คู่พระบารมี 60 ปี พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
คู่พระบารมี 60 ปี พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
จาก
หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่
30 เมษายน 2553
ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ ได้ทรงปฏิบัติภารกิจน้อยใหญ่นานัปการ ในฐานะ
“คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจ
ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อานาประชาราษฎร์ด้วยพระกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้มาโดยตลอด
เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไป นับตั้งแต่สำนักพระราชวังประกาศข่าวการหมั้นของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
พระธิดาพระองค์ใหญ่ในพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และ หม่อมหลวงบัว
กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พสกนิกรได้รับทราบข่าวนี้ทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ด้วยความชื่นชมโสมนัส
และจากนั้นมา ต่างก็ตั้งตารอคอยรับเสด็จในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จนิวัติพระนครพร้อมด้วยพระคู่หมั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493
เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรส
ในวันที่ 28 เมษายน 2493
ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรส กับ
หม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ตอนเช้า ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในครั้งนั้น
นับว่าเป็นปรากฏการณ์ ครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย
ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทั่วไป
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ฯ บันทึกเหตุการณ์มหามงคลนี้
อันเป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของชาติไทยไว้ในหนังสือ "เป็น อยู่ คือ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ว่า
" หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ซึ่งแต่งกายชุดสีงาช้าง
เสื้อแพรแขนยาวปักลาย กระหนกทอง สร้อยคอเพชร
สร้อยข้อมือเพชรของเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
และต่างหูเพชรของเก่าฝีมือทำขึ้นใหม่ สายสะพายปฐมจุลจอมเกล้า
ไปยังวังสระปทุมประทับรอในห้องรับแขก
เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบเต็มยศ
ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ทรงสวมสายสะพายจุลจอมเกล้าประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จเข้าสู่วังสมเด็จพระราชบิดา
เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ห้องรับแขกพระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา
ประธานสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลโทมังกร พรหมโยธี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทูลเกล้าฯถวายสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรส
ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
หม่อมเจ้านักขัตรมงคล และหม่อมหลวงบัว ลงพระนามและลงนาม ตามลำดับ จากนั้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมขุนชัยนาทนเรนทรและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงนามด้วย
เนื่องจากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
เสร็จแล้ว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบนพระตำหนัก
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯออก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ถวายดอกไม้
ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระราชทานน้ำพระพุทธมนต์
เทพมนตร์ และทรงเจิมแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์
ทรงเจิมแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี
การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ
ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายหีบบุหรี่ถมเงิน
ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภอ. กับ พระนามาภิไธยย่อ สก.
มีเครื่องหมายจักรกับตรีอยู่บนฝากล่อง
หลังจากนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินี คำประกาศสถาปนามีความตอนหนึ่งว่า
" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
ถูกต้องตามกฎหมาย และราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสี
เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ฯ เขียนบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในหนังสือ "เป็น อยู่
คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" อีกตอนหนึ่งว่า
"
มีความตอนหนึ่งแสดงความปลาบปลื้มปีติโสมนัสในการที่ทรงเลือกสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
มาเป็นสมเด็จพระภรรยาเจ้า ว่า '...
ได้ทรงพิจารณาเลือกสรรประสบผู้ที่สมควรแก่การสนองพระยุคลบาท ร่วมทุกข์ ร่วมสุข
แบ่งเบาพระภาระในภายภาคหน้า... '
หลังการเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยแล้วทั้งสองพระองค์เสด็จฯหัวหินเป็นการส่วนพระองค์โดยรถไฟพระที่นั่งในวันรุ่งขึ้น
เสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล 3 วัน ตามประเพณี โปรดเกล้าฯให้ผู้ตามเสด็จฯน้อยมาก
ทรงโปรดความเงียบสงบ ไม่ฟุ่มเฟือยโดยไร้ประโยชน์
ตลอดระยะทางที่รถไฟผ่าน จนถึงสถานีรถไฟหัวหิน ประชาชนต่างพากันมาเฝ้าฯ
อย่างเนืองแน่น ทุกดวงหน้าเบิกบานแจ่มใส ทรงโบกพระหัตถ์
บางคนที่อยู่ใกล้ก็พระราชทานพระหัตถ์ เขาก็เอามาทูนหัวด้วยความบูชา
และนี่เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯออกให้ประชาชนต่างจังหวัดได้เข้าเฝ้าฯ
อย่างใกล้ชิด
และในวันที่ 28 เมษายน 2553 ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 60 ปี
ราชาภิเษกสมรส ขอถวายพระพรขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน
เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน