marinerthai

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ภาคที่ 3 ข้อบังคับพิเศษ

ภาคที่ 3 ข้อบังคับพิเศษ

หมวดที่ 1 ข้อบังคับสำหรับเรือกำปั่นและเรือต่าง ๆ ที่บรรทุกสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้

มาตรา 189* ให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชั้นของสิ่งของและสิ่งของที่อาจทำให้ เกิดอันตรายได้ *[มาตรา 189 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]

มาตรา 190* ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออก กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็น และการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ในการขนส่งตามหมวดนี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้ *[มาตรา 190 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 191* การขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ จากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่ง การขนถ่ายจากเรือขึ้นบก หรือการขนถ่าย จากบกลงเรือ นายเรือหรือตัวแทนเจ้าของเรือต้องแจ้งให้เจ้าท่าทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงก่อนการขนถ่าย และห้ามมิให้ขนถ่ายจนกว่าจะได้รับ อนุญาตจากเจ้าท่า ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมี อำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเว้นเรือชนิดใดหรือการขนถ่ายประเภทใด ที่จะไม่ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งได้ *[มาตรา 191 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 192* ให้อธิบดีกรมเจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรือชนิดหนึ่งชนิดใดที่บรรทุก สิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ต้องชักธงหรือแสดงเครื่องหมายหรือ ต้องให้สัญญาณใด ๆ ตามที่กำหนดได้ *[มาตรา 192 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 193* ในการส่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้โดย ทางเรือ ผู้ส่งต้องจัดให้มีฉลากแสดงสภาพอันตรายของสิ่งของนั้นให้ชัดเจนที่ หีบห่อ และต้องแจ้งเป็นหนังสือเกี่ยวกับสภาพอันตราของสิ่งของนั้น ตลอดจน ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งให้นายเรือทราบในขณะหรือก่อนการนำสิ่งของนั้นขึ้นเรือ ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือรับขนโดยทางเรือซึ่งสิ่งของที่อาจทำให้เกิด อันตรายขึ้นได้ที่มิได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง หรือมีการปฏิบัติตาม แต่มีข้อความอันเป็นเท็จ *[มาตรา 193 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 194* นายเรือต้องตรวจสอบอย่างระมัดระวังตามควรแก่ กรณีมิให้มีการนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือโดยฝ่าฝืน กฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 190 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการลักลอบนำสิ่งของที่อาจทำให้เกิด อันตรายขึ้นได้ขึ้นบนเรือ นายเรืออาจปฏิเสธที่จะรับหีบห่อนั้นได้ เว้นแต่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองจะให้เปิดหีบห่อเพื่อตรวจดู *[มาตรา 194 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 195* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 192 หรือ มาตรา 194 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 195 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 196* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 190 มาตรา 191 หรือมาตรา 193 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 196 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 197* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 198* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 199 เรือกำปั่นถังทุกลำที่เข้ามาถึงในเขตท่าหรือแม่น้ำ ใด ๆ ในประเทศไทย และมีน้ำมันปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางมาใน เรือท่านว่าเรือนั้นต้องรีบไปยังที่ท่าขนสินค้าซึ่งได้รับอนุญาตสำหรับขนน้ำมัน ปิโตรเลียมอย่างนั้นโดยพลัน และห้ามมิให้เรือลำนั้นถอยไปจากที่นั้นโดยมิได้ รับอนุญาตจากเจ้าท่า

มาตรา 200 ในระหว่างเวลาที่เรือกำปั่นถังลำใด ซึ่งมีน้ำมัน ปิโตรเลียมอย่างบรรทุกในถังระวางอยู่ในเรือยังพักอยู่ในเขตท่าหรือลำแม่น้ำ ตำบลใด ๆ ในประเทศไทย ท่านห้ามมิให้ใช้ไฟหรือโคมนอกจากโคมไฟฟ้า บนเรือหรือในที่ใกล้ชิดกับเรือลำนั้น ในขณะที่ถังระวางหรือห้องบรรทุกน้ำมัน ปิโตรเลียมยังเปิดอยู่หรือกำลังถ่ายหรือรับน้ำมันปิโตรเลียมหรือในขณะที่ฝา ครอบปากยังเปิดอยู่ และห้ามบรรดาคนในเรือนั้นทุกคนมิให้สูบยาหรือมีไม้ขีดไฟ อยู่กับตัว แต่ที่บังคับไว้เหล่านี้ ต้องถือว่าไม่เป็นการห้ามไฟครัวหรือไฟในห้อง เครื่องจักรสำหรับให้เกิดสติมพอให้เรือถอยเข้าหรือถอยออกที่ท่าขนสินค้า เช่นว่ามาแล้วหรือออกไปยังทะเล หรือเพื่อให้มีแรงสติมสำหรับทำการถ่าย น้ำมันปิโตรเลียมที่ยังมีอยู่นั้นออกจากเรือ

มาตรา 201* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 202* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 203* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 204* ผู้ใดเท ทิ้ง หรือปล่อยให้น้ำมันปิโตรเลียมหรือน้ำมัน ที่ปนกับน้ำรั่วไหลด้วยประการใด ๆ ลงในเขตท่า แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 204 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 205 ในไม่ว่าเวลาใด ห้ามมิให้เรือกำปั่นถังเข้าไปยังท่า หรือเข้าจอดเทียบท่ามากกว่าลำหนึ่งและในขณะที่เรือกำปั่นถังลำใดกำลังถ่าย น้ำมันปิโตรเลียมจากเรือ หรือรับน้ำมันปิโตรเลียมลงบรรทุกในเรือ ห้ามมิให้ เรือกำปั่นหรือเรือลำอื่นหรือเรือสำเภาลำหนึ่งลำใดอยู่เทียบท่าเดียวกัน หรือ เทียบกับเรือกำปั่นถังลำนั้นเป็นอันขาด

มาตรา 206 เรือกำปั่นถังลำใดที่บรรทุกน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในถัง ระวางเรือหรือที่พึงจะเสร็จการถ่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่บรรทุกมาเช่นนั้นจากเรือ ก็ดี ท่านห้ามมิให้เคลื่อนจากที่ ๆ จอดอยู่นั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ถ้า และเจ้าท่าเห็นเป็นที่พอใจว่าเรือกำปั่นถังลำใดไม่มีน้ำมันปิโตรเลียมอยู่ในเรือ และได้ล้างชำระเปิดให้อากาศเข้าออกในถังระวางเรือโดยสะอาดสนิทแล้ว เจ้าท่าอนุญาตให้เรือลำนั้นเลื่อนไปจอดยังที่ใดตามที่จะกำหนดให้ไว้นั้นก็ได้

มาตรา 207* [ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 208* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 199 มาตรา 200 มาตรา 205 หรือมาตรา 206 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 208 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

