ลูกเรือเงินล้าน สู้เพื่อแม่
“ลูกเรือเงินล้าน” สู้เพื่อแม่
จาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 10 พฤศจิกายน
2552
จะมีคนสักกี่คนที่เกิดมาในครอบครัวค่อนข้างยากจน
แต่เมื่อโตขึ้นกลับสามารถหาเงินได้นับล้านในเวลาเพียงข้ามปี?
คำถามที่ชวนให้คิดว่า โชคชะตา ฟ้าลิขิตอย่างเดียวคงไม่พออีกต่อไป
ถ้าไม่ผนวกกับพื้นฐานครอบครัวที่มั่นคง บวกกับใจที่สู้และกตัญญูอยู่เสมอ
ซึ่งบุคคลที่เป็นหนึ่งในไม่กี่คนนี้ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก “โอม สมรัชนะ มูลสาย”
นักเสิร์ฟมือโปรบนเรือสำราญและเจ้าของปลายปากกา “โหด มันส์ ฮา ประสาลูกเรือ (สำราญ)”
หนังสือที่บอกเล่าถึงประสบการณ์และชีวิตครอบครัวได้อย่างดีทีเดียว
ทั้งนี้ จากชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก ครอบครัวยากจน แต่สำหรับสมรัชนะแล้ว
เส้นทางเดินของเขากลับไม่ตีบตันเอาเสียเลย เมื่อเขาสามารถคว้าทุนเรียนได้อยู่เสมอ
สมรัชนะเล่าว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะทำอะไรจะนึกถึงครอบครัวเสมอ
และก่อนที่คุณพ่อจะเสียชีวิต
เคยพูดกับท่านไว้ว่าจะดูแลคุณแม่ให้ดีที่สุดเพราะเราเป็นลูกคนสุดท้องและเป็นลูกชายคนเดียวด้วย
“สำหรับคุณพ่อนั้น แทบจะไม่มีโอกาสตอบแทนท่านเลย
ก็เหลือคุณแม่ที่เป็นพระในบ้านของเรา ก็ปฏิญาณไว้ว่าเราต้องดูแลท่านให้ดีที่สุด
ดังนั้นจึงขอสละตัวเองเพื่อครอบครัว ทำงานหาเงินเพื่อมาจุนเจือมาโดยตลอด”
จาก “บ้าน” สู่ “เรือ”
หลังจากที่โอม สมรัชนะเรียนจบปริญญาตรีจากรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในฐานะนักเรียนทุนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ รุ่นที่ 1
และพร้อมที่จะทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตามที่ตั้งใจไว้แล้วนั้น
กว่าเขาจะมาสวมบทบาทลูกเรือ
สมรัชนะก็เหมือนหลายๆคนที่ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์ในการค้นหาตัวเองและเพื่อความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว
และเมื่อถึงเวลาที่ลูกชายคนเล็กคนนี้ตัดสินใจก้าวขึ้นไปบนเรือสำราญ
จากบ้านที่เชียงราย ไปเป็น “ลูกเรือ” และเป็นที่รู้จักในนาม “มิสเตอร์ มูลสาย”
สำหรับชาวต่างชาติ
เหตุผลสำคัญที่เป็นตัวแปรในการตัดสินใจเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ก็คือครอบครัวที่มีทั้งคุณแม่และพี่สาวอีก
2 คนกำลังมองมานั่นเอง
“ผมตัดสินใจไปเป็นลูกเรือ โดยมีหน้าที่เสิร์ฟอาหารเพียงอย่างเดียว โดยตลอดระยะเวลา
10 เดือนบนเรือ 2 เดือนในบ้านนั้น
ผมเต็มใจที่จะทำเพราะผมต้องการรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ
สร้างฐานะของตัวเองและครอบครัว”
“ในช่วงเริ่มต้น ผมมีรายได้อยู่ที่ประมาณหลักหมื่น ซึ่งระยะเวลาให้หลัง
ค่าบริการด้วยใจหรือที่เรียกกันว่า service charge ก็จะทำให้รายได้นั้นเพิ่มมากขึ้น”
โอมเล่า
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะงานของลูกเรือที่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานกว่า 1,200 คน
จากต่างที่มากว่า 60 ประเทศ บนเรือสำราญที่มีพื้นที่เท่ากับ 3 สนามฟุตบอลรวมกัน
และสูงถึง 19 ชั้น ซึ่งแต่ละวันชั่วโมงในการทำงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 ชั่วโมง
ตลอดระยะเวลา 10 เดือน ก็คงไม่แปลกอะไรที่จะต้องเจอะเจอปัญหาอยู่บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านการงานและครอบครัว
โอมเผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ประสบการณ์มันสอนให้เรียนรู้ในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก 30 กว่าประเทศที่ได้เยือน
แขกที่มาใช้บริการเรือสำราญจากต่างที่มา ก็สอนให้รู้จักความแตกต่างในเรื่องศาสนา
ธรรมเนียม วัฒนธรรม ฯลฯ
“ส่วนอุปสรรคของครอบครัวในสมัยก่อนก็หนีไม่พ้นเรื่องการติดต่อสื่อสาร เพราะ 10
ปีที่แล้วเรายังไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ข้ามประเทศก็ลำบาก
วิธีเดียวที่เป็นทางออกก็คือ การเขียนจดหมาย”
“เวลาเขียนจดหมายหาคุณแม่ คุณแม่ต้องรอนับเดือนกว่าจะได้จดหมายของลูก
พอคุณแม่ตอบกลับมา เราก็ต้องรอเป็นเดือนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างลำบาก
เราก็ต้องอดทน เพราะเราต้องทำงานหาเงินส่งไปให้ที่บ้าน” โอมกล่าว
ทั้งนี้ โอมเล่าต่อว่า มีช่วงหนึ่งที่คุณแม่อยู่คนเดียว แล้วลื่นล้ม
เราก็เป็นห่วงมาก และต้องตัดสินใจให้พี่สาวมาดูแลคุณแม่
ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ดูแลคุณแม่ด้วยตัวเอง แต่ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวนั้น
รับผิดชอบเองทั้งหมด
“ผมมีรูปของคุณแม่ ไว้ที่หัวเตียงเสมอ เพราะคุณแม่คือผู้หญิงที่ผมรักมากที่สุด
ทุกวันนี้ผมยังคงหวังว่า ผมจะได้กลับไปอยู่กับท่าน ดูแลท่าน
และอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา กับครอบครัวที่อยู่กันอย่างพอเพียง”
ก่อนส่ง “ลูกเรา” ไปเป็น “ลูกเรือ”
แน่นอนว่า จากหนังสือ “โหด มันส์ ฮา ประสาลูกเรือ (สำราญ)”
และชีวิตครอบครัวของสมรัชนะ
อาจเป็นตัวแปรเล็กๆที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเริ่มไขว้เขว
อยากให้ลูกยึดอาชีพนี้บ้างเพียงเพราะหวังว่าลูกจะมีทรัพย์
หรือเด็กๆเองอยากได้เงินเยอะๆมาให้ครอบครัว แต่ทว่า โอม ได้สะท้อนว่า
