ปะการังเทียมในทะเล
ปะการังเทียมในทะเล
จาก
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์
ที่ 25 ธันวาคม 2552
แหล่งอาศัยสัตว์น้ำลดคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง
ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ได้กลายเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่อาจหาบทสรุปในการป้องกันได้
แต่ต้องหาทางป้องกันโดยเร็ว เพราะในไม่ช้านี้ชายหาดของไทยทั้งทางฝั่งของทะเลอ่าวไทย
และอันดามันคงจะไม่เหลือพื้นที่ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว
แหล่งทำมาหากินอาชีพหลักของชาวประมงชายฝั่ง
ตลอดจนการกัดเซาะนี้อาจถึงขั้นกลืนกินที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งอีกด้วย
โดยภาพรวมทั่วพื้นที่ชายหาดของไทยที่ยาว 2,600 กิโลเมตรนั้น
เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติรวมแล้วทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันกว่า 600 กิโลเมตร
หากแต่ชายฝั่งอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงมากกว่า
เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นหาดทรายถูกกัดเซาะได้ง่าย
ซึ่งปัจจุบันต้องประสบปัญหากว่า 500 กิโลเมตร
และการกัดเซาะขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นต่อปีเฉลี่ยถูกกัดเซาะไปกว่า 5 เมตร
ทำให้แต่ละปีปริมาณที่พื้นดินที่หายไปไม่น้อยกว่าแสนไร่
การวางปะการังเทียมเพื่อป้องกันชายฝั่งนั้น เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าจะ
สามารถช่วยบรรเทาคลื่นลม ที่เข้าซัดชายฝั่งให้ลดความรุนแรงลงได้
ขณะเดียวกันตัวปะการังก็ยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศในการทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง
โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง และไม่ทำลายทัศนียภาพของชายหาดสามารถกรองคลื่น
และลดความรุนแรงของคลื่นในการซัดเข้าหาชายฝั่งได้กว่า 70%
จึงนับเป็นแนวทางสำคัญในการลดการกัดเซาะชายฝั่งได้
และล่าสุดเกี่ยวกับกรณีนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมประมง ได้เดินหน้าโครง
การการจัดวางปะการังเทียมในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับมาสมบูรณ์พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ชาวประมง เยาวชน
และประชาชน ได้ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ
และรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์สัตว์น้ำให้อยู่คู่ท้องทะเลไทยสืบไป
ซึ่งมี พิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันก่อนที่จังหวัดระยองโดยมี นายธีระ
วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ
ในการนี้ นายธีระ วงศ์สมุทร
เปิดเผยว่าปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติรวมทั้งในท้องทะเล
มีปริมาณลดลงอย่างมาก
อันเนื่องมาจากการทำการประมงที่เกินกำลังการผลิตของแหล่งน้ำธรรมชาติ
ส่งผลให้สัตว์น้ำบางชนิดสูญพันธุ์ และชาวประมงต้องได้รับความเดือดร้อน
ขาดแหล่งทำการประมง การจัดสร้างปะการังเทียม
จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ทะเลให้อุดมสมบูรณ์
และพัฒนาแหล่งทำการประมงบริเวณชายฝั่ง ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์
เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางด้านการประมง
และเพื่อสนับสนุนมาตรการการจัด การทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง ให้เป็น
แนวป้องกันการทำประมงที่มีลักษณะทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ
โดยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานแรก
และหน่วยงานหลักที่ได้ดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียมหรือแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลมาตั้งแต่ปี
2522 ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ซึ่งเป็นชาวประมงขนาดเล็กที่ยากจน
ขาดแหล่งทำการประมง ทำให้มีรายได้น้อย ตามที่ทรงมีพระราชเสาวนีย์ เนื่อง
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552
ซึ่งผลจากการสร้างปะการังเทียม
ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เพราะไม่ต้องออกทำการประมงไกลฝั่ง ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพได้ส่วนหนึ่ง
มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพมากขึ้น
เนื่องจากการทำการประมงในระยะใกล้ชายฝั่ง
อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก
และสภาพแวดล้อมจากการทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนลากและอวนรุน
ซึ่งสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องพื้นที่ทำการประมง
อันเป็นสาเหตุมาจากแหล่งทำการประมงมีจำกัดตลอดจนเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอีกทางหนึ่งด้วย
ทางด้าน ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า
การจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นการ สร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่ครอบ
คลุมพื้นที่ 21.6 ตาราง กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยแบ่งออก เป็น 2 แปลง
คือทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด และหน้าหาดแม่รำพึงห่าง จากฝั่งประมาณ 7-14 เมตร
น้ำลึก 12-18 เมตร ใช้วัสดุแท่งคอนกรีต รูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5
เมตร จำนวนทั้งสิ้น 3,681 แท่ง ซึ่งสามารถจัดวางแท่งปะการังเทียมในทะเลได้
แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา
นับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทาง
ของการช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งทำกินพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย
ซึ่งแน่นอนว่าการวางปะการังเทียมของกรมประมงครั้งนี้นอกเหนือจากการช่วยเพิ่มแหล่งอาศัยและอนุบาล
สัตว์น้ำแล้ว
ก็ยังเป็นผลอันพึงได้ต่อการลดการกัดเซาะชายฝั่งของกระแสคลื่นในทะเลได้อีกทางหนึ่งด้วย.