หมวดที่ 3* ข้อบังคับว่าด้วยการทอดสมอใกล้เคียงหรือ เกาสมอข้ามสาย ท่อ หรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ

*[หมวดที่ 3 ในภาค 3 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]

มาตรา 209* สายโทรเลข สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าหรือสายอื่นใด หรือท่อหรือสิ่งก่อสร้างที่ทอดใต้น้ำ ในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเล ภายในน่านน้ำไทย ให้เจ้าท่าจัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ ณ ที่ซึ่งสาย ท่อหรือ สิ่งก่อสร้างนั้นทอดลงน้ำ เครื่องหมายนั้นให้ทำเป็นเสาสูงมีป้ายใหญ่สีขาวรูปกลม ติดที่ปลายเสาในกลางป้ายมีข้อความเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “สาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำ ห้ามทอดสมอและเกาสมอ” และในกรณีที่เห็นสมควร เจ้าท่าจะจัดให้มีการวางทุ่นหรือเครื่องหมายอื่นใดแสดงไว้ด้วยก็ได้ ห้ามมิให้เรือลำใดทอดสมอภายในระยะข้างละหนึ่งร้อยเมตรนับจากที่ ซึ่งสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำทอดอยู่ หรือเกาสมอข้างสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้าง ที่ทอดใต้น้ำนั้น *[มาตรา 209 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 210* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดทอดสมอเรือภายใน เขตที่ต้องห้ามตามความในหมวดนี้ หรือเกาสมอ หรือลากแห อวน เครื่องจับ สัตว์น้ำหรือเครื่องมือใด ๆ ข้ามเขตเหล่านั้น ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ สามร้อยบาทถึงสามพันบาท และถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความ เสียหายแก่สาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่ทอดใต้น้ำด้วย ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมสาย ท่อหรือสิ่งก่อสร้างใต้น้ำ ที่เสียหายเนื่องจากการที่ได้ทอดสมอหรือเกาสมอ หรือลากของข้ามสาย ท่อหรือ สิ่งก่อสร้างนั้นด้วย ในระหว่างการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดตามวรรคหนึ่ง เจ้าท่ามีอำนาจที่จะกักเรือที่เกี่ยวข้องไว้ได้ จนกว่าจะมีประกันมาวางสำหรับเงิน ค่าปรับหรือค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตามที่เจ้าท่ากำหนดตามควร แก่กรณี *[มาตรา 210 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 211 ตามความในหมวดนี้ เมื่อเรือลำใดแล่นข้ามเขตอัน ต้องห้ามดังที่ว่ามาแล้วแห่งใด ถ้ามิได้ชักสมอขึ้นพ้นจากน้ำจนแลเห็นได้ ท่านให้ ถือว่าเรือลำนั้นเท่ากับได้เกาสมอข้ามเขตที่ต้องห้าม

หมวดที่ 4 ว่าด้วยค่าธรรมเนียมประภาคาร

มาตรา 212* ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 213 เรือเดินในทะเลที่เข้ามา ในน่านน้ำไทย หรือที่เดินจากท่าหนึ่งถึงอีกท่าหนึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำและโคมไฟ แก่เจ้าพนักงานที่ได้แต่งตั้งไว้เพื่อการนั้นตามอัตราและวิธีการที่จะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้เป็นครั้งคราว *[มาตรา 212 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]

มาตรา 213* เรือต่อไปนี้ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ ตามมาตรา 212 คือ (1) เรือของรัฐบาลไทย (2) เรือยอชต์ของเอกชน (3) เรือของรัฐบาลต่างประเทศ (4) เรือที่ใช้เฉพาะขนถ่ายสินค้าหรือคนโดยสารไปมาภายในเขต ท่าเดียวกัน หรือระหว่างท่ากับที่ทอดจอดเรือภายนอกแห่งท่านั้น (5) เรือค้าชายฝั่งขนาดบรรทุกต่ำกว่า 800 หาบ (6) เรือเดินทางซึ่งมีแต่อับเฉาไม่ได้ค่าระวางบรรทุกและไม่มี คนโดยสาร (7) เรือที่เข้ามาเฉพาะจัดหาเชื้อเพลิง เครื่องพัสดุหรือสะเบียง สำหรับเรือลำนั้นเท่านั้น (8) เรือที่เข้ามาเพราะถูกพายุ หรือเพื่อทำการซ่อมแซม หรือ เพราะเกิดเสียหาย แต่เรือที่ว่านี้จะต้องไม่ขนถ่ายสินค้าลงหรือขึ้นนอกจากสินค้า ที่จำต้องขนลงเพื่อการซ่อมแซมที่ว่านี้ และภายหลังได้ขนสินค้านั้นคืนขึ้นเรือ *[มาตรา 213 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]

มาตรา 214* [ยกเลิกโดยมาตรา 3 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]

มาตรา 215* เรือลำใดซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมประภาคาร ทุ่นหมายร่องน้ำ และโคมไฟ มาขอใบปล่อยเรือ ให้เจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ศุลกากรหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีหน้าที่ออกใบปล่อยเรือขอตรวจดูใบเสร็จ ค่าธรรมเนียมนั้น ถ้าปรากฏว่าได้เสียค่าธรรมเนียมแล้ว จึงให้ออกใบปล่อย เรือให้ *[มาตรา 215 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 216* นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดพยายามจะนำเรือไป จากน่านน้ำไทย โดยไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 212 หรือไม่ยอมให้ วัดขนาดเรือที่ตนเป็นผู้ควบคุมเพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 216 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

หมวดที่ 5 ข้อบังคับสำหรับการป้องกันโรคภยันตราย

มาตรา 217 เมื่อได้รับข่าวว่ามีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬโรค ไข้จับ หรือโรคร้ายต่าง ๆ ที่มีอาการติดกันได้ เกิดขึ้นหรือมีอยู่ ในเมืองท่าหรือตำบลใด ๆ ภายนอกพระราชอาณาเขตไทย ให้เสนาบดีกระทรวง นครบาลมีอำนาจชอบด้วยกฎหมาย ออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และ แจ้งประกาศไปยังกงสุลต่างประเทศทั่วกันว่า เมืองท่าหรือตำบลนั้น ๆ มีโรคร้าย ที่ติดกันได้แล้วให้บังคับบรรดาเรือที่จะมาจากเมืองท่าหรือตำบลนั้น ให้ไปอยู่ที่ สถานีหรือทำเลทอดสมอเพื่อป้องกันโรคภยันตราย และให้กักอยู่ที่นั้นจนกว่า เจ้าพนักงานแพทย์ กระทรวงนครบาล หรือเจ้าพนักงานรอง ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า เจ้าพนักงานแพทย์นั้นจะอนุญาตปล่อยให้ไปได้

