Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Cho.Charoen Maritime Instruments FB MarinerThai News

'มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ' รู้อนุรักษ์..คุณค่ามหาศาล

'มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ' รู้อนุรักษ์..คุณค่ามหาศาล


จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันพุธ ที่ 15 กันยายน 2553

ทีมวาไรตี้

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่สมบัติล้ำค่าจมอยู่ใต้ทะเล จากการอับปางของเรือสำเภาที่ถูกคลื่นซัดจมหาย...วันดี คืนดี ชาวประมงที่ออกเรือตังเกวิ่งลากอวนกลับเข้าฝั่งมานอกจากจะได้ปลาแล้ว ยังมีวัตถุโบราณ อย่าง ถ้วย ชาม ไห ติดอวนมาด้วย...

ภายใต้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ นอกจากจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณนานาชนิดแล้ว ใต้ผืนน้ำสีครามยังอุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งซากเรืออับปางและแหล่งโบราณคดีใต้น้ำอื่น ๆ บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของบรรพบุรุษที่มีคุณค่า และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้ ปัจจุบันวัตถุล้ำค่าเหล่านี้กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากนักล่าสมบัติที่ต้องการวัตถุโบราณจากแหล่งโบราณคดีใต้น้ำต่าง ๆ นำไปขายให้แก่พวกนิยมของเก่าและค้าในตลาดมืด รวมทั้ง บางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำวัตถุที่ได้มาเก็บไว้เป็นสมบัติของตนเอง ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยคุกคามมรดกทางวัฒน ธรรมใต้น้ำที่ร้ายแรง

ทิม เคอร์ทีส หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวถึงแนวทางการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำว่า ทางยูเนสโกได้บัญญัติสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่า ด้วยการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำขึ้นในปี พ.ศ. 2544 เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ รวมทั้ง ขอความร่วมมือจากนานาประเทศในการปกป้อง มรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ถึงความสำคัญของมรดกทางทะเล และเกิดความหวงแหนที่จะรักษาไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ต่อไป โดยมีซากเรืออับปางจำนวนกว่า 3 ล้านลำทั่วโลกและแหล่งโบราณคดีใต้น้ำอื่น ๆ ที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากนักล่าสมบัติ

ส่วนโครงการในระดับภูมิภาค ได้มีการ จัดตั้งศูนย์ ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จ.จันทบุรี ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลนอร์เวย์ โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมภาคทฤษฎีที่สำนักงานโบราณคดีใต้น้ำท่าแฉลบเป็นห้อง เรียนหลัก และแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเรือมันนอก เรือเมล์สมัยรัชกาลที่ 6 ที่ อ.แกลง จ.ระยอง เป็นภาคปฏิบัติห้องเรียนใต้ทะเล

วัตถุโบราณใต้ท้องทะเลทั้งหลายจะมีคุณค่าและเกิดประโยชน์ หากมีการนำขึ้นมาศึกษาและค้นคว้า...จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน ภายใต้ชื่อว่า “โบราณคดีใต้น้ำ” นอกจากจะทำหน้าที่สำรวจสมบัติที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลแล้ว ยังทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้นักล่าสมบัตินำวัตถุเหล่านี้ไปขายด้วยการปักเครื่องหมายห้ามเข้าอีกด้วย

“โลกของการทำงานค้นหาวัตถุใต้ทะเลต่างจากการสำรวจหาหลักฐานบนบกอย่างสิ้นเชิง เพราะบนบกในระหว่างขุดดินค้นหาหากได้ยินเสียง หรือมีสิ่งผิดปกติทั้งจากสัตว์หรือคน สามารถที่จะวิ่งหนี หลบ หรือใช้อาวุธป้องกันตัวเองได้ ตรงกันข้ามกับการทำงานใต้น้ำ เมื่อเกิดอะไรผิดปกติขึ้นทุกคนเหมือนเป็นเป้านิ่ง” เอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดี ชำนาญ การพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณ คดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ผู้ผ่านประสบการณ์ใต้น้ำมากว่า 18 ปี เกริ่นนำให้ฟัง

สิ่งที่ทำให้ทราบว่าใต้ทะเลในช่วงใดมีวัตถุที่มีคุณค่าจมอยู่นั้น หัวหน้ากลุ่มโบราณ คดีใต้น้ำ เล่าให้ฟังว่า การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน โดยการเดินทางไปในที่ที่ มีชาวประมง ท่าเรือ สะพานปลา หรือแม้แต่กลุ่มคนที่งมของเก่าขาย กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นแหล่งข่าวที่ดี

“ตามหลักทฤษฎีจะศึกษาจากประวัติศาสตร์ว่ามีการเดินเรือจากที่ไหนไปถึงที่ไหน มีการค้ากับใคร ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบตะวันตกจะมีปูมการเดินเรือบันทึกไว้ แต่ในประเทศไทยจะใช้ทฤษฎีอย่างนั้นไม่ได้ จะไปสืบหาเอกสารในหอจดหมายเหตุไม่ได้ เพราะไม่มีปูมบันทึกไว้”

จากการสำรวจที่ผ่านมา วัตถุโบราณถูกพบมากแถบชายทะเลตะวันออกใน จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งน่าจะมาจากการที่มีหมู่บ้านชาวประมงข้อมูลที่ได้จะมาจาก กลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้แหล่งที่พบอยู่ในแถบนี้มาก แต่ยัง สรุปไม่ได้ว่าพื้นที่แถบนี้มีมากที่สุด เพราะในแถบอื่นยังไม่ได้สืบค้น หรือศึกษาวิจัยกันอย่างเต็มที่

วัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ จะมีทั้งสินค้าและเครื่องใช้ของชาวเรือ ซึ่งจะจำแนกตามจำนวน คือ ถ้าของรูปร่างคล้าย ๆ กัน จำนวนมากน่าจะเป็นสินค้า ส่วนของที่มีชิ้นเดียว หรือ 2 ชิ้น ก็น่าจะเป็นของใช้ของชาวเรือ ซึ่งวัตถุที่สำรวจพบส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในเรือสำเภาจำพวก เครื่องถ้วย เครื่องเคลือบของไทย ที่มีต้นกำเนิดที่สำคัญอยู่ 2 ที่ คือ สุโขทัย กับสิงห์บุรี ซึ่งจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนข้าวของเครื่องใช้มีทั้ง ผ้านุ่ง ผ้าแพร ที่ยังคงสภาพดีอยู่เพราะน้ำทะเลจะรักษาพวกอินทรียวัตถุได้ดีกว่าบนบก เพราะบนบกจะมีความชื้น เมื่อแห้งก็จะเปื่อย ผุ แต่ในน้ำจะมีแต่ความชื้นอย่างเดียว ไม่แห้ง จึงคงทนอยู่ได้นาน รวมทั้ง จี้ กำไลทองคำ เข็มกลัด และหวี

แน่นอนว่าวัตถุโบราณ เหล่านี้จะเป็นที่หมายปองของนักสะสมของเก่า เอิบเปรม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 5 ปีแรกที่มีงานโบราณคดีใต้น้ำเกิดขึ้นคือ พ.ศ 2517-2522 ได้รับความนิยมมาก จะมีกลุ่มคนลงไปงมหาของขึ้นมาขาย ทำให้พวกค้าของเก่าแสวงหาของกัน เมื่อของขาดตลาดแต่ความต้องการยังมีอยู่ พ่อค้าบางคนลงทุนไปติดต่อกับชาวประมงเองเลยก็มี มาในช่วงนี้เงียบหายไป เพราะ เปลี่ยนมาเป็นอีกยุคหนึ่ง คือจะเป็นยุคของออร์เดอร์ นั่นคือ ต้องมีคนสั่งก่อนว่าต้องการอะไรถึงจะไปงมหา แต่วัตถุที่ต้องการก็ยังเป็นเครื่องถ้วย เครื่องชามสังคโลก เหมือนเดิม

การเก็บกู้วัตถุโบราณใต้ทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย นักโบราณ คดี ชำนาญการพิเศษ อธิบายว่า เมื่อได้ข้อมูลจะมีบันทึก ซึ่งจะได้พิกัดของวัตถุทำให้รู้ว่าห่างจากฝั่งกี่กิโลเมตร น้ำลึกเท่าไร ต่อมาเป็นการวางแผนจัดทีม เตรียมอุปกรณ์ เสร็จแล้วให้ดำเนินการไปตามแผน ที่วางไว้

“เมื่อแล่นเรือมาถึงพิกัดที่หมาย ทิ้งสมอ จากนั้น นักดำน้ำลงไปสำรวจ ตรงนี้แล้วแต่ความลึก ยิ่งน้ำลึกมากเวลาที่จะทำงานก็สั้นลง จำเป็นต้องจัดหลายทีมเพื่อการทำงานที่ต่อเนื่อง จะแบ่งเป็น 6 ทีม 12 คน โดยจะทำงานกันทั้งวัน ถ้าหากน้ำลึก 5-10 เมตร จะใช้ทีมประมาณ 4 คน โดยจะลงไปสำรวจครั้งละ 2 คน ไม่เกิน 2 ชั่วโมง”

สิ่งแรก คือ การสังเกตวัตถุที่พบแล้วจดบันทึกว่า เห็นอะไรบ้าง พบวัตถุในระยะเท่าไร ต่อมา สเกตช์ภาพวัตถุโบราณบนกระดาษกันน้ำด้วยดินสอและยางลบ จากนั้นวัดขนาดของวัตถุด้วยตลับเมตรพร้อมกับถ่ายภาพด้วยกล้องใต้น้ำ สุดท้าย เก็บวัตถุ โดยจะต้องรู้ด้วยว่าเก็บมาจากตรงไหน ซึ่งจะสามารถ บ่งบอกเรื่องราวได้คร่าว ๆ อาทิ หัวเรือ ท้ายเรืออยู่ทางไหน ทิศทางของการจมเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการศึกษาต่อไป

“การนำวัตถุขึ้นมาจากทะเลเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักโบราณคดีใต้น้ำ” หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เนื่องจากวัตถุอยู่ใต้ทะเลมานาน ถ้าน้ำเค็มจัด ๆ เกลือที่อยู่ในน้ำทะเลจะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัตถุอะไรก็ตามที่เป็นรูพรุน เมื่อแห้งจะจับตัวเป็นผลึกจะทำลายรูพรุนให้แตกออก เวลาแตกไม่ได้แตกเป็นชิ้น ๆ แต่จะกร่อนเป็นผงเล็ก ๆ ส่วนผิวที่เคยเงางาม ก็จะกลายเป็นด้าน

สำหรับการรักษาสภาพ ถ้าเป็น ถ้วยชาม กระเบื้อง เครื่องถ้วย เครื่องสังคโลก มีเทคนิคง่าย ๆ คือ ล้างให้หมดน้ำเกลือเปลี่ยนถ่ายน้ำไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้องแช่ไว้นานเป็นปี ๆ จากนั้นปล่อยให้แห้ง ส่วน อินทรียวัตถุ อย่าง ไม้ เมื่อเจอแสงแบคทีเรียจะเจริญเติบโต จึงต้องเก็บไว้ในถุงดำ หรือ กระดาษ ถ้าโดนแสงก็จะเปลี่ยนสีหรือกลายเป็นวุ้นเลยก็มี รวมทั้ง ผ้า หนังสัตว์ จึงต้องใช้เทค นิค คือ ล้างให้หมดความเค็มแล้วเสริมเนื้อ ผิวด้วยวัสดุสังเคราะห์ ทาลงไปเพื่อจะไปช่วยค้ำเซลล์ของวัตถุเอาไว้ เพราะถ้า ปล่อยให้แห้ง จะเกิดการยุบตัว แต่ต้องเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ให้เหมาะกับวัตถุด้วย

สำหรับ พวกโลหะ จะแช่น้ำจืดไม่ได้ยิ่งถ้าเป็นเหล็กเพราะจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ขึ้นสนิม จึงต้องแช่ไว้ใน สารเคมีชนิดหนึ่งที่กันออกซิ เจนออก การแช่ขึ้นอยู่กับขนาดและสภาพ ถ้ายังไม่ขึ้นสนิมล้างน้ำเค็มออกแล้วแช่สารเคมี 2-3 วัน แต่ถ้าขึ้นสนิมต้องล้าง ขูดเอาสนิมออกก่อนแล้วจึง แช่สารเคมีอาจจะนานกว่า คือ 5-7 วัน

เมื่อตรวจสอบปรับสภาพ และทำทะเบียนวัตถุเรียบร้อยแล้ว ตามหลักการโบราณวัตถุทุกชิ้นจะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่านั้น ยกเว้น วัตถุบางชิ้นที่อยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์ หรืออยู่ในขั้นตอนการศึกษาเปรียบเทียบ ตรงนี้นักวิจัยจะต้องขออนุญาตเก็บไว้ศึกษาก่อนเป็นกรณี ๆ ไป

เพื่อเป็นการร่วมกัน อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าใต้น้ำ ทุกคนสามารถ มีส่วนร่วมได้ คือ หากใครไปเที่ยวดำน้ำแล้วพบวัตถุโบราณใต้ทะเล ขอให้จดบันทึกว่าเห็นอะไร พบที่ไหน ระบุตำแหน่ง จดสภาพแวดล้อม ความลึก ระยะห่างจากบนบกแล้วรายงานมายังกรมศิลปากรเพื่อดำเนินสืบค้นต่อไป.

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   5710

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

Photos from Mariner Photos from Mariner

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network