ศรีลังกา “ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย”
ศรีลังกา “ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย”
จาก
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2554
หากเอ่ยคำว่า “ลังกาวงศ์” “ลังกาทวีป” หรือ “กรุงลงกา”
เป็นชื่อที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
เพราะมักจะปรากฏอยู่ในวรรณคดีหรือเรื่องราวทางประวัติศาตร์
ที่บรรจุอยู่ในการเรียนการสอน อาทิเช่น วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
หรือแม้แต่เรื่องราวของพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยมาช้านาน
และในวันนี้โลก 360 องศา ก็ได้มาจรดองศายังสถานที่ซึ่งได้กล่าวมานี้
หากแต่ว่าในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า “ศรีลังกา”
ประเทศศรีลังกาคือเกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย
ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและทางเหนือของประเทศมัลดีฟส์
โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา”
มีพื้นที่ประมาณ 65,610 ตางรางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของประเทศศรีลังกาเป็นที่ราบลูกคลื่น
ซึ่งมีภูเขาสลับกับที่ราบแคบๆ ทอดยาวจากชายฝั่งเข้าสู่ตอนกลางของประเทศ
ซึ่งมีลักษณะเป็นที่สูง และมีอากาศที่เย็นสบาย
ด้วยเหตุที่ประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่บนเส้นทางหลักของการเดินเรือ
จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกมาแต่อดีตกาล
โดยมีกรุงโคลัมโบเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุด
ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนล่างฝั่งตะวันตกของประเทศ
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่ากรุงโคลัมโบคือเมืองหลวงของประเทศศรีลังกา
แต่อันที่จริงแล้วเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของที่นี่มีชื่อว่า ศรีชัยวรเทนปุระโกตเต
แต่ด้วยเหตุที่กรุงโคลัมโบเคยมีสถานะเป็นเมืองหลวงเก่าและเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศรีชัยวรเทนปุระ-โกตเต เป็นเมืองหลวงทางนิตินัย
แต่โคลัมโบคือเมืองหลวงทางพฤตินัย
ประเทศศรีลังกาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 3,000 ปี
โดยชาวสิงหลและทมิฬอพยพมาจากประเทศอินเดีย ประมาณ 500 ปี และ 300 ปี
ก่อนคริสตกาลตามลำดับ
อาณาจักรสิงหลได้เริ่มก่อตั้งขึ้นบริเวณทางภาคเหนือของประเทศศรีลังกา
โดยมีเมืองอนุราธปุระเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ซึ่งมีอายุยาวนานถึง 1,200 ปี
ต่อมาในศตวรรษที่ 13 จึงได้เสื่อมลงพร้อมกับการเกิดขึ้นของอาณาจักรทมิฬ
โดยมีเมืองโปลอนนารุวะเป็นเมืองหลวงยาวนานประมาณ 200 ปี
ชาวทมิฬจึงได้อพยพไปไปตั้งอาณาจักรจาฟนาทางคาบสมุทรจาฟนา
ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
ส่วนชาวสิงหลได้ถอยร่นไปตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
โดยได้ก่อตั้งอาณาจักรแคนดี ซึ่งมีเมืองแคนดีเป็นเมืองหลวง
พุทธศาสนาเข้ามาในประเทศศรีลังกาเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาลโดย “ภิกขุ
มหิทรา” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช
ซึ่งจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวกันว่า
ชาวสิงหลและชาวทมิฬได้มีการสู้รบกันมาโดยตลอด
ส่งผลให้ในช่วงหนึ่งพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้มีอันต้องเสื่อม
ด้วยเหตุที่จำนวนของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ในการสืบทอดศาสนามีจำนวนลดลง
จึงได้มีการนิมนต์พระสงฆ์จากประเทศไทยและพม่าเพื่อมาช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น
อิทธิพลของนิกายมหายาน และยุคการเป็นเมืองขึ้นของชาติล่าอาณานิคม
ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการคงอยู่ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศศรีลังกา
อย่างไรก็ตาม ความพยามในการฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19
ก็ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศนี้ดำรงอยู่ได้มากว่า 2,000 ปี
ซึ่งในปัจจุบันพุทธศาสนากระจายอยู่ทั่วทุกที่ของประเทศยกเว้นทางตอนเหนือ
ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู
แต่อย่างไรก็ตามทีศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติของศรีลังกา
โดยมีผู้นับถือถึงกว่าร้อยละ 70 รองลงมาคือศาสนาฮินดูประมาณร้อยละ 15
ที่เหลือคือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์
ในช่วงเวลาประมาณศตวรรษที่ 15
อิทธิพลของชาติล่าอาณานิคมเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศศรีลังกา เริ่มจากโปรตุเกส
ดัตช์ และอังกฤษ ตามลำดับ โดยมาทำการค้าตามเมืองท่าโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศ
และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ค.ศ.1948
รวมเวลาที่ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติเกือบ 500 ปี
และตลอดระยะเวลาของการตกเป็นเมืองขึ้น
ประเทศศรีลังกาจึงถูกวางบทบาทให้เป็นแหล่งผลิต ซินเนมอน ชา กาแฟ และยางพารา
โดยเฉพาะในยุคของอังกฤษที่ได้มีการนำคนงานอินเดียจากแคว้น “ทมิฬนาฑู”
ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เพื่อเข้ามาเป็นแรงงานเพาะปลูก
และกรุงโคลัมโบก็ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางราชการและการค้า
นอกจากนี้อังกฤษยังได้ก่อตั้งโรงเรียน วิทยาลัย และสร้างถนนหนทางต่างๆ
ซึ่งเป็นการนำเข้ารูปแบบการศึกษาและวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามาสู่คนท้องถิ่น
ด้วยประวัติศาสตร์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานกว่า 3,000 ปี
บวกกับความยั่งยืนทางพระพุทธศาสนา
ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ครั้งก็ตามที
แต่ที่นี่ก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรากและแก่นที่แข็งแรง
จึงไม่แปลกที่ว่าใครๆ จะมองว่า ดินแดนแห่งนี้มีความงดงามซึ่งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น
หากจะเปรียบได้กับไข่มุก
ก็ต้องบอกว่าไข่มุกเม็ดนี้ใช้เวลาในการสั่งสมความงามกว่านับพันๆ ปีเลยทีเดียว