Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net MarinerThai 2004 Co., Ltd.

“เกาะลันตา” ไข่มุกเม็ดใหม่ ทะเลอันดามัน

“เกาะลันตา” ไข่มุกเม็ดใหม่ ทะเลอันดามัน


จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 9 ธันวาคม 2552

เกาะลันตาในมุมสูง

หนาวนี้เที่ยวไหนดี …?

คำถามสำหรับการพักผ่อนช่วงปลายปี ในบรรยากาศย่างเข้าสู่ฤดูหนาว คำตอบส่วนใหญ่คงไม่แคล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือ ไปสูดอากาศรับความเย็นกันในอ้อมกอดของขุนเขา แต่สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” ขอเลือกลงใต้รับไออุ่นจากท้องทะเลแห่ง “เกาะลันตา” แทน

เกาะลันตา เป็น เกาะงดงามทางฝั่งทะเลตะวันตกของจังหวัดกระบี่ ที่ยังคงความเงียบสงบไว้ได้มากกว่าเกาะอีกหลายๆแห่งของท้องทะเลกระบี่ ที่ซึ่งมีคนกล่าวขานว่า นี่คือ ไข่มุกเม็ดใหม่แห่งอันดามัน หมู่เกาะลันตาครอบคลุมและประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อยจำนวนกว่า 50 เกาะ และมีการตั้งเป็นอุทยานทางทะเลแห่งชาติหมู่เกาะลันตา โดยสามารถจำแนกย่อยได้เป็นหมู่เกาะไหง, หมู่เกาะรอก, หมู่เกาะห้า และ หมู่เกาะลันตา

น้ำทะเลสีเขียวมรกตที่เกาะไม้ไผ่

เกาะลันตามีสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง ส่วนที่ราบจะอยู่บริเวณเชิงเขาและชายทะเล เกาะลันตา ประกอบไปด้วยหาดทรายจำนวน 10 หาด ซึ่งมีความสวยงามและมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป อาทิ หาดคอกวาง หาดคลองดาว หาดลองบีช หรือ หาดพระแอะ เป็นต้น และหาดแหลมโตนด สถานที่ตั้งของประภาคาร สัญลักษณ์ประจำเกาะลันตา

การเดินทางไปยังเกาะลันตา มีให้เลือกหลายเส้นทาง ทั้งทางบก ทางเรือ ครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” เลือกที่จะโดยสารทางเรือ โดยเริ่มต้นที่ “ท่าเรือเจ้าฟ้า “ภายในตัวเมืองกระบี่ ท่าเรือที่ตั้งอยู่ห่างจากเขาขนานน้ำไม่ไกลนัก

ดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นที่เกาะไม้ไผ่

“ตะลอนเที่ยว” พร้อมด้วยผองเพื่อน ใช้เวลาแล่นเรือราวครึ่งชั่วโมง เรือก็พาถึง “เกาะไม้ไผ่” หรือ เกาะไผ่ เกาะที่ตั้งอยู่ห่างจากเกาะลันตาไม่ไกลนัก เราเลือกแวะพักรับไอทะเลที่เกาะแห่งนี้ก่อนเป็นการประเดิม เกาะไม้ไผ่ มีธรรมชาติที่เงียบสงบและคนไทยได้เปรียบชาติต่างชาติแน่นอน หากเดินทางมาที่นี่

เพราะด้วยความเป็นเกาะหนึ่งของอุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จึงทำให้ยังไม่มีที่พักระเกะระกะ และค่าเหยียบแผ่นดินเพื่อไว้บำรุงจัดการการท่องเที่ยวเป็นค่าเข้าอุทยานฯเพียงคนละ 20 บาท ต่างจากชาวต่างชาติที่ทางอุทยานฯเรียกเก็บถึงคนละ 400 บาท

หาดทรายที่เกาะไม้ไผ่นี้ขาวละเอียดเหมือนเนื้อแป้งดีๆนี้เอง ทำให้กิจกรรมที่ได้รับความนิยมของที่นี่คือ การอาบแดด เล่นน้ำทะเล และการดำน้ำดูปะการังทั้งแบบน้ำลึก และน้ำตื้น แนวปะการังซึ่งส่วนมากเป็นแนวปะการังเขากวางทอดยาวไปถึงทางทิศใต้ของเกาะ จนได้รับขนานนามว่าเป็น "ดงปะการังแสนไร่" ท่ามกลางทะเลอันดามัน

