Menuleft - MarinerThai.Net

หน้าแรก

เว็บบอร์ดชาวเรือ

สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ

เอกสารน่าอ่านไทย

เอกสารน่าอ่านอังกฤษ

สาระไอทีชาวเรือ

แหล่งคนหางานเรือไทย

บทความจากสมาชิก

นิทานชาวเรือ

คนเรือหัวหมอ

คู่มือปฏิบัติงานเรือ

ระบบสื่อสาร-เดินเรือ

พจนานุกรมศัพท์ทางเรือ

ความหมายคำย่อทางเรือ

ข่าวอัพเดทรายวัน

ข่าวสดราคาน้ำมันโลก

รวมข่าวโจรสลัด

รวมข่าวอุบัติเหตุทางเรือ

สนับสนุนเว็บเรา

สถิติผู้เข้าชมเว็บนี้

ติดต่อเรา

เปิดเว็บ 1 ตุลาคม 2545

 

ขณะนี้เวลา | Your Time
10:46:33

Nathalin Group

MarinerThai 2004

TOP Enginerring Group

 

 
 
 

 

 

MarinerThai 2004 Co., Ltd.

Nathalin Group FB MarinerThai News

ท่าเรือน้ำลึกทวาย อภิมหาโปรเจกต์เชื่อมอุษาคเนย์

ท่าเรือน้ำลึกทวาย อภิมหาโปรเจกต์เชื่อมอุษาคเนย์


จาก หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ   วันที่ 20 เมษายน 2554


โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) เป็นอภิมหาโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า คาดการณ์กันว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gate Way) แห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก

โครงการนี้ ถือเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามัน ไปสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถส่งสินค้าทั้งไปและกลับทางน้ำ ผ่านไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยพัฒนาการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตในระยะยาวต่อไป

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ร่วมลงนามใน Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของสหภาพพม่า เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ซึ่งบริษัทฯเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย

1) ท่าเรือน้ำลึก

2) นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงเหล็ก โรงปุ๋ยโรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ


3) เส้นทางการคมนาคมได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี


4) ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯ

พื้นที่โครงการตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหภาพพม่า ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึง 400,000 ไร่ หรือ 250 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่า ส่วนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่พักอาศัย ส่วนราชการ และส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมีพื้นที่ริมทะเลเป็นแนวหาดทรายมีความยาวมากกว่า 12 กิโลเมตร

บ.อิตาเลียนไทย ได้ลงมือก่อสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย จากบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี เชื่อมโยงถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย ระยะทาง 160 กิโลเมตร โดยด่านพุน้ำร้อนมีระยะทางห่างจาก อ.เมือง ประมาณ 71 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 129 กิโลเมตร ดังนั้น ระยะทางจากทวายถึงกรุงเทพฯ จึงมีระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์เพียง 4 ชั่วโมง

โดยเฟสแรกจะเป็นการสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555 ภายใต้งบประมาณมูลค่า 2 พันล้านบาท ระหว่างนั้นจะเริ่มดำเนินการเฟสที่สองคือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และเฟสที่สามคือ การสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม แบ่งเป็นโซนต่างๆ ประกอบด้วย โซน (A) Port & Heavy Industry โซน (B) Oil & Gas Industry โซน (C1) Up Stream Petrochemical Complex โซน (C2) Down Stream Petrochemical โซน (D) Medium Industry และโซน (E) Light Industry

ท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ ยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามเส้นทางพัฒนา 3 แนวทาง คือ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม-เมืองเมาะละแหม่ง พม่า) และระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor : SEC ระหว่างนครโฮจิมินห์ เวียดนาม-เมืองทวาย พม่า) รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC ระหว่างนครคุนหมิง จีนตอนใต้-กรุงเทพฯ)

ข้อมูลจากรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมภูมิภาคระยะที่ 3 : แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดน, กันยายน 2553 และจากเว็บไซต์โลจิสติกส์ ไดเจสต์ (www.logisticsdigest.com) ระบุผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการนี้ คือ ด้านศักยภาพความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็น New Land Bridge ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกระจายสินค้าในระดับโลก สามารถเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ มาทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ซึ่งแต่เดิมสินค้าที่ส่งไปยุโรป แอฟริกา หรือตะวันออกกลางจะต้องผ่านทางช่องแคบมะละกา ใช้ระยะเวลานาน 16-18 วัน หากท่าเรือน้ำลึกทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งในปัจจุบัน หากขนส่งจากทะเลจีนใต้มายังทะเลอันดามัน หรือจากเวียดนามมายังพม่าจะใช้เวลาเพียง 6 วัน ทำให้ช่วยลดระยะทางการขนถ่ายสินค้า และลดค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูเศรษฐกิจบานใหม่ ที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย กับท่าเรือแหลมฉบัง ตามยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาล ดังนั้น สินค้าต่างๆ ที่ไม่ว่าจะมาจากยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ย่อมจะผ่านท่าเรือน้ำลึกทวายออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน เท่านั้น และสามารถส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบแปซิฟิค

ในส่วนของความเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกทวายเชื่อมโยงกับประเทศไทย ที่ด่านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งสถานภาพเป็นด่านชายแดนชั่วคราว ยังไม่มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยทางจังหวัดได้กำหนดให้เป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อให้ บ.อิตาเลียนไทย ใช้ผ่านเข้าออกในการก่อสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย และทางจังหวัดกาญจนบุรีได้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดในด้านการพัฒนาพื้นที่ ชายแดนและการเชื่อมโยงด้านการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ทราบว่า เวลานี้ประเทศพม่าได้ประกาศให้พื้นที่ก่อสร้างที่เมืองทวาย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แล้ว จึงอยากให้ กาญจนบุรี ถูกประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน ซึ่งได้เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว ในส่วนการพัฒนาของจังหวัดนั้น จำเป็นต้องพัฒนาในด้านที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงระหว่างประเทศฝั่งตะวันตกกับประเทศฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทางทางระเบียงแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือที่เรียกว่า East-West Economic Corridor : EWEC ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม-เมืองเมาะละแหม่ง พม่า

นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังได้ประสานกับทางมหาวิทยาลัยของพม่า เพื่อแลกเปลี่ยนให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยน ระหว่างไทย-พม่าด้วย โดยหวังจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งในเรื่องความรู้และภาษาระหว่างกันด้วย

ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งเรื่องการเปิดจุดผ่อนปรนระหว่างชายแดน และเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวทางด้านเศรษฐกิจ โดยจังหวัดกาญจนบุรี จะได้ประโยชน์ในเรื่องการค้าขายและการท่องเที่ยว คาดว่า ภายใน 2-3 เดือน น่าจะสามารถเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวทางด้านเศรษฐกิจได้

รายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ยังระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา อุตสาหกรรมภูมิภาคระยะที่ 3 : แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดนในพื้นที่จังหวัดกาญนบุรี ขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยส่วนหนึ่งของผลการศึกษา พบว่า หากมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ด่านพุน้ำร้อนจะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Industry Export Processing Zone: IEPZ) เพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับศักยภาพของพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงทางฝั่งตะวันตก (ท่าเรือน้ำลึกทวาย สหภาพพม่า) และสามารถเชื่อมโยงฝั่งตะวันออก (ท่าเรือวังเตา ประเทศเวียดนาม) ได้ จึงสามารถพัฒนาโดยจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Inland Container Depot: ICD) เพื่อทำการรวบรวม และกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ อันจะสามารถเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ มาทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน และสามารถส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมห้องเย็น เพื่อรองรับวัตถุดิบที่จะมีในอนาคตเพื่อการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีความหลากหลายก่อนกระจายไปยังผู้บริโภคปลายทางต่อไป

ไม่เพียงแต่ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์เท่านั้น แต่ประเทศไทยยังจะได้ประโยชน์ในด้านแรงงานซึ่งมีปริมาณมาก อุปทานแรงงานก็มีอยู่จำนวนมาก และมีค่าจ้างแรงงานถูก การใช้แรงงานพม่าจะทำให้ทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตลง อุตสาหกรรมการผลิตที่จะได้ประโยชน์เชิงเปรียบเทียบจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นต้นที่ใช้กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมหนักก็เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากมีพื้นที่ของโครงการท่าเรือน้ำลึก ที่รองรับอุตสาหกรรมหนักอยู่แล้ว

