ดำน้ำกับฉลามเสือดาว
ดำน้ำกับฉลามเสือดาว
จาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 10 มีนาคม
2552
โดย : วินิจ รังผึ้ง
ฉลามได้ชื่อว่าเป็นปลาที่มีรูปร่างสง่างามสมกับเป็นความเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล
และในบรรดาฉลามที่สวยงามนั้น ฉลามเสือดาว หรือ
Leopard shark นับเป็นฉลามที่นักดำน้ำหลายๆคนชื่นชอบ
และแน่นอนมันเป็นฉลามขวัญใจที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่เห็นหน้าเห็นตากันครั้งแรกในท้องทะเลเลยทีเดียว
ความจริงชื่อ”ฉลามเสือดาว”
ของมันที่ผู้คนเรียกขานกันนั้นฟังดูแล้วก็น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงอยู่ไม่น้อย
เพราะมีทั้งคำว่าฉลามและเสือดาว สองนักล่าผู้ร้ายกาจมารวมกัน ราวกับพยัคฆ์ติดครีบ
แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น และกลับตรงกันข้าม
เจ้าฉลามเสือดาวนี้กลับเป็นฉลามที่ไม่มีอันตรายกับมนุษย์ หรือนักดำน้ำแต่อย่างใด
เพราะมันเป็นฉลามชนิดที่ไม่มีเขี้ยวเล็บ ดังนั้นมันจึงไม่มีอันตรายต่อมนุษย์
เหตุที่มันได้ชื่อว่าฉลามเสือดาวก็คงเพราะสีเหลืองสลับลายจุดบนตัวที่คล้ายลายของเสือดาวนั่นเอง
ก็น่าแปลกนะครับที่เสือดาวอยู่ในป่าในเขาจะมีสีสันและลวดลายคล้ายๆกับฉลามเสือดาวใต้ทะเลลึกได้
ทั้งที่บรรพบุรุษของทั้งคู่ก็ไม่เคยพบเจอกัน
บางทีพระเจ้าก็คงไม่รู้จะออกแบบลวดลายอย่างไร จนปัญญาเข้าก็เลยต้องลอกแบบซ้ำๆกันมา
และคงจะคิดว่าไม่มีใครรู้กระมัง เพราะตัวหนึ่งอยู่ในป่าเขา
อีกตัวหนึ่งอยู่ใต้ทะเลลึก แต่มนุษย์ก็อุตส่าห์บุกบั่นดำน้ำลงไปจับผิดจนได้
ฉลามเสือดาวนี้ยังมีชื่อเรียกกันอีกหลายชื่อ เช่นบางคนก็เรียก
ฉลามกบ ซึ่งคงเพราะสีสันและลวดลายอาจคล้ายๆ กบ
หรือบางครั้งก็เรียก ฉลามม้าลาย (Zebra shark)
เพราะในตอนเล็กๆขณะเป็นฉลามวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลดำคาดขาวคล้ายๆม้าลาย
ฝรั่งจึงเรียกฉลามม้าลายอีกชื่อหนึ่ง
ซึ่งลูกฉลามเสือดาวนั้นเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นกัน
เพราะเมื่อฟักตัวออกจากไข่ก็จะว่ายน้ำลงไปอาศัยอยู่ในทะเลลึก
จนกระทั่งโตขึ้นมามีสีสันลวดลายเหมือนพ่อแม่จึงค่อยว่ายน้ำกลับขึ้นมาอาศัยอยู่ตามพื้นทรายและแนวปะการัง
ลักษณะนิสัยของฉลามเสือดาวนั้นแสนจะสุภาพเรียบร้อย เป็นฉลามที่มีนิสัยรักสงบ
ชอบนอนกบดานนิ่งๆอยู่บนพื้นทราย
ใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันไปกับการนอนพรางตัวอยู่บนพื้นทราย
และออกว่ายหากินในเวลากลางคืน
ที่ว่ามันไม่ดุร้ายและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ก็เพราะเจ้าฉลามชนิดนี้ไม่มีฟันที่มีลักษณะแหลมคม
หรือเขี้ยวแหลมๆเหมือนฉลามนักล่าทั่วไป แต่มันจะมีฟันละเอียดเล็กๆเป็นผืนอยู่ในปาก
ฟันเหล่านี้มีไว้ใช้บดและขบอาหารมากกว่าการกัดและฉีกเหยื่อ
