มาตรา ๒๘๓ ให้คณะองคมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๘๔ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๔๙ ทำหน้าที่รัฐสภา
สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๒๒
มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ มาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๔ มาตรา
๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๔ และ มาตรา ๑๑๕
มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
มาตรา ๒๘๕ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
ให้บทบัญญัติมาตรา ๓๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
มาตรา ๒๘๖ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
มาตรา ๒๘๗
ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๘๖ มีผลใช้บังคับ
ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมิได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดตามมาตรา ๒๘๖ ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๔๙
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดระเบียบที่จำเป็นขึ้นใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
และให้ดำเนินการเลือกตั้งหรือสรรหาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งแรก
ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง
ในวาระเริ่มแรก
ห้ามมิให้ผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะมีการสรรหาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ วรรคสอง
มาใช้บังคับกับสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งหลังสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
มาตรา ๒๘๘ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่
มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๗ วรรคสอง มาตรา ๑๖๘ มาตรา ๑๗๐ และ มาตรา ๑๗๘ (๔) (๗) และ(๘) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๒๘๙ ให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
(๑) กรรมการการเลือกตั้ง
(๒) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
(๓) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(๔) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(๕) สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ให้บุคคลตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน
จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายตามรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นใช้บังคับ
เว้นแต่บทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้แทน
ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เลือกกันเอง
ให้คนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๓๕
วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙๐ ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับเลือกตามมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๔๙ คงดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
ให้บทบัญญัติมาตรา ๓๕ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ
เมื่อมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
บรรดาคดีหรือการใดที่ค้างดำเนินการให้โอนไปอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้
ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๙๑ ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา ๒๙๒ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้มีผลใช้บังคับต่อไป
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้รักษาการ
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
โดยให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้รักษาการ
(๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการ
(๔)
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้รักษาการ
ให้ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง
ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งที่เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ระยะเวลาหนึ่งปีให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนั้น
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
และให้วุฒิสภาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น
การลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นำความในวรรคสอง
วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๙๓ ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้
ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
(๑)
กฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๔ บทบัญญัติในส่วนที่ ๗
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ส่วนที่ ๘ สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ส่วนที่ ๙
สิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ส่วนที่ ๑๐ สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ส่วนที่ ๑๒
สิทธิชุมชน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา ๖๐ วรรคสอง
กฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามมาตรา ๘๐ (๖)
และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามมาตรา ๘๖ (๕) ภายในหนึ่งปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๒) กฎหมายตามมาตรา ๘๕ (๑) และมาตรา ๑๖๓ วรรคสาม ภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๙๔ ให้ดำเนินการจัดทำประมวลจริยธรรมตามมาตรา ๒๗๐
ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๙๕ ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้มาใช้บังคับกับกรณีต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ วรรคสอง
มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ กฎหมายที่จะตราขึ้นต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน
หรือสัญญาซึ่งมีผลสมบูรณ์อยู่ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน
หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล
(๒) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๖
มาใช้บังคับกับการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๘๖.
(๓) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๓ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง มาตรา ๑๖๔ วรรคเก้า มาตรา ๑๖๕
เฉพาะกรณีการกำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อน
และมาตรา
๑๖๖ มาใช้บังคับภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๔) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘๖ วรรคสาม
มาใช้บังคับกับการจัดทำสนธิสัญญาที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
และให้นำมาใช้บังคับกับการเริ่มดำเนินการสนธิสัญญาภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๕) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๔๖ วรรคสี่และวรรคห้า มาใช้บังคับภายในหนึ่งปี
นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๖) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๕ (๒)
มาใช้บังคับกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๙๖ ในวาระเริ่มแรก
ให้ผู้พิพากษาอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาสามารถปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาตามมาตรา ๒๑๔ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่
ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด ทั้งนี้
จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอาวุโส
มาตรา ๒๙๗
ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีการดำเนินการที่เป็นอิสระภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะการจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้นเพื่ออนุวัตรการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
และให้คณะกรรมการดังกล่าวจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย ตามมาตรา ๘๐
(๕) ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
โดยในกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติกำหนดให้มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ต้องจัดทำกฎหมายในความรับผิดชอบ
มาตรา ๒๙๘ ให้มีการจัดทำและปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมวลกฎหมายท้องถิ่น
และกฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้
ภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๙๙ บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้