มาตรา 218 ทำเลสำหรับทอดสมอเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรค ภยันตรายในน่านน้ำไทยนั้น คือ

(1) ที่เกาะพระ……………หน้าสถานีป้องกันโรคภยันตราย

(2) ที่เกาะสีชัง…………………….หน้าด่านศุลกากร

(3) ที่อ่างศิลา……………………..หน้าด่านศุลกากร

(4) ที่เมืองสมุทรปราการในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าด่านศุลกากร

(5) ที่กรุงเทพฯ ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าโรงพักกองตระเวนตำบล บางคอแหลม

มาตรา 219 สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้นตั้งอยู่ที่เกาะพระ หรือ ณ ตำบลใด ๆ อีกสุดแล้วแต่จะกำหนดต่อภายหลัง

มาตรา 220 ถ้าเรือกำปั่นลำใดที่เข้ามาถึงน่านน้ำไทย มีคนเป็น ไข้กาฬโรค ไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้จับ หรือโรคร้ายอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ติดกันได้มาในเรือก็ดี หรือเป็นมาแล้วภายใน 14 วัน ก่อนวันที่เรือมาถึงก็ดี นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือลำนั้นต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นไว้ และต้องทอดสมอจอดเรืออยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย จนกว่าเจ้าพนักงาน แพทย์จะอนุญาตปล่อยให้ไปจึงไปได้ ถ้าเป็นเรือที่จอดอยู่แล้วในน่านน้ำไทย นายเรือหรือผู้บังคับการในเรือลำนั้น ต้องชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้ายขึ้นทันที และต้องถอยเรือไปจอดอยู่ยังตำบลที่เจ้าพนักงานแพทย์เห็นสมควร

มาตรา 221 เจ้าพนักงานแพทย์ต้องรีบไปไต่สวนเหตุการณ์ที่เรือนั้น และถ้าเห็นเป็นการจำเป็นสำหรับความป้องกันโรคภยันตรายแก่บ้านเมืองที่จะต้อง กักเรือและบรรดาคนในเรือลำนั้นไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตราย ก็ให้มีคำสั่ง แก่นายเรือหรือผู้ที่บังคับการในเรือนั้น ให้พาเรือและคนในเรือไปอยู่ในความ กักด่านป้องกันโรคภยันตราย

มาตรา 222 เมื่อมีคำสั่งดังนั้นเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุม เรือนั้นจะต้องเอาเรือนั้นไปยังตำบลที่เจ้าพนักงานจะชี้ให้จอด และต้องจอด กักด่านอยู่ที่นั้นจนกว่าจะมีอนุญาตปล่อยให้ไปได้ตามข้อบังคับในกฎหมายนี้

มาตรา 223* บรรดาเรือที่ต้องกักด่านสำหรับป้องกันโรคภยันตราย ตามคำสั่งนั้น ในเวลากลางวันให้ชักธงสำหรับบอกว่ามีโรคร้าย คือ ธงสีเหลือง มีธงประมวญอาณัติสัญญาสากลอยู่ข้างล่าง และในเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟ สีแดงไว้ที่ปลายเสาหน้า *[มาตรา 223 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติฯ พระพุทธศักราช 2456]

มาตรา 224 บรรดากองเรือรักษาที่เฝ้าอยู่นั้น ในเวลากลางวัน ให้ชักธงสีเหลืองอย่างเดียวนั้นไว้ที่ท้ายเรือ และในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจน พระอาทิตย์ขึ้นให้มีโคมไฟไว้ทั้งที่หัวเรือและท้ายเรือ

มาตรา 225 ห้ามไม่ให้เรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย ถอยไปจากที่ โดยมิได้รับหนังสืออนุญาตของเจ้าพนักงานแพทย์

มาตรา 226 ห้ามไม่ให้เรือทั้งหลาย นอกจากเรือของเจ้าพนักงาน แพทย์เข้าเทียบข้างเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และห้ามไม่ให้คน ผู้ใดไปมาติดต่อกับเรือที่ต้องกักนั้น และห้ามไม่ให้คนผู้ใดในเรือที่ต้องกัก นั้นไปมาติดต่อกับบนฝั่งเว้นแต่การที่อาศัยฝากธุระโดยทางเจ้าพนักงานแพทย์นั้น ยอมให้กระทำได้

มาตรา 227 เมื่อเรือลำใด ที่มาถึงเมืองท่าใด ๆ ในประเทศไทย กำลังมีโรคร้ายที่ติดกันได้ในเรือหรือได้มีมาแล้วภายใน 14 วันก่อนเวลาที่เรือ มาถึงนั้นก็ดี ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์แก่เจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อ เจ้าพนักงานแพทย์ได้เอารมยาหรือทำตามวิธีป้องกันโรคร้ายอย่างใด ๆ ตามที่เห็น สมควรแก่การแล้ว ก็ให้ส่งห่อและถุงหนังสือไปรษณีย์ไปยังที่ว่าการกรมไปรษณีย์ ในเมืองนั้นได้

มาตรา 228 เมื่อมีวิธีสำหรับป้องกันความติดต่อของโรคร้ายได้โดย เสนาบดีกระทรวงนครบาลยอมเห็นชอบด้วยตามคราวที่สมควรแก่การแล้ว ก็ให้ เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจชอบด้วยกฎหมายอนุญาตให้เรือกลไฟลำใด ๆ ผ่านทาง เขตท่ารับถ่าน น้ำและเสบียง และขนสินค้าขึ้นบกได้

มาตรา 229 เมื่อเห็นเป็นการสมควร ให้เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจ บังคับให้เอาคนในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายทั้งหมด หรือแต่ บางคนขึ้นไปไว้ที่โรงพยาบาลหรือโรงพักที่สถานีป้องกันโรคของเมืองท่านั้นให้พัก อาศัยและรักษาอยู่ที่นั้นจนกว่าเจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควรให้กลับไปที่เรือ หรือย้ายไปลงเรืออื่น ทำการติดต่อฝั่งได้

มาตรา 230 เมื่อเวลามีคนที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรคภยันตราย ในเวลากลางวันให้ชักธงสีเหลือง และเวลากลางคืนให้ชักโคมไฟสีแดงขึ้นไว้เป็น สำคัญในที่ที่แลเห็นได้ง่าย

มาตรา 231 เมื่อมีธงหรือโคมไฟเป็นเครื่องหมายความกักด่าน กันโรคภยันตรายชักขึ้นไว้เช่นนั้น ห้ามไม่ให้คนผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานแพทย์ หรือคนที่เจ้าพนักงานแพทย์ให้อนุญาตนั้น ไปขึ้นบกที่โรงพักด่านป้องกันโรค ภยันตรายเป็นอันขาด

