ภาค 1 ข้อบังคับทั่วไป หมวดที่ 1 การเดินเรือ เขตท่าเรือ และเขตจอดเรือ
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระราชดำริ เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่ได้ตราขึ้นไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน รัตนโกสินทร ศก 124 นั้น ยังมีบกพร่องอยู่หลายประการ สมควร จะเปลี่ยนแก้ให้สมกับกาลสมัย เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
ความเบื้องต้น และอธิบายบางคำที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 1* พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 *[พระราชบัญญัตินี้เดิมเรียกว่า “พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำ สยาม พระพุทธศักราช 2456” ต่อมารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 มาตรา 3 บัญญัติว่า นามประเทศนี้ให้เรียกว่า ประเทศไทย และบทแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า สยาม ให้ใช้คำว่า ไทย แทนจึงได้แก้ไขคำว่า “สยาม” เป็น “ไทย” (รก.2482 เล่ม 56 หน้า 980)]
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พระพุทธศักราช 2456 เป็นต้นไป *[ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30 หน้า 64 วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2456]
มาตรา 3* ในพระราชบัญญัตินี้
“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะใช้เพื่อ บรรทุกลำเลียง โดยสาร ลาก จูง ดัน ยก ขุดหรือลอก รวมทั้งยานพาหนะ อย่างอื่นที่สามารถใช้ในน้ำได้ ทำนองเดียวกัน
“เรือกำปั่น” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกลหรือด้วยใบ และไม่ได้ใช้กรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือกำปั่นไฟ” หรือ “เรือกลไฟ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วย เครื่องจักรจะใช้ใบด้วยหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือ กำปั่นยนต์ด้วย
“เรือกำปั่นยนต์” หรือ “เรือยนต์” หมายความว่า เรือที่เดินด้วย เครื่องยนต์จะใช้กำลังอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกำปั่นใบ” หรือ “เรือใบ” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยใบ และไม่ใช้เครื่องจักรกล
“เรือกล” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยเครื่องจักรกล และใช้กำลัง อื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“เรือกลไฟเล็ก” หมายความว่า เรือที่มีขนาดต่ำกว่าสามสิบตันกรอสส์ ที่เดินด้วยเครื่องจักร
“เรือเดินทะเล” หรือ “เรือทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะ สำหรับใช้ในทะเล ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
“เรือเล็ก” หมายความว่า เรือที่เดินด้วยกรรเชียง แจวหรือพาย
“เรือโป๊ะ” หรือ “เรือโป๊ะจ้าย” หมายความว่า เรือทะเลที่มีรูปร่าง แบบยุโรปและเครื่องเสาเพลาใบอย่างแบบจีน หรือแบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือเป็ดทะเลและอื่น ๆ” หรือ “เรือเป็ดทะเลและเรืออื่น ๆ” หมายความว่า เรือที่ใช้ใบในเวลาเดินทะเล และใช้ใบหรือกรรเชียงหรือแจว ในเวลาเดินในลำแม่น้ำ และให้หมายความรวมตลอดถึงเรือฉลอมทะเล เรือ เท้งฉลอมท้ายญวน หรือเรือสามก้าวด้วย
“เรือสำเภา” หมายความว่า เรือเดินทะเลต่ออย่างแบบจีน หรือ แบบประเทศใด ๆ ในเอเซีย
“เรือบรรทุกสินค้า” หมายความว่า เรือที่ไม่มีดาดฟ้าหรือมีไม่ตลอดลำ เดินด้วยกรรเชียง แจว หรือพาย หรือบางทีใช้ใบ และใช้สำหรับบรรทุกสินค้า
“เรือลำเลียง” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือกล และใช้สำหรับ ลำเลียง หรือขนถ่ายสินค้าจากเรือกำปั่น หรือบรรทุกสินค้าส่งเรือกำปั่น
“เรือลำเลียงทหาร” หมายความว่า เรือที่ใช้ในการลำเลียงทหาร ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรือของทางราชการทหารหรือไม่ก็ตาม
“เรือโดยสาร” หมายความว่า เรือที่บรรทุกคนโดยสารเกินสิบสองคน
“เรือสินค้า” หมายความว่า เรือที่มิใช่เรือโดยสาร
“เรือประมง” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับการจับสัตว์น้ำ หรือ ทรัพยากรที่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ในทะเล
“เรือสำราญและกีฬา” หมายความว่า เรือที่ใช้สำหรับหาความสำราญ หรือเรือที่ใช้เพื่อการเล่นกีฬาโดยเฉพาะ และไม่ได้ใช้เพื่อการค้า การทหาร หรือ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
“เรือไม้ที่ต่อแบบโบราณ” หมายความว่า เรือใบเสาเดียว เรือสำเภา หรือเรือไม้ ที่ต่อตามแบบเรือที่ใช้อยู่ในสมัยโบราณ
“แพ” หมายความรวมตลอดถึงโป๊ะ อู่ลอย และสิ่งลอยน้ำอื่นที่มีลักษณะ คล้ายคลึงกัน
“แพคนอยู่” หมายความว่า เรือนที่ปลูกอยู่บนแพ และลอยอยู่ในลำแม่น้ำ หรือลำคลอง
“ตันกรอสส์” หมายความว่า ขนาดของเรือที่คำนวณได้ตามกฎข้อบังคับ สำหรับการตรวจเรือตามมาตรา 163
“น่านน้ำไทย” หมายความว่า บรรดาน่านน้ำที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตย ของราชอาณาจักรไทย และในกรณีตามมาตรา 17 มาตรา 119 มาตรา 119 ทวิ มาตรา 120 มาตรา 121 มาตรา 133 มาตรา 204 และมาตรา 220 แห่ง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ให้หมายความ รวมถึงน่านน้ำที่อยู่ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยด้วย *[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2540 (รก.2540/72ก/18)]
“เมืองท่า” หมายความว่า ทำเล หรือถิ่นที่จอดเรือเพื่อขนถ่าย คนโดยสารหรือของ
“นายเรือ” หมายความว่า ผู้ควบคุมเรือกำปั่น หรือเรืออื่น ๆ แต่ไม่รวมถึงผู้นำร่อง
“คนประจำเรือ” หมายความว่า คนที่มีหน้าที่ทำการประจำอยู่ในเรือ
“ลูกเรือ” หมายความว่า คนประจำเรือนอกจากนายเรือ
“คนโดยสาร” หมายความว่า คนที่อยู่ในเรือ เว้นแต่ (1) คนประจำเรือ หรือผู้อื่นที่รับจ้างทำงานในเรือนั้น (2) เด็กที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี
“เจ้าท่า” หมายความว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่า มอบหมาย
“เจ้าพนักงานออกใบอนุญาต” หมายความว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า หรือ ผู้ซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายให้ทำการออกใบอนุญาต
“เจ้าพนักงานตรวจเรือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตรวจเรือตามพระราชบัญญัตินี้ *[มาตรา 3 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525 (รก.2525/88/1พ.)]
