ข่าว:

คุณ ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกก่อน ตอบกระทู้หรือตั้งคำถามใหม่ นะครับ

Main Menu

หุ่นยนต์งูทะเลกับฝูงเรือดำน้ำจิ๋ว กลายเป็นอุปกรณ์ค้นหาและซ่อมแซมใต้น้ำ

เริ่มโดย mrtnews, เม.ย 18, 17, 06:26:36 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

0 สมาชิก และ 1 ผู้มาเยือน กำลังดูหัวข้อนี้

mrtnews

ในอนาคตอันใกล้ อุปกรณ์ค้นหาและซ่อมแซมใต้น้ำจะไม่ต้องใช้แขนและขาอีกต่อไป แต่อาจจะต้องเลื้อยมากกว่า


ริชาร์ด มิลส์ จากคองเบิร์กส์ บริษัทเทคโนโลยีทางทะเล ระบุว่าทางบริษัทพยายามจะเลี่ยงใช้คำว่า "งู" เพราะมันดูน่ากลัว แต่ตัวเขาเองกลับติดปากเรียกหุ่นยนต์อีลูมซึ่งเป็นอุปกรณ์ค้นหาและซ่อมแซมใต้ทะเลว่า "งู" ตลอดเวลา

หุ่นยนต์งูทะเล

โครงการวิจัยหุ่นยนต์ในมหาวิทยาลัยเริ่มขึ้นในนอร์เวย์เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อการพาณิชย์แล้ว และแน่นอนรูปร่างมันเหมือนกับ "งู"

มันถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบโครงสร้างใต้ทะเล และทำการซ่อมแซม ขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้หุ่นยนต์งูทะเลสำรวจแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายแห่งอยู่

หุ่นยนต์อีลูมเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นท่อ มีความยืดหยุ่น และขับเคลื่อนด้วยตัวเอง มีกล้องติดอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณหลายตัวติดอยู่ด้วย

เนื่องจากมันถูกประกอบกันขึ้นจากอุปกรณ์หลายชิ้นที่แยกออกจากกันได้ ส่วนต่าง ๆ ของหุ่นยนต์อีลูมจึงมีความสามารถในการทำงานที่แตกต่างกัน มีอุปกรณ์ที่เปลี่ยนได้ รวมถึง อุปกรณ์ยึดจับ และแปรงทำความสะอาด

รูปร่างของมันทำให้หุ่นยนต์งูทะเลทำงานในพื้นที่แคบ ๆ ซึ่งอุปกรณ์ชนิดอื่นเข้าไม่ถึงได้ รวมถึง บิดตัวเพื่อให้ทรงตัวอยู่ในกระแสน้ำที่รุนแรงได้

ในช่วงที่ไม่ได้ใช้งาน มันจะยังคงอยู่ใต้น้ำโดยเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับอู่ใต้ทะเล ดังนั้นไม่ว่าสภาพเหนือผิวน้ำจะเป็นอย่างไร ก็สามารถที่จะส่งหุ่นยนต์งูทะเลออกไปปฏิบัติงานได้ทุกเมื่อ

ขณะนี้มันยังไม่วางขายในท้องตลาด แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ถูกจัดแสดงที่นิทรรศการการค้าธุรกิจทางทะเลในเมืองเซาแทมป์ตัน

แผนการในอนาคตยังรวมถึงการทำแบบจำลองราคาถูกที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ และผลิตหุ่นยนต์งูทะเลที่สามารถปฏิบัติงานในน้ำที่ลึกมากได้

มิลส์ บอกว่า มันอาจจะถูกใช้เข้าไปสำรวจซากเรือไทแทนิก ซึ่งนักดำน้ำเข้าไปไม่ถึงในอนาคตก็ได้


เรือไร้คนขับ

รถยนต์ไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความตื่นเต้นบนบก เรือขับเคลื่อนด้วยตัวเองก็กำลังถูกพูดถึงอย่างมากเช่นกัน

แดน ฮุก จากบริษัทเอเอสวี โกลบอล ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมาออกร้านในงานที่เซาแทมป์ตันด้วยเช่นกัน กล่าวว่า ระบบไร้คนขับทำให้คนหันมาให้ความสำคัญด้านข้อมูล และดูว่าจะส่งมันไปยังที่ไหนต่อไป

เรือไร้คนขับสองลำของทางบริษัทแห่งนี้ ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยการควบคุมจากระยะไกล ขณะนี้กำลังแล่นไปด้วยเครื่องปั่นไฟที่ใช้พลังงานดีเซล ไม่ใช่จากแบตเตอร์รี่

