“วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์
“วาฬสีน้ำเงิน” เจ้าสมุทรที่ใกล้สูญพันธุ์
จาก
ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่
2 กรกฎาคม 2553
แม้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งครองผืนน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก และมีขนาดใหญ่โตไม่น้อยกว่าตึก 8 ชั้น แต่ “วาฬสีน้ำเงิน”
เกือบต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกสีน้ำเงิน จากมนุษย์ที่ไล่ล่าอย่างหนักในช่วง 2-3
ศตวรรษที่ผ่านมา
“วาฬสีน้ำเงิน”
(Blue Whale)
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุด
และอาจเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งอาศัยอยู่บนโลกนี้
แม้กระทั่งไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุด
ซึ่งเคยครองแผ่นดินบนโลกยังมีขนาดเล็กกว่าวาฬชนิดนี้
เคยมีผู้พบเห็นวาฬสีน้ำเงินขนาดยาวถึง 33 เมตร หนัก 190 ตัน
แต่โดยทั่วไปจะพบวาฬที่มีขนาดเล็กกว่านี้ โดยมีขนาดเฉลี่ย 25-26.2 เมตร หนัก
100-120 ตัน
ข้อมูลจากเนชันนัลจีโอกราฟิกระบุว่า เฉพาะลิ้นของวาฬสีน้ำเงินอย่างเดียวก็หนักเท่าๆ
กับช้างตัวหนึ่ง ส่วนหัวใจมีขนาดพอๆ กับรถยนต์คันหนึ่งเลยทีเดียว
ในช่วงศตวรรษที่ 20 วาฬสีน้ำเงินถูกล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์ กระทั่งช่วงกลางทศวรรษ
1960 ได้เริ่มมีการปกป้องวาฬชนิดนี้ และเร็วๆ นี้ประมาณว่า
เหลือวาฬสีน้ำเงินในซีกโลกใต้อยู่ประมาณ 2,300 ตัว
อีกทั้งมีหลักฐานว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละ 7%
แต่ยังไม่มีการประมาณจำนวนวาฬชนิดนี้ที่ดีพอในบริเวณอื่นของโลก
ถึงอย่างนั้น บีบีซีนิวส์ระบุว่า
มีหลักฐานประชากรวาฬสีน้ำเงินเพิ่มจำนวนขึ้นในแอตแลนติกเหนือ
โดยก่อนเริ่มอุตสาหกรรมล่าวาฬ คาดว่ามีวาฬสีน้ำเงินในท้องทะเลราว 200,000-300,000
ตัว และเชื่อว่าปัจจุบันน่าจะเหลือประมาณ 12,000 ตัว ซึ่งน้อยกว่า 1%
ของจำนวนเดิมที่มีอยู่
ทำไมต้องล่า “วาฬ” ?
วาฬถูกล่าเพื่อ “เนื้อ” และ “น้ำมัน” เป็นหลัก
โดยการล่าวาฬสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึง 3,000 ปีก่อน ค.ศ.ชาวอินนูอิตในกรีนแลนด์ล่าวาฬเพื่อยังชีพ
ส่วนชาวญี่ปุ่นและนอร์เวย์ต่างมีวัฒนธรรมในการล่าวาฬ
โดยการล่าวาฬเป็นอุตสาหกรรมนั้นเริ่มต้นในคริสศตวรรษที่ 17
และมีการล่าวาฬหนักขึ้นในช่วงศตววรษที่ 18-19 โดยในอดีตเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ
และยุโรปใช้น้ำมันจากวาฬเป็นเชื้อเพลิงในการจุดตะเกียง
จนกระทั่งในปี 1986 คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติ (International Whaling
Commission) หรือไอดับเบิลยูซี (IWC) ได้ห้ามการล่าวาฬเชิงพาณิชย์
ปัจจุบันความต้องการน้ำมันวาฬลดลงมาก และเหลือเพียงการล่าเพื่อเป็นอาหาร
โดยปัจจุบันวาฬมิงก์ซึ่งเป็นวาฬขนาดเล็กที่ถูกล่ามากที่สุด
“ไอดับเบิลยูซี”
คณะกรรมการจัดสรรโควตาล่าวาฬ
คณะกรรมการควบคุมการล่าวาฬนานาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อ 2 ธ.ค.1946 ณ กรุงวอชิงตัน ดี
ซี สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อการล่าวาฬที่เหมาะสมต่อจำนวนวาฬที่มีอยู่
รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมล่าวาฬ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 88 ประเทศ
ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและนอร์เวย์ที่ล่าวาฬเป็นวัฒนธรรมด้วย
ภารกิจหลักของไอดับเบิลยูซี คือกำหนดจำนวนและตารางที่เหมาะสมในการล่าวาฬ
ซึ่งการกำหนดนี้เพื่อคุ้มครองวาฬบางสปีชีส์
กำหนดพื้นที่เฉพาะให้วาฬได้หลบภัยจากการล่า จำกัดจำนวนและขนาดของวาฬที่จะถูกล่า
วางเงื่อนไขสำหรับการเปิด-ปิดฤดูกาลล่า และห้ามล่าลูกวาฬและวาฬตัวเมียที่มีลูกอ่อน
และผู้ล่าวาฬยังต้องรวบรวมรายงานการจับ
รวมถึงสถิติและข้อมูลเชิงชีววิทยาให้แก่คณะกรรมการด้วย
สัตว์ใหญ่ที่กินเฉพาะสัตว์เล็ก
วาฬสีน้ำเงินเป็นวาฬกรองกิน (baleen whale)
มีแผ่นกรองซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับเล็บที่เรียกว่า “บาลีน” (baleen)
เชื่อมกับขากรรไกร และจัดเป็นสัตว์กินเนื้อ
แต่เหยื่อของวาฬกลับเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กๆ
เวลากินอาหารสัตว์น้ำขนาดยักษ์นี้จะกลืนน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อกรองเอา “กริลล์”
(krill) สัตว์น้ำขนาดเล็กคล้ายกุ้งและกลืนกิน
วาฬต้องดำน้ำลงไปล่ากริลล์ที่ความลึกประมาณ 100 เมตร และปกติจะดำน้ำนาน 20 นาที
แต่มีบันทึกสูงสุดว่าดำได้นานถึง 36 นาที ทั้งนี้
วาฬสีน้ำเงินที่โตเต็มวัยกินกริลล์วันหนึ่งได้มากถึง 4 ตัน
วาฬไม่ใช่ “ปลา”
เราคุ้นเคยกับการเรียกวาฬว่า “ปลาวาฬ” เช่นเดียวกับการเรียกโลมาว่า “ปลาโลมา”
แต่สัตว์น้ำทั้งสองชนิดนั้นเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างจาก “ฉลาม”
ที่จัดเป็นปลาชนิดหนึ่ง ทั้งวาฬและโลมาเป็นสัตว์ในลำดับเซตาเซีย (Cetacea)
เช่นเดียวกัน โดยวาฬจะหายใจได้เช่นเดียวกับคน
และหายใจแต่ละครั้งสามารถดำน้ำได้นานถึง 20 นาที
และวาฬยังพ่นน้ำออกจากช่องหายใจได้สูงถึง 9 เมตร
วาฬแรกเกิดหนักได้ถึง 3 ตัน และมีขนาดถึง 8 เมตร โดยในช่วงปีแรกวาฬตัวน้อย
จะกินนมแม่อย่างเดียวมากถึงวันละ 91 กก. ซึ่งวาฬมีอายุเฉลี่ยประมาณ 80-90 ปี
โดยศัตรูของวาฬนอกจากมนุษย์แล้วยังมีปลาฉลามที่เป็นผู้ล่าอีกชนิดหนึ่ง
นอกจากนี้ทุกๆ ปียังพบว่าวาฬบาดเจ็บจากการปะทะกับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ด้วย
นักท่องสมุทรส่งเสียงได้ไกล 1,600 กม.
วาฬสีน้ำเงินอาศัยอยู่ทั่วไปในมหาสมุทรทั่วโลก โดยมักจะว่ายน้ำเป็นกลุ่มเล็กๆ
แต่ปกติจะพบเพียงลำพังหรือไปเป็นคู่
ในช่วงหน้าร้อนวาฬสีน้ำเงินจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในน่านน้ำแถบขั้วโลก
และจะอพยพสู่แถบศูนย์สูตรในช่วงที่ฤดูหนาวมาเยือน โดยวาฬสีน้ำเงินจะว่ายน้ำได้ไกล 8
กม.ในเวลา 1 ชั่วโมง แต่หากตื่นเต้นหรือตกใจวาฬสีน้ำเงินจะเร่งความเร็วได้ถึง 32 กม.ต่อชั่วโมง
นอกจากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว
วาฬสีน้ำเงินยังเป็นสัตว์ที่เสียงดังกังวานที่สุดในโลกอีกด้วย
ซึ่งภายในสภาวะที่เหมาะสม วาฬสีน้ำเงินสามารถส่งเสียงถึงวาฬอีกตัวที่อยู่ไกล 1,600
กิโลเมตรได้ โดยจะส่งชุดเสียงเป็นคลื่นสั้น เสียงครวญครางหรือโหยหวนออกไป
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวาฬสีน้ำเงินไม่ได้ส่งเสียงเพื่อการสื่อสารเพียงอย่างเดียว
แต่ใช้เพื่อนำทางใต้มหาสมุทรที่ลึกและอับแสงด้วย
สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ของวาฬสีน้ำเงินนั้น
สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสัตว์โลกใดรอดพ้นจากการคุกคามของมนุษย์ไปได้
แม้กระทั่งสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกนี้
แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเพิ่มโอกาสให้เพื่อนร่วมโลกนี้ได้อยู่คู่กับมหาสมุทรต่อไป