มาตรา 4 ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 5 ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 6 ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 7 ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 8* ในพระราชบัญญัตินี้แห่งใดมีบัญญัติว่าด้วยการออกอนุญาต อย่างใด ๆ ตามซึ่งเจ้าท่าเห็นจำเป็นจะต้องออกเป็นหนังสือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจ เรียกค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตเช่นนั้นตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยบาท *[มาตรา 8 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510]
มาตรา 9* พระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รัตนโกสินทรศก 124 ประกาศลงวันที่ 17 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 125 ว่าด้วยการตั้งศาลทะเล ประกาศลงวันที่ 19 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ว่าด้วยการออกใบอนุญาตสำหรับเรือบรรทุกสินค้าและเรือเล็ก และประกาศ ลงวันที่ 22 เมษายน รัตนโกสินทร ศก 129 ว่าด้วยเรือกลไฟที่ใช้สำหรับ รับจ้างนั้น ท่านให้ยกเลิกเสีย แต่การที่ยกเลิกนี้ท่านว่ามิได้เกี่ยวแก่การอย่างใด ที่ได้มีผู้กระทำไว้แต่ก่อนหรือแก่ความผิดอย่างใดซึ่งได้กระทำไว้แต่ก่อนเวลา ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ *[มาตรา 9 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือใน น่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2456 (รก.2456/-/300)]
มาตรา 10 กฎสำหรับป้องกันมิให้เรือโดนกัน พระพุทธศักราช 2456 นั้น ท่านว่ามิใช่สำหรับแต่เรือกำปั่นไทยฝ่ายเดียว ให้ใช้ได้ตลอดถึง เรือกำปั่นทั้งหลายที่เดินในบรรดาเขตท่าและเขตที่ทอดจอดเรือของพระราช อาณาจักรไทย แต่อย่าให้ขัดกับพระราชบัญญัตินี้ เมื่อจะต้องเป็นการขัดเช่นนั้นไซร้ ต้องให้ถือเอาข้อบังคับในพระราชบัญญัตินี้เป็นใหญ่ ดังได้ว่าไว้ในข้อ 30 แห่งกฎนั้น และท่านว่าผู้เป็นเจ้าของและเป็นนายเรือทุกลำ ต้องถือและกระทำตามกฎนั้นจง ทุกประการ
มาตรา 11 การลงโทษจำคุกหรือปรับนั้น ถ้าจำเลยเป็นคนในบังคับ ต่างประเทศซึ่งมีกงสุลผู้แทน ที่มีอำนาจฝ่ายตุลาการสำหรับประเทศนั้นตั้งอยู่ใน พระราชอาณาจักรไทย ท่านว่าต้องเป็นหน้าที่ของศาลกงสุลนั้นบังคับให้เป็นไป ตามโทษานุโทษ
มาตรา 11 วรรคสอง [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2479 (ฉบับที่ 5) มาตรา 3 (รก.2479/-/719)]
ภาค 1 ข้อบังคับทั่วไป
หมวดที่ 1 การเดินเรือ เขตท่าเรือ และเขตจอดเรือ
มาตรา 12* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออก กฎกระทรวงดังต่อไปนี้ (1) กำหนดแนวแม่น้ำลำคลองหรือทะเลอาณาเขตแห่งใดเป็นเขต ท่าเรือ และเขตจอดเรือ (2) กำหนดทางเดินเรือทั่วไปและทางเดินเรือในเขตท่าเรือ นอกจากทางเดินเรือในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ *[มาตรา 12 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
มาตรา 13* ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
มาตรา 14* ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
มาตรา 15* ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
มาตรา 16* ยกเลิกแล้ว [โดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
หมวดที่ 2* หน้าที่นายเรือเมื่อเวลาเรือเข้ามาหรือออกจากน่านน้ำไทย
มาตรา 17 เรือกำปั่นตามประเภทที่เจ้าท่าประกาศกำหนดลำใด เมื่อเข้ามาในน่านน้ำไทยต้องปฏิบัติดังนี้
(1) แจ้งต่อเจ้าท่า
(2) ชักธงสำหรับเรือนั้นขึ้นให้ปรากฏ
(3) ติดตั้งและเปิดใช้โคมไฟตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกถึงเวลา พระอาทิตย์ขึ้น
การปฏิบัติตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และ วิธีการที่เจ้าท่าประกาศกำหนด *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 15) พ.ศ.2540]
มาตรา 18 เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเล และเป็นเรือไทยขนาด ตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเขตท่าเรือ ใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องรายงานการเข้ามาถึงต่อเจ้าท่าตามแบบพิมพ์ ของกรมเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่จอดเรือเรียบร้อย *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 19 เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่ หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป และเรือกำปั่นต่างประเทศที่เตรียมจะออกไปจากเขต ท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องชักธงลา (คือธงที่เรียกว่า บลูปีเตอร์) ถ้าเรือกำหนดออกในเวลาบ่ายให้ชักธงขึ้นในเวลาเช้า ถ้าเรือกำหนดออกใน เวลาเช้าให้ชักธงขึ้นในเวลาบ่ายของวันก่อน *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 20 เรือกำปั่นต่างประเทศ เมื่อเข้ามาในเมืองท่าของ ประเทศไทย ซึ่งมิได้กำหนดเป็นเขตท่าเรือ นายเรือต้องรายงานการเข้า มาหรือออกไปต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เรือเข้ามาหรือก่อน เรือออกไปและต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าท่า *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 21 เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทยขนาด ตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไป เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า หกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจสอบว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เสียก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงอนุญาตให้ออกเรือได้ *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 22 เรือกำปั่นที่ใช้เดินทะเลระหว่างประเทศลำใดที่ต้องมี ใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามมาตรา 163 เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทย นายเรือต้องแจ้งกำหนดออก เรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง เพื่อให้เจ้าท่าตรวจ ใบอนุญาตใช้เรือ และใบสำคัญดังกล่าว ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ ให้ถูกต้องและใช้การได้ *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 23 เรือกลที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทย และเรือ กำปั่นต่างประเทศที่ต้องมีใบสำคัญตามที่กำหนดในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ ตามมาตรา 163 เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใด ๆ ในน่านน้ำไทยยังเมืองท่าต่าง ประเทศ นายเรือจะต้องได้รับใบอนุญาตเรือออกจากท่าจากเจ้าท่าเสียก่อน *[แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]
มาตรา 24* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 24 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 25 นายเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาถึงแล้ว เมื่อก่อนจะเปิด ระวางเอาสินค้าขึ้นจากเรือ ต้องทำรายงานบัญชีสินค้าที่มีมาในเรือลำนั้น โดยถี่ถ้วนยื่นต่อกรมศุลกากร และนายเรือกำปั่นลำใดที่จะออกไปต้องทำรายงานบัญชีสินค้าในเรือ โดยถี่ถ้วน ยื่นต่อกรมศุลกากรภายในหกวันก่อนเวลาที่ไป และต้องยื่นรายงาน บอกแจ้งจำนวนเพศ และชาติของคนโดยสารในเรือนั้น ต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ที่เมืองสมุทรปราการด้วย เรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาในเขตท่า ถ้านายเรือยังไม่ทราบพระราช บัญญัตินี้ ก็ให้เจ้าพนักงานจัดหาให้ไว้เล่มหนึ่งและคิดราคาสองบาท
มาตรา 26 เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดที่เตรียมจะไปจากเขตท่าต้อง ชักธงลา (คือธงที่เรียกว่า บลูปีเตอร์) ขึ้นบนเสาหน้าและต้องชักไว้จนกระทั่ง เรือออกเดิน ถ้าเป็นเรือที่กำหนดจะออกเวลาบ่าย ต้องชักธงลาขึ้นไว้เสียตั้งแต่ เวลาเช้า ถ้ากำหนดจะออกเวลาเช้า ต้องชักธงลาขึ้นไว้ให้ปรากฏเสียตั้งแต่ตอน บ่ายวันก่อน
มาตรา 27* เรือกำปั่นไฟลำใดกำลังปล่อยถอยหลังให้ล่องตามน้ำ ลงมาในเขตท่ากรุงเทพฯ ต้องชักธงสัญญาณที่เรียกว่าธง L.U. ตามแบบข้อบังคับ ธงระหว่างนานาประเทศไว้ข้างตอนหน้าเรือ ในที่แลเห็นได้โดยง่าย และถ้ามี เรือกำปั่นไฟลำอื่นกำลังแล่นตามน้ำลงมาด้วย ให้เรือกำปั่นลำที่ปล่อยถอยหลังนั้น ออกกลางน้ำ และให้ใกล้ที่สุดที่จะเป็นได้กับพวกเรือที่จอดทอดสมออยู่กลางลำน้ำ และคอยอยู่ที่นั้นจนกว่าเรือลำที่แล่นตามน้ำลงมาจะแล่นพ้นไป ถ้าเรือที่กำลัง ปล่อยถอยหลังให้ล่องตามน้ำลงมานั้นเป็นเรือโป๊ะ หรือโป๊ะจ้าย หรือเรือสำเภา ต้องชักเครื่องสัญญาณเป็นรูปลูกตะกร้อสีดำกว้างไม่ต่ำกว่าห้าสิบเซนติเมตร ไว้ใน ที่แลเห็นได้โดยง่าย *[มาตรา 27 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2456 (รก.2456/-/300) และอักษรโรมัน L.U. แก้ไขโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไข เพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (รก.2477/-/807)]