ปลาดาวหนามหนึ่งในความสมบูรณ์ใต้ทะเลเกาะไม้ไผ่

งานนี้ “ตะลอนเที่ยว”เลยไม่พลาดที่จะลงดำน้ำตื้น ผุดดำว่ายใต้ผืนน้ำสีเขียวมรกต ดำดูสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอันดามันร่วมกับคนอื่นๆ หลังจากดำผุดดำว่ายกันจนหนำใจแล้ว ก็ขึ้นเรือมุ่งหน้าจากเกาะไม้ไผ่ แล่นเรืออีกราว 50 นาที เราก็มาถึงยังที่หมายคือ “เกาะลันตา” โดยขึ้นเรือกันที่ท่าศาลาด่าน

หลังจากขึ้นสู่ฝั่งที่เกาะลันตาแล้ว อันดับแรกที่พวกเราเลือกทำกันก็คือการเข้าที่พัก ที่ “คราวน์ ลันตา รีสอร์ท แอนด์ สปา” ที่ คราวน์ ลันตา เป็นที่พักซึ่งตั้งอยู่ในมุมสูงของเกาะลันตา ชัยภูมิของ คราวน์ ลันตา เปรียบเสมือนมงกุฏแห่งลันตาจริงๆ เพราะมีจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์ของเกาะลันตาได้อย่างทั่วถึง เราปิดท้ายคืนแรกที่เกาะลันตากันด้วยการนั่งดื่มด่ำกับพระอาทิตย์ตกที่เกาะลันตายังจุดชมวิวของทางโรงแรม คราวน์ ลันตา นั่นเอง

หากชีวิตในเมืองกรุงจะดูแก่งแย่งรีบเร่ง มาที่เกาะลันตา ก็คือวิถีที่ตรงข้าม คงเพราะความสงบของธรรมชาติเลยทำให้ใจคนมาพักนิ่งสนิทตาม เราตื่นกันอย่างไม่รีบร้อน แต่เมื่อกินข้าวเช้าเสร็จก็ร้อนใจนิดๆ เพราะความที่อยากเที่ยวชมเกาะลันตาให้ได้มากที่สุด

แต่ก่อนจะพาเที่ยวขอเล่าถึงประวัติของเกาะลันตากันสักนิด เกาะลันตามีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต คนเดินเรือมันใช้เป็นที่หลบมรสุม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนศาลาด่านได้กลายเป็นด่านภาษีของเรือเดินทางมาค้าขายที่เดินทางมาจากภูเก็ต ระนอง ซึ่งจะเดินทางผ่านไปยังปีนังและสิงคโปร์

มุมนี้ของโรงแรมคราวน์ ลันตา รีสอร์ท แอนด์ สปา มองเห็นทะเลได้ชัด

คำว่า “ลันตา” มีข้อสันนิษฐานหลายข้อ บ้างก็บอกว่า “ลันตา” มาจากคำว่า “ลันตาส ลันตัส” เป็นภาษาชวา มลายู แปลว่าโรงร้าน โรงเรือน ซึ่งก็คือที่ตากปลาของชาวบ้านนั่นเอง บ้างว่า “ลันตา” มาจาก “ลานตา” แปลว่าหาดทรายที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยลานตาไปทั่วหาดของเกาะ

หรืออีกทฤษฎี กล่าวว่า “ลันตา” มาจากคำว่า “ลุนตั๊ดซู” จากภาษาจีน ซึ่ง “ลุน หรือ หลุน” แปลว่า ภูเขา “ตั๊ด”แปลว่า ทางไกล และ “ซู” แปลว่า เกาะ ความหมายรวมคือ เกาะที่มีแนวภูเขาเป็นแนวยาวไกล และชาวเลเรียกว่า “ปูเลาซาตั๊ก” ซึ่งมีความหมายอันเดียวกัน

สีสันร้านขายเปลบริเวณย่านเมืองเก่าเกาะลันตา

ความหมายสุดท้ายที่มีคนบอกไว้คือ “ลันตา” เพี้ยนมาจากคำว่า “ลอนตา” ในภาษามลายู ซึ่งแปลได้ว่า คนจนหรือคนที่ต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ ซึ่งหมายถึงคนพื้นเมือง อันเดิมทีได้ร่อนแร่อยู่แถบนี้มานานนม ซึ่งกลุ่มคนร่อนแร่นี้ ถูกเรียกว่า “โอลังลอนตา” และหมู่เกาะที่มีคนเร่รอนกลุ่มนี้อยู่ จะถูกเรียกว่า “ปูเลาลันตา” ซึ่งอาศัยอยู่ใน 3 พื้นที่คือ หมู่เกาะสุรินทร์, พังงา, และหมู่เกาะลันตา

แต่ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ทุกวันนี้ก็หล่อหลอมเป็นชาวลันตาในปัจจุบัน อยู่กันอย่างกลมกลืน กลับเข้าเรื่องท่องเที่ยวของเรากันต่อดีกว่ามาเกาะทั้งที ก็ขอแวะไปหย่อนกายพักริมหาดกันหน่อย เราเลือกที่ “หาดคอกวาง” หาดที่มีหน้าหาดยาวเงียบสงบเป็นที่เดินเล่น

หาดคลองดาวงดงามน่าเดินเล่น

ก่อนจะไปเดินชม “เมืองเก่าเกาะลันตา” ซึ่งเป็นชุมชนบ้านชาวจีนโบราณ และสถาปัตยกรรมแบบเก่านับ 100 ปีที่ยังคงหลงเหลือ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ที่กิน ที่พัก ราคาถูกประเภทเกสเฮ้าส์ก็หาได้จากที่นี่แหละ ย่านนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลเสด็จเตี่ย” หรือ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่เคารพของชาวเกาะลันตาอีกด้วย

จากนั้นเที่ยว “หมู่บ้านทุ่งหยีเพ็ง” หมู่บ้านที่มีความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าโกงกางมากที่สุดในเกาะลันตา ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะลันตา นอกจากการพายคายัคเพื่อชมป่าโกงกางที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว การประกอบอาชีพของผู้คนในหมู่บ้านก็ยังน่าสนใจไม่น้อย เพราะที่นี่คือแหล่งทำกะปิอันลือลั่นทั้งสะอาดและอร่อย

ศาลเสด็จเตี่ย

ก่อนจะนั่งรถผ่านเขตความเจริญของเกาะ ไปพบกับอีกโลกหนึ่งของเกาะลันตา ที่บอกว่าผ่านเขตความเจริญนั้นก็เพราะว่า ถนนบนเกาะลันตายังคงเป็นดินลูกรัง ไม่ได้มีถนนลาดยางตัดผ่านทั่วทั้งเกาะ ความเจริญจึงแออัดอยู่เพียงแค่ส่วนหนึ่งของเกาะเท่านั้น ที่เหลือเรายังคงตามหาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวลันตาได้

อย่างที่ “บ้านชาวเลสังกาอู้” หรือ ยิปซีทะเล หรือ ชาวไทยใหม่ ที่เรามาเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางปลายเกาะทางด้านใต้ ห่างจากศาลาด่านไป 27 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวเลที่มีขนาดใหญ่ ปลูกสร้างบ้านอยู่ติดทะเล มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ผู้ชายมีอาชีพชาวประมงออกหาปลาส่วนผู้หญิงจะอยู่บ้าน ชาวเลที่นี่มีลักษณะเหมือนนิโกร ผมหยิกแบบซาไก ผิวดำ

ยามเย็นของเกาะลันตา

ความน่าสนใจนอกเหนือจากความเป็นชาวเลแล้ว ที่หมู่บ้านสังกาอู้ยังเป็จจุดหนึ่งของเกาะลันตา ที่โดนสึนามิพัดถล่ม แต่ชาวบ้านไหวตัวกันทัน จึงไม่ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่บ้านเรือนก็พังเสียหายไปมาก มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือสร้างบ้านให้ใหม่บนฝั่งที่ไกลจากทะเลเล็กน้อย แต่ชาวเลส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะขอสร้างบ้านเองอยู่ใกล้ๆทะเลดังเดิม ตะลอนเที่ยวกันอยู่ที่บ้านสังกาอู้จนใกล้ค่ำจึงล่ำลายามเย็นของลันตากันที่นี่ ใต้ฟ้างามท้องทะเลสีครามนาม “เกาะลันตา” ไม่ทำให้ผิดหวังเลยจริงๆ.


สนใจติดต่อสอบถามการเดินทางไปยังเกาะลันตาได้ที่ ททท.สำนักงานกระบี่ โทร.0-7562-2163

หรือที่ โรงแรม คราวน์ ลันตา รีสอร์ท แอนด์ สปา โทร.0-2217-3040-1(สำนักงานกรุงเทพ),07-7562-6999 (เกาะลันตา)


 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   5854

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Nathalin Group TOP Engineering Group - UAV Thailand

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network