สถานตากอากาศบางปู
สถานตากอากาศบางปู
จาก
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันศุกร์ที่ 26
สิงหาคม พ.ศ. 2554
สถานตากอากาศบางปู : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดย ศ.ดร.เอนก
เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ
เมื่อปี
พ.ศ.2480 ขณะที่นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม
กำลังเดินทางไปตรวจราชการที่สัตหีบ ท่านได้แวะพักระหว่างทางที่บางปู จ.สมุทรปราการ
เห็นว่าชายทะเลที่นี่มีอากาศดี เหมาะแก่การเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ
ซึ่งสามารถเดินทางมาได้โดยง่ายไม่ต้องไปไกลถึงบางแสน หรือพัทยา
ท่านจึงดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
จัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวขึ้นเป็นที่พักตากอากาศของบุคคลโดยทั่วไป
และเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2482
ต่อมาเช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 สถานตากอากาศบางปูต้องหยุดให้บริการลง
อันเนื่องมาจากได้ถูกกองพันทหารราบสังกัดกองพลรักษาพระองค์
ขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่เดินทางมาจากเกาะฟอร์โมซาร์ (ไต้หวัน)
ได้ทำการยกพลขึ้นบกที่ “สะพานสุขตา” โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ
แต่ได้ถูกประชาชนชาวสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นการเดินทางเอาไว้
จึงนับเป็นวีรกรรมที่กล้าหาญอย่างยิ่งของชาวสมุทรปราการ
เหตุการณ์ครั้งนั้นตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดเป็นอันมาก
โดยที่ฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้ประจันหน้ากันอยู่
อีกทั้งเครื่องบินรบญี่ปุ่นก็บินวนอยู่เหนือบริเวณบางปูตลอดเวลา
ซึ่งตามแผนการของญี่ปุ่นแล้ว มุ่งที่จะไปสมทบกับกองกำลังของตนที่กรุงเทพฯ
ซึ่งเดินทางมาจากอรัญประเทศ กับอีกส่วนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นพลเรือนอยู่ในกรุงเทพฯ
มานานแล้ว
แต่ภายหลังเมื่อรัฐบาลไทยได้มีประกาศให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยไปได้
เหตุการณ์จึงยุติลงด้วยดี
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้กลับเข้ามาดำเนินการ
เปิดสถานตากอากาศบางปูอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง
ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ได้ทำการมอบโอนให้กรมพลาธิการทหารบกเป็นผู้ดูแล
และได้หมุนเวียนผ่านผู้ดูแลมาหลายหน่วยงาน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2501
กรมพลาธิการทหารบกจึงได้เป็นผู้ดูแลอย่างแท้จริง นับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยได้มีการให้บริการบ้านพักแก่ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป
มีร้านศาลาสุขใจบริการอาหารทะเลที่สดอร่อย
ปัจจุบันสถานตากอากาศบางปู เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.
สามารถเดินทางไปพักผ่อนได้โดยสะดวก ห่างจากตัวจังหวัดสมุทรปราการเพียง 12 กิโลเมตร
หรือถ้ามาทางถนนสุขุมวิทสายเก่า ก็อยู่ที่ กม.ที่ 37 เท่านั้นเอง
และถ้าหากมาในช่วงฤดูหนาวท่านก็จะได้พบกับฝูงนกนางนวลที่มาจากไซบีเรียเป็นจำนวนมาก
หรือหากท่านมาในวันเสาร์ช่วงเวลาเย็น ท่านก็จะได้พบกับนักเต้นลีลาศ
ที่พากันมาระลึกวันหวานในอดีต กันอย่างสุขใจเลยทีเดียวครับ
เวปไซต์สถานตากอากาศบางปู
ประวัติสถานตากอากาศบางปู
พ.ศ. 2480
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ได้ดำริให้สร้างเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื่องด้วยพื้นที่ติดชายทะเลและระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
พ.ศ. 2482
การดำเนินการก่อสร้างสะพานสุขตาเสร็จเรียบร้อยเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่ว ไป
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยมีอธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธาน
ในชื่อเรียก
"สถานตากอากาศชายทะเล บางปู"
พ.ศ.2484
หยุดดำเนินการ
เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเพื่อใช้เป็นทางผ่านในการสู้รบกับฝ่าย สัมพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา
พ.ศ. 2490
เมื่อเหตุการณ์สงบลงได้เปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งโดย
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล
พ.ศ. 2491
กรมพลาธิการทหารบก ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบตามลำดับ คือ กรมสวัสดิการทหารบก ,
กรมพลาธิการทหารบก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรมพลาธิการทหารบกและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
พ.ศ. 2501
กรมพลาธิการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เปิดบริการขายอาหารและเครื่องดื่ม
ที่บริเวณปลายสะพานสุขตา
โดยเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา06.00-20.00น. จัดดนตรีและลีลาศในวันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา 12.00-18.00
น.จัดบริการที่พักที่ปลายสะพานสุขตา ในราคา 60-110 บาท/วัน
บ้านพักบริเวณริมแนวเขื่อน 80 บาท/วัน
พ.ศ. 2505
กองทัพบกได้จัดตั้งเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศ กองทัพบก
โดยมีคณะกรรมการอำนวยการสถานพักฟื้น
และตากอากาศ กองทัพบกเป็นผู้กำกับดูแล
โดยจัดแบ่งเป็นสถานพักฟื้นและตากอากาศบางปูกับสถานพักฟื้น
และตากอากาศหาดเจ้าสำราญ
พ.ศ. 2512
ได้ดำเนินกิจการสถานพักฟื้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว
โดยจัดให้มีการรักษาพยาบาล
และฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ บำรุงขวัญ ให้แก่ทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบ
ซึ่งรับจาก รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ
ในชื่อเรียก" สถานพักฟื้นและพักผ่อนกรมพลาธิการทหารบก "
พ.ศ. 2533
เปิดอนุสรณ์สถานเครื่องหมายทางประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพา
เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีพลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นประธานในพิธี
พ.ศ. 2535
จากการดำเนินการมาหลายปีทำให้สิ่งก่อสร้างบริเวณร้านอาหาร
และห้องพักที่ปลายสะพานสุขตาชำรุดได้ปรับปรุงห้องพักด้านขวาเป็น " ห้องกาแฟนางนวล "
และห้องบริเวณด้านซ้ายเป็นที่รับประทานอาหาร
พ.ศ. 2536
ร้านอาหารที่ปลายสะพานสุขตาถึงคราวต้องปิดตัวลง
เนื่องจากความทรุดโทรมของฐานรากอาคารชำรุดมากไม่ปลอดภัยกับผู้มาใช้บริการ
พ.ศ. 2537
ดำเนินการก่อสร้างร้านอาหารชั่วคราว บริเวณริมฝั่งด้านทิศตะวันออก
เพื่อบริการอาหารเครื่องดื่มจำนวน 8 หลัง
เสร็จสิ้นและเปิดบริการเมื่อ วันที่ 24 ธันวาคม 2537
พ.ศ. 2540
เริ่มดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสะพานสุขตาและอาคารร้านอาหารปลาย สะพานสุขตา
พ.ศ. 2542
เนื่องจากสถานการณ์ภายในบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป การสู้รบตามแนวชายแดนลดน้อยลง
ทำให้สถานพักฟื้นไม่มีทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบมาฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกาย
กองทัพบกจึงได้มีคำสั่งแก้อัตรากองทัพบก
โดยยุบสถานพักฟื้น คงเหลือไว้เพียงสถานพักผ่อน เปลี่ยนชื่อหน่วย
จากกองอำนวยการสถานพักฟื้นและพักผ่อน
กรมพลาธิการทหารบก เป็น กองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก
มีภารกิจในกิจการของทหารพักผ่อนจากกองทัพภาคต่าง ๆ ปีละ 6 ผลัด สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
พ.ศ. 2543
การปรับปรุงซ่อมแซมสะพานและร้านอาหารปลายสะพานสุขตาได้ดำเนินการ เสร็จเรียบร้อย
พร้อมเปิดให้บริการ
แก่ข้าราชการ ลูกจ้างสังกัดกองทัพบกตลอดจนประชาชนทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2543
เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น
" ศาลาสุขใจ "