มาตรา 28 นายเรือคนใดกระทำความละเมิดต่อบัญญัติในมาตรา 22 23, 24, 25, 26 และ 27 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าต้องระวางโทษปรับ เป็นเงินไม่เกินสี่ร้อยบาท
หมวดที่ 3 ว่าด้วยทำเลทอดจอดเรือ
มาตรา 29 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่มิได้ผูกจอด เทียบเท่าเรือหรือทำโรงพักสินค้า เรือกำปั่นลำนั้นต้องทอดสมอจอดอยู่กลางลำน้ำ ด้วยสมอสองตัว มีสายโซ่ให้พอทั้งสองตัวเพื่อกันมิให้เรือเกาสมอเคลื่อนจากที่นั้นได้
มาตรา 30 เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบน และเรือใด ๆ ที่ทอดจอด ประจำอยู่นั้น ต้องผูกจอดอยู่กับสมอทุ่นอย่างมั่นคงสมกับกำลังของสายโซ่ที่ทอดอยู่นั้น
มาตรา 31 ห้ามมิให้เรือกำปั่น เรือเก็บสินค้า เรือท้องแบนอย่างใด ๆ ทอดสมอ หรือผูกจอดอยู่ในทางเรือเดินในลำแม่น้ำเป็นอันขาด
มาตรา 32 ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดที่ผูกจอดเทียบท่าเรือ ท่าพักสินค้า หรือเทียบฝั่งนั้น ทอดสมอลงไปในแม่น้ำห่างจากหัวเรือเกินกว่าสามสิบเมตร
มาตรา 33 เรือลำใดที่เจ้าท่าไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ หรือเรียกคืน หรือยึดใบอนุญาตไว้ โดยเรือนั้นมีความไม่สมประกอบสำหรับเดินทะเลนั้น ต้องให้ ผูกจอดทอดไว้ในที่ใดที่หนึ่งซึ่งเจ้าท่าจะกำหนดให้
มาตรา 34 เรือโป๊ะหรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ต้องจอดทอดสมอกลางแม่น้ำ และถ้าไม่เป็นการขัดขวาง ก็ให้ทอดจอดค่อนข้างฝั่งตะวันตก แต่ต้องไว้ช่องทาง เรือเดินไม่น้อยกว่าร้อยเมตร ในระหว่างเรือกับฝั่งตะวันตก หรือกับบรรดาเรือที่ จอดเทียบฝั่งตะวันตก หรือกับแพคนอยู่ที่ผูกเทียบอยู่กับฝั่งตะวันตก
มาตรา 35 บรรดาเรือโป๊ะ หรือเรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือเป็ดทะเล และเรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้การนั้น ต้องให้ถอยไปอยู่ที่ทำเลสำหรับทอดจอดเรือแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตท่าตามที่เจ้าท่า เห็นสมควรจะกำหนดตามครั้งคราว และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจา นุเบกษา และในหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุในท้องที่ตั้งแต่สองรายขึ้นไป
มาตรา 36 ห้ามมิให้เรือกำปั่นเดินทะเลลำใดจอดทอดสมอตาม ลำแม่น้ำ ในระหว่างคลองสะพานหันกับคลองบางลำภูบน เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น เพราะในระหว่างสองตำบลนั้นเป็นที่ทอดจอดเรือรบไทย และบรรดาเรือกำปั่น เดินทะเลหรือเรือรบต่างประเทศจะแล่น หรือมีเรืออื่นจูงผ่านคลองสะพานหัน ขึ้นไปตามลำแม่น้ำนั้น ให้ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาต พิเศษจากเจ้าท่า และโดยอาศัยข้อบังคับกำกับอนุญาตนั้นอยู่ด้วยตามซึ่งเจ้าท่า จะเห็นสมควร
มาตรา 37* ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉินอันจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ห้ามมิให้ เรือกำปั่นลำใด จอดทอดสมอในลำแม่น้ำ ระหว่างวัดบุคคโล กับ ในระยะทาง 200 เมตร ใต้ปากคลองบางปะแก้ว และระหว่างปากคลองผดุงกับคลองสำเพ็ง เพราะในระหว่างตำบลเหล่านี้เป็นทำเลยกเว้นไว้สำหรับทางให้เรือเดินขึ้นล่อง *[มาตรา 37 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 (รก.2456/-/300)]
มาตรา 38* เรือกำปั่นทุกลำที่บรรทุกคนโดยสารหรือของจากเมืองท่า หรือตำบลใด ๆ ในต่างประเทศเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเรือใด ๆ ที่เข้ามา ในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขนถ่ายคนโดยสารหรือของจากเรือกำปั่นมาจากต่างประเทศ เมื่อผ่านด่านสมุทรปราการแล้ว ถ้าจะส่งคนโดยสารหรือของที่บรรทุกมานั้นขึ้นบก ต้องจอด ณ ที่จอดเรือ หรือเทียบท่าเทียบเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เว้นไว้แต่เมื่อที่จอดเรือ หรือท่าเทียบเรือไม่ว่างพอจะจอดหรือเทียบได้ หรือ เพราะเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งถ้าตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ และอธิบดีกรมเจ้าท่าลงนามอนุญาตแล้ว จึงจะเข้าจอดหรือเทียบในที่ที่ได้รับ อนุญาตได้ คณะกรรมการดังกล่าวในวรรคหนึ่งให้มีจำนวนห้าคน ประกอบด้วย อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมศุลกากร และผู้อำนวยการการ ท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่นอีกสองคนซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้ง *[มาตรา 38 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2510 (รก.2510/30/158)]
มาตรา 38 ทวิ* การประชุมของคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติการตาม ความในมาตรา 38 ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนกรรมการ ทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่สามารถมาประชุม ให้ที่ประชุมเลือก กรรมการคนหนึ่งเป็นประธาน การลงมติวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้นั่งเป็นประธานออกเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด *[มาตรา 38 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9)พ.ศ.2493 (รก.2493/58/970)]
มาตรา 38 ตรี* ภายใต้บังคับมาตรา 38 ให้เจ้าท่ามีอำนาจที่จะ กำหนดที่ทอดจอดเรือสำหรับเรือกำปั่นและเรือเล็กทุกลำ และนายเรือต้อง เอาเรือไปทอดจอดตามที่เจ้าท่าจะชี้ให้ และห้ามมิให้เอาเรือไปจากที่นั้น หรือ ย้ายไปทอดจอดที่อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็น ซึ่งเจ้าท่าจะพิเคราะห์เห็นสมควร เมื่อเรือกำปั่นลำใดกำลังเข้ามา นายเรือจะต้องยอมให้เจ้าท่าขึ้นไป บนเรือ และถ้าจำเป็นจะหยุดเรือรอรับก็ต้องหยุด *[มาตรา 38 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 9)พ.ศ.2493 (รก.2493/58/970)]
มาตรา 38 จัตวา* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 38 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 38 ตรี ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาท ถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง *[มาตรา 38 จัตวา เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2493]
มาตรา 39 เรือกำปั่นลำใดเมื่อเข้ามาถึงในเขตท่าแล้ว มิได้ กระทำการถ่ายสินค้า หรือขนสินค้าขึ้นเรืออย่างหนึ่งอย่างใด นับตั้งแต่ 10 วัน ขึ้นไปก็ดี ท่านว่าถ้าจะต้องการเอาที่ซึ่งเรือลำนั้นจอดอยู่ให้เรืออื่นที่ใช้ในการ ค้าขายทอดจอด ก็ให้ถอยเรือที่ไม่ได้ทำการเช่นว่านั้น ไปทอดจอดในที่อื่นภายใน เขตท่าตามที่เจ้าท่าจะกำหนดให้
มาตรา 40* เรือกำปั่นลำใดต้องการจะเปลี่ยนที่ทอดจอด หรือ เรือกำปั่นลำใดที่เทียบท่าเรือ หรือท่าสินค้า ต้องการจะหาที่ทอดจอดในลำแม่น้ำ ก็ให้ชักธงสัญญาณอักษร B.A.Z. ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับ การใช้ธงสัญญาณ แล้วเจ้าท่าจะได้ขึ้นไปบนเรือลำนั้นและชี้ให้ทอดจอด *[มาตรา 40 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]
มาตรา 41* เรือกำปั่นลำใดต้องการให้กองตระเวนมาช่วย ก็ให้ ชักธงสัญญาณหมายอักษร S.T. ตามแบบข้อบังคับระหว่างนานาประเทศสำหรับ การใช้ธงสัญญาณ ถ้ามีเหตุสำคัญขัดขืนต่อการบังคับบัญชาเกิดขึ้นในเรือฉะนั้นแล้ว ให้ชักธงสัญญาณหมายอักษร R.X. *[มาตรา 41 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]
มาตรา 42 ก่อนที่เรือกำปั่นไฟหรือเรือกำปั่นใบเดินทะเลลำใด จอดทอดหรือผูกจอดเป็นปกตินั้น ห้ามมิให้เรืออื่นเข้าไปเทียบข้าง ให้เข้าเทียบได้ แต่เฉพาะเรือไฟเล็กและเรือเล็กของกรมเจ้าท่า เรือของเจ้าพนักงานแพทย์สุขา หรือของกรมศุลกากร หรือของผู้นำร่องหรือเรือของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจะ มีหน้าที่พิเศษ ในเวลาที่เรือกำปั่นลำใดที่กำลังแล่นขึ้นหรือล่องในลำแม่น้ำนั้นห้าม เป็นอันขาดมิให้เรือจ้าง เรือบรรทุกสินค้าหรือเรือเล็กหรือเรืออย่างใด ๆ เข้าไปเกี่ยวพ่วงข้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นพิเศษของนายเรือลำนั้น
มาตรา 43 เมื่อจะทอดจอดเรือกำปั่นลำใด นายเรือหรือผู้นำร่อง ต้องทอดจอดเรือนั้น โดยให้กินเนื้อที่อย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ และความบังคับ ข้อนี้ เจ้าท่าต้องระวังเป็นธุระอยู่เสมอให้มีผู้ปฏิบัติตามโดยถูกต้อง
มาตรา 44 ตามลำแม่น้ำเล็กและในคลองต่าง ๆ นั้นอนุญาตให้ จอดเรือต่าง ๆ ทั้งสองฟาก แต่อย่าให้เป็นที่กีดแก่ทางเรือขึ้นล่องที่กลางลำน้ำ และห้ามไม่ให้จอดซ้อนลำหรือจอดขวางหรือตรงกลางลำน้ำ ลำคลอง เป็นอันขาด
มาตรา 45 เรือกำปั่น เรือเล็ก และแพต่าง ๆ ที่จอดเทียบฝั่ง แม่น้ำ หรือเทียบท่าสินค้า หรือท่าเรือนั้น ห้ามมิให้จอดขวางลำน้ำ ต้องจอดให้ หัวเรือท้ายเรือ หัวแพท้ายแพ หันตามยาวของทางน้ำ
มาตรา 46 ตามท่าขนสินค้าและท่าขึ้นทั้งสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือตามสองข้างเรือกำปั่นก็ดี ห้ามมิให้เรือบรรทุกสินค้า เรือไฟเล็ก เรือเป็ด ทะเล และเรืออื่น ๆ จอดหรือผูกเทียบซ้อนกันเกินกว่าสองลำ ถ้าเป็นแพคนอยู่ ห้ามมิให้จอดเทียบหน้าแพเกินกว่าลำหนึ่ง
มาตรา 46 ทวิ* ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามใช้ และให้แก้ไขท่า รับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ และแพในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ซึ่งมีสภาพไม่ปลอดภัยในการใช้ หรืออาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน หรือแก่การเดินเรือ โดยแจ้งให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทราบเป็นหนังสือ ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ปิดคำสั่งไว้ ณ ท่ารับส่งคนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพนั้น และให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับคำสั่งนั้นแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าท่าตามความใน วรรคหนึ่ง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในสิบห้าวันนับแต่ วันที่ได้รับคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ ชี้ขาด คำสั่งห้ามใช้นั้นมีผลบังคับได้ ในกรณีไม่มีอุทธรณ์คำสั่ง หรือมีอุทธรณ์ แต่รัฐมนตรีสั่งให้ยกอุทธรณ์ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนด หรือภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัย อุทธรณ์ให้เจ้าท่ามีอำนาจจัดการแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่งโดยคิดค่าใช้จ่ายจาก เจ้าของหรือผู้ครอบครอง เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยตามคำสั่งแล้ว ให้เจ้าท่าเพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ ในกรณีที่เจ้าท่าจัดการแก้ไขเอง จะรอการ เพิกถอนคำสั่งห้ามใช้ไว้จนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะชำระค่าใช้จ่ายให้ เจ้าท่าก็ได้ *เจ้าของหรือผู้ครอบครองคนใดใช้เอง หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ท่ารับส่ง คนโดยสาร ท่ารับส่งสินค้า ท่าเทียบเรือ หรือแพ ซึ่งเจ้าท่า มีคำสั่งห้ามใช้ และ ยังไม่ได้เพิกถอนคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงสามหมื่นบาท และปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง *[มาตรา 46 ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2515 และความในวรรคสี่ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 47 ห้ามมิให้แพไม้ซุงที่กว้างกว่ายี่สิบตันซุงจอดผูกเทียบ ข้างเรือกำปั่น หรือเทียบท่าขนสินค้า หรือท่าขึ้น และห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียงหรือเรือสำเภาผูกจอดผูกเทียบข้างเรือกำปั่นมากกว่าข้างละหนึ่งลำ และห้ามมิให้เรือเช่นว่ามานี้จอดผูกเทียบท่าขนสินค้า หรือท่าขึ้นมากกว่าสองลำ
มาตรา 48 ห้ามมิให้เรือโป๊ะจ้าย เรือลำเลียง เรือสำเภา เรือบรรทุกสินค้า เรือกลไฟเล็ก และเรือและแพไม้ต่าง ๆ จอดผูกกับฝั่งแม่น้ำ มากลำ หรือโดยอย่างที่ให้ล้ำออกมาในทางเรือเดิน หรือจนเป็นที่กีดขวาง แก่การเดินเรือ
มาตรา 49 เรือกำปั่นหรือเรือเล็กที่จอดมากกว่าสองลำ ในแม่น้ำ นอกแนวเรืออื่น ๆ หรือนอกแนวแพคนอยู่ ซึ่งจอดอยู่ในท้องที่เดียวกันนั้น ท่านให้ ถือว่าเรือกำปั่นหรือเรือเล็กนั้น เท่ากับจอดล้ำออกมาในทางเรือเดิน
มาตรา 50 ข้อห้ามต่าง ๆ ที่ว่ามาแล้วในมาตรา 46 และ 47 นั้น เจ้าท่าจะเห็นสมควรลดหย่อนโดยให้อนุญาตพิเศษก็ได้
มาตรา 51* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือหรือแพผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 42 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 หรือมาตรา 49 ถ้าเป็นเรือกำปั่น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และปรับ เป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องถ้าเป็นเรือเล็กหรือแพ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และปรับเป็นรายวันวันละ ห้าสิบบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง *[มาตรา 51 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
หมวดที่ 4 ว่าด้วยทางเดินเรือในลำแม่น้ำ
มาตรา 52 ในเขตท่ากรุงเทพฯ นั้น ให้มีทางเดินเรือสองสาย ดังนี้ คือ (1) สายตะวันออก เรียกว่าสายใหญ่ สายนี้มีเขตโดยกว้างตั้งแต่ เรือกำปั่นที่ทอดอยู่กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันออก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพ คนอยู่ที่จอดเทียบฝั่งตะวันออก (2) สายตะวันตก สายนี้มีเขตโดยกว้าง ตั้งแต่เรือกำปั่นที่ทอดอยู่ กลางแม่น้ำ จนถึงฝั่งตะวันตก หรือถึงแคมเรือกำปั่น หรือแพคนอยู่ที่จอดเทียบฝั่ง ตะวันตก
มาตรา 52 ทวิ* เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อความปลอดภัยแก่การเดินเรือ ให้เจ้าท่ามีอำนาจประกาศกำหนดทางเดินเรือและควบคุมการเดินเรือในเขต ท่ากรุงเทพฯ และในแม่น้ำลำคลองเป็นการเฉพาะคราวได้ *นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กำหนดทางเดินเรือหรือประกาศควบคุมการเดินเรือตามวรรคหนึ่ง ต้อง ระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งยึด ประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกินหกเดือน นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือที่ถูกยึดประกาศนียบัตรควบคุมเรือตาม วรรคสองมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งคำชี้ขาดของรัฐมนตรีเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรี ยังมิได้ชี้ขาด คำสั่งนั้นมีผลบังคับได้ *[มาตรา 52 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2520 และความในวรรคสองและวรรคสาม แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 52 ตรี* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือซึ่งถูกยึดประกาศนียบัตร ควบคุมเรือผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่ประกาศนียบัตรควบคุมเรือถูกยึดตาม มาตรา 52 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท *[มาตรา 52 ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 53 แนวลำแม่น้ำทั้งสองฟากภายในระยะสามสิบเมตร ห่างจากฝั่งหรือจากแคมเรือกำปั่นที่จอดผูกเทียบฝั่งหรือจากแพคนอยู่ที่จอด ผูกเทียบฝั่งนั้น ให้หวงห้ามไว้สำหรับเป็นทางเดินเรือเล็ก ห้ามมิให้เรือกำปั่นใช้แนวนั้นเป็นอันขาด นอกจากเป็นเวลาจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้เรือโดนกัน หรือเพื่อกลับหรือเคลื่อนเรือจากที่จอด
มาตรา 54* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 54 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ก) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันออกหรือสายใหญ่
มาตรา 55 เรือกำปั่นไฟทุกขนาด(นอกจากที่ว่าไว้ในมาตรา 58) และเรือกำปั่นใบทุก ๆ อย่างที่มีขนาดเกินกว่าห้าสิบตัน เมื่อขึ้นล่องในลำแม่น้ำ ต้องเดินในทางเรือเดินสายตะวันออก เว้นไว้แต่เมื่อมีเหตุจำเป็น เรือเพื่อจะ เข้าจอดหรือออกจากท่าหรือฝั่ง จึงเดินนอกสายนั้นได้ และบรรดาเรือที่ว่ามานี้ ต้องเดินโดยช้าที่สุดที่พอสมควรแก่การเดินเรือ อย่างระวัง และเพื่อป้องกันอันตรายแก่เรือ และอันตรายที่อาจเกิดจากละลอกคลื่น ของเรือนั้น
มาตรา 56* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 56 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ข) ว่าด้วยทางเรือเดินสายตะวันตก
มาตรา 57 บรรดาเรือใบขนาดต่ำกว่าห้าสิบตัน และเรือทุกอย่าง นอกจากได้กล่าวไว้ในมาตรา 55 นั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก
มาตรา 58* บรรดาเรือกำปั่นไฟที่จูงเรืออื่นที่มีขนาดต่ำกว่า สามสิบห้าตันเกินกว่าลำหนึ่งขึ้นไป ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดจูงเรือกำปั่นหรือเรืออย่างอื่นในเขตท่า กรุงเทพฯ มากลำจนเกินกว่ากำลังของเรือกำปั่นไฟลำนั้นจะจูงไปได้ระยะทาง ชั่วโมงละสองไมล์เป็นอย่างน้อย และห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟลำใดที่จูงเรืออยู่นั้น เดินไปโดยระยะทางเกินกว่าชั่วโมงละหกไมล์ในเวลาทวนน้ำ หรือเดินเร็วกว่า ชั่วโมงละสี่ไมล์ในเวลาตามน้ำ ห้ามเป็นอันขาดมิให้จูงเรือเล็กเกินกว่าคราวละสามสิบสองลำเป็น อย่างมาก และห้ามมิให้เรือที่ถูกจูงนั้นผูกเทียบซ้อนลำกันเกินกว่าตับละสี่ลำ *[มาตรา 58 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2456]
มาตรา 59 ในเวลาที่กำลังจะโยงหรือผูกเรือบรรทุกเข้ากับ สายโยงนั้น ห้ามมิให้เรือไฟลาก หรือเรือไฟเล็กที่เป็นเรือจูงนั้นแล่นรออยู่ใน สายทางเรือเดินเป็นอันขาด ถ้าจะใช้สายทางเรือเดินในการจูง เรือจูง เหล่านั้นต้องแล่นอยู่เสมอให้ได้ระยะทางไม่น้อยกว่าชั่วโมงละสองไมล์
มาตรา 60* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 57 มาตรา 58 หรือมาตรา 59 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 60 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ค) ว่าด้วยส่วนของทางเรือเดินทั้งสองสายที่หวงไว้สำหรับให้ เรือเล็กเดิน
มาตรา 61 เรือเล็กทั้งหลาย เดินในทางเรือเดินได้ทั้งสองสาย
มาตรา 62 นอกจากมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่า หรือที่ฝั่ง บรรดาเรือเล็กต้องเดินอยู่ในแนวน้ำ ในระหว่างระยะสามสิบเมตร จากฝั่ง หรือจากเรือกำปั่นที่จอดเทียบฝั่งหรือจากแพคนอยู่ที่ผูกจอดกับฝั่งแม่น้ำ