อาหารของเจ้าฉลามเสือดาวจึงเป็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งมังกร หอย ปลาหมึก
ที่อยู่ตามพื้นทรายและแนวปะการังเป็นส่วนใหญ่
และด้วยเพราะปลาหมึกเป็นอาหารโปรดของเจ้าฉลามเสือดาว
มันจึงมักจะหลงกินเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อปลาหมึกของนักตกปลาหน้าดินในตอนกลางคืนเป็นประจำ
ทั้งที่นักตกปลา
หรือเซียนตกปลาทั้งหลายก็บอกว่าไม่ได้ตั้งใจตกเจ้าฉลามแสนสวยตัวนี้หรอก
เพราะนอกจากจะเนื้อจะไม่อร่อยแล้วยังน่าอับอายและออกจะเสียศักดิ์ศรีสักหน่อย
เพราะจะตกฉลามทั้งทีกลับตกฉลามเสือดาว
นักตกปลาจึงมักจะตัดสายเบ็ดปล่อยทิ้งไม่เอาขึ้นมา
ซึ่งอาจจะเป็นโชคดีของเจ้าฉลามเสือดาวอยู่บ้างที่ยังสามารถมีชีวิตอยู่
แต่ก็แย่หน่อยตรงที่ว่ายไปไหนก็ต้องมีเบ็ดเกี่ยวปากพร้อมสายเบ็ดสั้นๆติดไปด้วย
ราวกับแฟชั่นเจาะร่างกายใส่ห่วงของบรรดาวัยรุ่นสมัยนี้เลยทีเดียว...ก็คงเป็นทั้งกรรมของปลาและกรรมของคนพอๆ
กัน
แหล่งที่อยู่อาศัยของเจ้าฉลามเสือดาวนั้น
มักพบมันนอนอยู่ตามพื้นทรายสีเหลืองคล้ายๆสีของลำตัว ในระดับความลึกราว 60-90 ฟุต
นักดำน้ำมักพบทางฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าฝั่งอ่าวไทย
บริเวณที่ผมเคยพบเห็นบ่อยครั้งก็คือแถวๆหมู่เกาะสิมิลันบริเวณเกาะหนึ่ง
หรือจุดดำน้ำที่เรียกว่ากำแพงเมืองจีนซึ่งมีสภาพเป็นกองหินตั้งเรียงรายบนผืนทราย
หรือบริเวณจุดดำน้ำรอบๆเกาะพีพี เช่น หินมุสัง หินร่อ
ซึ่งพบฉลามเสือดาวได้เป็นประจำและมีจำนวนมากพอสมควรจนฝรั่งและร้านดำน้ำแถวๆภูเก็ตถึงกับเรียกกันว่า
Shark point เลยทีเดียว แต่ในปัจจุบันผมกลับไปดำจุดต่างๆรอบๆหมู่เกาะพีพี
รู้สึกว่าเจ้าฉลามเสือดาวเพื่อนเก่าที่เคยพบเห็นกันมากมายนั้นจะดูหายหน้าหายตาลงไปทุกที
ซึ่งผมพยายามจะคิดในทางที่ดีว่ามันคงไม่ได้หายไปไหน
แต่คงเป็นเพราะนักดำน้ำเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าเมื่อราว 10-15 ปีก่อนหลายเท่าตัว
เจ้าฉลามเสือดาวจึงถูกเข้าไปดูเข้าไปชมบ่อยครั้ง
ต้องโชว์ตัวต้องรับแขกกันวันละหลายรอบ บวกกับความเป็นฉลามใจดีที่ สุภาพเรียบร้อย
และยอมให้นักดำน้ำเข้าไปชมได้ใกล้ๆไม่เป็นอันตรายไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร
ในอดีตจึงมีนักดำน้ำมือซนบางคนไปจับ ไปลูบ บางคนถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงเลยก็มี
ทำให้เจ้าฉลามแสนสวยเหล่านี้ออกอาการรำคาญ พานหนีออกไปไม่ยอมมาให้เห็นให้ดูกันอีก
ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นที่น่าดีใจว่าอาการมือซนของนักดำน้ำเช่นที่ว่านั้นไม่ค่อยมีให้เห็น
และเราคงต้องถือเป็นกติการ่วมกันเลยว่าจะไม่เข้าไปรบกวนฉลามแสนสวยเหล่านี้จนเกินไป
เพื่อไม่ให้มันหนีเตลิดเปิดเปิงไปเสียหมด
เทคนิคการเข้าไปชมเจ้าฉลามเสือดาวอย่างใกล้ชิดนั้นก็ไม่ยาก
เมื่อเห็นว่ามันนอนอยู่ที่พื้นทรายตรงจุดไหนก็ค่อยๆลอยตัวนิ่งๆ
เคลื่อนเข้าไปทางด้านหน้าให้เจ้าฉลามเห็นได้อย่างชัดเจน
ไม่ใช่แอบว่ายเข้าไปข้างหลัง
พอเข้าไปใกล้หน่อยฉลามหันมาเห็นเข้าก็จะตกใจตื่นหนีไปเสียก่อน
การว่ายเข้าไปหาเจ้าฉลามเสือดาวนั้นให้ค่อยๆสลับเท้าเคลื่อนใกล้เข้าไปทีละน้อยๆและคอยสังเกตอาการ
หากเจ้าฉลามเสือดาวเริ่มเกิดอาการตื่นๆ ซึ่งสังเกตได้จากการหายใจเปิด-ปิดของช่องเหงือกที่กระพือถี่
แสดงว่าเจ้าฉลามตัวนั้นกำลังตื่นกลัวและพร้อมจะว่ายทะยานจากไป
ให้นักดำน้ำหยุดนิ่งๆกับพื้นทรายก่อน
เมื่อเห็นว่าอาการมันสงบลงและยังคงนอนอยู่ไม่หนีไปไหนแล้ว
ก็ค่อยๆลอยตัวใกล้เข้าไปทีละน้อยจนพอใจ
การเคลื่อนเข้าไปหาด้วยอาการสงบนิ่งน่าไว้วางใจ ไม่แสดงถึงการก้าวร้าวบุกรุก
จะทำให้เจ้าฉลามแสนสวยตัวนี้ยินยอมให้เข้าไปชมหรือเข้าไปถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิดจนพอใจเลยทีเดียว
ปลาฉลามเสือดาว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาฉลามเสือดาว ปลาฉลามชนิดหนึ่งที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stegostoma fasciatum
อยู่ในวงศ์ Stegostomatidae
และถือเป็นปลาชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Stegostoma
ปลาฉลามเสือดาวเป็นปลาที่มีครีบหางยาวมาก มีส่วนหัวสั้นทู่
พื้นลำตัวสีเหลืองสลับลายจุดสีดำคล้ายลายของเสือดาว จึงเป็นที่มาของชื่อ
เมื่อยังเล็กอยู่ ลายบนลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลดำคาดขาวคล้ายลายของม้าลาย ดังนั้น
จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อนึงในภาษาอังกฤษว่า Zebra Shark (ฉลามม้าลาย)
เป็นปลาที่มีไม่มีฟันแหลมคมเหมือนฉลามชนิดอื่น ๆ มีอุปนิสัยชอบนอนอยู่นิ่ง ๆ
บนพื้นทรายและแนวปะการังใต้ทะเล ในความลึกตั้งแต่ 5-30 เมตร
โดยพบในทะเลบริเวณแถบอินโด-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย โดยใช้เวลาในช่วงกลางวันนอน
กลางคืนออกหากิน อาหารได้แก่ สัตว์มีกระดอง และสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า
เมื่อถูกรบกวนจะว่ายหนีไป
ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ประมาณ 3 เมตร
ปลาฉลามเสือดาวเป็นฉลามที่ออกลูกเป็นไข่ โดยจะวางไข่ในเขตน้ำตื้น
ลูกปลาขนาดเล็กอาจจะเข้าไปอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยหรือน้ำจืด
แถบป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำได้ เมื่อโตขึ้นจึงค่อยย้ายลงสู่ทะเลลึก
ดังนั้นลูกปลาขนาดเล็กจึงมักติดเบ็ดหรืออวนของชาวประมงอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งในทางประมงแล้ว ปลาฉลามชนิดนี้ไม่จัดว่าเป็นปลาที่ใช้ในการบริโภคแต่อย่างใด
นอกจากนี้แล้วยังเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม