ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ฝรั่งเศส-ไทยร่วมรำลึก 116 ปีอดีตขม
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ฝรั่งเศส-ไทยร่วมรำลึก 116 ปีอดีตขม
จาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 11 มิถุนายน 2552 08:46 น.
รำลึกความหลัง - ภาพที่ไม่ได้ระบุวันเดือนปี
เผยแพร่โดยสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.)
แสดงให้เห็นเรือวาร์ (VAR)
ซึ่งเป็นเรือบัญชาการของกองเรือฝรั่งเศสประจำมหาสมุทรอินเดียกับเรือสนับสนุนอีกลำหนึ่ง
ขณะนี้ VAR กำลังจอดทอดสมอในน่านน้ำอ่าวไทยใกล้กับแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ผู้บัญชาการเรือ พล.ร.ท.เฌราร์ด วาแล็ง มีกำหนดจะเข้าร่วมพิธีบวงสรวงร่วมกับฝ่ายไทย
ที่ค่ายตากสิน จ.จันทบุรี ในวันพฤหัสบดีนี้.
ผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสประจำมหาสมุทรแปซิฟิก พลเรือโทเฌราร์ด วาแล็ง (Gerard
Valin) พร้อมคณะจะเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา
รำลำถึงทหารกล้าของทั้งสองฝ่ายที่สละชีวิตในภารกิจเพื่อประเทศชาติ
ซึ่งกำลังจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี
ขณะเดียวกันฝรั่งเศสกำลังช่วยไทยฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างภายในค่ายทหารใน จ.จันทบุรี
ที่สร้างตั้งแต่ ร.ศ.112 ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสกล่าวว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้
เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ กับความร่วมมือในยุคใหม่
"พวกเขา (ชาวฝรั่งเศส) กำลังศึกษาบทเรียนจากอดีต บทเรียนที่ว่าเราจะต้องไม่กระทำอีก"
พล.ร.ท.วางแล็ง กล่าวระหว่างแถลงข่าว
ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.)
ผบ.กองเรือมหาสมุทรอินเดีย "มีบทเรียนในอดีต-ต้องไม่กระทำอีก"
พิธีวางพวงมาลาครั้งประวัติศาสตร์จะจัดขึ้น ณ บริเวณอาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส
ที่สร้างขึ้นหลังจากได้ใช้กำลังทหารบังคับราชอาณาจักรสยาม และผนวกดินแดนที่เรียกว่า
"เขมรส่วนนอก" เข้าในดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)
ปัจจุบันอาคารดังกล่าวรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอีกหลายหลัง ตั้งอยู่ภายในค่ายตากสิน จ.จันทบุรี
ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน
ของกองทัพเรือไทย
ผู้บัญชาการกองเรือประจำมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสกับประธานาธิบดีห่างฝรั่งเศส
เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายลอร็องต์ บิลี (Laurent Bili)
กับทูตทหารประจำกรุงเทพฯ น.อ.แอร์วาน ชาร์ลส์ (Erwan Charles)
จะเข้าร่วมพิธีรำลึกความสัมพันธ์ครั้งนี้
"ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ามันเป็นสัญลักษณ์อย่างมาก ..มีความสำคัญเป็นอย่างมาก" น.อ.ชาร์ลส์กล่าว
ระหว่างการร่วมแถลงข่าว
นายทหารผู้นี้กล่าวด้วยว่า
พิธีวางพวงมาลาจัดขึ้นเพื่อแสดงความคาวระต่อดวงวิญญาณของทหารทั้งสองฝ่าย
ซึ่งได้สละชีวิตเพื่อชาติของตน โดยไม่ได้แบ่งแยก
นอกเหนือจากการประจัญกันทางทหารที่ดำเนินติดต่อกันยาวนานหลายทศวรรษ
ราชนาวีไทยกับกองเรือฝรั่งเศสในภาคตะวันออกไกล ได้เปิดฉากการสู้รบขึ้นในวันที่ 17
ม.ค.2484 ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ยุทธนาวีที่เกาะช้าง" ในท้องที่ จ.ตราดปัจจุบัน
ไทยเสียเรือรบไป 3 ลำในยุทธนาวี คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา
และเรือหลวงชลบุรี ทหารไทยเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 36 นาย
ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศสได้ใช้เรือทั้งหมด 9 ลำ
ในการสู้รบทางทะเลครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมทั้งเรือปืนจำนวน 4 ลำ
เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธอีก 1 ลำ กับเรือดำน้ำอีก 1 ลำ โดยมีลามอตต์ปิเกต์
เป็นเรือธง
แม้ฝรั่งเศสจะกล่าวอ้างมาตลอดว่า ไม่มีความสูญเสียใดๆ ในยุทธนาวีที่เกาะช้าง
ซึ่งถือเป็นยุทธนาวีเพียงครั้งเดียวของกองทัพเรือไทย
แต่ฝ่ายไทยยืนยันว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ถูกเรือหลวงธนบุรียิงจนมองเห็นไฟลุกอยู่ส่วนท้ายเรือ
น.อ.ชาร์ลส์: "มันเป็นสัญลักษณ์-สำคัญอย่างมาก"
นั่นคือยุทธนาวีที่เกิดขึ้นในปีแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีในยุโรป
ขณะต้องเผชิญหน้ากับกองทัพพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในอินโดจีน
ในเวลาต่อมาราชอาณาจักสยามได้ดินแดนจันทบุรี-ตราดกลับคืน
รวมทั้งได้ครอบครองดินแดนที่เป็น จ.เสียมราฐ พระตะบอง และ ศรีโสภณ ซึ่งเป็น จ.บ้านใต้มีชัย
(Banteay Meanchey) ของกัมพูชาในปัจจุบัน ภายใต้สัญญามิตรภาพกับกองทัพญี่ปุ่น
สถานการณ์ได้ผันเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 2488
โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้และฝรั่งเศสได้กลับคืนสู่ดินแดนอินโดจีนอีกครั้ง
ราชอาณาจักรสยามต้องคืนดินแดนกัมพูชาไป แลกกับการได้จันทบุรีและตราด
อย่างไรก็ตามอิทธิพลของฝรั่งเศสในอนุภูมินี้สิ้นสุดลงในอีก 10 ปีต่อมา
เมื่อกองทัพของเจ้าอาณานิคมถูกต้อนไปจนมุมที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu)
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม และพ่ายแพ้แก่กองทัพเวียดมินห์
ที่นำโดยอดีตประธานโฮจิมินห์ของเวียดนามในปี 2497
นำเข้าสู่ยุคใหม่กับสงครามอินโดจีนครั้งใหม่ ที่ปะทุขึ้นในทศวรรษถัดมา
และยุติลงในปี 2518 ด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจชาติใหม่คือ สหรัฐฯ
พล.ร.ท.วางแล็ง ซึ่งบิดาได้ร่วมสู้รบในสมรภูมิรบเดียนเบียนฟูกล่าวว่า
ในปัจจุบันนโยบายของฝรั่งเศสได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นนโยบายสร้างสันติภาพ
หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการเจรจา
ผู้บัญชาการกองเรือประจำมหาสมุทรอินเดียของฝรั่งเศสกำลังเยือนไทยพร้อมเรือวาร์
(VAR) ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนส่งกำลังบำรุงติดอาวุธ ที่ถูกใช้เป็นเรือบัญชาการ
ในสัปดาห์นี้เรือวาร์จอดลอยลำในอ่าวไทยนอกฝั่งแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ พล.ร.ท.วาแล็ง
กล่าวว่าระหว่างนี้จะได้พบหารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสด ผู้บัญชาการทหารเรือ
ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้บัญชาการทหารบกของไทยด้วย
นอกจากนั้นทหารเรือฝรั่งเศสยังมีกำหนดขึ้นบกประกอบกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ใน จ.ชลบุรี
รวมทั้งไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนบางแห่งด้วย
แผนที่แสดงเส้นทางเรือในยุทธนาวีที่เกาะช้างวันที่ 17 ม.ค.2484 จากวิกิพีเดีย
การทำพิธีวางพวงมาลารำลึกสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสครั้งประวัติศาสตร์นี้
ยังมีขึ้นในช่วงเดือนแห่ง "เทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย" (La Fete) ประจำปี 2552
ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา และกำลังจะมีการแสดงวัฒนธรรม
การจัดนิทรรศการในหลากหลายเนื้อหา ไปจนถึงเดือน ต.ค.ศกนี้
เรือรบหลวงธนบุรี
ภาพนายทหารประจำเรือ เรือรบหลวงธนบุรี
พลประจำเรือ เรือหลวงช้าง กำลังช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากเรือรบหลวงธนบุรี
ขณะเดียวกันสถานทูตในกรุงเทพฯ
ได้ระดมทุนช่วยเหลือมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานของกองทัพเรือกับกรมศิลปากรของไทย
เพื่อบูรณะอาคารโบราณสถานในค่ายตากสิน ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณราว 50 ล้านบาท
สิ่งปลูกสร้างภายในค่ายตากสิน
ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้นมีจำนวนรวม 8 หลัง ประกอบด้วย
อาคารกองบัญชากาทหารฝรั่งเศส อาคารคลังพัสดุทหาร อาคารที่พักทหารรักษาการณ์
อาคารที่คุมขังทหาร อาคารกระสุนดินดำ 2 หลัง กับอาคารกองรักษาการณ์
ซึ่งปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า 1 ศตวรรษ
ความชุลมุนบนเรือรบธนบุรีของราชนาวีสยาม ระหว่างไฟกำลังไหม้และหลังดับลงแล้ว
เรือถูกกยิงเสียหายหนักและแล่นเกยตื้นขณะมุ่งหน้าฝั่งเกาะช้าง- ภาพจากวิกิพีเดีย
เรือลาม็อตปิเกต์ (บน)
กับเรือรบอีกลำหนึ่งของฝรั่งเศสที่เข้าร่วมยุทธนาวีครั้งประวัติศาสตร์-
ภาพวิกิพีเดีย
ภายใต้โครงการดังกล่าวยังรวมถึงการบูรณะแนวคันดินและคูเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย
เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ประสานงานไปยังคณะกรรมการสมาคมฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์
ตลอดจนตัวแทนภาคเอกชนฝรั่งเศสในประเทศไทย บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ
ของฝรั่งเศสเพื่อให้ความร่วมมือช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและเทคนิค
ตามเอกสารที่แจกจ่ายโดยสถานทูตในกรุงเทพฯ
ความร่วมมือช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปัจจุบัน