Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

TOP Engineering Group - VTOL UAV Thailand

Advertising in marinerthai.net FB MarinerThai News

60 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดในโลก

60 ปี พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดในโลก


จาก ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 4 พฤษภาคม 2553

ทีมข่าว CLICK

'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม'

นั่นคือพระปฐมบรมราชโองการที่เปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

จวบจนวันนี้ ถึงแม้ว่าเวลาล่วงเลยมายาวนานถึง 60 ปี พระองค์ก็ยังทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

วันฉัตรมงคลที่มีขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีนั้น เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แล้วก็ตาม ทว่าพระองค์ยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป ก่อนที่เสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อบรรลุนิติภาวะ ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกรชาวไทยจึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือที่เรียกกันว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

นับแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล และในปีนี้ก็ถือเป็นวโรกาสที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ผ่านพิธีบรมราชาภิเษก ครบ 60 ปี

แม้ท่านผู้อ่านหลายท่านจะเคยประสบกับบรรยากาศการเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าบรรยากาศการฉลองเหล่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับวินาทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พิธีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เราจึงอาสาพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน ผ่านคำบอกเล่าของบุคคลร่วมสมัยทั้งสามคน

มหาราชผู้ไม่เคยหลงลืมพสกนิกร

“ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นอุดมศึกษา เทียบกับตอนนี้แล้ว ก็ถือว่าผมในตอนนั้นยังเด็กมาก แล้วผมก็ไม่ได้มีส่วนเข้าไปใกล้ชิดใดๆ กับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลย แต่ถ้าให้เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับบรรยากาศในครั้งนั้น ผมก็ยังจำได้ว่า ในความรู้สึกของราษฎรคนหนึ่ง ถือเป็นพระราชพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราก็รู้สึกว่าเป็นพิธีของพระมหากษัตริย์ เป็นพิธีของพระราชวงศ์ที่ยังไกลจากตัวเรา แล้วงานพระราชพิธีในสมัยนั้นก็ยังไม่มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ ยังเป็นไปตามแบบแผนที่ทำกันเฉพาะในขอบเขตพระราชวัง”

เป็นคำบอกเล่าจากความทรงจำของ สมบัติ พลายน้อย หรือเจ้าของนามปากกา ส. พลายน้อย ผู้ฝากผลงานการเขียนเชิงวัฒนธรรม ประเพณี สารคดี ตำนาน รวมถึงวรรณกรรมมุขปาฐะพื้นบ้านอีกมากมาย รวมแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยเล่ม

แต่ถึงแม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างชิดใกล้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระนั้น ส. พลายน้อย ก็มีความทรงจำประทับใจเกี่ยวกับในหลวงของปวงชนชาวไทย ที่แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่ภาพของพระองค์ที่เขาได้พบเห็นด้วยตาตัวเองในครานั้นก็ยังคงฝังแน่นไม่รู้ลืม

“ผมไม่เคยลืมเหตุการณ์ในวันนั้นเลย ตอนนั้นผมไปทำธุระที่ถนนราชดำเนิน แล้วก็ต้องข้ามถนนจากหน้าสำนักงานของหนังสือพิมพ์สยามรัฐเพื่อมาที่กองสลาก แต่พอผมข้ามมาถึงเกาะกลางถนน ก็มีพลทหารมาบอกให้หยุดข้ามก่อน เพราะในหลวงท่านเสด็จ ผมก็หยุดรอ ไม่นานนักขบวนเสด็จก็ผ่านมาถึงตรงที่ผมยืน ผมก็ค้อมคำนับลง แต่เชื่อไหม ว่าผมไม่เคยลืมภาพในวันนั้นเลย...

“คือตอนที่ผมโค้งตัวลงค้อมคำนับ ผมก็เหลือบมองไปที่พลทหารที่ยืนอยู่ข้างๆ ผม แล้วก็เห็นเขายกแขนขึ้นวันทย-หัตถ์ ผมก็เลยมองไปที่ขบวนเสด็จ เห็นในหลวงท่านนั่งอยู่ในรถ แล้วพอท่านเห็นพลทหารคนนั้นทำความเคารพ ท่านก็ยกพระหัตถ์ของท่านขึ้นแตะขอบหมวก เป็นการตอบรับและทำความเคารพตอบพลทหารคนนั้น ผมไม่เคยลืมภาพนั้นเลยครับ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยของพระองค์ท่านว่าลึกซึ้งเหลือเกิน เพราะตลอดชีวิตผม ผมแทบไม่เคยเห็นบรรดานายพล รัฐมนตรี หรือคนใหญ่คนโตคนไหนในบ้านเมืองจะใส่ใจกับคนตัวเล็กๆ เหมือนที่พระองค์ท่านทรงใส่ใจแม้กับพลทหารธรรมดาคนหนึ่ง”

สำหรับ ส. พลายน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือมหาราชผู้ทรงไว้ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น และเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม

กษัตริย์ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระขัตติยมานะ

สำหรับ พิชัย วาศนาส่ง ผู้มีความรู้หลากหลายด้าน เปรียบได้ดั่งพหูสูตคนหนึ่งของเมืองไทย ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน เขาคือผู้บรรยายงานและบรรยากาศในพิธีราชาภิเษกให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เขาตอบเราทันควันว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นคือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามขัตติยราชประเพณีได้อย่างงดงาม

“เป็นความภาคภูมิใจสงบราบคาบไปทั้งบ้านทั้งเมืองเลยครับ ตื่นเต้นก็เพราะว่าเวลามีพระราชพิธีก็มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ขาว-ดำ หรือไม่ก็ถ่ายเป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ ยุคนั้นโทรทัศน์สียังไม่มี น่าเสียดายมากทีเดียว คือพิธีการที่เกิดในวังหลวงก็เป็นพิธีการที่งดงาม เพราะว่าเครื่องทรงต่างๆ ที่มาจากรัชกาลอื่นๆ เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็มีพร้อมอยู่แล้วสำหรับประกอบพระยศให้สมกับที่ขึ้นประทับบนพระราชอาสน์”

ด้วยความเป็นสื่อมวลชนรุ่นครู พิชัยเล่าว่า ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ผู้บรรยาย เขาต้องศึกษาหาข้อมูลทั้งจากหนังสือหนังหาและถามไถ่ผู้รู้เพื่อให้ข้อมูลที่ถ่ายทอดออกไปไม่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการริ้วขบวน เครื่องทรงต่างๆ แม้กระทั่งคำราชาศัพท์

ถึงเหตุการณ์จะผ่านไป 60 ปี ภาพอดีตบางภาพหลงเหลือเพียงภาพทรงจำรางๆ แต่ภาพที่เขายืนบรรยายอยู่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งแต่ก่อนคือกรมโฆษณาการบนถนนราชดำเนินกลับชัดเจนเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

“ขณะที่เสลี่ยงคานหามผ่านไป ขบวนแห่พระอิสริยยศงามเหลือเกินครับ ภาพที่ออกมาจากหนังสือพิมพ์ จากข่าวโทรทัศน์ มันทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมที่ดี มีพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเคารพในขัตติยราชประเพณีแต่โบราณ พระองค์ประทับบนพระที่นั่งเสลี่ยงคานหาม ทรงราชภูษิตาภรณ์สมกับสมัยโบราณ เสื้อผ้าเยียรบับ ประดับประดาเครื่องทรงสังวาลพร้อมเพรียง และก็มีพระมาลาเบี่ยง มีพระขรรค์ ครบถ้วน ร้อนก็ร้อน แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระขัตติยมานะที่จะอดทน”

และแล้วพิชัยก็ได้รับโอกาสอันเป็นมงคลเข้าเฝ้าใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันหนึ่งผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดพระละอองธุลีพระบาท พระองค์ท่านก็ตรัสกับผม ซึ่งยังจำมาถึงทุกวันนี้ว่า เธอรู้ไหม นั่งอยู่บนนั้นน่ะ ไม่ได้มีความสุขอะไรนักหนาหรอก คนข้างนอกก็ดูว่ามันสวยงามดี แต่ก็นั่นแหละ ฉันนั่งอยู่ในเครื่องทรงราชภูษิตาภรณ์ต่างๆ มีเครื่องทรงที่เต็มยศเต็มที่ เธอรู้ไหมว่าน้ำหนักที่อยู่บนตัวฉันหนักเพียงไหน รวมทั้งความร้อนที่อบภายใน

“ขณะเดียวกัน ผู้ที่หามเสลี่ยงอยู่นั้น ก็ไม่แน่ใจว่าใครจะอ่อนเปลี้ยลงไป ถ้าใครคนหนึ่งหมดกำลังและล้มลง มันก็จะเสียความงามไป ฉันก็นึกอยู่ในใจว่าต้องแข็งใจ ในเมื่อคนโบราณเขาทำกันได้ ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ คนที่มาดูมาเห็นอยู่ตอนนั้นก็เป็นหมื่นๆ คน ให้เขารู้ว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมและสามารถสืบทอดโบราณราชประเพณีมาได้ครบถ้วน”

เทคโนโลยียุคนั้น การสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน โทรทัศน์ยังไม่ได้มีแพร่หลาย ถึงกระนั้น ในห้วงเวลาแห่งพิธีราชาภิเษก ทั่วทั้งประเทศต่างก็มีการเฉลิมฉลองโดยทั่วไป มีการนำฟิล์มภาพยนตร์ที่บันทึกพระราชพิธีราชาภิเษกออกเผยแพร่ให้พสกนิกรได้ชื่นชมพระบารมี

ทั้งหมดนี้ยังกรุ่นอยู่ในความทรงจำของพิชัยไม่รู้ลืม

คืนวันหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดในโลก

“ตอนนั้นดิฉันอายุ 16 เท่านั้นค่ะ ถือว่ายังเด็กมาก ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่มีเฉพาะเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงที่ใกล้ชิด แต่ในคืนถัดมาที่มีการประกอบพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่ง ดิฉันก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าร่วม เป็นความประทับใจที่ยังจำได้ดีจนถึงวันนี้”

ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี หรือ 'คุณป้าหญิง' ราชสกุลผู้สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ให้เกียรติย้อนความทรงจำประทับใจในวัยแรกรุ่น ที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญยิ่งในชีวิต นั่นคือ การ 'อุ้มแมว' ในขบวน 'พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร' ซึ่งถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบเนื่องมานับแต่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

“พิธีนี้ ถ้าพูดกันแบบชาวบ้านก็คือพิธีขึ้นบ้านใหม่นั่นแหละค่ะ ถือเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญมากอีกพิธีหนึ่ง ในแต่ละรัชกาลจะมีพิธีนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดิฉันจำได้ไม่ลืมว่า จัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2493 หรือหลังวันราชาภิเษกหนึ่งวัน พิธีนี้ไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะจัดขึ้นเป็นการภายใน ไม่ให้คนนอกเข้าร่วม และในครั้งนั้น มีเชื้อพระวงศ์เพียง 16 ท่านที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมขบวนเสด็จ ดิฉันซึ่งยังถือว่าเด็กมากนัก แล้วได้เข้าร่วมขบวน ก็รู้สึกดีใจและประทับใจมาก จำได้ไม่ลืม ว่าพิธีเริ่มขึ้นประมาณหนึ่งทุ่มเศษ”

สำหรับรายละเอียดของพิธีนี้ ม.ร.ว.กิติวัฒนา บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพว่า

“คืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ใช้เวลาเพียงประมาณ 10 นาทีเท่านั้นค่ะ ระหว่างทางเสด็จ พระองค์จะหยิบดอกพิกุลเงินพิกุลทองจากขันที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงถือไว้ แล้วพระองค์ก็ทรงโปรยไปตลอดทางที่เสด็จ ตอนนั้นจำได้ว่าข้าราชบริพารต่างมานั่งหมอบกราบด้วยความเคารพสูงสุด แล้วหลายคนก็เก็บดอกพิกุลไว้ เพราะถือเป็นสิริมงคลในชีวิต ดอกพิกุลนั้นเป็นดอกไม้ผ้าที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีตและสวยงามมาก”

คุณป้าหญิงบอกเล่าว่า พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนี้ เปรียบได้กับพิธีขึ้นบ้านใหม่ ทั้งมีการถือเคล็ดว่า หลังจากพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินจะต้องเสด็จมายังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานแล้วบรรทมที่นี่หนึ่งคืน จึงจักถือว่าการเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติเป็นไปอย่างสมบูรณ์

“ในขบวนเสด็จ แต่ละคนจะถือสิ่งของต่างๆ ที่มีความหมายแฝงอยู่ อย่างเช่นพระแสงดาบ แสดงถึงพระบารมี, พัด แสดงถึงความร่มเย็น ส่วนดิฉัน ตอนนั้นก็ได้อุ้มแมวค่ะ ซึ่งมีความหมายสื่อถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เมื่อขบวนตามเสด็จมาถึงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระองค์ก็จะทรงบรรทมที่นี่หนึ่งคืน จึงถือว่าเสร็จสิ้นพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว และเป็นการสืบราชบัลลังก์ที่ตรงตามโบราณราชประเพณีทุกประการ”

เมื่อพระราชพิธีดังกล่าวเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในหลวงจึงได้รับพระสมัญญานาม ว่า 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' เป็นพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทยสืบมาจวบจนวันนี้ เป็นมหาราชที่ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ยกย่องว่า

“เป็นพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดในโลก”

ที่มาของน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก

การจัดพิธีบรมราชาภิเษกนั้น เป็นพิธีที่มีมาแต่ครั้งสุโขทัย เพราะมีปรากฏในหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องและสมบูรณ์

ซึ่งในช่วงเตรียมพิธีนั้นจะมีการตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก ซึ่งน้ำอภิเษกนั้น ได้ใช้น้ำจากสถานที่สำคัญต่างๆ 18 แห่ง โดยจะมีการเสกน้ำพระพุทธมนต์ในสถานที่ต่างๆ กันดังนี้

1 จังหวัดสระบุรี ที่พระพุทธบาท

2จังหวัดพิษณุโลก ที่วัดพระศรีมหาธาตุ

3. จังหวัดสุโขทัย ที่วัดพระมหาธาตุ

4. จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์

5. จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่วัดพระมหาธาตุ

6. จังหวัดลำพูน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย

7. จังหวัดนครพนม ที่วัดพระธาตุพนม

8. จังหวัดน่าน ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง

9. จังหวัดร้อยเอ็ด ที่วัดบึงพระลานชัย

10. จังหวัดเพชรบุรี ที่วัดมหาธาตุ

11. จังหวัดชัยนาท ที่วัดพระบรมธาตุ

12. จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่วัดโสธร

13. จังหวัดนครราชสีมา ที่วัดพระนารายณ์มหาราช

14. จังหวัดอุบลราชธานี ที่วัดศรีทอง

15. จังหวัดจันทบุรี ที่วัดพลับ

16. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่วัดมหาธาตุ อำเภอไชยา

17. จังหวัดปัตตานี ที่วัดตานีณรสโมสร

18. จังหวัดภูเก็ต ที่วัดทอง

จากนั้นก็จะส่งน้ำอภิเษกส่วนหนึ่งมาเจือกับน้ำสำหรับสรงมูรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่เจือด้วยน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย ได้แก่แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี สรภู มหิ และจากปัญจสุทธคงคาซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญทั้ง 5 ของไทย คือแม่น้ำเจ้าพระยา (ตักที่ตำบลบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง), แม่น้ำเพชรบุรี (ตักที่ตำบลท่าชัย จังหวัดเพชรบุรี), แม่น้ำราชบุรี (ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม), แม่น้ำป่าสัก (ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี) และแม่น้ำบางปะกง (ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก)

นอกจากนั้นน้ำสำหรับสรงมูรธาภิเษกยังเจือด้วยน้ำจาก 4 สระ คือสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำสรงมาแต่โบราณ

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   3912

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Articles from our members Nathalin Group

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network