นั่นคือ ประภาคาร เครื่องหมายช่วยในการเดินทางของชาวเรือ

เดือนมีนาคม แดดร้อนจัดจ้า ทว่า ใต้ป่าผืนใหญ่บนเกาะตะเภาน้อยมีสายลมพัดเอื่อยอ่อย ทำให้รู้สึกเย็นสบาย

"ป่าที่นี่ค่อนข้างสมบูรณ์ สังเกตได้จากมีนกแก๊กมาอยู่ที่นี่ประมาณ 50 คู่ เป็นนกแก๊กที่อยู่บนเกาะตะเภาใหญ่ และเกาะตะเภาน้อย ทั่วโลกมีนกเงือกอยู่ 54 สายพันธุ์ ในเอเชียมี 50 สายพันธุ์ ในไทยเองมี 12 สายพันธุ์ ที่นี่มี 1 สายพันธุ์ คือ นกแก๊ก" ร.ต.สุชิน รักชาติ นายประภาคารเกาะตะเภาน้อย บอก พร้อมเดินนำเราผ่านเรือนพักและป่าใหญ่ขึ้นไปยังยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคาร

เราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนยอดต้นชมพู่ นกแก๊ก 2 ตัว กำลังจิกกินกล้วยน้ำว้าสุกอย่างเอร็ดอร่อย

"นอกจากอาหารในป่า นกแก๊กจะกินมะม่วง ขนุน น้อยหน่า ชมพู่ กล้วย ที่เราปลูกไว้ด้วย บางทีเรามีก็เอาไปแขวนให้มันกิน" เขาแสดงสีหน้าเอ็นดูอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราจ้องมองมัน ก็ได้ความรู้สึกที่ไม่ต่างไปจากนายประภาคารนัก

เขาว่า นกเงือกทั่วไปมีนิสัยรักเดียวใจเดียว จะอาศัยอยู่กับคู่ของมันจนตายจากกัน ซึ่งถ้าคู่ของมันตายจากไป ไม่นานมันก็จะตรอมใจตามไปด้วย เป็นเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่จริงๆ

"ที่นี่มีป้อมปืนโบราณด้วย สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดีทหารญี่ปุ่นพาเชลยศึกมาทำไว้ แต่ยังไม่ทันได้ใช้ ตอนนี้ยังไม่เปิดให้เข้าชม เพราะค่อนข้างรก"

ร.ต.สุชิน บอกว่า นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะนี้ส่วนใหญ่เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงควบคุมไม่ยาก แต่เมื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเป็นทางการแล้ว คงจำกัดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นเกาะไม่เกินวันละ 30 คน

"ถ้ามาเที่ยวแบบนักท่องเที่ยวรักธรรมชาติจริงๆ ก็ไม่น่าเสียหาย แต่ประเภทมาหาความสวยงามศิวิไลซ์ เราไม่มีให้ชม มีแต่ป่าแต่นก คนบนนี้เป็นนายทหารเรือ กินอยู่อย่างเรียบง่าย หาผักที่มีบนนี้มาทำอาหาร อย่างผักลิ้นหมาก็เอามาแกงเลียงอร่อย นานๆ จึงจะขึ้นไปบนฝั่งสักที ถ้าไม่มีอะไรก็ไม่อยากไป"

ฟังเรื่องราวการใช้ชีวิตของคนบนเกาะนี้แล้ว ดูช่างอิสรเสรีและใกล้ชิดกับคำว่า "ธรรมชาติ" มากจริงๆ

ดวงไฟที่พาใครบางคนกลับบ้าน

หลายคนที่เคยโดยสารไปกับเรือประมง เรือโดยสาร เรือสำราญ หรือเรืออะไรก็ตามแต่ในยามค่ำคืน คงเคยสังเกตเห็นว่ามีดวงไฟส่องสว่างวาบไหวเป็นสัญญาณไกลๆ อยู่ตรงชายฝั่ง หรือเกาะใดเกาะหนึ่งใกล้แผ่นดิน บางดวงสว่างเพียงวาบเดียวแล้วหายไปประมาณ 2 วินาที บางดวงกะพริบ 2 วาบแบบต่อเนื่อง จากนั้นก็ดับไปแล้วกลับมากะพริบใหม่อีกครั้ง นั่นคือ ประภาคาร

"ลักษณะวาบไฟแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกันเลย ในโลกนี้มีมากมายตั้ง 256 ลักษณะวาบไฟ ต้องตั้ง code ไม่ให้เหมือนกัน" ร.ต.สุชิน ให้ข้อมูล พร้อมเล่าว่า