มาตรา 232 เมื่อเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องการกองรักษาสำหรับ การป้องกันรักษาด่านที่ป้องกันโรคภยันตราย ให้การเป็นไปตามข้อบังคับการ ป้องกันโรคภยันตราย ก็ให้ผู้บังคับการกองตระเวนจัดให้ตามที่ต้องการ

มาตรา 233 ห้ามไม่ให้คนผู้ใดที่ต้องกักอยู่ที่สถานีป้องกันโรค ภยันตรายไปจากที่นั้นโดยอ้างเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนที่ได้รับอนุญาตปล่อย จากเจ้าพนักงานแพทย์นั้นเป็นอันขาด

มาตรา 234 ถ้าคนผู้ใดขึ้นไปบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกันโรค ภยันตรายหรือเข้าไป หรือจอดเรือขึ้นที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายโดยมิได้ รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์ คนผู้นั้นจะต้องถูกกักด่านป้องกันโรคภยันตราย มีกำหนดเวลาตามที่เจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นสมควร

มาตรา 235 ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์มีความต้องการให้นายเรือที่ต้อง กักด่านป้องกันโรคภยันตรายจัดหาเรือ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อส่งคนโดยสาร และลูกเรือของเรือนั้น ขึ้นไปไว้ยังโรงพักสถานีป้องกันโรคภยันตราย นายเรือ ต้องปฏิบัติตามทุกประการ

มาตรา 236 ถ้ามีคนตายในเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรค ภยันตรายหรือตายในเรือที่บังคับให้ไปอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตรายก็ดี ต้องจัดการปลงศพผู้ตายตามวิธีที่เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ทำและผู้เป็นนายเรือ ลำนั้นจะต้องเป็นธุระจัดการนั้นให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแพทย์ ทุกประการ

มาตรา 237 บรรดาเรือต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้น เมื่อได้ ส่งคนโดยสารขึ้นไว้ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายแล้ว ต้องล้างและชำระเรือด้วย น้ำยากันโรคร้ายให้เป็นที่พอใจเจ้าพนักงานแพทย์ และเมื่อทำดังนั้นแล้วก็อนุญาต ปล่อยเรือลำนั้นไปจากความกักด่านได้

มาตรา 238 ผู้แทนเจ้าของเรือจะต้องรับใช้ค่าเลี้ยงดูคนที่ต้องส่งขึ้น จากเรือนั้นไปไว้ที่ด่านป้องกันโรคภยันตรายที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายออกไปแล้วตาม ใบพยานของเจ้าพนักงานแพทย์และต้องรับใช้ค่าชำระล้างเรือ และค่าพยาบาล คนโดยสารและของอื่นด้วยยากันโรคร้ายนั้นด้วย

มาตรา 239 เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องรีบแจ้งรายงาน ต่อเสนาบดีกระทรวงนครบาลในทุกครั้งที่มีเหตุสมควร ต้องเอาคนโดยสารใน เรือใด ๆ ที่เพิ่งเข้ามาถึงนั้นกักด่านป้องกันโรคภยันตราย และเมื่อต้องกักเรือ ใด ๆ เพื่อตรวจโรคร้าย และเวลาที่อนุญาตปล่อยเรือนั้นก็ต้องรายงานด้วย เหมือนกัน

มาตรา 240 เมื่อมีเรือเข้ามาจากเมืองท่าหรือตำบลใดที่มีโรค ภยันตรายที่ติดกันได้ หรือที่ชักธงบอกว่ามีโรคร้ายอยู่ในเรือก็ดี ถ้าเป็นการ จำเป็นเพื่อการเดินเรือไม่ให้เป็นอันตราย ผู้นำร่องจะขึ้นบนเรือนั้นเพื่อพามา ยังที่ทอดสมอด่านตรวจโรคภยันตรายก่อนได้รับอนุญาตแพทย์ก็ได้ แต่ถ้าภายหลัง เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจเห็นเป็นที่สมควรว่าต้องกักเรือลำนั้นที่ด่านป้องกัน โรคภยันตราย ผู้นำร่องผู้นั้นก็จะต้องถูกกักด้วย ตามลักษณะในมาตรา 272 ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 241 นายเรือหรือแพทย์ในเรือลำใด ที่เข้ามาถึงจากตำบลใด ที่มีไข้อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ หรือโรคร้ายที่ติดต่อกันได้กำลังแพร่หลายอยู่ก็ดี หรือในลำเรือนั้นได้มีคนป่วยเป็นโรคอย่างหนึ่งอย่างใดในระหว่าง 14 วันก่อนวันที่เข้ามาถึงนั้นก็ดี นายเรือหรือแพทย์ผู้นั้นมีหน้าที่จำเป็นต้องแจ้งเหตุเหล่านั้น โดยถ่องแท้แก่ผู้นำร่อง และแก่เจ้าพนักงานแพทย์ที่จะมาจอดเทียบข้างหรือขึ้น บนเรือนั้นให้ทราบ

มาตรา 242 เจ้าพนักงานแพทย์มีอำนาจที่จะขึ้นบนเรือใด ๆ ที่เข้ามา ในน่านน้ำไทย และตรวจคนในเรือนั้นได้ทุกคน และถ้าเห็นสมควรแก่การจะเรียก ดูสมุดและหนังสือสำคัญสำหรับเรือด้วยก็ได้ และเจ้าพนักงานแพทย์จะต้องพยายาม ทุกอย่างในทางที่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จะเห็นสมควรแก่การสำหรับที่จะให้ทราบ ได้ว่าเรือตลอดทั้งคนในเรือนั้นมีความสะอาดเรียบร้อยปราศจากไข้เจ็บเพียงไร

มาตรา 243 บรรดาคนที่ส่งขึ้นไว้ที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายนั้น ต้องอยู่ในความกักด่านป้องกันโรคภยันตราย ตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ คือ:- ไข้กาฬโรค ไม่เกิน 10 วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลงหรือ หายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น ไข้ทรพิษ ไม่เกิน 14 วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลงหรือ หายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น ไข้อหิวาตกโรค ไม่เกิน 10 วันตั้งแต่วันที่คนป่วยสุดท้ายตายลงหรือ หายสนิทหรือย้ายไปไว้ในที่ซึ่งไม่ปะปนกับคนอื่น

มาตรา 244 ห้ามมิให้เอาสิ่งของอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากหนังสือ และเงินตราออกจากที่ใด หรือเรือลำใดที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตราย โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานแพทย์เป็นอันขาด และบรรดาสิ่งของทุกอย่าง ที่เอาออกมาแล้วนั้นต้องชำระด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายตามวิธีที่เจ้าพนักงาน แพทย์จะสั่งให้ทำนั้นเสียก่อนจึงส่งต่อไปได้

มาตรา 245 บรรดาหนังสือและห่อสิ่งของทางไปรษณีย์ (ไปรษณีย์ วัตถุ) สำหรับส่งถึงคนที่ต้องกักด่านป้องกันโรคภยันตรายนั้น ให้ส่งไว้ยังที่ว่าการ กรมไปรษณีย์เพื่อให้รีบส่งต่อไปในโอกาสแรกที่จะส่งได้

มาตรา 246 เจ้าพนักงานแพทย์ได้ตรวจบนเรือที่ต้องกักด่านป้องกัน โรคภยันตราย หรือไปตรวจที่สถานีป้องกันโรคภยันตรายในเวลาที่มีคนต้องกักด่าน อยู่นั้นก็ดี เมื่อเวลากลับต้องชำระตนเองด้วยเครื่องยาป้องกันโรคร้ายให้เรียบร้อย เสียก่อนจึงขึ้นบกได้

มาตรา 247 ในคราวที่เจ้าพนักงานแพทย์ของรัฐบาลไทยแจ้งความ แก่นายเรือในบังคับต่างประเทศลำใดว่า จะต้องจัดการตามลักษณะในมาตรา 220 มาตรา 221 มาตรา 229 มาตรา 236 และมาตรา 242 นั้น เมื่อก่อนจะได้ ลงมือจัดการนายเรือลำนั้น ย่อมมีอำนาจชอบธรรมที่จะไปแจ้งเหตุต่อกงสุลของ ประเทศนั้นได้ และกงสุล(ถ้าเห็นสมควรแก่การ)ก็มีอำนาจที่จะมาดูในเวลาที่ ตรวจเรือต่างประเทศนั้น และจะยอมหรือไม่ยอมให้เจ้าพนักงานจัดการตาม ข้อบังคับในมาตราต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ได้

มาตรา 248* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 217 มาตรา 220 มาตรา 222 มาตรา 223 มาตรา 225 มาตรา 226 มาตรา 227 มาตรา 229 มาตรา 231 มาตรา 233 มาตรา 234 มาตรา 235 มาตรา 236 มาตรา 237 มาตรา 238 มาตรา 240 มาตรา 241 มาตรา 243 หรือมาตรา 244 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท *[มาตรา 248 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

หมวดที่ 6 ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง*

[หมวด 6 ข้อบังคับสำหรับผู้นำร่อง มาตรา 249 ถึงมาตรา 276 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) (รก.2477/-/121)]

หมวด 7 ว่าด้วยการจ้างและการเลิกจ้างคนสำหรับเรือต่าง ๆ และการสอบไล่ความรู้เพื่อรับประกาศนียบัตรสำหรับทำการตามหน้าที่ได้

มาตรา 277* ห้ามมิให้ผู้ใดทำการในเรือกลไฟ เรือยนต์ เรือเดิน ทะเล เรือบรรทุกสินค้าขนาดตั้งแต่ 100 หาบขึ้นไปซึ่งทำการติดต่อกับเรือ เดินทะเลหรือเรือซึ่งใช้เป็นเรือชูชีพประจำเรือเดินทะเล ในตำแหน่งที่กฎ ข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตร เว้นแต่เป็นผู้ที่ ได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถให้ทำการเช่นนั้นได้ *[มาตรา 277 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]

มาตรา 278* เมื่อจะออกประกาศนียบัตรเช่นว่ามาแล้ว ให้แก่ผู้ใด สำหรับทำการเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย หรือต้นกล คนใช้เครื่อง ท่านว่าผู้นั้นต้องสอบความรู้ได้แล้ว และเมื่อยื่นใบสมัครสอบนั้น ต้องมีพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจถึงเรื่องไม่เป็นคนประพฤติเสเพล ติดสุรายาเมา หรือติดยาเสพติดให้โทษ ความชำนาญการงานที่ได้ทำมา และ ความประพฤติทั่วไปนั้นด้วย แต่ถ้าผู้นั้นเป็นนายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง และ นายท้ายจะต้องแสดงว่ามีสายตาดีด้วย ในมาตรานี้ คำว่า “สรั่ง” หมายความถึงผู้ทำการควบคุมเรือลำเลียง “ไต้ก๋ง” หมายความถึงผู้ควบคุมเรือใบเดินทะเลที่มีน้ำหนักบรรทุก ตั้งแต่ 800 หาบขึ้นไป “คนถือท้าย” หมายความถึงผู้ควบคุมหรือผู้ถือท้ายหรือคนแจวท้าย ของเรือบรรทุกสินค้าที่ทำการติดต่อกับเรือเดินทะเล *[มาตรา 278 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (รก.2477/-/807)]

มาตรา 279* ให้เจ้าท่าโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทำการในเรือ ในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) การแบ่งชั้นความรู้

(2) วิธีการสอบความรู้

(3) หลักสูตร

(4) คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ

(5) ค่าธรรมเนียมในการสอบ

(6) การออกประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ

(7) รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการสอบความรู้ ข้อบังคับนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ *[มาตรา 279 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]

มาตรา 280* ประกาศนียบัตรแสดงความรู้นั้น ต้องระบุชื่อ อายุ และตำหนิรูปพรรณของผู้ถือประกาศนียบัตรและข้อความอื่น ๆ ตามที่จำเป็น และ ต้องมีรูปถ่ายของผู้ถือประกาศนียบัตรปิดไว้ด้วยประกาศนียบัตรสำหรับคนถือท้ายให้มีอายุสามปี นอกนั้นให้มีอายุห้าปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ถือต้องนำมาเปลี่ยนใหม่ ให้เรียกค่าธรรมเนียมการเปลี่ยน ประกาศนียบัตรกึ่งหนึ่งแห่งอัตราค่าธรรมเนียมเดิม และถ้าเจ้าท่าจะต้องการให้ แสดงพยานหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 278 ก็ทำได้ *[มาตรา 280 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]

มาตรา 281 บรรดาประกาศนียบัตรสำหรับความรู้ที่ได้ออกให้ไปแล้ว ก่อนเวลาประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้นั้น ให้เป็นอันใช้ได้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ ออกประกาศนียบัตรให้ไปแล้ว

มาตรา 282* ผู้ใดทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับ การตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ โดย มิได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถอันถูกต้องตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัตินี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าทำการในเรือในขณะที่ประกาศนียบัตร สิ้นอายุแล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท *[มาตรา 282 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 283* ผู้ใดนำประกาศนียบัตรของผู้อื่นมาใช้หรือแสดงว่า เป็นประกาศนียบัตรของตน หรือผู้ใดจัดหาประกาศนียบัตรมาเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการ ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 283 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 284* ผู้ทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการ ตรวจเรือกำหนดให้ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ ต้องเก็บ ประกาศนียบัตรของตนไว้ในเรือเพื่อให้เจ้าท่าตรวจดูได้ในขณะที่ทำการ ถ้าเจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ทำการใน เรือลำใด ให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของเรือนำใบอนุญาตใช้เรือลำนั้นพร้อมทั้ง ประกาศนียบัตรของผู้ที่จะทำการในเรือลำนั้นไปให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตบันทึก การเปลี่ยนตัวผู้ทำการในเรือไว้ในใบอนุญาตใช้เรือ ณ ที่ทำการเจ้าท่าท้องถิ่นที่ เรือนั้นขึ้นทะเบียน ภายในกำหนดสิบห้าวัน *[มาตรา 284 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2525]

มาตรา 285 คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือเดินทะเลคนใด จะเข้า ทำการงานหรือมีผู้จ้างทำการงานในเรือกำปั่นชาติไทย หรือเรือกำปั่นต่างประเทศ ชาติใดที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อนจึง ทำได้ และเจ้าท่าต้องเรียกใบพยานเลิกจ้างที่ผู้นั้นได้รับจากเรือที่ตนได้ทำการ งานมาแล้วในหนหลังมาเก็บรักษาไว้ด้วย ถ้าและผู้นั้นนำใบพยานเช่นนั้นมาส่ง ไม่ได้ ท่านว่าผู้นั้นจำเป็นต้องชี้แจงว่าเป็นด้วยเหตุใดให้เป็นที่พอใจเจ้าท่า

มาตรา 286 ค่าธรรมเนียมซึ่งรัฐบาลไทยจะได้กำหนดตามครั้งคราว นั้น ให้เรียกเก็บสำหรับการว่าจ้างและการเลิกจ้างทุกครั้ง ให้เจ้าท่า จัดระเบียบพิกัดค่าธรรมเนียมเช่นนี้ปิดประกาศไว้ในที่แลเห็นง่าย ณ ที่ว่าการ กรมเจ้าท่า และให้มีอำนาจไม่ยอมเป็นธุระจัดการว่าจ้างหรือการเลิกจ้าง รายใด ๆ ก่อนได้รับค่าธรรมเนียมในส่วนนั้น

มาตรา 287 เจ้าของเรือหรือนายเรือกำปั่นจะว่าจ้างหรือเลิกจ้าง คนการสำหรับเรือเดินทะเล ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่า ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียม ตามพิกัดที่ตั้งไว้สำหรับการว่าจ้างหรือเลิกจ้างนั้นทุกครั้ง

มาตรา 288 เมื่อคนทำการในเรือเดินทะเลคนใดเลิกรับจ้างจาก เรือกำปั่นไทยลำหนึ่งลำใดภายในพระราชอาณาเขต นายเรือกำปั่นลำนั้นต้องทำ ใบพยานการเลิกจ้างให้ผู้นั้นไปฉบับหนึ่งเป็นคู่มือ ให้ทำให้ในเวลาที่เลิกจ้าง และให้เขียนความลงไว้ในนั้นว่าผู้นั้นได้รับจ้างช้านานเท่าใด ประเภทการที่ได้ ใช้ให้ทำและเลิกจ้างเมื่อวันใด และลงลายมือนายเรือเป็นสำคัญ ถ้าและผู้เลิก รับจ้างจะขอร้องให้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้ให้ค่าจ้างและได้หักเงินค่าจ้าง อย่างไร นายเรือต้องทำให้ตามประสงค์ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ร้องขอ

มาตรา 289 การเลิกจ้างคนทำการในเรือเดินทะเลจากเรือกำปั่น ชาติไทยหรือจากเรือกำปั่นต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทยนั้น ห้ามมิให้ทำในที่อื่น นอกจากที่ว่าการกรมเจ้าท่า

มาตรา 290* ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 284 มาตรา 285 มาตรา 287 มาตรา 288 หรือมาตรา 289 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท *[มาตรา 290 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

หมวดที่ 8 ว่าด้วยการใช้อำนาจทำโทษสำหรับความผิด

มาตรา 291* ผู้นำร่อง นายเรือ ต้นหน สรั่ง ไต้ก๋ง นายท้าย คนถือท้าย ต้นกล หรือคนใช้เครื่อง ที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตผู้ใด หย่อนความสามารถ หรือประพฤติไม่สมควรแก่หน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตาม กฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวแก่การเดินเรือหรือหน้าที่ของตน ให้เจ้าท่ามีอำนาจ ที่จะสั่งงดไม่ให้ใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีกำหนดไม่เกินสองปี แต่ไม่ เป็นการลบล้างโทษอย่างอื่นซึ่งผู้นั้นจะพึงได้รับ ถ้าผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาต ให้ผู้นั้น มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีนั้นเป็นที่สุด แต่ในระหว่างที่รัฐมนตรียังมิได้ชี้ขาด คำสั่ง ให้งดใช้ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตมีผลบังคับได้ *[มาตรา 291 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477]

มาตรา 292 เจ้าท่าทุกตำบลมีอำนาจหน้าที่ที่จะงดหรือเรียกคืน ประกาศนียบัตร หรือใบอนุญาตใด ๆ ได้ตามลักษณะมาตรา 291 และเพื่อประกอบ กับการเช่นนั้น ให้เจ้าท่ามีอำนาจทำการไต่สวน และหมายเรียกพยานและสืบพยาน ได้ทุกอย่าง ถ้าพยานคนใดไม่มาเบิกพยานหรือขัดขืนไม่ยอมเบิกพยานก็ดี ท่านว่า มีความผิดต้องระวางโทษต่อหน้าศาลธรรมดา ตามโทษานุโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ สำหรับความผิดเช่นนั้น ในการไต่สวนอย่างใดตามที่ว่ามาแล้วเจ้าท่าจะมีผู้ช่วยวินิจฉัยสองนาย ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลจะเลือกจากจำพวกคนที่มีความรอบรู้ชำนาญในการ เดินเรือทะเลมานั่งพร้อมด้วยก็ได้ ถ้าผู้ต้องคดีคนใดไม่มีความพอใจ และจะขอให้ตรวจคำตัดสินของคณะ ที่ไต่สวนเช่นว่ามานี้เสียใหม่ ท่านว่าจะฟ้องอุทธรณ์เจ้าท่าต่อศาลอันมีหน้าที่ก็ฟ้องได้

มาตรา 293 การใช้อำนาจปรับโทษที่ให้ไว้แก่เจ้าท่าตามพระราช บัญญัตินี้นั้น ไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับคดีทางอาญาหรือทางแพ่ง ซึ่งอาจฟ้องร้อง จำเลยในความผิดอันเดียวนั้น ต่อศาลซึ่งมีหน้าที่เพื่อให้ลงโทษหรือให้ปรับจำเลย ใช้ค่าเสียหายตามลักษณะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นสำหรับ ความผิดนั้น

มาตรา 294* ผู้ใดถูกเจ้าท่ายึดหรือเรียกคืนประกาศนียบัตรหรือ ใบอนุญาตอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และสั่งให้นำประกาศนียบัตรหรือ ใบอนุญาตนั้นส่งเจ้าท่าถ้าไม่ส่งภายในเวลาที่เจ้าท่ากำหนด ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองพันบาท *[มาตรา 294 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 295 ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตใด ๆ ที่ถูกเรียกคืนนั้น ท่านให้ยกเลิกเป็นอันใช้ไม่ได้ต่อไปทุกฉบับ

มาตรา 296 บรรดาใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรที่ถูกยึดไว้ชั่วคราว นั้น ให้รักษาไว้ ณ ที่ว่าการกรมเจ้าท่า เมื่อครบกำหนดเวลาที่ให้ยึดแล้วให้ส่งคืน แก่ผู้ถือรับไปตามเดิม แต่ต้องจดความที่ได้ยึดนั้นลงไว้ในฉบับประกาศนียบัตรหรือ ใบอนุญาตนั้นด้วยเป็นสำคัญ

หมวดที่ 9 ลักษณะโทษและลักษณะรับผิดชอบทางแพ่ง

มาตรา 297* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตาม อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ ตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้นกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 297 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535]

มาตรา 298 ในความผิดอย่างใด ๆ ต่อพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ที่ ควบคุมเรือหรือควบคุมเครื่องจักรของเรือกำปั่นและเรือเล็กต่าง ๆ ลำใดซึ่งเป็น จำเลยนั้นหลบหนีตามตัวไม่ได้ ท่านว่าศาลมีอำนาจลงโทษปรับแก่เจ้าของเรือหรือ แก่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับเรือลำนั้นได้ตามที่กฎหมายนี้บัญญัติไว้สำหรับความผิด นั้น ๆ

มาตรา 299 เจ้าของเรือหรือผู้ที่รับใบอนุญาตสำหรับเรือกำปั่นและ เรือเล็กต่าง ๆ ทุกลำ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งนายเรือ ต้นกล ต้นหน หรือลูกเรือลำนั้นถูกปรับโดยกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อ พระราชบัญญัตินี้

มาตรา 300 เจ้าของแพไม้ทุกแพต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ ค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ควบคุมแพหรือคนประจำการในแพนั้นถูกปรับโดยกระทำ ความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 301 ลักษณะโทษต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าไม่เกี่ยวข้องอย่างใดกับความรับผิดชอบซึ่งจำเลยจะพึงถูกปรับในคดี ส่วนแพ่ง เพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระราชบัญญัตินี้

หมวดที่ 10 ข้อบังคับทั่วไปสำหรับเมื่อมีเหตุเรือโดนกัน

มาตรา 302 ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นโดยความไม่ได้แกล้ง หรือเป็นโดยเหตุใด ๆ ซึ่งเหลือความสามารถของมนุษย์จะป้องกันได้ก็ดี ท่านว่า อันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่เรือลำใดมากน้อยเท่าใดต้องเป็นพับกับเรือ ลำนั้นเองทั้งสิ้น

มาตรา 303 ถ้ามีเหตุเรือโดนกันครั้งใด เป็นด้วยความผิดหรือความ ละเลย ท่านว่าอันตรายและความเสียหายที่ได้มีขึ้นมากน้อยเท่าใด ให้ปรับเอาแก่ เรือลำที่มีความผิดหรือมีความละเลยนั้น

มาตรา 304 ถ้าเรือที่โดนกันนั้น ต่างมีความผิดหรือความละเลย ทั้งสองลำ ท่านว่าไม่ต้องปรับให้ฝ่ายใดใช้ค่าเสียหายอันตรายซึ่งได้มีแก่ลำใด หรือทั้งสองลำเว้นไว้แต่ถ้าพิจารณาได้ความปรากฏว่ามูลเหตุที่โดนกันได้เกิด จากฝ่ายใดโดยมากฉะนั้น จึงให้ศาลซึ่งมีหน้าที่ตัดสินกำหนดจำนวนเงินที่ฝ่ายนั้น ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 305 เมื่อมีความผิดหรือความละเลยเกิดขึ้นอย่างใด อันเรือ ที่เกี่ยวข้องมีความผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย ท่านว่าเจ้าของหรือนายเรือทั้งสองลำนั้น หรือลำใดแต่ลำเดียวต้องรับผิดชอบใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายที่ได้มีขึ้นแก่ สิ่งของที่บรรทุกในเรือหรือแก่บุคคล เพราะความผิดหรือความละเลยที่ได้กระทำนั้น ถ้าและการต้องใช้ค่าอันตรายหรือความเสียหายนั้นตกหนักแก่เรือที่ ต้องคดีนั้นแต่ลำเดียว ท่านว่าเรือลำนั้นย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องร้องให้เรืออีกลำหนึ่ง ที่ต้องคดีด้วยกันช่วยใช้เงินที่ได้เสียไปแล้วนั้นกึ่งหนึ่ง ถ้าและทางพิจารณาตามกฎหมายได้พิพากษาว่าความรับผิดชอบนั้นควร แบ่งกันเป็นอย่างอื่นนอกจากที่ว่ามาแล้วฉะนั้น ท่านว่าการที่จะต้องใช้เงินค่าอันตราย หรือความเสียหายต้องเป็นไปตามคำพิพากษานั้น

มาตรา 306 การร้องเอาค่าเสียหายนั้น ท่านว่ากัปตันหรือนายเรือ ลำใดที่เกี่ยวในคดีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์แทนบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นได้

มาตรา 307 ถ้าการที่เรือโดนกันเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือเกิดบาดเจ็บ แก่บุคคล ท่านว่าเงินค่าเสียหายที่ตัดสินให้เสียในส่วนนี้ต้องใช้ก่อนค่าเสียหายอย่าง อื่น ๆ

มาตรา 308 คำร้องเอาค่าเสียหายอย่างใด ๆ ที่เนื่องจากเหตุเรือ โดนกันนั้น ท่านว่าต้องยื่นภายในหกเดือนนับจากวันที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นโจทก์ได้ทราบ เหตุอันนั้น

มาตรา 309 เมื่อได้มีคำฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากเหตุเรือ โดนกันยื่นต่อศาล ถ้าผู้ใดที่เกี่ยวในคดีร้องขอขึ้น ท่านว่าผู้พิพากษาที่มีหน้าที่มีอำนาจ ที่จะออกคำสั่งให้มีการอายัติแก่เรือลำเดียวหรือหลายลำ อันต้องหาว่าเป็นต้นเหตุ ในการที่เรือโดนกันนั้นได้

