ภารกิจ 'รถถัง' ใต้ทะเล
ภารกิจ 'รถถัง' ใต้ทะเล
จาก
กรุงเทพธุรกิจ วันที่
24 สิงหาคม 2553
โดย:
ปานใจ ปิ่นจินดา
เชื่อไหมว่ารถถังปลดระวางยังมีประโยชน์ ถึงรบไม่ได้ แต่กินได้! แม้กระทั่งรถขนขยะ
หรือจะใหญ่ยักษ์ขนาดรถไฟ ก็กินได้ทั้งนั้น

เปล่า... เราไม่ได้ให้คุณๆ ผู้อ่านหันมาบริโภคเหล็ก แต่ที่บอกว่ากินได้
ก็เพราะวันนี้เจ้าพี่ยักษ์จักรกลปลดเกษียณเหล่านี้ได้รับมอบหมายภารกิจใหม่
ดิ่งลงสู่ใต้ทะเล เพื่อรอวันที่จะเกิดใหม่ในชื่อ "ปะการังเทียม"
ความหวังของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ทะเลที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มาแต่อ้อนแต่ออก

เมื่อบ้านพังเสียหาย แน่นอนว่าผู้อาศัยย่อมลำบาก ปะการังไม่มี ปลาก็ไม่มา
จนกระทั่งวันนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าชาวเลต้องออกเรือหาปลาไกลบ้านขนาดไหน
ถึงจะจับปลาได้มากพอที่จะคุ้มค่าเหนื่อย

อย่างนี้แล้ว ยังมีใครเถียงอีกไหมว่า รถถังกินไม่ได้?
หลายคนอาจไม่ทราบว่าทะเลไทยบ้านเราจัดว่ามีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง ที่มีอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลด้านอันดามัน
แต่สถานการณ์ของปะการังในปัจจุบันพบว่ามีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก
โดยเกิดขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติ และด้วยน้ำมือมนุษย์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ข้อมูลของกรมประมง พบว่า ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีพื้นที่ปะการัง 74.9 ตารางกิโลเมตร
แต่มีสภาพสมบูรณ์ดีมากและสภาพสมบูรณ์ดีไม่ถึงครึ่งมีเพียงร้อยละ 45.5
และที่สำคัญมีมากถึงร้อยละ 23.7
ที่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรมสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากพายุ
การพัฒนาแนวปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และผลกระทบจากการทำประมง

จึงต้องเรียกว่าเป็นภาวะเร่งด่วนจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง
ทั้งการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน
จนถึงการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้นมาเพื่อช่วยย่นเวลาในการนำความสมดุลกลับคืนสู่ท้องทะเล

"เทียม" แต่ "แท้"
ก่อนอื่นขออธิบายถึงวิธีการสร้าง "ปะการังเทียม" ที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ไม่ใช่อะไรๆ
ก็สามารถโยนลงทะเลแล้วจะเรียกว่าปะการังเทียมได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น
เปลี่ยนคำเรียกให้ใหม่ว่า "ทิ้งขยะในทะเล" เสียยังจะเหมาะกว่า
โดยหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า ซากตึก เศษปูน หรืออะไรก็ตามแต่ที่สิ่งมีชีวิตอย่าง
หอยนางรม เพรียง ฟองน้ำสามารถเกาะได้ ก็จะถือว่าช่วยสร้างสมดุลแก่ธรรมชาติได้แล้ว
อย่าลืมว่าเป้าหมายสำคัญของการทำปะการังเทียม ก็คือ
เพื่อทำให้กุ้งหอยปูปลากลับมาอยู่กันอย่างคึกคักเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้น
หากว่าสิ่งที่คนโยนลงไปไม่มีช่องว่างภายในให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าไปอาศัยได้
ก็เหมือนกับบ้านไม่มีประตู แล้วจะยังมีประโยชน์อยู่หรือ?

ข้อมูลจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำนิยามของปะการังเทียม ไว้ว่า
"แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) หรือ ปะการังเทียม (Artificial Reefs)
เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล
โดยการนำวัสดุที่แข็งแรงทนทานต้านกระแสน้ำได้ และค่าใช้จ่ายคุ้มทุน
ไปจัดวางที่พื้นทะเล
เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย เป็นที่หลบภัย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร
และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ
เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ
เสริมมาตรการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรประมง"
เกณฑ์ในการเลือกสถานที่สร้างบ้านให้ปลานั้น
กรมประมงกำหนดให้ต้องเป็นสถานที่ที่มีความลึกของน้ำทะเล 6 ม.ขึ้นไป
พื้นทะเลไม่เป็นโคลนเหลว
ไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วในฤดูน้ำหลาก
ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งมีตะกอนแขวนลอยในน้ำมาก ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ
ไม่เป็นที่หวงห้ามเพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆ ทางทะเล เช่น เขตร่องน้ำเดินเรือ
เขตจอดเรือ เขตพื้นที่ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่และแก๊สธรรมชาติ เขตสัมปทานรังนก
เป็นต้น
ส่วนเรื่องวัสดุที่จะนำมาใช้ทำเป็นปะการังเทียมนั้น
ได้มีการวิจัยและพัฒนาโดยกรมประมงต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยปะการังเทียมชุดแรก
เกิดขึ้นในปี 2521 ทดลองจัดทำโดยสถานีประมงทะเลจังหวัดระยอง และเรียกว่า "มีนนิเวศน์"
เป็นการใช้วัสดุแตกต่างกันหลายชนิด เช่น ยางรถยนต์เก่า ท่อคอนกรีต
ผูกมัดเป็นรูปทรงต่างๆ กัน เพื่อศึกษาผลของการใช้วัสดุ และการดึงดูดสัตว์น้ำ
โดยพบว่ามีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย
นอกจากทดลองที่ชนิดของวัสดุแล้ว ก็ยังมีการทดสอบความแตกต่างของรูปทรงที่เหมาะสมด้วย
ตัวอย่างเช่น พ.ศ.2526 สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา
ได้ทดลองใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กรูปสามเหลี่ยมพีระมิด ยาวด้านละ 80 ซม.จัดสร้างที่บริเวณชายฝั่งด้านหน้าของสถาบันฯ
โดยเรียกว่า "แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล" ขณะที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน
สถานีประมงทะเลจังหวัดภูเก็ต ได้จัดสร้างปะการังเทียมด้วยยางรถยนต์เก่า
และคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดสี่เหลี่ยมที่บริเวณอ่าวพังงา ในปี พ.ศ.2525
บ้านเหล็กใต้ทะเล
แต่ที่แปลกใหม่และเป็นข่าวฮือฮา ก็คือ
ปะการังเทียมซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
โดยใช้ซากตู้รถไฟจำนวน 208 ตู้ทิ้งลงในทะเลลึกเขตจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2545
เพื่อฟื้นความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