นายนิพัฒน์ เจริญกิจการ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า โครงการดังกล่าว จะสร้างผลดีในด้านการค้า ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงาน ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ ป่าไม้ และยังมีทรัพยากรในน้ำที่มีมูลค่าอีกจำนวนมาก โดยปัจจุบันประเทศจีน อินเดีย และสิงคโปร์ ได้ทยอยเดินทางเข้าไปลงทุนกันแล้ว ผลดีทางธุรกิจที่จังหวัดกาญจนบุรีจะได้รับโดยตรง คือ ท่าเรือทวายจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี แรงงานต่างด้าวสามารถเข้ามารับจ้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากมีการเปิดด่านในอนาคต เชื่อจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของเราสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง นอกจากนี้ การเปิดท่าเรือน้ำลึกทวาย ยังจะช่วยดึงดูดนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดูได้ในช่วงนี้ โรงแรมเล็กๆ เพียง 3 แห่ง ในเมืองทวายไม่มีห้องว่างไว้รองรับเลย เพราะจำนวนนักธุรกิจที่มุ่งหน้าไปดูทิศทางการลงทุนกันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ในเว็บไซต์โลจิสติกส์ ไดเจสต์ ได้กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ว่าเป็นโอกาสดีที่ยังต้องรอการพิสูจน์ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเท่านั้น ต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควรซึ่งคงไม่ต่ำกว่า 10 ปี โครงการจึงจะแล้วเสร็จสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีอุปสรรคบางประการที่เป็นความเสี่ยงภายในจากปัญหาการเมืองและชนกลุ่มน้อยของพม่าที่เรื้อรังยืดเยื้อมาตั้งแต่ในอดีต และนโยบายของรัฐบาลพม่าที่ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน ดังนั้น โครงการนี้จะสำเร็จได้หรือไม่คงต้องตามลุ้นกันต่อไป

ซึ่งดูจะสอดคล้องกับความเห็นของ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ความเห็นกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ประเทศพม่ายังไม่มีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากนัก ดังนั้นธุรกิจน่าจะมาถึงเติบโตก่อนความเจริญ ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน จะเป็นอุตสาหกรรมการส่งออก ที่น่าลงทุน สำหรับประเทศไทยควรจะมีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ทั้งนี้ ยังน่าห่วงเรื่องความชัดเจนของประเทศพม่า หลังจากที่ปิดประเทศมานาน

"เมื่อท่าเรือน้ำลึกทวายสร้างแล้วเสร็จ ผู้ลงทุนก็คงจะหันไปลงทุนจำนวนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันต้องมองว่า กลุ่มผู้ลงทุนเหล่านั้น จะไปลงทุนที่ประเทศใด ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องพิจารณาดูอีกที "

นายพยุงศักดิ์ ยังเห็นว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ จีนมีแนวโน้มได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์ มากกว่าไทย เพราะเส้นทางเชื่อมระหว่างตะวันตกและตะวันออก ก่อนที่จะลงมาไทยแล้วกระจายไปตามฝั่งทะเล นักธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะไปลงทุนในลาว เวียดนาม สิงคโปร์ มากกว่าไทย เนื่องจากไทยยังไม่น่าลงทุนมากนักด้วยปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ดังนั้นพม่าจึงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด ในการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย

ส่วนประเทศไทย หากต้องการเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาค ก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ แต่เราจะต้องวางแผนและนโยบายอย่างดี ถึงแม้ว่าไทยจะมีสมดุลทางธุรกิจและความหลากหลายทางธุรกิจมากกว่าประเทศอื่นก็ตาม ทั้งนี้ยังหมายรวมถึงบรรยากาศในการค้าขายของประเทศไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นความพร้อมในการลงทุน ที่นักธุรกิจต่างชาติจะมองมาที่ไทย.

 


มารีนเนอร์ไทยดอทคอม | MarinerThai.Com

 

จำนวนผู้เข้าชมหน้านี้   4063

 Disclaimed: มารีนเนอร์ไทยดอทคอม ขอสงวนสิทธิ์ในการรับรองความถูกต้องในบทความ ข้อมูล เนื้อหา ภายในเว็บไซด์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ภาพ เสียง ซอฟแวร์ การเชื่อมโยง(ลิงค์) และ/หรือ บริการอื่นๆ และจะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดในการใช้เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้าน การค้า การกระทำ การคาดการณ์ พยากรณ์ การวิจัย และอื่นๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเฉพาะของท่านผู้เขียนแต่ละรายไป ตลอดจนข้อกำหนดทางด้านลิขสิทธิ์ กรณีที่ท่านส่งบทความที่มิได้ขออนุญาตต่อผู้ครองสิทธิ์แท้จริงนำมาลงไว้ภายในเว็บไซด์นี้

 

 
 

 

 

MarinerThai Laws Advertising in marinerthai.net

หน้าแรกก | เว็บบอร์ดชาวเรือ | สารบัญเว็บไซด์ชาวเรือ | สมุดภาพเรือเดินทะเล | สนับสนุนเว็บเรา | ติดต่อเรา

© 2002 Mariner Thai Dot Com Mariner Thai Dot Net. All rights reserved - Web designed by .<nv>.

 MarinerThai.Com | MarinerThai.Net | MarinerThai.Org

Contact webmaster: | Organizer : CKN - Cyber Ket Network