Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

Nathalin Group

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

ความคลุมเครืออย่างจงใจในทะเลจีนใต้

‘ความคลุมเครือ’ อย่างจงใจใน ‘ทะเลจีนใต้’


จาก หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่  20 ธันวาคม 2552

โดย ปิเตอร์ เจ บราวน์

เป้าหมายขั้นสุดท้ายของจีนในทะเลจีนใต้ อาจไม่ใช่เพียงแค่การสถาปนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (EEZ) อันกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นมาเท่านั้น การที่ปักกิ่งมุ่งมั่นขยายตัวเข้าสู่น่านน้ำที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งกับชาติอื่นๆ แห่งนี้ ยังทำท่าจะเป็นเตรียมการสำหรับพลานุภาพทางนาวีในอนาคต ซึ่งจะประกอบด้วยกองเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป

ขณะเดียวกันกับที่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเดินทางถึงกรุงฮานอยเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ครั้งแรกที่เคยจัดกันขึ้นมา สำหรับชาติต่างๆ ซึ่งล้วนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้จนทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันอยู่ ในอีกด้านหนึ่ง เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ที่สุดของสำนักงานบริหารการประมงของจีน ที่มีชื่อว่า อวี่เจิ้ง 311 (Yuzheng 311) ก็ไปจอดทอดสมอที่เกาะหย่งซิง (Yongxing) ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะที่จีนเรียกขานว่าหมู่เกาะซีซา (Xisha Islands) มันจะเป็นการเริ่มต้นการตรวจการณ์เขตทะเลจีนใต้อย่างยาวนานอีกเที่ยวหนึ่งของแดนมังกร โดยออกเดินทางมาจากฐานทัพเรือซันย่า (Sanya) บนเกาะไห่หนาน (ไหหลำ)

ประเทศจีนประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะ, โขดหิน, แนวปะการัง ต่างๆ เป็นจำนวนมากในเขตทะเลจีนใต้ เป็นต้นว่า ดินแดนที่จีนเรียกชื่อว่า หมู่เกาะหนานซา (Nansha), ซีซา, และ จงซา (Zongsha) ประเทศอื่นๆ เป็นต้นว่า เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, บรูไน, และฟิลิปปินส์ ก็ลงสนามแข่งขันประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มเกาะ หรือเกาะเดี่ยว ต่างๆ ในเขตนี้เช่นเดียวกัน พวกเขาเรียกขานดินแดนที่อ้างเป็นของพวกตนนี้ด้วยชื่อต่างๆ หลากหลาย เป็นต้นว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands), หมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands), สันดอน สคาร์โบโร (Scarborough Shoals), และ แนวตลิ่ง แมคเคิลสฟิลด์ (Macclesfield Bank) เป็นต้น

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังขยายตัวออกไปสู่ดินแดนเล็กดินแดนน้อยในทะเลจีนใต้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่หลายๆ แห่งอันไกลโพ้น ซึ่งหากดูในแผนที่จะปรากฏเป็นเพียงจุดเล็กจิ๋วอันพร่ามัว เป็นต้นว่า เกาะวูดดี้ (Woody Island) ในหมู่เกาะพาราเซล ปรากฏว่าจีนกำลังขยายและปรับปรุงลานบินแห่งหนึ่งที่นั่นอย่างไม่หยุดหย่อน ส่วนที่แนวปะการัง มิสชีฟ (Mischief Reef) ซึ่งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกราว 150 ไมล์นั้น จีนก็ได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาหลายๆ แห่ง พวกเพื่อนบ้านของจีนมองกระบวนการเช่นนี้ว่าเป็นการกระทำแบบนักลัทธิขยายดินแดน และกระทั่งรู้สึกว่าเป็นพฤติการณ์แบบศัตรู ถึงแม้จีนกับพวกเพื่อนบ้านผู้อ้างสิทธิทับซ้อนเหลื่อมล้ำกันเหล่านี้ได้ร่วมกันลงนามใน ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ไปเมื่อปี 2002

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบางราย เป้าหมายสุดท้ายของจีนไม่ได้อยู่แค่การก่อตั้งเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (exclusive economic zone หรือ EEZ) อันมีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล โดยตามการตีความของบางคนจะแผ่ลึกลงมาทางใต้จนถึงหมู่เกาะนาตูนา (Natuna Islands) อันอุดมด้วยก๊าซธรรมชาติที่อินโดนีเซียอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ทีเดียว พวกเขาบอกว่าจีนกำลังมุ่งหาทางควบคุมน่านน้ำแถบนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนเตรียมการมุ่งสถาปนาแสนยานุภาพทางทะเลที่ใหญ่โตมหึมายิ่งขึ้นในอนาคต เป็นต้นว่าจะมีกองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป (nuclear ballistic missile submarines หรือ SSBNs) ออกปฏิบัติการตามเส้นทางเดินเรือทะเลต่างๆ ขยายเลยไกลออกไปจากมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้นั้นถือเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลที่พลุกพล่านที่สุดเป็นอันดับสองของโลกอยู่แล้วในเวลานี้ และทำหน้าที่เป็นปากประตูของจีนในการรับเอาน้ำมันนำเข้าจากอ่าวเปอร์เซียและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ จากแอฟริกา

“จีนจะมีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งกองแรกจะตั้งฐานอยู่บนเกาะไหหลำ และพวกเขาก็จะออกตรวจการณ์เส้นทางขนส่งทรัพยากรเหล่านี้ สำหรับคณะผู้นำทางการเมืองของจีนแล้ว การควบคุมทะเลจีนใต้ถือเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญยิ่งยวด เพื่อการสร้างหลักประกันให้แก่ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของระบอบเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์” ริชาร์ด ฟิชเชอร์ (Richard Fisher) ให้ความเห็น เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์ประเมินผลและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Assessment and Strategy Center) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และหลายๆ ประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน ยังคงยืนขวางเส้นทางของจีนอยู่

“(จีนต้องการ) ต้องการทำให้มัน (อาณาเขตทางทะเลเหล่านี้) กลายเป็นเขตพื้นที่ซึ่งได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการของกองเรือ SSBNs ทั้งนี้จนกว่าจะถึงเวลาที่จะไต้หวันมา ซึ่งจีนจะสามารถใช้เป็นฐานทัพสำหรับการปฏิบัติการของ SSBN ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก” ฟิชเชอร์บอก “จีนอาจจะนำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์ถึงราวครึ่งหนึ่งของตนมาติดตั้งบน SSBNs นั่นจึงหมายความว่าจีนจะรู้สึกพึงพอใจก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมบงการระบบต่างๆของเขตทะเลจีนใต้ในอนาคตเอาไว้ได้”

เมื่อจีนเพิ่มการปรากฏตัวตามบริเวณนอกชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายถึงว่าสำนักงานแห่งรัฐเพื่อการบริหารมหาสมุทร (State Oceanic Administration หรือ SOA) และสำนักงานตรวจการณ์ทางทะเล (China Maritime Surveillance หรือ CMS) ของจีน ก็จะต้องทำให้แน่ใจว่า บรรดาชาวประมงและเรือสำรวจซึ่งกำลังเข้าๆ ออกๆ ทะเลจีนใต้จากประเทศอื่นๆในภูมิภาคแถบนี้ จะต้องเผชิญหน้ามากยิ่งขึ้นกับเรือจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าและติดเครื่องมืออุปกรณ์ตลอดจนอาวุธที่ดีกว่า ทั้งที่เป็นเรือจากกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People's Liberation Army Navy หรือ PLAN) และที่ไม่ใช่ของ PLAN โดยตรง อย่างเช่น เรือ อวี่เจิ้ง 311

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคมแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังมีเจตนารมณ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะสั่งการให้เรือที่มิได้เป็นของ PLAN เป็นต้นว่ากองเรือของ SOA และ CMS เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมบังคับใช้กฎหมายในแถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ ท่ามกลางความเดือดเนื้อร้อนใจของพวกประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ภายหลังจากที่เรือหลายลำของจีนรุมกันเข้าก่อกวนเรือสปายสืบความลับของสหรัฐฯที่ชื่อ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพกคะเบิล (USNS Impeccable) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมแล้ว จีนก็ได้ส่งสิ่งที่อ้างว่าเป็นเรือตรวจการณ์ด้านการประมง ไม่ใช่เรือรบ ออกมาทำหน้าที่ป้องกันรักษาผลประโยชน์ของตนในทะเลจีนใต้

“จีนนั้นปรารถนาเหลือเกินที่จะทึกทักทำเสมือนกับว่า การเข้าควบคุมเหนือทะเลจีนใต้ของตน คือการทำหน้าที่ตรวจการณ์ซึ่งไม่ได้มีบรรยากาศของการมุ่งร้ายท้าทายอะไร โดยที่เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และประเทศอื่นๆ โดยพื้นฐานแล้วก็ยินยอมที่จะไม่มายุ่งเกี่ยวด้วย” ฟิชเชอร์บอกและกล่าวต่อไปว่า “เมื่อพิจารณาจากการที่เรือของหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ PLAN เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีอำนาจการยิงที่เหนือกว่าเรือของประเทศอื่นๆ แล้ว ก็อาจบอกว่านี่เป็นความพยายามที่จะเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ทว่ามันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องส่งผลทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพขึ้นมาอยู่ดี”

เท่าที่ผ่านมาการแข่งขันกันอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้มักบานปลายกลายเป็นการประจันหน้ากันอยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า การปะทะกันระหว่างเรือรบของจีนและของเวียดนามในปี 1988 ที่แนวปะการัง จอห์นสัน (Johnson Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ การประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนที่แล้วที่กรุงฮานอย ซึ่งทางสถาบันการทูตแห่งเวียดนาม (Diplomatic Academy of Vietnam) และสมาคมนักกฎหมายเวียดนาม (Vietnam Lawyers' Association) ร่วมกันเป็นผู้อุปถัมภ์นั้น มีผลออกมาในรูปของคำมั่นสัญญาที่จะเริ่มการสนทนาระดับพหุภาคีว่เพื่อหาทางจัดการกับการที่ประเทศต่างๆ ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนต่างๆ เป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิที่ยังมีประเทศอื่นคัดค้าน ตลอดจนเป็นการอ้างที่มีการทับซ้อนเหลื่อมล้ำกัน

“ถึงแม้ในอดีตที่ผ่านมา จีนยืนกรานว่าจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการแบบทวิภาคี ทว่าเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้เกิดความคืบหน้าอะไรให้เห็นเลย เนื่องจากข้อพิพาทส่วนใหญ่นั้นจำเป็นต้องมีการผ่อนสั้นผ่อนยาวจากพวกผู้อ้างกรรมสิทธิ์ซึ่งมีอยู่หลายๆ ฝ่ายไม่ใช่เพียงสองฝ่าย เป้าหมายของการประชุมเชิงปฏิบัติการคราวนี้จึงน่าจะเป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน จากที่มีการจัดการหารือถกเถียงกันแบบเป็น 2 ลู่วิ่ง โดยที่การประชุมเชิงปฏิบัติการคราวนี้ก็ถือเป็นการหารือในเบื้องต้นและไม่มีข้อผูกพันอะไร นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียวที่พวกนักวิชาการของจีนเข้ามาร่วมการประชุมคราวนี้ด้วย เพราะมันน่าจะสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายจีนมีการยอมรับในบางระดับว่า คงจะต้องใช้วิธีการแบบพหุภาคีในการแก้ไขข้อพิพาทเหล่านี้” รองศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) แห่งสถาบันนาวีจีนศึกษา (China Maritime Studies Institute) ของวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) กล่าวแสดงความคิดเห็น

ตามคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมประชุมคราวนี้ผู้หนึ่ง คือ คาร์ไลล์ เทเยอร์ (Carlyle Thayer) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ณ สถาบันป้องกันประเทศออสเตรเลีย (University of New South Wales at the Australian Defense Force Academy) การพบปะหารือนี้ไม่ได้มีผู้แทนระดับชาติใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ร่วมพบปะหารือที่มาจากจีนก็เข้าร่วมในฐานะเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานศึกษาวิจัยต่างๆ “การพบปะหารือคราวนี้เรียกกันว่าเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ไม่ใช่การประชุม (conference) เพื่อที่จะลดทอนความรู้สึกใดๆ ที่ว่ามันจะมีข้อสรุปออกมาในรูปของหนทางแก้ปัญหาหรือคำแถลงต่างๆ” เทเยอร์บอก

การจัดการหารือคราวนี้ประสบความสำเร็จในแง่ที่มีการหยิบยกพูดถึงความวิตกกังวลในภูมิภาค เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้ที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทกันอยู่ ซึ่ง “ผู้เข้าร่วมต่างระบุว่า (เรื่องนี้) เป็นปัญหาที่กำลังเลวร้ายลง หรือมีศักยภาพที่จะเลวร้ายลง” เทเยอร์กล่าว และเล่าต่อไปว่า “มีความเห็นเป็นฉันทามติออกมาว่า บรรดารัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ควรที่จะรื้อฟื้นพิจารณาข้อเสนอที่ให้ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการพัฒนา ซึ่งอันที่จริงเป็นข้อเสนอที่มีการเสนอเอาไว้นานแล้ว”

**แผนที่เส้นประ**

คาร์ไลล์ เทเยอร์ (Carlyle Thayer) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ณ สถาบันป้องกันประเทศออสเตรเลีย เล่าว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการที่ฮานอยในเดือนที่แล้ว ประสบความสำเร็จในแง่ที่มีการหยิบยกพูดถึงความวิตกกังวลในภูมิภาค เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้ที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทกันอยู่ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมหารือมีความเห็นเป็นฉันทามติว่า บรรดารัฐที่ต่างแข่งกันอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เหล่านี้ ควรที่จะรื้อฟื้นพิจารณาข้อเสนอที่ให้ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการพัฒนา

อย่างไรก็ดี การประชุมเชิงปฏิบัติการคราวนี้ดูจะยังมีประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวมานี้เสียอีก นั่นคือเรื่องจุดยืนของจีนเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ เทเยอร์เล่าว่านอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า มีการพูดกันออกมาว่า “จีนยังไม่ได้มีจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียว” แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจากจีนผู้หนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เรียกขานกันมานานว่า “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” (nine-dotted line map) นั้น “เป็นสิ่งที่กำลังมีการหารือถกเถียงกันอยู่”

ทั้งนี้เมื่อปี 1947 รัฐบาลจีนเวลานั้นซึ่งยังเป็นรัฐบาลพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ได้ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ โดยเสนอออกมาในรูปของแผนที่ซึ่งมีการลากเส้นประรวมทั้งสิ้น 11 เส้น เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดครองอำนาจปกครองประเทศได้สำเร็จ แผนที่นี้ก็ได้รับการยอมรับจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย และเวลาต่อมานายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ได้จัดการลบเส้นประ 2 เส้นในพื้นที่อ่าวตังเกี๋ยออก จึงทำให้จากที่มีเส้นประ 11 เส้น ก็เหลือ 9 เส้น แผนที่อย่างไม่เป็นทางการซึ่งมีเส้นประ 9 เส้นนี้ ได้ถูกนำออกเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางมานานแล้ว ตามคำอธิบายของเทเยอร์นั้น พวกเจ้าหน้าที่ในภูมิภาคไม่สามารถทำให้จีนชี้แจงได้ว่า จริงๆ แล้วเส้นประเหล่านี้จะมีการเชื่อมต่อกันอย่างไร อีกทั้งจีนกำลังอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่

“พวกนักวิชาการพูดออกมาอยางชัดเจนว่า แผนที่ของทะเลจีนใต้ฉบับที่เป็นทางการนั้น มีการใส่เส้นประ 9 เส้นเอาไว้ แต่ให้ถือเป็นขอบเขตสูงสุดของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ต่อพื้นที่แถบนี้ตามที่ได้เคยกระทำกันไว้ในประวัติศาสตร์ พวกผู้ชำนาญการชาวจีนชี้ว่า การกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่กว้างๆ สำหรับการหารือถกเถียงกันต่อไป” เทเยอร์กล่าว “ตัวอย่างเช่น ตัวแทนจากจีนคนหนึ่งเสนอว่าถ้าหากชาติต่างๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือส่วนต่อขยายของไหล่ทวีป ต่างพากันถอนการอ้างดังกล่าว ก็จะมีพื้นที่จำนวนมากภายในเส้นประ ซึ่งอาจมีการถอนออกมาเช่นกัน เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันก็ได้”

ข้อเสนอเช่นนี้คือการนำเอาเส้นประของจีนมาผูกโยงกับการยื่นหนังสือเรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือส่วนต่อขยายของไหล่ทวีปที่กระทำโดยเวียดนามและมาเลเซียเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ในปีนี้ ภายใต้กำหนดเวลาที่สหประชาชาติกำหนดออกมานั่นเอง ทั้งสองประเทศยื่นหนังสืออ้างกรรมสิทธิ์ร่วมกันในพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ขณะที่เวียดนามตามลำพังยังยื่นหนังสืออีกฉบับหนึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือส่วนต่อขยายของไหล่ทวีปที่อยู่ทางตอนเหนือด้วย

“จีนได้ยื่นหนังสือประท้วง พร้อมเสนอแผนที่ที่มีเส้นประ 9 เส้น เพื่อบ่งบอกพื้นที่ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน นี่ดูจะเป้นครั้งแรกเลยที่รัฐบาลจีนยื่นเสนอแผนที่นี้อย่างเป็นทางการ” เทเยอร์กล่าว “จีนกำลังจงใจเดินนโยบายแบบมุ่งหมายให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องนี้ มันเป็นวิธีทำให้ยังไม่สามารถตกลงรอมชอมกันได้เกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือท้องทะเลที่กำลังขัดแย้งกันอยู่เหล่านี้ ทั้งนี้จนกว่าจะถึงจังหวะเวลาที่ปักกิ่งเห็นว่าเหมาะสม”

เวลานี้มีการพูดจากันแล้วเรื่องที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เป็นครั้งที่สองในกรุงฮานอยประมาณกลางปีหน้า ดัตตันยังกล่าวถึงรายการจำนวนหนึ่งที่น่าจะบรรจุเข้าไปในวาระของครั้งที่สองดังกล่าวนี้ “ก้าวที่เป็นผลบวกก้าวหนึ่งก็คือ จะสามารถจัดเวทีระดับภูมิภาคระดับพหุภาคีขึ้นมา เพื่อหารือถกเถียงกันเรื่องขนาดของโครงการพหุภาคีที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการวิจัยเกี่ยวกับปริมาณของแร่ธาตุไฮโดรคาร์บอนที่มีอยู่ใต้ท้องทะเลจีนใต้” ดัตตันกล่าว

“ก้าวที่เป็นผลบวกอีกก้าวหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่อง การพัฒนากรอบโครงแม่บทในเรื่องการบริหารจัดการระดับพหุภาคีสำหรับการจัดการพวกทรัพยากรที่มีชีวิต เป็นต้นว่า การตั้งองค์กรระดับภูมิภาคขึ้นมาคอยกำกับดูแลให้ประเทศผู้อ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหมดมีการทำประมงแบบยั่งยืน ภายใต้ระบบสนธิสัญญาที่จะมีการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำที่ฝ่ายต่างๆ สามารถจับขึ้นมาได้ ก้าวต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาท้าทายที่ถือว่ายากลำบากไม่มากนักให้ตกไปได้เป็นบางปัญหา ขณะที่พวกที่เป็นคำถามยากๆ เกี่ยวกับเรื่องอธิปไตย ก็เลื่อนชะลอกันไปก่อน” เขาชี้

**การอ้างกรรมสิทธิ์ที่อาจสร้างความเสียหายต่อเรื่องอื่นๆ**

ดัตตันชี้ว่าภายในจีนเองกำลังมีการถกเถียงกันว่าการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออธิปไตยและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งในทะเลจีนใต้ของจีนนั้น จริงๆ แล้วมีขอบเขตขนาดไหนกันแน่ ทั้งนี้เขาบอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว จีนอาจจะพอใจให้มีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วยหนทางการเมือง ยิ่งกว่าจะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยกรอบโครงทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะไปสร้างความเสียหายให้แก่การอ้างกรรมสิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ของจีนเอง

“กฎหมายภายในประเทศของจีนนั้นอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้งหมดในทะเลจีนใต้ แล้วยังอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ต่อเนื่องมาจากดินแดนที่อ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหมดของตน อย่างไรก็ตาม มันน่าจะให้ผลประโยชน์แก่จีนมากกว่า หากยังมีความคลุมเครืออยู่บ้างในเรื่องที่ว่า ข้ออ้างทางกฎหมายเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ของจีนนั้นมีขนาดขอบเขตแค่ไหนกันแน่ๆ” ดัตตันบอก

“เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่การตกลงกันเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ จะต้องไม่มีการใช้วิธีการทางกฎหมายที่อาจสร้างความเสียหายต่อการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เพื่อคัดค้านญี่ปุ่นในเขตทะเลจีนตะวันออก ดังนั้น จากมุมมองของฝ่ายจีนแล้ว กรอบโครงทางกฎหมายเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ จะต้องจัดทำกันขึ้นมาโดยที่ไม่เสียหายต่อการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนตะวันออก”

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีการจัดทำกรอบโครงทางกฎหมายกันหรือไม่ เทเยอร์เชื่อว่าจีนน่าจะใช้วิธีแบ่งแยกรัฐต่างๆในภูมิภาค แล้วเจาะเข้าไปทำข้อตกลงแบบทวิภาคีด้วยเป็นรายๆ ไป

“เมื่อเร็วๆ นี้จีนได้บอกกับสมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมอาเซียนว่า พวกเขาควรต้องมีการกระทำที่เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ก่อน แล้วจึงมาติดต่อกับจีนเพื่อหารือกันเกี่ยวกับเรื่องทะเลจีนใต้ มีรัฐอาเซียนบางรายชี้ออกมาเลยว่า การทำให้รัฐอาเซียนทั้ง 10 ได้ฉันทามตินั้นจะเป็นเรื่องยากเย็นมาก และการพยายามรวมเป็นกลุ่มหนึ่งเดียวกันนั้นมีแต่จะทำให้เกิดความขัดเคืองกันในเวลาทำข้อตกลงกับจีนเท่านั้นเอง” เทเยอร์เล่า

การประชุมเชิงปฏิบัติการในฮานอยเมื่อเดือนที่แล้ว จะตามมาด้วยการพูดจาในเรื่องทะเลจีนใต้อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 16 ธันวาคม นั่นคือรอบต่อไปของสิ่งที่เรียกกันว่า การหารือว่าด้วยความตกลงเพื่อการปรึกษาทางทหารด้านการเดินเรือ (Military Maritime Consultative Agreement หรือ MMCA) ซึ่งจะมีผู้แทนจากจีนและสหรัฐฯเข้าร่วมด้วย การพบปะคราวนี้จะจัดขึ้นที่ศูนย์เอเชีย-แปซิฟิกเพื่อความมั่นคงศึกษา (Asia-Pacific Center for Security Studies) ในนครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย

“การหารือที่เมืองหลวงของเวียดนามนั้นโดยเนื้อหาสาระแล้วคือการพูดจาถกเถียงประเด็นต่างๆ แบบลู่วิ่งที่ 2 ขณะที่ MMCA คือการสนทนาระหว่างทหารกับทหาร ซึ่งถือเป็นลู่วิ่งที่ 1” ดัตตันเปรียบเทียบ “การหารือที่เวียดนามจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อ MMCA เนื่องจากประเด็นต่างๆ ที่นำมาพูดจากันมีความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน ผู้เข้าร่วมการหารือที่เวียดนามจะถกเถียงกันในประเด็นด้านอธิปไตยและเขตอำนาจปกครองของชาติ ขณะที่การถกเถียงของ MMCA เน้นไปที่เรื่องเสรีภาพในการเดินเรือและการใช้น่านน้ำท้องทะเลนอกชายฝั่งของจีนเพื่อกิจการทางทหารอย่างอื่นๆ”

เทเยอร์ตั้งข้อสังเกตว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงอานอยไม่ได้ส่งผู้สังเกตการณ์ทางการทูตเข้าไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ดังนั้นจึงกำลังทำให้สหรัฐฯถอยห่างออกจากข้อพิพาทด้านอธิปไตยและเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้

แต่สำหรับ“การประชุมครั้งต่อไปของ MMCA นั้น น่าจะเต็มไปด้วยเรื่องการเผชิญหน้ากันในท้องทะเล เป็นต้นว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับเรือ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพกคะเบิล แต่การเจรจาเพื่อจัดทำ “ความตกลงว่าด้วยเหตุการณ์ทางทะเล” เช่นนี้คงจะต้องใช้เวลาสัก 1 ปีหรือกว่านั้นอีกจึงจะสามารถลงนามกันได้” เทเยอร์คาดการณ์

เทเยอร์ยังชี้ไปถึงการเดินทางเยือนสหรัฐฯเมื่อเดือนตุลาคมของ พล.อ.สีว์ไฉโฮ่ว (Xu Caihou) รองประธานคณะกรรมการทหารกลางของจีน พลอ.สีว์ได้ระบุถึงอุปสรรค 4 ประการที่ขัดขวางไม่ให้เกิดความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องไต้หวัน นอกจากนั้นเขายังเรียกร้องให้สหรัฐฯยุติการบุกรุก ด้วยการส่งเครื่องบินทหารและเรือทหารล่วงล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลของจีน

“วัตถุประสงค์หลักของจีนนั้นอยู่ที่ทำให้สหรัฐฯลดระดับลงมา ไม่ใช่ให้เลิกไปเลย ในเรื่องกิจกรรมตรวจการณ์สอดแนมนอกชายฝั่งของจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจการณ์สอดแนมฐานทัพนาวีบนเกาะไหหลำ” เทเยอร์ชี้

นอกเหนือจากข้อเรียกร้องของพล.อ.สีว์แล้ว ฟิชเชอร์ยังชี้ไปที่คำพูดของนายพลเพิ่งเกษียณอายุของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวในที่สาธารณะเรียกร้องให้จีนเพิ่มกำลังทหารที่ประจำอยู่ในทะเลจีนใต้ และขอให้สร้างฐานทัพอากาศบนแนวปะการัง มิสชีฟ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์อีกด้วย