ประภาคารเกาะตะเภาน้อย สร้างขึ้นปี พ.ศ.2442 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองกระโจมไฟ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต่อมาในปี พ.ศ.2462 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการโอนย้ายไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงทหารเรือ ในยุคแรกประภาคารแห่งนี้ใช้พลังงานจากน้ำมันก๊าด จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ก๊าซในปี พ.ศ.2470 แล้วเปลี่ยนอีกทีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2540 เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

"ตอนนี้ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ และก็มีระบบแมนนวลด้วย อย่างกลางวันเราจะเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในเวลากลางคืน นายประภาคารหรือคนเฝ้าต้องช่วยกันดูแลให้ดี เพราะถ้าเกิดไฟฟ้าย้อนกลับไปที่แผงรับพลังงานจะใช้การไม่ได้เลย"

มีความสงสัยมานานแล้วว่า ประภาคารกับกระโจมไฟ แตกต่างกันอย่างไร นายประภาคารแห่งเกาะตะเภาน้อย จึงแจงให้ฟังว่า ประภาคาร มาจากคำ 2 คำ คือ ประภา ที่แปลว่า แสงสว่าง กับ อาคาร ที่แปลว่า เรือน เมื่อประภากับอาคารรวมกัน เป็นประภาคาร จึงมีความหมายรวมว่า เรือนไฟ เป็นเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือ ประภาคาร มีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ให้ไฟดับ แต่กระโจมไฟไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล หากไฟดับจึงจะมีเจ้าหน้าที่ไปแก้ไขทำการจุดไฟ

"ประภาคารไฟจะดับไม่ได้เลย ถ้ามีปัญหาเจ้าหน้าที่หรือนายประภาคารต้องซ่อมได้ ถ้าปล่อยปละ เกิดเรือจม เรือชนโขดหิน กรมฯ จะมีความผิด ที่ผ่านมาไฟดวงนี้ก็ยังไม่เคยดับ เพราะเรามีนายประภาคาร 5 นาย คอยดูแล ซึ่ง 5 นายนี้จะสับเปลี่ยนไปประจำที่ประภาคารกาญจนาภิเษกบนแหลมพรหมเทพด้วย"

ฉันแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองให้ถึงปลายยอดของประภาคาร ที่คนเฝ้าบอกว่า ปลายยอดมีตะเกียงระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชนิดเลนส์หมุน และมีไฟวับสีขาว 6 วับ ทุกๆ 10 วินาที ลักษณะของประภาคารเป็นกระโจมอิฐหอคอย ทาสีขาวสว่าง สูง 11 เมตร ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 55 เมตร มองเห็นได้ไกล 20 ไมล์ทะเล

แดดจัดแบบนี้ หากมองนานอีกหน่อย มีหวังซ้ำรอยกษัตริย์อินเดียที่นั่งมองทัชมาฮาลทุกวันแน่ ว่าแล้วก็เดินหาที่หลบแดดรักษาผิวกายกันพัลวัน

ข้างๆ ประภาคารเป็นเรือนไม้เก่าที่นายประภาคารเล่าให้ฟังว่า เป็นเรือนไม้สไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับประภาคาร เดิมเป็นที่ทำการ เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความทรุดโทรมจึงไม่ได้ใช้ แต่กำลังจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้สายงานอุทกศาสตร์และสายงานกองทัพเรือ

"ที่นี่มีสถานีวัดระดับน้ำด้วย มีหน้าที่คำนวณระดับน้ำทะเล ความผิดปกติของน้ำ ลมพายุ เมื่อคำนวณได้จะส่งรายงานไปที่กรมอุตุนิยมวิทยา ตอนช่วงเวลา ตี 1 - 7 โมงเช้า และบ่ายโมง - 1 ทุ่ม หรืออย่างเวลาพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพก็มาจากที่นี่ คือทุกเช้าจะมีเวรคอยเปลี่ยนเวลาบนป้าย หลังจากที่คำนวณแล้วว่าวันนี้ดวงอาทิตย์จะตกเวลากี่โมง คลาดเคลื่อนไม่เกิน 6-7 นาที" นายประภาคาร ผู้ปิดทองหลังพระ บอก

ฉันถามเรื่อยๆ ไปจนถึงเรื่องสึนามิ นายทหารเรือว่า ก่อนนั้นที่สถานีใช้เครื่องวัดระดับน้ำระบบอนาล็อก (Analog) แบบลูกลอย โดยปกติวันหนึ่งจะมีน้ำขึ้นสูงสุด 2 ครั้ง และน้ำลงต่ำสุด 2 ครั้ง ซึ่งมีการทำรายงานประจำปีไว้แล้ว แต่ความผิดปกติของน้ำในช่วงสึนามิเกิดขึ้นเร็วมาก ให้หลังจากระดับน้ำผิดปกติเพียงไม่ถึง 20 นาทีก็เกิดเหตุการณ์สึนามิ

หลังจากนั้นกรมอุทกศาสตร์จึงได้ฟื้นฟูสถานีวัดระดับน้ำฝั่งอันดามันใหม่ เป็นสถานีวัดระดับน้ำแบบดิจิทัล (Digital) และเครื่องวัดระดับน้ำระบบดิจิทัล ทำงานด้วยคลื่นเสียงพร้อมรับ-ส่งข้อมูลในระยะไกลด้วยระบบสื่อสารทางโทรศัพท์ จะช่วยเรื่องการเตือนภัยสึนามิได้ดี ซึ่งสถานีรูปแบบทันสมัยนี้เปิดใช้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2548

ฉันเดินไปรอบๆ บริเวณประภาคาร จากจุดนี้สามารถมองเห็นฝั่งเกาะภูเก็ตได้ถนัดตา มีเรือสินค้ามากมายอยู่ในร่องน้ำลึก ที่เดินทางได้อย่างปลอดภัย ก็คงเป็นเพราะได้รับสัญญาณจากดวงไฟบนเกาะแห่งนี้เอง

"จะขึ้นไปดูข้างบนไหม" นายประภาคารชักชวน

ประตูประภาคารทรงโค้งมีขนาดเล็ก เวลาเดินเข้าต้องค่อยๆ ก้มตัว ภายในมีบันไดลิงสำหรับไต่ขึ้นไปชมวิวจากช่องมองที่ปลายยอดประภาคาร ด้วยความอยากเห็นทิวทัศน์ในมุมมองใหม่ ฉันจึงตัดสินใจปีนบันไดลิงทีละขั้นๆ กว่าจะถึงจุดหมายก็เล่นเอาเหงื่อโทรมกาย เพราะภายในค่อนข้างทึบ มีเพียงช่องมองวิวเท่านั้นที่ช่วยระบายอากาศ

มันเป็นมุมมองที่ค่อนข้างแปลก จริงอยู่ที่ว่า ภาพแบบพาโนรามาจะเห็นได้เต็มตากว่า แต่ภาพลอดช่องแบบนี้ก็ได้อารมณ์ดีไม่น้อย

 


การเดินทาง

ภูเก็ต เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่เดินทางไปได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะทางเครื่องบินที่ตอนนี้มีสายการบินราคาประหยัดให้บริการมากมาย อย่างสายการบินนกแอร์ มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตทุกวัน สอบถามตารางการเดินทางได้ที่ นกแอร์ call center 1318 นอกจากนี้ก็ยังสามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถไฟ (ต้องไปต่อรถที่สุราษฎร์ธานี) รถประจำทางปรับอากาศ และรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อถึงภูเก็ตแล้วให้เหมารถตุ๊กตุ๊ก หรือรถสองแถวไปที่ท่าเรืออ่าวมะขาม ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที จากนั้นนั่งเรือยนต์รับจ้างต่อไปยังเกาะตะเภาน้อยอีกประมาณ 15 นาที เก็บค่าเข้าชมเกาะ คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ส่วนนักเรียนนักศึกษาขึ้นเกาะฟรี สอบถามข้อมูลที่ ร.ต.สุชิน รักชาติ นายประภาคารเกาะตะเภาน้อย โทร. 08-4625-9067

ที่พัก

บนเกาะตะเภาน้อย ยังไม่มีที่พักให้บริการ เนื่องจากเป็นเกาะปิดมานาน เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสเสน่ห์แห่งป่าอันอุดมสมบูรณ์เมื่อไม่นานมานี้ นักท่องเที่ยวจึงไม่สามารถพักบนเกาะนี้ได้ แต่ถ้าจะพักแนะนำให้โดยสารเรือกลับไปพักบนเกาะภูเก็ต หลายๆ หาดมีที่พักหลายระดับ หลากราคา ตั้งแต่โรงแรมขนาดเล็กราคา 500 บาท ในตัวเมือง ไปจนถึงระดับห้าดาว อย่างที่พักในโซนลากูน่าของภูเก็ตก็มีโรงแรมเชนให้บริการมากมาย อาทิเช่น ดุสิต ลากูน่า ภูเก็ต, เชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต, ลากูน่า บีช รีสอร์ท เป็นต้น สอบถามที่ ททท.สำนักงานจังหวัดภูเก็ต โทร. 0-7621-1036, 0-7621-2213, 0-7621-7138 หรือ call center 1672

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3364

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Mariner English Articles Advertising in MarinerThai.Com

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network