มาตรา 63 เรือบรรทุกข้าวต้องเดินได้แต่ในแนวน้ำที่กำหนดไว้ สำหรับเป็นทางเดินของเรือเล็กในทางเรือเดินสายตะวันตก และห้ามมิให้ไป เดินในทางเรือเดินสายตะวันออก ในตอนหนึ่งตอนใดเป็นอันขาด
มาตรา 64 เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อจะข้ามฟากไปจอดที่ท่าหรือ ที่ฝั่ง และเรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กจะต้องทำนอกเหนือที่บังคับไว้ในมาตรา 62 และ 63 ฉะนั้น ก็ให้ทำโดยความระวังทุกอย่างที่จะมิให้เป็นการกีดขวาง แก่การเดินเรือได้
มาตรา 65 ห้ามมิให้เรือบรรทุกเข้าหรือเรือเล็กผ่านหน้าเรือ กำปั่นไฟที่กำลังแล่นขึ้นหรือล่องในลำแม่น้ำนั้นใกล้กว่าระยะร้อยเมตร และถ้าจะ ข้ามฟากไปยังท่าหรือโรงสีห้ามมิให้ตัดข้ามเหนือแห่งที่จะไปนั้นเกินกว่าที่ควร
มาตรา 66 บรรดาเรือยนต์ที่ยาวไม่เกินกว่าหกเมตรนั้น ยอมให้ เดินได้ในแนวลำแม่น้ำทั้งสองสายที่กำหนดไว้สำหรับให้เรือเล็กเดิน แต่ถ้าจะ เดินห่างจากฝั่งภายในระยะสามสิบเมตร ต้องเดินโดยช้าที่สุดพอสมควรแก่การ ควรระวังเหตุในการเดินเรือ และการควรระวังมิให้เป็นเหตุอันตรายแก่ เรือเล็กที่ใช้กรรเชียงหรือแจวพาย
มาตรา 67* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 หรือมาตรา 66 ต้อง ระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 67 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ฆ) ว่าด้วยทางคลองต่าง ๆ
มาตรา 68* ในแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ นอกเขตท่า บรรดาเรือที่เดิน ตามน้ำให้เดินกลางแม่น้ำหรือลำคลอง เรือที่เดินทวนน้ำให้เดินแอบฝั่ง ถ้าไม่ สามารถจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังว่ามานี้ ให้เดินกลางร่องน้ำและให้ปฏิบัติตาม ข้อบังคับการเดินเรือแห่งท้องถิ่น ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการเดินเรือในลำแม่น้ำหรือ คลองนั้น ๆ ด้วย ให้เจ้าท่าหรือข้าหลวงประจำจังหวัดในท้องถิ่นที่ไม่มีเจ้าท่า มีอำนาจ ออกข้อบังคับควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำและลำคลองใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตท้องถิ่น ของตนได้ ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ และได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ *[มาตรา 68 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]
มาตรา 69* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 68 หรือข้อบังคับที่ออกตามมาตรา 68 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 69 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
หมวด 5 ว่าด้วยแพไม้ แพคนอยู่ ฯลฯ
(ก) แพไม้
มาตรา 70 แพไม้ต่าง ๆ ต้องมีคนประจำให้พอแก่การที่จะควบคุม รักษาแพโดยเรียบร้อย และคนประจำแพต้องระวังอย่างที่สุดที่จะเป็นได้เพื่อไม่ให้ แพกีดขวางแก่การเดินเรือหรือโดนกับแพคนอยู่ หรือเรือที่ทอดจอดอยู่ในลำแม่น้ำ แพไม้ทุก ๆ แพต้องชักธงเครื่องหมายของเจ้าของแพ และธงสำหรับเช่นนี้ต้อง จดทะเบียนที่กรมเจ้าท่า แพใดมีซุงกี่ต้นและกำหนดจะมาถึงเขตท่ากรุงเทพฯได้ เมื่อใดนั้น เจ้าของแพต้องทำหนังสือแจ้งความล่วงหน้าให้เจ้าท่าทราบ
มาตรา 71 ห้ามมิให้แพไม้จอดผูกติดกับเรือกำปั่นหรือหลักหรือแพ คนอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายเรือหรือเจ้าของหลัก เจ้าของแพนั้น ๆ
มาตรา 72 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ แพไม้ต่าง ๆ ที่จะล่องหรือ จูงลงมานั้น ต้องเดินในทางเดินเรือสายตะวันตก ถ้าจะเดินในสายตะวันออก ต้องเดินได้แต่แพไม้ที่มีเรือจูง แพไม้แพหนึ่งต้องมีซุงไม่เกินกว่าสองร้อยต้น หรือกว้างเกินกว่ายี่สิบเมตร
มาตรา 73 ห้ามมิให้ล่องแพไม้ขึ้นลงในลำแม่น้ำในระหว่างเวลา ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
มาตรา 74* ในคลอง ห้ามไม่ให้ล่องแพไม้ที่มีซุงผูกเทียบกันเกินกว่า สี่ต้นและที่ผูกติดต่อกันยาวเกินกว่าสองชั่วซุง และส่วนแพไม้ไผนั้นไม่ให้ยาว เกินกว่าสิบหกเมตรและกว้างเกินกว่าที่พอจะให้แพนั้นเดินในคลองได้โดยไม่กีด แก่การเดินเรือ แต่ถ้าข้าหลวงประจำจังหวัดได้พิจารณาเห็นว่า ในคลองใด หรือใน คลองตอนใดซึ่งใช้เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ลากจูงแพเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ใน วรรคก่อนโดยไม่เป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ ก็อาจผ่อนผันให้ผูกติดต่อกันได้ ไม่เกิน 30 เมตร เมื่อข้าหลวงประจำจังหวัดได้ผ่อนผันให้ตามวรรคก่อนแล้ว ภายหลัง ปรากฏว่าเป็นภัยแก่การจราจรทางน้ำ จะถอนเสียก็ได้ *[มาตรา 74 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 3) (รก.2477/-/131)]
มาตรา 75* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 70 มาตรา 71 มาตรา 72 มาตรา 73 หรือมาตรา 74 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาท ถึงหนึ่งพันบาท *[มาตรา 75 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ข) แพคนอยู่
มาตรา 76 ห้ามมิให้จอดแพคนอยู่ในลำแม่น้ำห่างจากฝั่งเกินกว่า พอดีสำหรับมิให้แพนั้นค้างแห้งในเวลาน้ำลงงวด
มาตรา 77 เสาหลักสำหรับผูกแพคนอยู่นั้น ห้ามมิให้ปักพ้นแนวหน้าแพ ออกไปมากกว่าหนึ่งเมตรครึ่ง
มาตรา 78 ห้ามมิให้ปลูกเรือนที่ปักเสาลงเลนตามฝั่งแม่น้ำห่างออก มาจากฝั่งจนเกินกว่าพอดีสำหรับไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ใต้เรือนเมื่อเวลาน้ำลงงวด
มาตรา 79 ภายใต้เขตท่ากรุงเทพฯ ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาด กว้างหรือยาวเกินกว่าสิบหกเมตร นับรวมทั้งชานและแพเล็กที่เป็นส่วนติดต่อกับแพ นั้นด้วย
มาตรา 80 ตามลำคลอง ห้ามมิให้แพคนอยู่แพใดมีขนาดกว้างเกินกว่า สิบสองเมตร และห้ามมิให้แพใดที่ผูกจอดกับฝั่งยื่นล้ำออกมาจนอาจเป็นที่กีดขวางแก่ การเดินเรือ
มาตรา 81 ห้ามมิให้จูงแพคนอยู่ขึ้นล่องในตอนใต้หลักเขตเหนือของ ท่ากรุงเทพฯ ในระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น
มาตรา 82 แพคนอยู่ที่จะจูงขึ้นล่องในลำแม่น้ำนั้น ต้องเดินในทางเดิน เรือสายตะวันตก ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นจึงให้เดินในทางเดินสายตะวันออกได้
มาตรา 83 ห้ามมิให้จอดผูกแพคนอยู่แพใดกับฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
มาตรา 84 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าแพคนอยู่แพใดยื่นออกมา ในลำแม่น้ำ จนอาจเป็นเหตุน่ากลัวอันตรายแก่การเดินเรือในเวลากลางคืนได้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจบังคับให้แพนั้นจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นได้ง่ายใน ระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เรือใหญ่ เล็กแล่นมาโดนแพนั้น
มาตรา 85 ตั้งแต่วันที่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ถ้าจะ จอดแพคนอยู่หรือปลูกเรือนมีเสาปักเลนตามฝั่งแม่น้ำภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ก็ดีหรือตามลำคลองในแขวงกรุงเทพฯ ก็ดี ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อน จึงทำได้
มาตรา 86 คำขออนุญาตนั้นต้องเป็นหนังสือและมีแผนที่ฝั่งน้ำแพคนอยู่ หรือเรือนปักเสาลงเลนที่ข้างเคียง และทำเลที่จะจอดแพและปักหลักผูกแพนั้นด้วย
มาตรา 87 เมื่อรับคำขออนุญาตแล้ว เจ้าท่าต้องตรวจภายในเวลา เดือนหนึ่ง และถ้าเห็นว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับในมาตรา 85 และ 86 ทุกอย่างแล้ว ก็ให้ออกอนุญาตให้ตามที่ขอ
มาตรา 88 ห้ามมิให้ลงมือทำการปลูกสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาต ตามที่ร้องขอนั้นเป็นอันขาด
มาตรา 89 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ ให้เจ้าท่ามีอำนาจ และ ภายนอกเขตนั้น ให้เจ้าพนักงานท้องที่มีอำนาจที่จะบังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่หรือ หลักผูกแพหรือเรือนที่ปักเสาลงชายฝั่งน้ำที่จอด หรือปักหรือสร้างผิดต่อข้อบังคับ ในมาตราตั้งแต่ 76 ถึง 79 จะเป็นแพหรือหลักหรือเรือนที่ตั้งอยู่นั้นเมื่อก่อน หรือในภายหลังเวลาใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ตาม และให้มีอำนาจบังคับให้รื้อถอน บรรดาแพคนอยู่ หรือหลักผูกแพ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำซึ่งได้ปลูกขึ้น โดยมิได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง หรือที่ปลูกโดยไม่ถูกต้องตามข้อความในอนุญาต ที่ได้ออกให้นั้นด้วย
มาตรา 90* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่ตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษปรับเป็นรายวันวันละหนึ่งร้อยบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามมาตรา 89 บังคับให้รื้อถอนแพคนอยู่ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งน้ำโดยให้ผู้เป็นเจ้าของ เสียค่ารื้อถอนนั้นเอง ในกรณีที่เจ้าของไม่รื้อถอนภายในกำหนดเวลาที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ผู้มีหน้าที่ตามมาตรา 89 กำหนด ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็น ผู้จัดการให้มีการรื้อถอน ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของจะเรียกร้อง ค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการ รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของไม่ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสามภายในระยะ เวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี ให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากแพคนอยู่ หรือเรือนที่ปักเสาลงในชายฝั่งส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขาย โดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นให้นำไปชดใช้ ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการจัดการรื้อถอน และถ้ามีเงินเหลือจากการ ชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ให้เจ้าท่าเก็บรักษาเงินนั้นไว้ ถ้าเจ้าของมิได้เรียกร้อง เอาภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้าท่าได้เก็บรักษาไว้ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน *[มาตรา 90 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 91* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 81 มาตรา 82 มาตรา 83 หรือมาตรา 84 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 91 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ค) ว่าด้วยการจับสัตว์น้ำและโพงพางที่ขวางแม่น้ำ
มาตรา 92 การจับสัตว์น้ำด้วยอวนแหโดยทอดสมอจอดเรือเรียงราย ลำติดกันขวางลำน้ำ หรือทอดทุ่น หรือปักหลักโพงพางเป็นแถวจากฝั่งถึงกลาง ลำน้ำนั้น การจับสัตว์น้ำด้วยวิธีเหล่านี้ห้ามมิให้กระทำในเขตท่ากรุงเทพฯ ถ้าพ้น เขตท่ากรุงเทพฯออกไปจะทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก็ได้
มาตรา 93 ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงเวลา พระอาทิตย์ขึ้น เจ้าของเรือจับสัตว์น้ำหรือทุ่นหรือหลักโพงพางเช่นว่ามาแล้วต้อง จุดไฟเป็นแสงโพลงไว้บนฝั่งตรงกับแถวเรือหรือทุ่นหรือหลักเหล่านั้น และต้องจุด โคมไฟไว้บนเรือหรือทุ่นหรือหลักโพงพางที่ห่างที่สุดออกมาจากฝั่งนั้นด้วย และ ต้องเป่าเขากระบือหรือแตรเสียงก้องสำหรับให้เรือที่เดินขึ้นล่องรู้ว่ามีของกีดกั้น เช่นนั้นอยู่ในลำน้ำด้วย รั้วหรือหลักที่ปักเรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลที่ปากน้ำหรือที่ใกล้ทาง จะเข้าปากน้ำนั้น ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้นต้อง จุดโคมให้เห็นแสงไฟสีขาวที่ปลายรั้วหรือหลักสุดแถวทั้งสองข้าง
มาตรา 94 ทุ่นหรือหลักสำหรับจับสัตว์น้ำนั้น ห้ามมิให้ผูกโยงถึงกัน ด้วยลำไม้ไผ่ ให้ใช้ผูกด้วยเชือกอย่างเดียวตามธรรมเนียมที่เคยทำกันอยู่ และ ห้ามมิให้ผูกโยงจากฝั่งด้วยเชือกหรือด้วยไม้ยาวให้เป็นที่กีดขวางแก่ทางเดิน ของเรืออื่น
มาตรา 95* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 92 มาตรา 93 หรือมาตรา 94 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท *[มาตรา 95 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
หมวดที่ 6 ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด
(ก) ว่าด้วยผูกเรือกับฝั่งด้วยเชือกลวดและเชือกต่าง ๆ
มาตรา 96 ในแม่น้ำหรือเขตท่าใด ๆ ถ้านอกจากเรือที่จอดผูกเทียบ ท่าขนสินค้า ท่าขึ้นหรือเทียบฝั่ง ห้ามมิให้เรือกำปั่นลำใดผูกโยงกับฝั่งด้วยเชือกลวด หรือเชือกอย่างอื่นจนไม่เหลือช่องน้ำในระหว่างเรือลำนั้นกับฝั่งสำหรับให้เรืออื่น เดินได้
มาตรา 97 ห้ามมิให้เอาเชือกอย่างใด ๆ ทอดจากเรือกำปั่นลำใด ที่จอดเทียบท่าไปผูกกับทุ่นโยงในลำน้ำหรือเขตท่าจนกว่าจะถึงเวลาที่เรือเตรียม ออกจากท่าที่จอดเทียบอยู่นั้น จึงให้ทำเช่นนั้นได้
มาตรา 98* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 96 หรือมาตรา 97 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท *[มาตรา 98 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ข) ว่าด้วยฝีเท้าเรือ-เกิดเหตุอันตราย-โคมไฟ
มาตรา 99 ห้ามมิให้นายเรือกลับเรือกำปั่นในลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือในสายทางเรือเดิน เว้นไว้แต่ในเวลาที่ทางน้ำนั้น ๆ ว่างไม่มี เรืออื่นแล่นเข้าออก และห้ามมิให้นายเรือกำปั่นลำใดที่จอดเทียบท่าขนสินค้า หรือท่าขึ้นเคลื่อนเรือออกจากท่า เว้นไว้แต่ในเวลาที่ลำแม่น้ำ ร่องน้ำ ช่องน้ำ หรือสายทางเรือเดิน อันเป็นท้องที่นั้นว่างไม่มีเรืออื่นแล่นเข้าออก
มาตรา 100 นายเรือกำปั่นลำใดที่กำลังเข้าหรือออกที่เขตท่าหรือ ช่องแคบ ต้องลดฝีเท้าเรือให้เดินช้าลงพอสมควรแก่การเดินเรืออย่างระวัง และอย่างป้องกันเหตุอันตรายแก่เรือนั้นเอง
มาตรา 101* เรือที่จะเข้าเทียบหรือจอดยังท่า นายเรือหรือผู้ที่ ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำ และด้วยความระมัดระวัง เรือที่เดินอยู่ในแม่น้ำ หรือลำคลอง ต้องใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่เจ้าท่ากำหนด และห้ามมิให้แล่น ตัดหน้าเรือกลที่กำลังเดินขึ้นล่องอยู่ในระยะสองร้อยเมตร ผู้ใดฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท และให้เจ้าท่า มีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตใช้เรือหรือประกาศนียบัตรควบคุมเรือมีกำหนดไม่เกิน หกเดือน *[มาตรา 101 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 102* นายเรือที่ได้รับประกาศนียบัตรแสดงความรู้ทุกคน ต้องใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรือโดยเต็มความสามารถเพื่อมิให้เกิด อุบัติเหตุ หรืออันตรายอย่างใด ๆ และถ้ามีเหตุอย่างใด ๆ เกิดขึ้นในหน้าที่ ขณะที่ตนกระทำการควบคุมเรือนั้นอยู่ นายเรือลำนั้นต้องรายงานเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. สำหรับเรือที่ยังไม่ออกจากเขตท่าไปทะเลในทันทีทันใด ถัดเวลา ที่เกิดเหตุ ให้ยื่นรายงานต่อเจ้าท่าภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าเรือลำนั้น กำลังจะออกจากท่าไปสู่ทะเล ก็ให้ส่งรายงานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนใน โอกาสแรกที่จะส่งได้ หรือแวะแจ้งความต่อกรมการอำเภอหรือตำรวจท้องที่ ใกล้เคียง หรือฝากรายงานนั้นไว้แก่เจ้าพนักงานศุลกากร ณ ตำบลใกล้เคียง เพื่อส่งให้เจ้าท่าต่อไป รายงานนั้นต้องแจ้งให้ชัดเจนถึงข้อเหล่านี้
(1) ตำบลที่เกิดเหตุพร้อมทั้งแผนที่สังเขปถ้าสามารถจะทำได้
(2) วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุ
(3) ชื่อเจ้าของเรือหรือตัวแทน และเลขทะเบียนเรือ
(4) สาเหตุที่เกิดและกรณีแวดล้อม
(5) ความเสียหายที่ได้รับ
(6) ถ้าเป็นเรือที่มีสมุดปูม ก็ให้คัดข้อความประจำวันที่จดไว้ในสมุดปูม ทั้งปากเรือและท้องเรือแนบมาด้วย
2. สำหรับเรืออื่น ๆ นอกจากในอนุมาตรา 1 ให้รายงานเหตุที่เกิด ขึ้นนั้นต่อเจ้าท่า หรือแจ้งความต่อกรมการอำเภอ หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียง ภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมง
3. กรมการอำเภอหรือตำรวจท้องที่ เมื่อได้รับแจ้งความแล้วให้ไต่สวน และจัดการไปตามหน้าที่ และให้รีบส่งสำเนาการไต่สวนนั้นไปให้เจ้าท่าท้องถิ่นหรือ กรมเจ้าท่าทราบ *[มาตรา 102 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]
มาตรา 103* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 99 มาตรา 100 หรือมาตรา 102 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อย บาทถึงสองพันบาท *[มาตรา 103 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 104 เรือกลไฟเล็กและเรือยนต์ทุกลำ เมื่อเวลาเดินต้อง มีโคมไฟสีเขียวไว้ข้างแคมขวาดวงหนึ่ง โคมไฟสีแดงข้างแคมซ้ายดวงหนึ่งและ โคมไฟสีขาวอย่างแจ่มแขวนไว้ในที่เด่น สูงจากดาดฟ้า ให้ถูกต้องตามที่จะ กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ
มาตรา 105 เรือทุกลำและแพไม้ทุกแพที่ทอดสมอ หรือผูกอยู่กับหลัก หรือกำลังเดินหรือล่องอยู่นั้น ต้องแขวนโคมสีขาวดวงหนึ่งไว้ในที่เด่นให้เป็น ที่แลเห็นได้จากทุกทิศ แต่ถ้าจอดผูกเทียบอยู่กับฝั่งแม่น้ำไม่จำเป็นต้องมีโคมไฟไว้ เช่นนี้ก็ได้
มาตรา 106 เรือลำเลียงและเรือโป๊ะจ้ายทุกลำ ถ้าเป็นเรือที่เดิน ด้วยเครื่องจักรอย่างเรือไฟ ต้องมีโคมไฟเหมือนอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือกลไฟ ถ้าเป็นเรือเดินด้วยใบฉะนั้นต้องใช้โคมไฟตามอย่างที่บัญญัติไว้สำหรับเรือใบที่ กำลังเดิน
มาตรา 107 เรือทุกลำที่อยู่ในพ่วงที่กำลังเดินหรือทอดสมออยู่ก็ดี ต้องจุดโคมไฟสีขาวไว้ในที่เด่นแลเห็นง่าย ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตก จนถึงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ชัดว่า หมู่เรือที่พ่วงนั้นยาวและกว้าง เท่าใด
มาตรา 108 ที่ตำบลสำเภาจมปากน้ำเจ้าพระยานั้น เมื่อมีเรือกำปั่น สองลำแล่นมาจะสวนกัน ถ้าเห็นว่าจะสวนกันที่ตรงหรือเกือบตรงข้างเรือทุ่นไฟ หมายตำบลสำเภาจม ก็ให้เรือลำที่ทวนน้ำนั้นหยุดหรือรอแล่นช้า ๆ จนกว่าเรืออีก ลำหนึ่งจะได้แล่นพ้นเรือทุ่นไฟนั้นโดยเรียบร้อยแล้ว
มาตรา 109 เรือโป๊ะจ้ายและเรือใบทุกอย่าง เมื่อแล่นก้าวขึ้นล่อง ตามลำแม่น้ำหรือตามช่องแคบ ถ้ามีเรือกลไฟลำใดเดินอยู่ในฟากน้ำหรือร่องที่ ไม่ผิดหรือเดินแอบฝั่งอย่างใกล้พอสมควรแก่ที่จะไม่ให้เป็นอันตรายแก่เรือลำนั้น ห้ามมิให้เรือที่แล่นก้าวนั้นแล่นผ่านตัดหน้าเรือ หรือแล่นก้าวใกล้ถัดหน้า เรือกลไฟนั้นเป็นอันขาด ในแม่น้ำหรือในช่องน้ำที่แคบ ห้ามมิให้เรือกลไฟเล็กหรือเรือยนต์ พยายามแล่นผ่านหน้าเรือกำปั่นไฟโดยอย่างที่อาจให้เกิดโดนกันขึ้นได้
มาตรา 110* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 104 มาตรา 105 มาตรา 106 มาตรา 107 มาตรา 108 หรือ มาตรา 109 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 110 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ค) ว่าด้วยเรือถอยออกจากอู่
มาตรา 111 ในตอนลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเรือเดินทะเลเดินได้นั้น เมื่อมีเรือลำใดกำลังถอยออกจากอู่หรือถอยลงจากท่าลาดในเวลากลางวันต้อง มีทุ่นรูปกลมสีดำลูกหนึ่งชักขึ้นไว้ที่เสาหรือที่เด่นแห่งหนึ่งที่ปากอู่หรือท่าลาดนั้น ให้ เรือต่าง ๆ ที่เดินขึ้นล่องในแม่น้ำแลเห็นได้ชัด เมื่อก่อนหน้าจะถอยออกจากอู่ หรือท่าลาดให้ชักลูกทุ่นขึ้นไว้เพียงครึ่งเสา เมื่อกำลังถอยออกให้ชักขึ้นถึงปลายเสา ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนให้ใช้โคมไฟสีแดงแทน และทำอย่างวิธีเดียวกันกับลูกทุ่นสีดำ
มาตรา 112* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 111 ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 112 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ฆ) ว่าด้วยทุ่นและเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ
มาตรา 113 ห้ามมิให้ผู้ใดมีหรือวางทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูก จอดเรือในน่านน้ำแม่น้ำหรือทำเลทอดสมอจอดเรือใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาต จากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและกระทำตามข้อบังคับ กำกับอนุญาต และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้น จะกำหนดแต่บัญญัติที่ว่านี้ไม่ใช้ตลอดถึงทุ่นและเครื่องหมายหรือเครื่องผูกจอดเรือ ของกระทรวงทหารเรือ ซึ่งจอดไว้ชั่วคราวในลำน้ำสำหรับการตรวจเซอร์เวย์ ทำแผนที่
มาตรา 114 ห้ามมิให้ผู้ใดเอาเรือเก็บสินค้าหรือเรือชนิดใด ๆ ที่คล้ายเรือเก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นเรือทุ่น หรือสำหรับบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ทอดสมอ อยู่เป็นการประจำในน่านน้ำลำแม่น้ำ หรือทำเลทอดจอดเรือตำบลใด ๆ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ และโดยต้องถือและ กระทำตามข้อบังคับกำกับอนุญาต และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามซึ่งเจ้าท่าหรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่นั้นจะกำหนด
มาตรา 115 ทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูกจอดเรือ ซึ่งจะได้อนุญาต ตามความในมาตรา 113 นั้น ให้ใช้สำหรับเรือของผู้ที่ได้รับอนุญาตฝ่ายเดียว ถ้าเรืออื่นจะอาศัยใช้ผูกจอด ต้องได้รับอนุญาตของผู้นั้นก่อนจึงทำได้
มาตรา 116* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 113 มาตรา 114 หรือมาตรา 115 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และ ปรับเป็นรายวันวันละห้าร้อยบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และเจ้าท่าหรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จะสั่งให้รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายทุ่นหรือเครื่องสำหรับผูก จอดเรือนั้นด้วยก็ได้ *[มาตรา 116 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 117* ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำ เข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้ รับอนุญาตจากเจ้าท่า หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง โดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและ การล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้งพร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณา อนุญาตให้แล้วเสร็จด้วย เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคำขอถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและลักษณะที่ กำหนดไว้ในกฎกระทรวงตามวรรคสองแล้ว เจ้าท่าต้องอนุญาตภายในระยะ เวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว *[มาตรา 117 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 117 ทวิ* ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตาม มาตรา 117 ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดใน กฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าสิบบาท และถ้าเป็นอาคาร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจให้เสียเป็น สองเท่าของอัตราดังกล่าว ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวถูกปลูกสร้างขึ้น โดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้เสียค่าตอบแทนเป็นสามเท่า ของอัตราดังกล่าว การกำหนดค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงสภาพของแต่ละท้องที่ และประโยชน์ที่ผู้ปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองพึงได้รับ ค่าตอบแทนที่เก็บได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล หรือองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แล้วแต่กรณี ที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นอยู่ในเขต ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร จะออกกฎกระทรวงยกเว้นหรือลดหย่อน ค่าตอบแทนให้หน่วยงานหรือบุคคลใดก็ได้ *[มาตรา 117 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 118* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117 หรือผู้ใดได้รับอนุญาตตาม มาตรา 117 แล้วปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตรา ไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท *[มาตรา 118 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 118 ทวิ* ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 117 หรือผู้รับอนุญาต ตามมาตรา 117 ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายใน ระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของ หรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือ สิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้วให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอน อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืน มาตรา 117 จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือ สิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่ เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณี ที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการ ให้มีการรื้อถอน ในกรณีที่เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลตามวรรคสาม ให้เจ้าท่าใช้ความระมัดระวังตามควรแก่พฤติการณ์ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครอง อาคารหรือสิ่งอื่นใดจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากเจ้าท่าไม่ได้ และเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่ยอมชดใช้ ค่าใช้จ่ายตามวรรคสี่ภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่กรณี หรือใน กรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคมนำวัสดุที่ถูกรื้อถอนรวมทั้งสิ่งของที่ขนออกจากอาคารหรือ สิ่งอื่นใด ส่วนที่มีการรื้อถอนออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เงินที่ได้จากการ ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นให้นำไปชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เจ้าท่าได้จ่ายไปในการ จัดการรื้อถอนและค่าตอบแทนตามมาตรา 118 และถ้ามีเงินเหลือจากการชดใช้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เจ้าท่าเก็บรักษาไว้ เพื่อคืนให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่มา รับคืนภายในหนึ่งปีให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีที่เจ้าท่าจะดำเนินการตามวรรคหนึ่งและอาคารหรือสิ่งอื่นใด ดังกล่าวมีลักษณะซึ่งอาจอนุญาตได้และเจ้าของหรือผู้ครอบครองยอมชำระค่าปรับ ตามที่เจ้าท่ากำหนดตามอัตราในมาตรา 118 แล้ว เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้เสียค่าตอบแทนเป็น สองเท่าของมาตรา 117 ทวิ *[มาตรา 118 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 118 ตรี*ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนตามที่กำหนดใน กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 117 ทวิ ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงิน ค่าตอบแทนที่ค้างชำระ *[มาตรา 118 ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]
มาตรา 119* ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้หิน กรวด ทราย ดิน โคลน อับเฉา สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใด ๆ ยกเว้นน้ำมันและ เคมีภัณฑ์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจร ของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันจะเป็นเหตุให้เกิดการตื้นเขิน ตกตะกอนหรือสกปรก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการ ขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย *[มาตรา 119 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
มาตรา 119 ทวิ* ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือ ทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยอันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อ สิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับ ไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการแก้ไขสิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย *[มาตรา 119 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]
มาตรา 120* ให้เจ้าท่ามีหน้าที่ดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทาง เรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย ห้ามมิให้ผู้ใดขุดลอก แก้ไข หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการ เปลี่ยนแปลงร่องน้ำทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบหรือทะเลภายใน น่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาทและให้เจ้าท่าสั่งให้หยุดกระทำการดังกล่าว *[มาตรา 120 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]
(ง) ว่าด้วยเรือที่เป็นอันตรายลง ฯลฯ
มาตรา 121* เมื่อมีเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดจมลง หรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้เจ้าของหรือ ตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายโดยพลัน ด้วยเครื่องหมายตามที่เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เห็นสมควร สำหรับเป็น ที่สังเกตในการเดินเรือทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน จนกว่าเจ้าของหรือ ตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นจะได้กู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการ อย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่งอื่นใดซึ่งได้จมลงหรืออยู่ในสภาพที่อาจเป็น อันตรายแก่การเดินเรือออกจากที่นั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด ถ้ามิได้จัดทำเครื่องหมายแสดงอันตรายหรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตาม วรรคหนึ่ง ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่มีอำนาจจัดทำเครื่องหมายแสดง อันตราย หรือกู้ รื้อ ขน ทำลายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เรือหรือสิ่ง อื่นใด และทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดให้พ้นจากสภาพที่อาจเป็นอันตรายแก่การ เดินเรือ โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าเรือไทย เรือต่างประเทศหรือสิ่งอื่นใดตามวรรคหนึ่ง มีสิ่งซึ่งก่อ หรืออาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือ สิ่งอื่นใดนั้นขจัดหรือป้องกันมลพิษให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนด หากไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ มีอำนาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อขจัดหรือป้องกันมลพิษนั้นได้ โดยเรียก ค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น ในกรณีที่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นไม่ยอมชดใช้ ค่าใช้จ่ายตามวรรคสองหรือวรรคสามภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากำหนดตามควรแก่ กรณี หรือไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น ให้เจ้าท่า ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำเรือหรือสิ่งอื่นใดและ ทรัพย์สินที่อยู่ในเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นยังไม่เพียงพอ ชดใช้ค่าใช้จ่าย เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นต้องชดใช้ส่วนที่ ยังขาด แต่ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนั้นเมื่อหักค่าใช้จ่าย แล้วเหลือเท่าใดให้คืนเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้นหรือเจ้าของทรัพย์สิน เว้นแต่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือหรือสิ่งอื่นใดนั้น หรือเจ้าของทรัพย์สิน ให้เงินที่เหลือนั้นตกเป็นของแผ่นดิน *[มาตรา 121 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2522]
(จ) ว่าด้วยแตรหวีดเป่าด้วยแรงสติม ฯลฯ
มาตรา 122 ห้ามมิให้เรือกำปั่นไฟ หรือเรือกลไฟเล็กที่ทอดสมอ อยู่ก็ดีหรือกำลังเดินอยู่ก็ดี เป่าแตรหวีดนอกจากเฉพาะสำหรับความสะดวกใน การเดินเรือ หรือเพื่อป้องกันมิให้โดนกันกับเรืออื่นและเสียงแตรที่เป่าขึ้นนั้น ห้ามมิให้เป่านานเกินกว่าสมควร ข้อบังคับที่ว่านี้ให้ใช้ได้สำหรับแตรเรือยนต์ เหมือนกัน
มาตรา 123 ภายในเขตท่าเรือกรุงเทพฯ ห้ามมิให้เรือลำใดใช้แตร ที่มีเสียงห้าวหรือเสียงครางครวญ เว้นไว้แต่เรือมาจากต่างประเทศที่ไม่มีแตร อย่างอื่นนอกจากอย่างนั้น
ว่าด้วยการยิงปืน
มาตรา 124 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ นอกจากได้รับอนุญาตจาก เจ้าท่าหรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดยิงปืนจากเรือกำปั่นหรือเรือเล็ก ลำใดเป็นอันขาด เว้นไว้แต่สำหรับเป็นเครื่องสัญญาณว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นแก่เรือ
ว่าด้วยการตีกลองตีฆ้องและจุดดอกไม้เพลิง
มาตรา 125 ภายในเขตท่ากรุงเทพฯ และนอกจากได้รับอนุญาตจาก เจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดตีกลอง ตีฆ้อง ปล่อยหรือจุดดอก ไม้เพลิงในระหว่างเวลาตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงเวลาย่ำรุ่งเป็นอันขาด
มาตรา 126* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 122 มาตรา 123 มาตรา 124 หรือมาตรา 125 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท *[มาตรา 126 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ฉ) ว่าด้วยทรัพย์สิ่งของที่ลืมไว้ในเรือและทรัพย์สิ่งของ ที่ลอยพลัดอยู่ในแม่น้ำ
มาตรา 127 เมื่อมีทรัพย์สิ่งของอย่างใดของคนโดยสาร หรือของ คนอื่นลืมไว้ในเรือกำปั่นหรือเรือเล็กลำใด และนายเรือลำนั้นไม่สามารถที่จะคืน ให้แก่เจ้าของได้ ท่านว่าให้เอาไปส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้และ ทำคำชี้แจงเหตุที่เกี่ยวข้องยื่นไว้ด้วย
มาตรา 128 ผู้ใดพบและเก็บทรัพย์สิ่งของในแม่น้ำอันเป็นของ ๆ คนอื่นที่หายไป เช่น ไม้ซุงหรือไม้กระดานที่เป็นของพลัดจากแพหรือเรือหรือ สิ่งของอย่างอื่น ๆ ท่านว่าต้องนำส่งไว้ยังโรงพักกองตระเวนที่ตั้งอยู่ใกล้
มาตรา 129 เมื่อมีทรัพย์สิ่งของมาส่งไว้ดังนั้น กองตระเวนต้องคืน ให้แก่เจ้าของถ้าหากรู้จักตัว ถ้าหาเจ้าของไม่ได้ก็ให้ประกาศโฆษณาไว้ เมื่อพ้น กำหนดเวลา 3 เดือนไปแล้ว ท่านว่าให้ขายทรัพย์สิ่งของนั้นโดยวิธีขายทอดตลาด ขายได้เงินเท่าใดให้ชักไว้ร้อยละสิบสำหรับผู้ที่พบและเก็บทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ เหลือจากนั้นให้ส่งไว้เป็นของรัฐบาล แต่ในการที่จะคืนเจ้าของก็ดี หรือจะขาย ทอดตลาดก็ดี ท่านให้กองตระเวนสืบให้ทราบเสียก่อนว่าทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ จะต้องเสียภาษีศุลกากรหรือไม่
มาตรา 130* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 127 มาตรา 128 หรือ มาตรา 129 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท *[มาตรา 130 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]
(ช) ว่าด้วยคำเตือนสำหรับนายเรือกำปั่น
มาตรา 131 เมื่อเวลาอนุญาตให้ลูกเรือลาพัก นายเรือควรชี้แจงแก่ ลูกเรือให้ทราบว่าเวลาขึ้นบกอย่าให้มีมีดที่มีฝักหรืออาวุธที่อาจทำอันตรายได้อย่าง อื่น ๆ เช่น ลูกดิ่ง ฯลฯ ติดตัวไปด้วยเป็นอันขาด ตามความในมาตรา 335 ข้อ 2 แห่งประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ท่านว่าถ้าผู้ใดมีอาวุธอย่างใดเช่นว่ามานั้น เข้าไปในถนนหรือสาธารณสถาน กองตระเวนมีอำนาจที่จะจับกุมผู้นั้นได้และถ้าพิจารณาเป็นสัตย์ต่อหน้าศาลให้ ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าสิบสองบาท และให้ริบอาวุธนั้นเสียด้วย
มาตรา 132 นายเรือกำปั่นทุกคนต้องกระทำตามข้อบังคับและคำสั่ง ที่สมควรทุกอย่างของเจ้าท่า ในการที่จะให้เคลื่อนหรือย้ายเรือที่ตนควบคุมอยู่นั้น ไปยังที่ใด ๆ
มาตรา 133 ห้ามมิให้พาเอาศพเข้ามาในน่านน้ำไทย จากเมืองท่า ต่างประเทศ นอกจากศพที่มีหีบหรือเครื่องหุ้มห่ออย่างมิดชิดแน่นหนารั่วไม่ได้และ มีหนังสือใบพยานกำกับศพมาด้วยฉบับหนึ่ง ชี้แจงว่าตายด้วยเหตุอะไรเป็นหนังสือ ใบพยานที่แพทย์ซึ่งมีวุฒิสมควรตามกฎหมายได้ทำให้และกงสุลไทยในเมืองท่าที่มา จากนั้นได้ลงชื่อเป็นพยานหรือถ้าไม่มีกงสุลไทย เจ้าพนักงานฝ่ายตุลาการได้ลงชื่อ เป็นพยาน เมื่อศพมาถึงน่านน้ำไทย นายเรือต้องรีบแจ้งความให้ผู้นำร่อง เจ้าท่า หรือเจ้าพนักงานแพทย์สุขาทราบโดยพลัน