ไม่ว่าจะทำอะไร ของให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตนรัก หากอยากจะเป็นลูกเรือ
ก็ต้องรักงานบริการและทำด้วยใจจริงๆ
“เงินไม่ใช่ที่สุดในชีวิตนะครับ ต่อให้ถูกรางวัลที่ 1
ก็ไม่มีใครสามารถซื้อได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุณพ่อ
คุณแม่ควรให้ลูกตัดสินใจเลือกทางเดินเอง อย่าไปบังคับเขาเลยครับ”
“ส่วนเด็กๆเอง ขอให้ทุกคนสร้างความรักให้เป็น รักตัวเองและครอบครัวให้มากๆ
ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือพี่น้องก็ตาม เพราะความรัก
ความอบอุ่นของคนในครอบครัวคือความสุขที่แท้จริงครับ” โอม สมรัชนะ ปิดท้าย
เขาเรียกผมว่า “มือเสิร์ฟเงินล้าน”
คง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ในชีวิตหนึ่ง คุณจะได้เป็นเจ้าของเงินเก็บ
หริือตัวเลขบัญชีในธนาคารแบบ 7 หลัก โดยไม่ได้อาศัยฐานะของครอบครัว
หรืลาภลอยจากการเสี่ยงโชค ยิ่งสำหรับคนที่เริ่มต้นจากศูนย์แล้ว
บอกได้คำเดียวว่าหินพอสมควร แต่ที่บอกว่ายาก ก็่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โอม-สมรัชนะ
มูลสาย หนุ่มเมืองเหนือที่เริ่มต้นจากศูนย์คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจน
หลายคนอาจ เดาไปต่างๆนานาว่าหนุ่มคนนี้แม้จะเริ่มจากงานในตำแหน่งเล็กๆที่ไหนสักแห่ง
แต่เพราะโชคและความสามารถที่ทำให้หนุ่มคนนี้สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดที่ประสบ
ความสำเร็จในชีวิตได้ แต่ขอบอกว่าคุณคิดผิดถนัด เพราะแท้จริงแล้ว โอม-สมรัชนะ
มูลสาย ไม่ได้นั่งแท่นผู้บริหารหรือซีอีโอให้กับบริษัทเอกชนแห่งไหนทั้งนั้น
แต่เขาเป็นเพียง คนที่ทำหน้าที่ให้บริการบนเรือสำราญ หรือที่เรียกว่า “บ๋อย”
เท่านั้น
กว่าจะเป็น “มือเสิร์ฟเงินล้าน”
โอม เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่อาชีพ “บ๋อย” บนเรือสำราญว่า
หลังจากคว้าปริญญาตรีจากรั้วพ่อขุนรามฯมากอดได้สมใจ
โอมก็เอาประสบการณ์จากการทำงานระหว่างเรียนตามโรงแรม 5 ดาวต่างๆ
มาใช้เป็นใบเบิกทางเส้นทางสายอาชีพ
ก่อนที่วันหนึ่งจะตัดสินใจโกอินเอตร์ตามหาฝันที่อยากทำอาชีพที่ไม่ต้องจำ
เจอยู่ในออฟฟิช ที่สำคัญได้เดินทาง
แต่ครั้นจะไปเป็นสจ๊วต หนุ่มโอมก็กลัวจะไปไม่ถึงฝัน เลยตัดสินใจหาทางลัด
แต่สูตรสำเร็จยังเหมือนเดิม นั่นคือ การสมัครไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟบนเรือสำราญ
ผมภูมิใจที่ได้เป็น “สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ”
10 ปีมาแล้วนับจากวันแรกที่หนุ่มโอมลัดฟ้าไปขึ้นเรือไกลถึงแคนาดา
จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานแบบไม่ลืมหูลืมตา ทุกวันวันละ 10-12 ชม.
นานทีปีหนจะได้กลับบ้านซะที ดีหน่อยที่สมัยนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า
มีโทรศัพท์ทางไกลและอินเตอร์เนตไว้ให้ติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงคลาย เหงา
แก้อาการโฮมซิก
“อาชีพ ของผมจะว่าไปก็เหมือนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนะ
เพราะเวลาส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในเรือ แต่พอช่วงหยุด หรือเปลี่ยนเวร
เราก็สามารถขึ้นฝั่งไปเที่ยวได้ สำหรับโอมยังไปไม่รอบโลก ไปมาแค่ 30 ประเทศเอง
แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า”
อย่างไรก็ตามแม้ค่าตอบ แทนจากการทำงานบนเรือจะอยู๋ในอัตราที่น่าพอใจ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วย
ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานบนเรือจะได้ค่าตอบแทนเท่ากัน แต่สำหรับโอม
มันก็เพียงพอที่จะทำให้ลูกผู้ชายคนหนึ่งพอใจ และอดภูมิใจไม่ได้
กับเงินทองที่จะทำให้ครอบครัวได้สุขสบาย
ประสบการณ์โหด มันส์ ฮา
แม้ แต่พี่น้องคลานตามกันมา หรือคนในครอบครัวก็ย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้
สาอะไรกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์ โอมบอกว่า
ด้วยอาชีพบริการทำให้เราต้องรับแรงกดดันค่อนข้างมาก
เพื่อทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการบนเรือ
เพราะหากเกิดเรื่องวิวาทไม่ว่ากับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานเองก็คงไม่ดี
ดังนั้นเทคนิคอย่างหนึ่งที่โอมจำใส่ใจเสมอ คือ การบริการด้วยใจ
และพยายามคิดบวกเข้าไว้
“ 10 ปีที่ผ่านมา ชีวิตบนเรือของโอมเรียกได้ว่า ครบรส มีทั้ง “โหด” นั่นคือ
เวลาทำงานที่ค่อนข้างยาวนานในแต่ละวัน เสร็จงานหรือพักเบรคก็ไม่รู้จะหลบไปไหน
ก็ต้องอยู่บนเรือ
ที่สำคัญรสชาติของอาหารที่ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยถูกปากคนไทยหัวใจอีสานนัก
เพราะลิ้นมันคอยแต่จะหารสเปรี้ยว แซ่บ ส่วน “มันส์” คือ
แน่นอนว่านอกจากเราจะรับเงินเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังได้เที่ยวฟรี กินฟรีอีกต่างหาก
สุดท้าย “ฮา” ก็เหมือนนิสัยคนไทย เวลาเห็นฝรั่งพูดไม่ชัดพูดผิดก็ขำ
บนเรือสำราญก็เช่นกัน เพราะมีคนหลายชาติหลายภาษา
ดังนั้นก็ตองมีความต่างทั้งเรื่องวัฒนธรรม การใช้ภาษา
คำพ้องรูปพ้องเสียงที่ต้องฟังให้ดี
ชีวิตนี้ไม่กลัวตาย
หลาย คนอาจสงสัยว่าใช้ชีวิตเกือบทั้งปีอยู่บนเรือแบบนี้
ไม่กลัวเรื่องอุบัติเหตุหรือ โอม บอกว่าเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง
แต่ก็รอดมาได้ จนทุกวันนี้ยอมรับแล้วว่าไม่กลัวตาย เพราะเชื่อว่าคนเราถ้าถึงคราว
ขี่มอเตอร์ไซค์อยู่กรุงเทพฯก็ตาย ที่ผ่านมาโอมจะถือคติกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่อย่ากลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิด ถ้าถามว่าพร้อมมั้ยที่จะตาย ก็ตอบเลยว่าพร้อม
แม้จะมีโอกาสได้พบ โอม-สมรัชนะ มูลสาย นักเสิร์ฟเงินล้านในเวลาสั้นๆ
แต่ก็เห็นถึงพลังบางอย่างในตัวของหนุ่มคนนี้
ซึ่งหากใครยังไม่จุใจและอยากรู็เรื่องราวแบบเจาะลึกของหนุ่มคนนี้มากขึ้น
สามารถตามอ่านได้ในผลงานเขียนเล่มที่ 3 ของเขา “โหด มันส์ ฮา ประสาลูกเรือ (สำราญ)”
จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ปิ่นโต
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เด็กราม-รายได้เดือนแสน แบบฉบับกูรู "มหา'ลัย เรือสำราญ" - โดย
ASTVผู้จัดการออนไลน์