ข่าว:

รับสมัครเฉพาะชาวเรือและผู้ที่สนใจที่เป็นคนไทยเท่านั้น สมัครแล้วรออนุมัติประมาณ 2-3 วัน หากต้องการด่วนโปรดแจ้ง webmaster@marinerthai.net

Main Menu

"ญี่ปุ่น" ฉีกผลศึกษา ITD ล้างไพ่แผนพัฒนาโปรเจ็กต์ "ทวาย"

เริ่มโดย mrtnews, ธ.ค 23, 15, 06:45:50 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

นับเป็นข่าวดีที่ "รัฐบาลญี่ปุ่น" ตัดสินใจร่วมลงขันกับรัฐบาลไทย-เมียนมา เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายโปรเจ็กต์มหึมาที่ใช้เงินลงทุนร่วม 4 แสนล้านบาท หลังชั่งใจอยู่หลายปี


ถึงญี่ปุ่นจะตกลงร่วมหุ้นสัดส่วน 33.33% ใน "SPV-นิติบุคคลเฉพาะกิจ" ลงทุนพัฒนาโครงการแบบเต็มเฟสที่ "ไทย-เมียนมา" กำลังสับเกียร์เร่งแจ้งเกิดโดยเร็ว หวังต่อยอดโครงการระยะเริ่มต้นที่ "อิตาเลียนไทย" เอกชนไทยได้สัมปทาน 75 ปีไปก่อนหน้านี้ แต่มีเงื่อนไขขอรีวิวแผนแม่บททั้งโครงการใหม่ให้ตอบโจทย์นักลงทุนญี่ปุ่นที่จะดึงเข้ามาลงทุนในโครงการ พร้อมปรับกรอบเวลาการพัฒนาให้ทำได้จริง ทั้งแผนงานโครงการ กรอบเวลาและเม็ดเงินลงทุน

จากแผนแม่บทเดิมที่ "อิตาเลียนไทย" ออกแบบไว้ ซึ่ง "ญี่ปุ่น" มองว่าการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะขนาดของโครงการใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 205 ตร.กม. หรือประมาณ 127,500 ไร่ ใช้เงินลงทุนร่วม 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งเร็วเกินไปจะพัฒนาให้เสร็จใน 5 ปี อย่างน้อยต้อง 10-15 ปี

แม้ว่าปัจจุบัน "อิตาเลียนไทย" จะเดินหน้าพื้นที่โครงการระยะเริ่มต้นพื้นที่ 27 ตร.กม.ไปแล้ว ได้แก่ 1.ท่าเรือขนาดเล็ก 2.ถนน 2 ช่องจราจรจากทวาย-ชายแดนไทย 138 กม. 3.นิคมอุตสาหกรรม 1.6 หมื่นไร่ ปีนี้เสร็จลอตแรก 700 ไร่

4.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5.แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นสถานีเก็บก๊าซธรรมชาติที่ต้องใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่โครงการ จะเปิดบริการกลางปี 2561 6.โรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ จะแล้วเสร็จปลายปี 2560 หรืออย่างช้าต้นปี 2561 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ 7.การเชื่อมโยงระบบโทรคมนาคมภาคพื้นดิน และ 8.พื้นที่อยู่อาศัย สร้างคอนโดมิเนียมและหอพักสำหรับเจ้าหน้าที่และคนงาน รองรับผู้อยู่อาศัยได้ 3 แสนคน

สำหรับแผนแม่บทของอิตาเลียนไทยที่ศึกษาไว้หลายปีที่ผ่านมา ระบุพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ จะเริ่มพัฒนาอย่างแท้จริงในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 7 พื้นที่ รวมโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

ได้แก่ 1.โซน A โรงงานไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมหนัก 2.โซน B กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีโรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตและแยกก๊าซธรรมชาติ 3.โซน C อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 4.โซน D เป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตยิปซัม โรงงานยาง โรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานขึ้นรูปเหล็ก 5.โซน E อุตสาหกรรมขนาดเบา มีสิ่งทอ เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอาหาร และ 6.โซน F พื้นที่เมือง อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย พาณิชยกรรมและบริการสาธารณะ


ส่วนระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งฝั่งพื้นที่ไทย-เมียนมา ลงทุนรวม 296,769 ล้านบาท (ดูตาราง) แยกเป็นระยะที่ 1 รวม 165,409 ล้านบาท ฝั่งพื้นที่เมียนมา 103,300 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกระยะที่ 1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท, ถนนมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร (ทวาย-บ้านพุน้ำร้อน) 132 กม. วงเงิน 35,000 ล้านบาท, ระบบโทรคมนาคมและสื่อสาร 2,500 ล้านบาท, แหล่งเก็บน้ำ 8,200 ล้านบาท, ระบบน้ำประปา 1 ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 12,600 ล้านบาท ด้านฝั่งไทยลงทุน 70,309 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์ 2 สาย มีบางใหญ่-กาญจนบุรี 55,600 ล้านบาท และกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน 14,100 ล้านบาท ระบบน้ำประปา 559 ล้านบาท และระบบโทรคมนาคม 50 ล้านบาท

ส่วนเฟสที่ 2 จะพัฒนาต่อเนื่องจากระยะที่ 1 รวม 123,160 ล้านบาท แยกเป็นฝั่งเมียนมา 1 แสนล้านบาท ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกระยะสุดท้าย 32,500 ล้านบาท, ระบบโทรคมนาคม 2,500 ล้านบาท รถไฟทางคู่ทวาย-บ้านพุน้ำร้อน 65,000 ล้านบาท และฝั่งไทย 23,160 ล้านบาท ได้แก่ รถไฟทางคู่บ้านพุน้ำร้อน-บ้านเก่า-หนองปลาดุก 22,860 ล้านบาท ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าบ้านพุน้ำร้อน 300 ล้านบาท

ต้องลุ้นว่าแผนแม่บทฉบับใหม่ของญี่ปุ่นจะแล้วเสร็จ ม.ค.ปีหน้า เงินลงทุนและโครงการจะต่างจากฉบับเดิมมากน้อยแค่ไหน



ที่มา Data & Images -