เสน่ห์จันท์ พิพิธภัณฑ์ฯพาณิชย์นาวี
เสน่ห์จันท์ “พิพิธภัณฑ์ฯ พาณิชย์นาวี”
จาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่
29 มีนาคม 2553

จันทบุรี
จังหวัดนี้มีของดีทางการท่องเที่ยวหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี”
ที่สร้างขึ้นเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมของคนที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
โดยมุ่งเน้นในเรื่องความเป็นมาของการคมนาคมทางน้ำ
การติดต่อค้าขายและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองท่าต่างๆ
นับจากอดีตเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน
รวมถึงเป็นสถานที่ศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นในหลากหลายมิติ
พิพิธภัณฑ์ฯพาณิชย์นาวี ตั้งอยู่ที่ ค่ายเนินวง ต.บางกะจะ อ.เมือง
ค่ายโบราณที่สร้างขึ้นรับศึกญวน(เวียดนาม)ในสมัย ร.3
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2537 มีลักษณะอาคารแฝด 2 ชั้น
ภายในมีการแบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 6 ห้อง ได้แก่

ห้องจัดแสดงสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือ
จากทางโถงด้านหน้าเดินขึ้นบันไดมาก็จะพบห้องนิทรรศการที่จัดแสดงให้เห็นวิวัฒนาการด้านพาณิชย์นาวีในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ยุคโบราณ
พร้อมด้วยเส้นทางการเดินเรือ เมืองท่าโบราณ และสินค้า

ในห้องนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การจำลองเรือสำเภาไทยโบราณ(ขนาดเล็กที่สุด)มาจัดแสดงไว้อย่างอลังการกลางห้อง
เรือลำนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ กง กราบเรือ กระดูกงู มีชื่อว่า“บรรพนาวิน”
เขียนติดอยู่ที่ท้ายเรือ ซึ่งคุณวิรัช สุริวงวศ์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า
บรรพนาวิน หมายถึง บรรพบุรุษแห่งการเดินเรือ
ส่วนนกฟีนิกซ์ที่เกาะอยู่บนภูเขากลางทะเล คือความเป็นอมตะ ฆ่าไม่ตาย
เปรียบดังเรือไม่ล่ม
ด้านหน้าของเรือบรรพนาวินวาดเป็นรูปราหู(หนึ่งในรูปที่ชาวเรือเคารพ)
มีตาเรือวงกลมขอบนอกขาวขอบในดำอยู่ด้านข้าง ซ้าย-ขวา

“นี่เป็นรูปแบบของตาเรือสินค้าคือมีตาสีดำมองไปข้างหน้า
ส่วนตาเรือประมงจะเป็นรูปตาดำเหลือบมองลงต่ำ
แต่ถ้าเป็นตาเรือโจรสลัดจะเป็นรูปตาตัดเหลือเพียงครึ่งเดียว ถ้าใครเจอกลางทะเล
ต้องรีบหนีทันที” คุณวิรัชอธิบาย
เรือลำนี้แม้จะจำลองมาจัดแสดงแต่ว่าก็ทำเหมือนจริง
นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมห้องต่างๆในท้องเรือ ระวางเรือ
และสามารถขึ้นไปบนเรือได้
โดยระวางสินค้าแรกจัดจัดแสดงไหสี่หูเคลือบน้ำตาลดินแห่งเมืองสิงห์บุรี
และเครื่องเคลือบสังคโลกเขียวไข่กาที่ขุดค้นพบ
ส่วนระวางต่อไปเป็นผ้าไหมแพรพรรณที่นำมาจากจีน มีเครื่องเทศที่นำไปขาย
ด้านระวางกลางเรือมีทองแดงจำนวนมากซึ่งนอกจากจะเป็นวัสดุที่ซื้อมาเพื่อให้ประโยชน์แล้วยังเป็นอับเฉาเรืออีกด้วย
ต่อมาเป็นระวาง 4 เป็นที่เก็บไม้ฝาง
ในขณะที่ระวางท้ายเรือเป็นส่วนทำอาหารและห้องจับกังเรือที่อยู่กันแบบง่ายๆตามอัตภาพ

จากชั้นล่างมาดูชั้นบนของเรือกันบ้าง บนนี้เป็นที่จัดแสดงวิถีชาวเรือ
มีกัปตันเรือหรือจุ่มจู๊หรือไต้ก๋งยืนคุมคนงานบนชั้นดาดฟ้า
ในขณะชั้นที่บนเรือนั้นมีการจำลองเรื่องราวบนเรือให้ดูหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ”อาปั๋น”
คนดึงเชือกใบเรือ ผู้มีหน้าที่ดูแลเรือ มีเฒ่าเต้งทำหน้าที่ดูแลสมอเรือ
มีจุมโผ่หรือกุลี จับกัง แบกหามสิ่งต่างๆบนเรือ ร่วมด้วยองค์ประกอบต่างๆของเรือ
อาทิ ใบเรือ พังงาเรือ ลูกตะเภาทำจากหวายใช้สำหรับกันเรือกระแทก

นอกจากเรือบรรพนาวินแล้วในห้องจัดแสดงสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือ
ยังมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่ขุดพบจากแหล่งเรือจมในบริเวณอ่าวไทย อาทิ
จี้ทองคำฝังพลอยแดง กำไลข้อมือทองคำ เครื่องถ้วยสังคโลก เหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง
คันฉ่อง(กระจก) แหนบ กุญแจจีน เบ็ด ไข่เป็ด ก้างปลา ฯลฯ
ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุราว 300 – 400 ปี
หรือตั้งแต่ช่วงอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย


ห้องแนะนำปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ
เป็นห้องอยู่ด้านในสุดของตัวอาคาร โดยจำลองสภาพจริงของแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ
ตลอดจนวิธีการทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำ
เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของงานโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย
โบราณคดีใต้น้ำคืออะไร แตกต่างจากโบราณคดีบนบกอย่างไร รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆ
ที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง
ซึ่งที่เด่นๆก็มีการจำลองวิธีการทำงานของทีมงานนักโบราณคดีใต้น้ำจากเรือบางกระชัย 4
มาจัดแสดง


ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ
อยู่ถัดลงมาชั้นล่าง
เป็นห้องกระจกเปิดโล่งเพียงด้านเดียวเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์นับหมื่นชิ้น
โดยทั่วไปแล้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติๆ
จะไม่มีการเปิดแสดงให้บุคคลภายนอกได้เห็นมากนัก
เนื่องจากคลังเก็บโบราณวัตถุมักเป็นห้องอยู่ภายในอาคาร
แต่ที่นี่จะเปิดด้านหนึ่งเป็นช่องกระจกให้สามารถมองเห็นโบราณวัตถุที่จัดแสดงและเก็บรักษาในคลัง
โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีเกือบทั้งหมดเป็นโบราณวัตถุจากแหล่งเรือจมในน่านน้ำอ่าวไทย
ที่ได้มาจากการทำงานสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำของกลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ
และจากการตรวจยึดจับกุมผู้ลักลอบงมโบราณวัตถุใต้ท้องทะเลมาขาย
นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีบนบกในพื้นที่เขตจังหวัด
จันทบุรี อีกด้วย

ห้องแสดงเรือและชีวิตชาวเรือ
เป็นการจัดแสดงเรือต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งเรือขุดและเรือต่อ ว่ามีเรือชนิดใดบ้าง
ลักษณะเป็นอย่างไร และเรือแบบใดกันอยู่ในแถบใด
เริ่มตั้งเรือลำเล็กที่ใช้ในแม่น้ำลำคลอง ไปจนถึงเรือสินค้าขนาดใหญ่ในท้องทะเล
โดยเรือทั้งหมดได้ทำย่อส่วนตามจริง
เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักเรือที่บางชนิดได้ยินเพียงชื่อ
แต่ยังไม่เคยเห็นว่าที่จริงแล้วมีลักษณะอย่างไร เช่น เรือผีหลอก เรือพายม้า เรือหมู
เรือแม่ปะ เรือฉลอมท้ายญวน เรืออีโปง เรือประทุน เรือกอและเรือหางแมงป่อง เรือสำเภา
เป็นต้น

นอกจากนี้ที่บริเวณทางเดินด้านหน้าห้องแสดงเรือและวิถีชีวิตชาวเรือ
ยังมีการจัดแสดงเรือรบสมัยใหม่แบบย่อส่วน รวมไปถึงเรือพระราชพิธี
เครื่องประกอบเรือพระราชพิธี
และหากเดินทางไปตามทางเดินก็จะพบเก๋งเรือโบราณในสมัยราชกาลที่ 5
รวมถึงซากเรืออายุราว 200 ปีที่ขุดมาจากไม้ตะเคียนต้นเดียวแต่ว่ายังขุดไม่เสร็จ
สันนิษฐานว่าอาจเกิดจาก ความแรงความเฮี้ยนของไม้ตะเคียน
หรือเกิดจากการขึ้นรูปเรือผิดพลาด
หรือเกิดจากชุมชนที่ขุดเรือโยกย้ายถิ่นฐานไปเสียก่อน
ห้องของดีเมืองจันท์
แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรีว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ การก่อตั้งเมือง เหตุการณ์สำคัญ
และเรื่องชาติพันธุ์วิทยาของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของจันทบุรีที่เรียกว่าตนเองว่า
“ชาวชอง” นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงให้เห็นถึงมรดกทางธรรมชาติสถานที่ท่องเที่ยว
และของดีที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี อาทิ พลอย ผลไม้ เสื่อ ฯลฯ
ห้องบุคคลสำคัญ
เพื่อเป็นการเชิดชูพระมหาวีรกรรมขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในห้องนี้จึดจัดแสดงถึงเรื่องราวพระราชประวัติของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา
ครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินทัพเมื่อคราวมารวบรวมพลที่จันทบุรี
ก่อนจะยกทัพกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าตลอดจนขึ้นปราบดาภิเษก
รวมไปถึงการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านต่างๆ อาทิ การเมือง การปกครอง
ศิลปะ และวรรณกรรม เป็นต้น

และนั่นก็เป็น 6 ห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฯพาณิชย์นาวี
อีกหนึ่งของดีแห่งเมืองจันท์ที่หากใครมีโอกาสผ่านไปแถวนั้น
น่าจะหาเวลาแวะเวียนเข้าไปชม
เพราะนี่คือพิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยที่เก็บรักษาโบราณวัตถุใต้ท้องทะเลจำนวนมากนับหมื่นๆชิ้นที่หาชมไม่ได้ง่ายๆเลย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ค่ายเนินวง ต.บางกะจะ อ.เมือง
จ.จันทบุรี เปิดทำการตั้งแต่วันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ
และพระภิกษุสามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม ซึ่งผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
0-3939-1431,0-3939-1433