ฮุก บอกว่ามีกฎเกณฑ์เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับประเภทเครื่องยนต์ที่สามารถใช้ได้ ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนหันไปในใช้เครื่องยนต์จากพลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ก็กำลังมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมเรือไร้คนขับด้วยเช่นกัน

แบตเตอร์รี่ทะเล

แบตเตอร์รี่จากสตีไทต์ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านผลิตแบตเตอร์รี่ ต้องทำงานในสภาพอุณหภูมิต่ำและแรงดันสูง โดยต้องจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ใต้ท้องทะเลเป็นเวลานานหลายวันต่อครั้ง

เทคโนโลยีแบตเตอร์รี่ลิเธียม-ซัลเฟอร์ ซึ่งมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่งได้หันมาสนใจ กำลังจะได้รับการทดลองใช้บนเรือขับเคลื่อนตัวเองที่รู้จักกันในชื่อว่า โบที่ แม็คโบ๊ตเฟซ ในปีนี้

พอล เอ็ดเวิร์ดส์ จากบริษัทสตีไทต์ กล่าวว่า ลิเธียม-ซัลเฟอร์ เป็นแบตเตอร์รี่ยุคต่อจาก ลิเธียม-ไอออน มันมีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า จึงให้พลังงานได้มากกว่าในน้ำหนักเท่ากัน

แต่ถ้าคุณกำลังคิดว่าเป็นเพราะอายุของแบตเตอร์รี่ที่ฉุดรั้งเทคโนโลยีทางทะเลไว้ คงต้องคิดใหม่ แซม แม็คโดนัลด์ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทดีปเทร็กเกอร์ของแคนาดาบอกว่า น่าจะเป็นเพราะการที่คนจะต้องจดจ่ออยู่กับอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันมากกว่า

ทางบริษัทกำลังสาธิตยานปฏิบัติการใต้น้ำระยะไกล หรือ อาร์โอวีส์ 2 ลำ ลำที่ใหญ่กว่ามีขนาดเท่ากับเด็กเล็ก

แม็คโดนัลด์ บอกว่า คนที่ปฏิบัติหน้าที่จะเหนื่อยก่อนอาร์โอวี เธอบอกว่า เธอต้องพัก หลังจากใช้งานอาร์โอวีนาน 3-4 ชั่วโมง เพราะว่าต้องมองที่หน้าจอตลอดเวลาในช่วงนั้น นอกจากนี้ยังต้องพยายามรักษาตำแหน่งใต้น้ำ ดูโครงสร้างพื้นฐาน หรือ เครื่องมือต่างๆ มือและตาต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา


เรือดำน้ำจิ๋ว

แพลเนตโอเชี่ยน กำลังจัดแสดงอุปกรณ์ขนาดเล็กเท่าขาคนที่มีหน้าตาเหมือนกับลูกระเบิดมากกว่า มันถูกออกแบบมาให้ "ว่ายน้ำ" ร่วมกันเป็นฝูง เรือดำน้ำจิ๋วแต่ละลำจะมีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ บรรจุอยู่ภายใน เพื่อที่จะใช้ในการให้ภาพรวมที่ชัดเจนของสภาพแวดล้อมใต้น้ำ

เทอร์รี่ สโลน กรรมการผู้จัดการบริษัทแพลเนตโอเชี่ยนกล่าวว่า "นักบิน" หนึ่งคนสามารถควบคุมเรือดำน้ำจิ๋วหลายลำได้พร้อมกัน และพวกมันมีขนาดเล็กมาก แต่ละลำจึงบรรทุกอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณได้เพียง 4-5 ตัวเท่านั้น และถ้าเกิดมันชนกันขึ้นก็ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก โดยเมื่ออยู่บนบกพวกมันหนักเพียง 5 กิโลกรัมเท่านั้น

นอกจากนี้ทางบริษัทยังต้องการนำมันกลับมาใช้งานใหม่ สโลนจึงเตรียมที่จะเสนอเงินรางวัลให้กับผู้ที่เห็นเรือดำน้ำจิ๋วที่ว่ายกลับมาถึงฝั่ง โดยบนตัวเรือจะมีหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนติดอยู่เพื่อให้ผู้พบเห็นโทรแจ้ง

เขาบอกว่า เราไม่ต้องการทิ้งมันให้ลอยอยู่ในทะเล และในการหามันก็ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงทำให้การนำมันกลับมาใช้ไม่ใช่เรื่องสิ้นเปลือง ทางบริษัทหวังว่าคนจะช่วยหามันและเอามาขึ้นเงินรางวัล



ที่มา Data & Images - bbc.com






..