โดยก่อนที่รถไฟจะได้ย้ายบ้านสู่ก้นทะเลนั้น
ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องอิทธิพลของกระแสน้ำว่าจะกระทบต่อกระแสน้ำหรือไม่
มีผลต่อชายฝั่งอย่างใดหรือไม่ และก็ได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการว่า
หากนำตู้รถไฟลงไปวางในระดับน้ำที่ลึกเกิน 20 เมตร
จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งทะเล
ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาด้านชีววิทยาและเคมีโดยกรมประมงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเหล็กที่มีต่อน้ำทะเล
และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่มีอันตราย
จากนั้นตู้สินค้าขนาดความยาว 6.5 เมตร กว้างและสูงเท่ากัน 2.18 เมตร น้ำหนัก 5.5
ตัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการถอดล้อ
ทำความสะอาดตู้ให้ปราศจากคราบน้ำมัน เปิดประตูทั้งสองและเชื่อมไว้ให้ถาวร
จึงได้มีโอกาสดำดิ่งสู่ทะเลลึก ก่อนจะตามด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ท่อระบายน้ำ
รถเก็บขยะมูลฝอย และแท่งคอนกรีต

จากการลงสำรวจของทีมนักดำน้ำในบริเวณที่เคยที่ปะการังเทียมเหล็กที่เคยวางไว้นั้น
จากเดิมซึ่งเคยเป็นพื้นทรายกว้างสุดระยะสายตา พบว่า มีปลาทะเล หลายชนิดอาศัยอยู่
วนเวียนว่ายอยู่รอบรถขยะและในช่องโพรงของรถ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา
เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำได้ไม่ต่างจากปะการังธรรมชาติ ผลพลอยได้ที่ตามมา
เมื่อปลาที่เคยหายไปกลับคืนมา ชาวประมงไม่ต้องออกเรือไปหาไกลจากชายฝั่ง
ประหยัดค่าน้ำมัน มีรายจ่ายลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นแนวกั้นให้กับเรือประมงพาณิชย์อวนลากได้อีกด้วย
มะรอฟี ลอตันหยง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน
ต.กะลุวอเหนือ ยืนยันชัดเจนว่า ปะการังเหล็กเหล่านี้ช่วยให้ปากท้องอิ่มขึ้นจริง

“หลังจากมีปะการังเทียม ปลากลับมาอาศัยอยู่มาก เราหาปลาได้ง่ายและมากขึ้น
รายได้ก็เพิ่มขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลง
สัตว์น้ำหลายชนิดที่เคยสูญหายไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา บางชนิด
กลับมาอยู่ในปะการังเทียม ปลาที่เคยหายไปกลับมา ทั้งปลาหมอ ปลาสวยงาม ปลาหมอทะเล
ปลาโทงเทง และสัตว์น้ำอีกหลายชนิด ก็กลับมา”
และเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78
พระชนมพรรษา ในปี 2553 นี้ กรมประมงได้สานต่อ "โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส" ขึ้นอีกครั้ง
โดยวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วจาก กระทรวงคมนาคม

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุน "ตู้รถสินค้า"
จำนวน 273 ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุน "รถเก็บขยะมูลฝอย"
จำนวน 198 คัน กองทัพบกสนับสนุน "รถถัง รุ่น ที 69"
จำนวน 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุน "รถยนต์" 3
คัน รวมทั้งสิ้น 499 คัน เพื่อทำเป็นปะการังเทียม และแนวกันคลื่น รวมทั้งสิ้น 15
จุด ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รวม 9 จุด และ อ.เมือง อ.ตากใบ
จ.นราธิวาส รวม 6 จุด ถือเป็นบิ๊กโปรเจคถึงขนาดที่ต้องใช้เรือบรรทุก สินค้าขนาดใหญ่
2 ลำ ขนรถไปทิ้งโดยใช้เครนยก แล้วจึงใช้รถแบ็คโฮดันลงทะเล

ด้วยหวังจะให้ยักษ์เหล็กเหล่านี้สร้างความกินดีอยู่ดี ชาวบ้านได้อิ่มท้อง
ทะเลได้อิ่มหนำ
แล้วนักท่องเที่ยวยังจะได้อิ่มใจจากแนวปะการังน้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย
(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากมูลนิธิสวัสดี และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)