“นอกเหนือจากจะอยู่ห่างเกาะปาลาวัน (Palawan) ของฟิลิปปินส์เพียงแค่ราวๆ 200 ไมล์แล้ว (การตั้งฐานทัพอากาศที่มิสชีฟ รีฟ) จะทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนสามารถขยายการควบคุมเหนือช่องแคบปาลาวัน อันเป็นเส้นทางพาณิชย์ทางทะเลที่สำคัญมากสำหรับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และไต้หวัน” ฟิชเชอร์ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ กล่าวให้ทัศนะ “ฐานทัพอากาศที่มิสชีฟ รีฟ จะสร้างปัญหาท้าทายด้านความมั่นคงในระดับสูงมาก ซึ่งวอชิงตันไม่สามารถที่จะเพิกเฉยได้”

พวกหมู่เกาะเล็กๆ ของไต้หวันในทะเลจีนใต้ ก็ทำให้เรื่องราวยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก “ยังมีหมู่เกาะเล็กๆ หลายแห่งที่อยู่ใกล้ๆ เกาะไหหลำ ซึ่งไต้หวันยึดครองอยู่ ปักกิ่งสามารถที่จะใช้ข้ออ้างมากมายเลย ตั้งแต่ว่าการยึดครองหมู่เกาะเหล่านี้ของไต้หวันเป็นกิจกรรมทางทหารที่คุกคามทรัพย์สินทางนิวเคลียร์ที่มีอยู่บนเกาะไหหลำ ไปจนถึงข้ออ้างที่ว่าต้องการสร้างภาวะไร้เสถียรภาพขึ้นในไต้หวัน เพื่อใช้เป็นเหตุผลที่จะเข้าไปยึดหมู่เกาะเหล่านี้” ฟิชเชอร์กล่าว

ฟิชเชอร์ยังแสดงทัศนะของเขาต่อไปว่า “เนื่องจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีการลงทุนในด้านกำลังโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกมาเป็นสิบปีแล้ว จึงสามารถเข้ายึดครองหมู่เกาะเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และเนื่องจากรัฐในเอเชียอื่นๆ ได้เลือกที่จะยอมรับนโยบาย ‘จีนเดียว’ของปักกิ่งมานานแล้ว จึงไม่น่าที่จะมีรัฐเอเชียใดๆ แสดงการตอบโต้อย่างรุนแรง ในลักษณะที่เหมือนกับการเข้าป้องกันผลประโยชน์ที่ใหญ่หลวงกว่านี้ของพวกตน”

ทะเลจีนใต้และแม้กระทั่งไต้หวัน เวลานี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯน้อยลงกว่าในระหว่างช่วงสงครามเย็นเป็นอันมาก ทว่าจีนก็ไม่ควรดูเบาสหรัฐฯที่ดูเหมือนกำลังมีจุดยืน “ไม่สนใจใยดี” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯอาจจะมีการปรับเปลี่ยนก็ได้ จากการเพิ่มกิจกรรมทางหทารของจีนในภูมิภาคแถบนี้ ขณะเดียวกันก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า การพบปะหารือในกรุงฮานอยนั้น เป็นตัวแทนของการเปิดบทใหม่อันสำคัญมากในสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของตนหรือไม่

ฟิชเชอร์แสดงทัศนะของตนต่อไปว่า “การที่สหรัฐฯยังคงวางตัวเป็นกลางต่อไป มีแต่จะเร่งวันเวลาที่จีนจะกลายเป็นเจ้าผู้ต่อต้านประชาธิปไตยในภูมิภาคแถบนี้ โดยที่มีความสามารถในการใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทหารอันมหาศาล เพื่อบังคับให้ทั่วทั้งภูมิภาคยอมตามความปรารถนาของตน”

ปีเตอร์ เจ บราวน์ เป็นนักเขียนอิสระซึ่งพำนักอยู่ที่มลรัฐเมน, สหรัฐอเมริกา


 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   4589

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

นิทานชาวเรือ MarinerThai 2004 Co., Ltd.

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network