มาตรา 310* (1) ถ้ามีความผิดอย่างใดต่อกฎข้อบังคับสำหรับป้องกัน เหตุเรือโดนกันเกิดขึ้นเพราะความละเมิดของนายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือหรือเจ้าของ เรือผู้ใด อันเป็นละเมิดที่กระทำด้วยความจงใจ นายเรือ ผู้ที่ควบคุมเรือหรือ เจ้าของเรือผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคล หรือทรัพย์สมบัติเพราะเหตุ เรือลำใดไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ในกฎข้อบังคับสำหรับป้องกัน เหตุเรือโดนกัน ท่านว่าให้ถือว่าความเสียหายอันนั้นเท่ากับได้มีขึ้นจากความ ละเมิดอันจงใจของผู้ควบคุมการอยู่บนดาดฟ้าเรือลำนั้นในขณะที่เกิดเหตุ เว้นแต่ ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่ามีเหตุอันจำเป็นในขณะนั้นที่จะต้องประพฤติ ให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว

(3) ในคดีเรื่องเรือโดนกัน ถ้าปรากฏขึ้นต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีนั้น ว่าได้มีความละเมิดเกิดขึ้นต่อข้อบังคับข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎข้อบังคับสำหรับป้องกัน เหตุเรือโดนกัน ท่านให้ถือว่าความผิดที่เป็นมูลแห่งคดีนั้นตกอยู่กับเรือลำที่ได้มี ความละเมิดอันนั้น เว้นไว้แต่ถ้าพิสูจน์ให้ศาลเห็นเป็นที่พอใจว่าได้มีเหตุอัน จำเป็นที่จะต้องประพฤติให้ผิดไปจากกฎข้อบังคับที่ว่ามาแล้ว *[ความใน(1)ของมาตรา 310 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]

าตรา 311 เมื่อเจ้าของเรือหรือนายเรือลำใดต้องการกฎข้อบังคับ สำหรับป้องกันเหตุเรือโดนกัน ก็ให้เจ้าท่าจ่ายให้ตามความประสงค์

มาตรา 312 เมื่อเกิดเหตุเรือสองลำโดนกันขึ้นเวลาใด นายเรือ หรือผู้ที่ควบคุมเรือทั้งสองฝ่าย เมื่อเห็นว่าจะกระทำได้เพียงใดโดยไม่เป็นที่ น่ากลัวอันตรายจะมีขึ้นแก่เรือ หรือลูกเรือ หรือคนโดยสาร(ที่หากจะมี)ในเรือ ของตนท่านว่าเป็นหน้าที่ของนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือควรจะกระทำดังต่อไปนี้ คือ

(ก) ต้องช่วยเหลือตามความสามารถที่จะกระทำได้เพียงใดแก่เรือ อีกลำหนึ่ง ที่โดนกัน และแก่นายเรือ ลูกเรือ และคนโดยสาร (ถ้าหากมี) ของ เรือลำนั้นเพื่อป้องกันให้พ้นจากอันตรายที่จะพึงเกิดจากเหตุที่เรือโดนกันนั้น และ ต้องรอเรืออยู่ใกล้กับเรือลำนั้นจนกว่าจะเป็นที่แน่ใจว่าไม่ต้องการให้ช่วยเหลือ อีกต่อไป

(ข) ต้องแจ้งชื่อเรือ ชื่อเมืองท่าที่เป็นสำนักของเรือของตน และมา จากเมืองท่าใด จะไปเมืองท่าใด แก่นายเรือหรือผู้ควบคุมเรืออีกลำหนึ่งที่โดนกัน นั้นให้ทราบ ถ้านายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือลำใดละเลยไม่กระทำตามข้อปฏิบัติที่ ว่าไว้ในมาตรานี้ และไม่มีเหตุอันสมควรที่จะแก้ตัวได้ว่าเป็นด้วยเหตุใด ท่านว่าถ้าไม่มีสักขีพยานแน่นอนว่าเป็นอย่างอื่น ต้องถือว่าเหตุเรือโดนกันนั้น ได้เกิดขึ้นเพราะความประพฤติผิด หรือความละเลย หรือความประพฤติละเมิด ฉะนั้น *นายเรือหรือผู้ที่ควบคุมเรือผู้ใดละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน มาตรานี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เจ้าท่ามีอำนาจ สั่งงดใช้ประกาศนียบัตรสำหรับทำการในหน้าที่เช่นนั้น มีกำหนดไม่เกินสองปี หรือสั่งห้ามใช้ประกาศนียบัตรนั้นตลอดไปก็ได้ *[ความในวรรคสาม ของมาตรา 312 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 (รก.2535/44/16)]

แบบที่ 1 แบบคำถามซึ่งนายเรือต้องชี้แจงในเวลาที่เรือเข้ามาถึง

(1) วันที่เรือมาถึง …………………………….

(2) ชื่อเรือ …………………………….

(3) ธงชาติของเรือ ……………………………

(4) ประเภทของเรือ …………………………..

(5) เรือขนาดกี่ตัน …………………………….

(6) ชื่อนายเรือ …………………………….

(7) เรือมาขึ้นแก่ผู้ใด …………………………..

(8) เรือมาจากไหน ……………………………

(9) ได้ออกเรือจากนั้นเมื่อวันใด ……………………

(10) ประเภทสินค้าที่บรรทุกมาในเรือ …………………

(11) มียาฝิ่นบรรทุกมาเท่าไร ………………………

(12) มีหนังสือส่งไปรษณีย์มาเท่าไร …………………..

(13) มีเครื่องอาวุธอย่างไรเท่าไร …………………..

(14) มีเครื่องกระสุนปืนและเครื่องระเบิดอย่างไรเท่าไร……..

(15) มีโรคร้ายที่ติดกันได้หรือไม่……………………..

(16) ได้มีคนตายในเรือหรือไม่………………………

(17) จำนวนคนประจำเรือ…………………………

(18) จำนวนคนโดยสารชั้นมีห้องให้พัก………………….

(19) จำนวนคนโดยสารที่อาศัยพักบนดาดฟ้า………………

(20) จดหมายเหตุ ……………………………

แบบที่ 2* พิกัดค่าจ้างนำร่อง

*[แบบที่ 2 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477(ฉบับที่ 2) (รก.2477/-/121)]

แบบที่ 3* พิกัดค่าธรรมเนียมประภาคารและโคมไฟ

(ยกเลิกแล้ว) *[แบบที่ 3 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) (รก.2477/-/807)]

Share the Post: