เกาะร็อบเบน ที่คุมขังแมนเดลา
"เกาะร็อบเบน" ที่คุมขัง "แมนเดลา"
จาก
กรุงเทพธุรกิจ วันที่
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
โดย : ลิเวอร์ เบิร์ด

ภายในห้องสีเทาหม่นที่มีหน้าต่างลูกกรงเหล็ก นักท่องเที่ยวราว 40
คนนั่งบนม้านั่งแคบๆ ตั้งใจฟัง เอ็นตัมโบ้ เอ็มบาทา
อดีตนักโทษเล่าถึงชีวิตทุกข์ยากระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่คุกบนเกาะร็อบเบนซึ่งเป็นคุกเดียวกับที่เคยเป็นที่จองจำ
เนลสัน แมนเดลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของชนผิวสี
และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

เกาะร็อบเบนซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเคป ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้เพียงนั่งเรือ 45 นาที
มีประวัติศาสตร์มายาวนาน
ชาวเรือโปรตุเกสที่แล่นเรือมาที่เกาะแห่งนี้ตั้งชื่อมันเป็นภาษาดัตช์ว่า “ร็อบ”
ที่แปลว่า "แมวน้ำ" เพราะเกาะนี้มีแมวน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก
เกาะนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อของเกาะเพนกวิน
ในอดีตเกาะร็อบเบนถูกใช้เป็นคุกเหล็กที่ใช้คุมขังนักโทษในยุคของการแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งและยั่งยืนของนักโทษการเมืองและเป็นชัยชนะของสปิริตของมนุษย์
อิสรภาพและประชาธิปไตย เกาะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี
2542 ปัจจุบันกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์


แมนเดลาถูกจองจำในคุกแห่งนี้เป็นเวลา 18 ปี จากโทษจำคุกทั้งหมด 27
ปีในข้อหาต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกสีผิว และเมื่อวันที่ 11
กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพิ่งจะเป็นวันครบรอบ 20 ปีที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก
หลังจากออกจากคุกแล้วเขาก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนแรกตามกระบวนการทางประชาธิปไตย

ปลายปี 2544 รัฐบุรุษอาวุโสแห่งแอฟริกาใต้ทำพิธีเปิด “เนลสัน แมนเดลา เกทเวย์”
ซึ่งเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวคุกเก่าร็อบเบน โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือเฟอร์รี่ไปที่คุกได้
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์เกาะร็อบเบนที่มีห้องนิทรรศการ
ร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกด้วย
ทัวร์เกาะร็อบเบนใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เริ่มจากการลงเรือเฟอร์รี่ใช้เวลา 45 นาที
ถึงเรือนจำ จากนั้นก็เดินทัวร์เรือนจำและนั่งรถบัสชมรอบเกาะที่ติดสโลแกนว่า
“การเดินทางไม่เคยยาวนาน เมื่ออิสรภาพคือจุดหมายปลายทาง”
นักท่องเที่ยวจะได้ประสบการณ์จริงเพราะมีไกด์ทัวร์เป็นอดีตนักโทษที่เคยอยู่ที่นั่นมาก่อน

เอ็นตัมโบ้ถูกขังอยู่ที่คุกนี้ 7 ปี ในข้อหาก่อการร้ายเมื่อ 30 ปีก่อน
ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์ชี้ให้นักท่องเที่ยวดูเสื่อผืนเล็กและสกปรกที่ใช้เป็นที่นอนของนักโทษ
“เมื่อพวกเราถูกนำตัวมาที่นี่ ความเป็นตัวตนและชื่อของเราจะหายไปทันที
เพราะผู้คุมจะติดเบอร์ให้กับเรา และแบ่งพวกเราเป็นกลุ่มๆ ตามเชื้อชาติ คือ ผิวดำ
ผิวสีและพวกอินเดียนแดง” ไกด์ทัวร์วัย 49 ปีกล่าว

“แต่พวกเราไม่ยอมให้ถูกแบ่งแยกหรอก” เอ็นตัมโบ้กล่าวขณะที่เดินนำนักท่องเที่ยวไปที่ห้องขังเดี่ยวที่ใช้คุมขังแมนเดลาและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

เอ็นตัมโบ้พาลูกทัวร์ไปที่ห้องเซ็นเซอร์จดหมายที่ถูกส่งมาถึงนักโทษ
ซึ่งผู้คุมจะอ่านจดหมายทุกฉบับก่อนที่จะส่งถึงมือนักโทษ
ข้อความที่เกี่ยวกับการเมืองจะถูกตัดออกทั้งหมด
บางครั้งข้อความที่เกี่ยวกับความรักก็ถูกเซ็นเซอร์ด้วย


เซดิ๊ค เลวีย์ อดีตนักโทษวัย 68 ปีซึ่งเคยติดคุกบนเกาะร็อบเบนเมื่อเกือบ 50
ปีก่อนทำหน้าที่ไกด์ทัวร์บนรถเล่าให้ลูกทัวร์ฟังถึงการสังหารหมู่ที่ ชาร์พเพวิลล์
ในปี 2503 ซึ่งผู้ประท้วง 69 คนถูกตำรวจยิงเสียชีวิต
และขณะที่รถวิ่งผ่านเหมืองหินแห่งหนึ่ง เซดิ๊คก็เล่าว่าการทำงานในเหมืองนั้นลำบากมาก
แม้ว่าแดดแรงจนแผดเผานัยน์ตาของนักโทษแต่ผู้คุมก็ไม่ยอมหาแว่นตามาให้ใส่กันแดด
ห้องน้ำที่เหมืองกลายเป็นสถานที่สำคัญที่นักโทษจะปรับทุกข์กันโดยไม่มีใครได้ยิน

“เด็กๆ สมัยนี้ชอบคิดว่าอิสรภาพจะหล่นมาจากบนฟ้า
พวกเขาแทบจะไม่รู้เลยว่าพ่อแม่ต้องทนทุกข์ทรมานแค่ไหน” เซดิ๊คกล่าว
ร้านขายของที่ระลึกใกล้ท่าเรือเฟอร์รี่ขายเสื้อยืดที่มีลายพิมพ์เป็นรูปปลาทองซึ่งเป็นเสื้อที่แมนเดลาใส่ตอนกลับไปเยี่ยมคุกร็อบเบน
รวมถึงโปสการ์ดที่เขียนข้อความของเขาว่า
“ความทุกข์ยากคือชีวิตของผม ผมจะขอสู้เพื่ออิสรภาพต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”
